งานวิจัยใหม่โดย 451 Research พบว่าเมื่อบริษัทต่าง ๆ ในสิงคโปร์ย้าย workload ด้านไอทีขึ้นสู่ระบบคลาวด์ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 76%
วันนี้ บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services, Inc. หรือ AWS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Amazon.com แถลงผลการวิจัยเรื่อง โอกาสในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเมื่อย้ายขึ้นสู่ระบบคลาวด์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Carbon Reduction Opportunity of Move to the Cloud for APAC) โดย 451 Research ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ S&P Global Market Intelligence จากรายงานพบว่าเมื่อองค์กรรวมถึงหน่วยงานภาครัฐของสิงคโปร์ได้ทำการโยกย้ายปริมาณงาน (workload) ด้านการประมวลผลจากศูนย์ข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กร (on-premises data centers) ไปสู่โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์สามารถนำไปสู่การลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกได้มากถึง 76%
451 Research ได้รับมอบหมายจาก AWS ให้ทำการสำรวจองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 500 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ งานวิจัยนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจอีกกว่า 100 รายในสิงคโปร์ นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเปิดเผยอีกด้วยว่าผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่มีการร่วมมือกับบริษัทที่ทำงานด้านพลังงานหมุนเวียนในสิงคโปร์โดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% นั้นยังสามารถช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย จากรายงาน หากเพียง 25% ของบริษัทในสิงคโปร์จำนวน 1,300 แห่งที่มีการจ้างพนักงานมากกว่า 250 คน[1] นำ workload ประมวลผลคิดเป็นปริมาณหนึ่งเมกะวัตต์ (MW) ไปในระบบคลาวด์[2]ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน ก็จะช่วยลดการปล่อยมลพิษเทียบเท่ากับหนึ่งปีจาก 23,500 ครัวเรือนในสิงคโปร์[3]
“ลูกค้าในเอเชียแปซิฟิก ที่ย้าย workload ขึ้นไปบนคลาวด์ของ AWS สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ พวกเขาได้รับประโยชน์จากผลกระทบโดยสุทธิในทุกก้าวทุกความพยายามของเราในการมุ่งสู่ความยั่งยืน” เคน เฮก (Ken Haig) หัวหน้าฝ่ายนโยบายพลังงานประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นของ AWS กล่าว “ด้วยขนาดของธุรกิจและการมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมของ AWS ช่วยให้เราสามารถพัฒนาศูนย์ข้อมูลของเราให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าองค์กรแบบเดิม ๆ นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเราในการช่วยลดปริมาณพลังงานที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลแล้ว เรามีเป้ามหายที่จะจัดหาพลังงานหมุนเวียน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของเราทั่วโลกให้ได้100% ภายในปี 2568 ตลาดพลังงานในเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่ท้าทายที่สุดในโลกสำหรับธุรกิจที่แสวงหาแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% แต่เรายังคงต้องร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ รวมถึงการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ที่ AWS เรายังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จด้านความยั่งยืนของตนเองผ่านการใช้เทคโนโลยีคลาวด์และขับเคลื่อนนวัตกรรมในโซลูชันที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนให้อยู่ในระดับต่ำ เราชื่นชมนโยบายการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับระบบคลาวด์เป็นอันดับแรก (cloud-first policies) ของรัฐบาลสิงคโปร์และความมุ่งมั่นในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งผ่านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าระบบคลาวด์สามารถที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าประสงค์มุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึงโครงการต่าง ๆ อาทิ Singapore Green Plan 2030 เป็นต้น”
ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา Amazon ได้ลงนามในโครงการพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นโครงการแรกของบริษัทที่สิงคโปร์ โดยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาด 62 เมกะวัตต์นี้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 และก็จะกลายเป็นหนึ่งในระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่เคลื่อนย้ายได้แบบมวลรวมที่ใหญ่ที่สุดที่ออกแบบและติดตั้งในสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ 80,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในแต่ละปี ซึ่งเพียงพอต่อการให้พลังงานแก่บ้านเรือนในสิงคโปร์มากกว่า 10,000 หลัง ปัจจุบัน Amazon เป็นบริษัทผู้ซื้อพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยโครงการด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์รวม 232 โครงการทั่วโลก
“จากการสำรวจของเรา มีเพียงบริษัทและองค์กรในสิงคโปร์เท่านั้นที่สามารถทำได้ดีแซงค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพระดับเซิร์ฟเวอร์ (server-level) หรือะระดับอำนวยการ (facility-level) ของศูนย์ข้อมูล” เคลลี มอร์แกน (Kelly Morgan) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Datacenter Infrastructure & Services ของ 451 Research บริษัทในเครือ S&P Global Market Intelligence กล่าว “สิ่งนี้เป็นเพราะองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของสิงคโปร์สามารถรวม workload ได้มากขึ้น เพื่อช่วยลดจำนวนเซิร์ฟเวอร์ที่จำเป็น ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ ในสิงคโปร์ยังสามารถปรับใช้เทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์ล่าสุดได้แต่เนิ่น ๆ และสามารถรีเฟรชเซิร์ฟเวอร์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยเฉลี่ย ในขณะที่การใช้งานพลังงานหมุนเวียน (renewable energy penetration) โดยภาพรวมของสิงคโปร์อยู่ในระดับต่ำ ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) ในสิงคโปร์ในปัจจุบันถือว่ามีคาร์บอนที่เข้มข้นน้อยที่สุดในบรรดาประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการสำรวจ ทว่าองค์กรต่าง ๆ ในสิงคโปร์ที่ย้าย workload ขึ้นสู่ระบบคลาวด์ยังคงแสดงให้เห็นได้ถึงค่าที่ลดลงของพลังงาน workload โดยเฉลี่ยคิดเป็น 76% ทั้งนี้เนื่องจากผู้ให้บริการระบบคลาวด์อย่างเช่น AWS ถูกผลักดันในการทำให้ทุกส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทำงานเชื่อมประสานกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการปฏิบัติงาน และไปจนถึงต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงให้บริการด้านไอทีในวงกว้างยิ่งขึ้น”
นอกเหนือจากการประหยัดต้นทุนและประสิทธิภาพของกระบวนการแล้ว AWS มุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับลูกค้าชาวสิงคโปร์ด้วยเครื่องมือที่ช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่โซลูชันด้านความยั่งยืนของตนเองได้บนคลาวด์ ตัวอย่างเช่น Maxeon Solar Technologies ผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ได้ตัดสินใจที่จะใช้บริการ AWS Cloud แบบครบวงจรในสิงคโปร์เพื่อช่วยให้การดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นลูกค้าในประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศ และมีส่วนร่วมสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเอง Maxeon Solar Technologies ทำงานร่วมกับ AWS ในแผนเร่งการโยกย้าย workload ขององค์กรจากศูนย์ข้อมูลในรูปแบบกายภาพขึ้นสู่ AWS Cloud ได้ภายในสามเดือน
“ที่ Maxeon ผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของเรากำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก (Powering Positive Changes) ในประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก” ลินด์ซีย์ ไวด์แมนน์ (Lindsey Wiedmann) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและหัวหน้าผู้บริหารด้านแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) ระดับโลกของ Maxeon Solar Technologies กล่าว “อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และที่ Maxeon เรายังคงผลักดันขอบเขตของนวัตกรรมต่อไป เพื่อส่งมอบเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำของอุตสาหกรรมได้มากยิ่งขึ้นทั่วโลก ตลอดจนสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าสำหรับโลกของเรา ปัจจบัน ด้วยการสนับสนุนของ AWS รวมถึงพลังของคลาวด์คอมพิวติง เราจึงสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจของเราได้ดีขึ้นด้วยวิธีการที่ยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของ AWS เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ได้เร็วขึ้น”
AWS มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขนาดคลาวด์ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทำให้ AWS สามารถประสบความสำเร็จในการใช้ทรัพยากร ตลอดจนประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้สูงกว่าศูนย์ข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์แบบ On-premises ภายในองค์กรทั่วไป ระบบเซิร์ฟเวอร์ของ AWS ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานพลังงานและใช้เทคโนโลยีส่วนประกอบล่าสุด ตัวอย่างเช่น โปรเซสเซอร์ AWS Graviton2 ที่สร้างขึ้นได้ตามที่ลูกค้า AWS ต้องการ มอบประสิทธิภาพต่อวัตต์ดีกว่าโปรเซสเซอร์ Amazon Elastic Compute Cloud (EC2) ตัวอื่น ๆ นอกจากนี้ AWS ยังคิดค้นการออกแบบระบบระบายความร้อนเพื่อลดการใช้น้ำและใช้ข้อมูลเซ็นเซอร์แบบเรียลไทม์เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การระบายความร้อนมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่หากยิ่งมีสภาพอากาศที่ทั้งร้อนและชื้นมากขึ้นเพียงใด ยิ่งส่งผลให้มีการใช้พลังงานในการระบายความร้อนมากขึ้น
451 Research พบว่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นของศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์มาจากการใช้เซิร์ฟเวอร์ล่าสุดที่ประหยัดพลังงานที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะทำงานในอัตราการใช้ที่สูงกว่าศูนย์ข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กร ปัจจัยทั้งสองนี้รวมกันทำให้ศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์ใช้พลังงานน้อยลง 67.4% การใช้งานเซิร์ฟเวอร์โดยเฉลี่ยในองค์กรต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกนั้นมีอัตราต่ำกว่า 15% ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยของ 451 Research แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ใช้งานเซิร์ฟเวอร์ได้ดีกว่า 50% ในการหาความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและสมรรถนะของแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ ผลงานวิจัยยังพบอีกว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ศูนย์ข้อมูลของการให้บริการบนคลาวด์ รวมถึงการใช้ระบบจ่ายพลังงานขั้นสูงและเทคโนโลยีระบายความร้อน ช่วยให้ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 11.4% ศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์ที่ประมวลผล workload แบบเดียวกันกับศูนย์ข้อมูลภายในองค์องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพด้านการประหยัพพลังงานที่มากกว่าถึงห้าเท่า
Amazon มุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับลูกค้าและโลกใบนี้ Amazon ขอเชิญองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วม The Climate Pledge เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาในการช่วยให้โลกปลอดก๊าซคาร์บอนได้ภายในปี 2583 ซึ่งเร็วกว่าข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ถึง 10 ปี ขณะนี้องค์กรกว่า 100 แห่งได้ลงนามใน The Climate Pledge โดยให้คำมั่นว่าจะใช้ขนาดขององค์กรเพื่อขจัดการใช้คาร์บอนให้ออกจากเศรษฐกิจผ่านการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง