ซื้อของออนไลน์ ทำไง ไม่ให้โดนหลอก?

และแล้วเราก็เดินทางเข้าใกล้วันวาเลนไทน์ ปีนี้เชื่อว่าหลายๆ คนต้องมีแพลนซื้อของ เพราะนอกจากจะให้ดอกไม้แล้วก็ต้องมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ หรือของขวัญชิ้นใหญ่ๆ ไปเซอร์ไพรซ์คนข้างๆ กันบ้าง และการซื้อของออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งในวิธีการจับจ่ายซื้อของที่กำลัง HOT ขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักชอป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของมือสอง (หรืออาจจะ 3 4 5) ที่มีขายกันให้เกลื่อนในโลกออนไลน์ และหาง่ายยิ่งกว่าการหาซื้อลำไยอีดอ ดังนั้นวันนี้เพื่อเป็นการเอาใจขาชอปรับวาเลนไทน์ Cover ฉบับนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของ ซื้อของออนไลน์ ซื้อยังไงไม่ให้โดนหลอก? (กันล่ะ..)

เว็บไซต์ต้องมีชื่อ คนรู้จัก

กฏเหล็กข้อแรกที่ต้องจำให้ขึ้นใจ เว็บไซต์ ที่ลงประกาศขายก็ควรจะต้องเป็นที่รู้จักนะจ๊ะ หลายๆ คนอาจจะไม่ให้ความสนใจในข้อนี้มากนัก แต่หากคุณเป็นนักชอปขาประจำโลกออนไลน์แล้วล่ะก็ คุณจะรู้เลยว่ามันสำคัญม๊ากมาก เพราะหากเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาล่ะก็ เหล่าแอดมิน คนดูแลประจำบอร์ด และบรรดาสมาชิกในบอร์ดนั้นๆ แหละที่จะเป็นตัวช่วยและที่พึ่งพาสำหรับคุณ ข้อควรระวังคือเว็บไซต์จำพวกจิปาถะ เนื้อหารวมกันหลายๆ อย่างแบบแทบจับต้นชนปลายไม่ได้ เว็บไซต์เข้าข่ายเหล่านี้จะนำพามาซึ่งคนหลากหลาย และเมื่อไม่มีเนื้อหาที่ลึกหรือแน่นไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ยากที่สมาชิกในบอร์ดจะอยู่กันอย่างเหนียวแน่นหรือรู้จักตัวตนของกันและกัน หรือแม้กระทั่งกฎของบอร์ดที่จะใช้กรองคนก็อาจจะไม่น่าเชื่อถือพอ

online-1
เว็บไซต์ที่คนไทยคุ้นชื่อมากที่สุดเว็บไซต์หนึ่งอย่าง Pantip ก็มีตลาดออนไลน์เช่นกัน มีทีมงานดูแลเป็นกิจลักษณะช่วยให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง

สิ่งที่คุณควรรู้ก็คือ ยิ่งบอร์ดหรือเว็บไซต์เป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ จำนวนคนดูแลก็จะยิ่งมีมากและคอยดูแลได้อย่างทั่วถึง กฎประจำบอร์ดและกติกาการสมัครสมาชิกก็จะยิ่งมีความน่าเชื่อถือและมีหลักฐานต่างๆ ที่สามารถตามตัวสมาชิกได้ ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวช่วยในการกรองคนได้ดี และเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากในการใช้ค้าขายสินค้าบนโลกออนไลน์ คุณจะสามารถดูประวัติคนขาย หรือติดต่อสอบถามแอดมินได้เมื่อเกิดปัญหา โดยแอดมินเองหากเป็นบอร์ดมีชื่อหรือเป็นเว็บไซต์ดังๆ ที่ทำงานเป็นระบบก็จะมีฐานข้อมูลของสมาชิกผู้ขายคนนั้นๆ อยู่ในมือ ซึ่งจะสามารถใช้ช่วยเหลือคุณได้ยามเมื่อเกิดปัญหาโดนเชิด (เงิน)

online-2
PDAMobiz เว็บไซต์ที่มีตลาดซื้อขายไอทีออนไลน์ติดอันดับต้นๆ ที่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา มีแอดมินและกฎ-กติกาซื้อขายชัดเจน เช่น สมาชิกที่ต้องการประกาศขายของต้องลงรูปประจำตัวเป็นรูปหน้าจริง เป็นต้น
รูปสินค้าเชื่อถือได้จริงหรือ?

กฎข้อต่อมาที่ควรระมัดระวังและมีการตรวจสอบคือรูปถ่ายหรือภาพของสินค้าที่มีการลงประกาศขาย หลายๆ คนอาจเคยได้ยินกรณีการโกงในการซื้อขายของบนโลกออนไลน์ที่มีสาเหตุมาจากภาพสินค้าปลอมอยู่บ่อยๆ เช่น การนำเอาภาพสินค้ามาจากเจ้าของคนอื่นแล้วเอามาโมเมว่าเป็นของตัวเอง และหลอกคนซื้อให้โอนเงินให้ (ก่อน) สุดท้ายก็เชิดเงิน (หนีหายเข้ากลีบเมฆ) กว่าจะรู้ตัวอีกทีเงินของเราก็อาจจะสูญเอาง่ายๆ แล้วจะมีวิธีการยังไงบ้างในการตรวจสอบรูปเหล่านั้นว่าเป็นรูปจริง?

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าในปัจจุบันนั้น ทางหลายๆ เว็บไซต์เองที่มีตลาดออนไลน์ใหญ่ๆ อยู่ในมือ อย่างเช่น PDAMobiz, Overclockzone หรือ Pantipmarket ก็จะมีกฎ-กติกาในการโพสต์ภาพขายสินค้า โดยเฉพาะที่ PDAMobiz จะมีกฎ-กติกาให้ปฏิบัติก่อนทำการโพสต์รูปประกาศขายอยู่แล้ว คือการเขียนรายละเอียดของผู้ขาย (ชื่อ, Username, Tel., LINEID etc.) ลงบนกระดาษแล้วใช้ถ่ายคู่กับสินค้าเพื่อเป็นการยืนยันว่ามีสินค้าและเป็นเจ้าของสินค้าชิ้นนั้นๆ จริง (ตรวจสอบโดยการดู Username ที่ใช้โพสต์ต้องตรงกับ Username บนกระดาษ เป็นต้น) หรือใน Overclockzone เองที่ผู้ขายหน้าใหม่ๆต้องทำการ Verify (ยืนยันตัวตน) ก่อนการโพสต์ขายสินค้าและต้องโพสต์ขายสินค้าโดยมีรูปภาพประกอบ

online-3
ตัวอย่างการโพสต์รูปขายที่ต้องมีกระดาษประวัติคร่าวๆ ของผู้ขายถ่ายคู่กับสินค้า

อย่างไรก็ตามวิธีต่างๆ ข้างต้นเหล่านั้นก็เป็นการยืนยันตัวตนได้แค่ในระดับหนึ่ง แล้วเราจะมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถใช้ตรวจสอบภาพสินค้าได้อีกหรือไม่? วิธีที่ง่ายและรวดเร็ววิธีหนึ่งคือ การตรวจสอบที่มาของภาพโดยใช้ Google นั่นเอง เรามาลองดูวิธีการการตรวจสอบกัน

online-4
หากเราต้องการตรวจสอบภาพไหนให้คลิกขวาที่รูปนั้นๆ จากนั้นเลือก ค้นหาภาพนี้ใน Google
online-5
เมื่อคลิกค้นหาภาพแล้วจะปรากฏหน้าต่างแสดงผลการค้นหาขึ้นมา เป็น Link ของทุกเว็บที่มีการใช้ภาพนี้โพสต์ขึ้นไป เท่านี้เราก็สามารถตรวจดูได้แล้วว่าแต่ละเว็บนั้นเป็นผู้ขายคนเดียวกันหรือไม่ หากมีบางเว็บที่ User คนขายไม่ตรงกัน ข้อมูลอื่นๆ ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว่ก่อนว่า ไม่ปลอดภัยที่จะเสียเงินซื้อ
ราคาดี ราคาถูก ควรระวัง!

ของถูกและดี (อาจจะ) ไม่มีในโลก วลีนี้ยังคงใช้เตือนใจได้ดี ถ้าของราคาถูกเกินจนผิดสังเกต ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามันน่าจะมีอะไร เพราะถ้าดีมันไม่น่าจะถูก และถ้ามันถูก (ส่วนใหญ่) มันก็มักจะไม่ดีหรืออาจจะไม่มีอยู่เลย (สินค้ามโน ไม่มีอยู่จริง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายในโลกออนไลน์ที่เราไม่ได้มีโอกาสไปสัมผัส ไปจับ ไปลองใช้สินค้าชิ้นนั้นจริงๆ โอกาสที่จะเกิดหายนะกับเงินในกระเป๋าจึงมีไม่น้อย เพราะตามสัญชาตญาณของนักชอปนั้นอันว่าเห็นของถูกไม่ได้ อยากจะกระโจนเข้าใส่เหลือเกิน ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็พลาดจนต้องมาเจ็บใจทีหลัง

online-6
ตัวอย่างการโพสต์ขายสินค้า หากมีการตั้งหัวกระทู้ในเชิงขายถูกๆ ขายถูกมาก ก็อาจจะต้องดูเนื้อหารายละเอียดด้านในเพิ่มเติม อย่างเหตุผลในการขาย วิธีการชำระเงิน และวิธีการรับสินค้า เป็นต้น เพื่อใช้เป็นเหตุผลประกอบในการตัดสินใจ

นอกจากจะใช้วิธีการข้างต้นในการเช็กความน่าเชื่อถือจากสินค้าราคาถูกแล้ว ในสินค้าบางประเภทอย่างเช่น แลปทอป (โน้ตบุ๊ก) หรือโทรศัพท์มือถือ ต่างก็มีเว็บไซต์ที่คอยช่วยรวบรวมราคาสินค้า เช็กราคาและเปรียบเทียบราคากลางของสินค้าชนิดนั้นๆ ให้เราเอาไว้ดูเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจอีกด้วย ทั้งนี้ในส่วนของเว็บไซต์เช็กราคา ภายในหน้าเว็บเพจก็อาจจะมีการบอกถึงคุณลักษณะพิเศษต่างๆ ของสินค้า รีวิวสินค้า และรายละเอียดประสบการณ์การใช้งานจากผู้ใช้จริงๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการหาข้อมูลให้แก่นักช็อปทั้งหลาย

online-8
ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์เปรียบเทียบสินค้า จะมีการบอกรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับสินค้า เช่น ชื่อรุ่นของสินค้า รหัสสินค้าและสีที่มีให้เลือก รวมไปถึงราคาต่ำสุดของสินค้าชนิดนั้นๆ
online-9
อีกหนึ่งเว็บไซต์ที่เรารู้จักกันดีอย่าง Siamphone ก็มีการเปรียบเทียบราคากลางของสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ และราคาขายของเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ต่างๆ เพื่อช่วยผู้ซื้อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วโลกออนไลน์เองก็มีข้อมูลที่เราสามารถหามาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อของมือสองได้ด้วยตัวเอง ในกรณีของการเช็กราคาขายของสินค้านั้น หากเราไม่รีบร้อนที่จะซื้อ ลองใช้เวลาเช็กราคาที่มีอยู่ตามเว็บไซต์รีวิวต่างๆ หรือจะลองใช้ชื่อของสินค้าเสิร์ชหากระทู้ขายของตามเว็บ ก็จะช่วยให้เรารู้ราคากลางของการขายสินค้านั้นๆ จะได้ไม่ต้องมานั่งเจ็บใจหากของที่เราเห็นว่าถูกมันดันไม่ดีอย่างที่คิด หรือร้ายกว่านั้น ไม่มีสินค้าอยู่จริง แต่เราดันโอนเงินไปซื้อลมซะอย่างงั้น

ยูสเซอร์ใหม่ประวัติการขายไม่มี ให้สงสัยไว้ก่อน

อีกเรื่องที่บางครั้งผู้ซื้อหลายๆ คนก็ไม่ค่อยได้นึกถึงหรือไม่ค่อยได้ใส่ใจเท่าที่ควร อย่างการเช็กประวัติผู้ขายในเบื้องต้นจากข้อมูลของ User ที่มีอยู่ในเว็บไซต์นั้นๆ เพราะอย่าลืมว่าหากมีประวัติการขายมาก่อน และ User ของผู้ขายไม่เคยมีประวัติการโดนร้องเรียนนั้นก็ช่วยการันตีให้เราอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง ในหลายๆ ครั้งที่ผู้ซื้อมักรีบร้อนจนเกินไปและตัดสินใจโอนเงินโดยไม่ได้เช็กข้อมูลง่ายๆ ในเบื้องต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลที่บอกถึงความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งเลย อย่างเช่น วันเวลาที่สมัคร User ที่บอกถึงระยะเวลาการเป็นสมาชิก และการเป็นที่รู้จักในเว็บไซต์นั้นๆ เพราะการใช้งานมานานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ควรใส่ใจ เพราะนั่นหมายถึงการมีตัวตนจริงๆ ของผู้ขาย

online-10
หนึ่งในขั้นตอนการเช็กประวัติเบื้องต้นที่ง่ายที่สุดคือการดูวันเดือนปีที่สมัครเป็นสมาชิก หากเป็นสมาชิกที่ใหม่มากๆ ประมาณว่าสมัครวันนี้ลงขายวันนี้ ก็อาจจะต้องระมัดระวังมากๆ หน่อยในการซื้อขาย ซึ่งในบางครั้งผู้ขายที่เพิ่งสมัครสมาชิกใหม่ก็อาจใช้วิธีลงข้อมูลละเอียดมากๆ เพื่อความน่าเชื่อถือ
online-11
อีกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อเช็กประวัติ User ของผู้ขายคือการคลิกที่ Username จากนั้นเลือกที่ดูโพสต์ทั้งหมดของยูสเซอร์นี้หรือดูรายละเอียดของยูสเซอร์นี้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถดูได้ทั้งประวัติการโพสต์ต่างๆ และข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อใช้ประเมินความน่าเชื่อถือ
online-12
ผลลัพธ์ของการค้นหา ยิ่ง User มีความเคลื่อนไหวมากก็ยิ่งเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ขายได้ดี เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถบอกเราได้ว่า User ที่โพสต์ขายของชิ้นนี้ไม่ใช่ User ลมที่ไม่มีตัวตน

การเช็กประวัติในการขายนั้นนอกจากผู้ซื้อจะเป็นคนเช็กแล้ว ในปัจจุบันผู้ขายบางคนก็ช่วยผู้ซื้อลดเวลาในการค้นหาประวัติของตนด้วยการโพสต์ลิงก์ประวัติการขายของตัวเองไว้ในหน้าเดียวกับหน้าที่ใช้ในการโพสต์ขายสินค้า เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าถึงประวัติการขายที่ผ่านมา หรือในบางกรณีลูกค้าเก่าที่เคยซื้อสินค้าชิ้นอื่นไปก่อนหน้าก็อาจจะเข้ามาช่วยรีวิวให้ หรือเข้ามาช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือให้กับผู้ขาย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อคนซื้อไม่น้อย

online-13
ตัวอย่างของผู้ขายที่มีการลงประวัติการขายของตัวเองที่เคยลงขายในเว็บไซต์นั้นๆ เพื่อเป็นการช่วยให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจในการซื้อมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ง่ายต่อการค้นหาประวัติและสะดวกในการเก็บข้อมูลซื้อขายแก่นักชอปขาจรที่อาจไม่ได้เป็นสมาชิกของเว็บไซต์นั้นๆ
บัญชีธนาคารคนขายเช็กยังไงว่าไม่ติด Black list?

มาถึงกฎข้อสำคัญอีกหนึ่งข้อ ซึ่งในปัจจุบันเป็นวิธีการชำระเงินยอดนิยมนั้นคือ การโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร และด้วยความที่สะดวกรวดเร็วก็ทำให้การติดตามทวงเงินเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะโอนปุ๊ปก็ตัดเงินปั๊บ เสียเงินทันที ดังนั้นก็มีหลายๆ เว็บไซต์ที่มีบอร์ดขายของออนไลน์พยายามหาทางแจ้งเตือนเพื่อนสมาชิกก่อนจะทำการโอนเงินเพื่อซื้อของ หนึ่งในนั้นก็คือ การแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารซึ่งเข้าข่ายโกงหรือหลอกลวง หรือที่เรียกกันว่า Blacklist เพื่อเป็นการเตือนภัยตั้งแต่เนิ่นๆ โดยวิธีการก็อาจจะทำเป็นกระทู้ปักหมุดแล้วจั่วหัวกระทู้ว่า รายชื่อและเลขที่บัญชีที่ติด Blacklist เป็นต้น

2-5-2016 12-33-03 AM
ตัวอย่างการแจ้งเตือนรายชื่อ Blacklist ก็จะมีการปักหมุดกระทู้เอาไว้ที่ด้านบนเพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา ซึ่งเวลาที่เราคิดจะทำการซื้อขายที่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งเราก็ควรจะหาข้อมูลหรือลองเข้าไปดูกระทู้เหล่านี้บ้างเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูล

 

PDAMobiz_015
ตัวอย่างด้านในกระทู้เตือนรายชื่อที่ติด Blacklist ก็จะมีการให้ข้อมูลต่างๆ ทั้ง Username, เว็บไซต์ที่มีชื่อ Username นี้เข้าไปโพสต์, ชื่อ-นามสกุลจริง, เลขที่บัญชีธนาคาร และสินค้าที่นำมาหลอกขาย ถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากไว้ใช้ในการตัดสินใจก่อนการซื้อของ

 

PDAMobiz_016
เพื่อให้ง่ายยิ่งขึ้นต่อการค้นหาและป้องกันการเปลี่ยนชื่อ Username กลับมาหลอก แต่ละเว็บก็อาจจะมีการรวบรวมเอาเลขที่บัญชีและธนาคารมาไว้ด้วยกัน หากเราต้องการเช็กก็ง่ายๆ เพียงแค่กด Ctrl + F แล้วกรอกเลขที่บัญชีลงไปหากไปตรงกับใน Blacklist ก็โบกมือบ๊ายบายแล้วไปซื้อกับคนขายคนใหม่ดีกว่าจ้า

แต่ถึงแม้จะมีความพยายามรวบรวมข้อมูลมาเก็บไว้เตือนภัยขนาดไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีทางเก็บข้อมูลได้ทั่วถึง และในบางครั้งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนซื้อเองไม่ได้เช็กข้อมูลเหล่านี้ กระทู้แจ้งเตือนภัยหรือแจ้งเลขที่บัญชีโดน Blacklist จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามแล้วคิดเอาเองว่า “เราคงไม่โดนหลอกหรอกมั้ง”

นัดรับของเองสบายใจกว่า

มาถึงในข้อสุดท้ายกันบ้าง (ที่เรียกได้ว่าสำคัญและปลอดภัยที่สุด) นั่นก็คือการนัดรับของหรือซื้อขายกันแบบเห็นหน้าเห็นตา แม้วิธีนี้จะเป็นวิธีที่เสียเวลาและอาจจะไม่สะดวกอยู่บ้าง แต่การนัดรับของนั้นแทบจะทำให้โอกาสโดนหลอกหรือเชิดเงินแทบจะกลายเป็น 0 ไม่ว่าจะเป็นกรณีการโดนหลอกส่ง EMS แต่ไม่ส่ง, การโดนหลอกยัดของปลอมมากับไปรษณีย์ หรือการส่งของไม่ครบ เหล่านี้ตัดโอกาสที่จะเกิดขึ้นทิ้งไปได้เลยหากเรานัดรับของเอง นอกซะจากว่านัดรับของเองแต่ของที่เอามาขายดันเป็นของย้อมแมวหรือของปลอม กับกรณีที่คนขายเกิดหน้ามืดวิ่งราวเงินของเราไปต่อหน้าต่อตา (คือถ้าจะซวยขนาดนั้น) หรือเซ็งสุดก็อาจจะโดนปล่อยให้รอเก้อ

แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัย (ในยุคที่ไว้ใจใครไม่ได้ทั้งสิ้น) หากเราจะนัดไปซื้อของก็ไม่ควรจะออกไปคนเดียว (โดยเฉพาะผู้หญิง) ควรจะพาเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปเป็นเพื่อน หากเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือเลือกสถานที่นัดดูของเป็นแหล่งชุมชนที่มีคนพลุกพล่านก็จะช่วยได้มาก และที่สำคัญหากจะตัดสินใจซื้อของที่มูลค่ามากๆ ก็ควรศึกษาหาข้อมูลไว้บ้างเพื่อใช้ในการตรวจเช็กสินค้า เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าไม่ถูกหลอกเงินแต่ถูกเอาของย้อมแมวมาหลอกขายไปซะเปล่าๆ

คิดว่าอ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายๆ คนก็อาจจะเริ่มนึกกลัวที่จับจ่ายซื้อของในโลกออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงนั้นในทุกๆ สังคมต่างก็มีปะปนกันไปทั้งคนดีและคนไม่หวังดี การซื้อของในโลกออนไลน์ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ปลอดภัยไปซะทั้งหมดเหมือนกับที่ซื้อของตามห้างก็ใช่ว่าจะได้ของที่ไม่มีตำหนิเลย ดังนั้นสิ่งที่จะป้องกันตัวเราจากการโดนหลอก โดนเชิดเงิน หรือเสียเงินฟรีก็คงจะมีแค่ตัวเราเองเท่านั้น ก่อนจะยอมจ่ายเงินซื้ออะไรออกไปขอให้ท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า ก่อนจ่ายเงินเราคือพระเจ้า แต่พอจ่ายเงินไปแล้วกลับเอาคืนมายากมากๆ หากไม่มั่นใจจริงๆ ก็อย่าเพิ่งโอนเงินให้ใครไปก่อนจะดีที่สุด

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here