Sharing Economy พลิกโฉมธุรกิจดิจิทัล

ปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง การเปิดตัวของ แอพพลิเคชั่น และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง Airbnb, Spotify, Uber และGrab Taxi เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ มองไปข้างหน้าสังคมไทยคงหลีกหนีแนวโน้มนี้ไม่พ้น Tech Startup ต้องเกิดขึ้น เอสเอ็มอีต้องปรับตัว 

sipa-08

โครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (Collaborative Consumption) และการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer to Peer : P2P) เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (Excess Capacity) ผ่านการให้บริการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึงเสื้อผ้า ของมือสอง และกระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ในระดับกว้างขวาง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่

บริษัท PwC Consulting เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Sharing Economy ที่ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,000 รายว่า ปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์ รถเช่า และแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and Video Streaming) จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาด Sharing Economy เติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท (3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปัจจุบันประมาณ 5 แสนล้านบาท

ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตแบบ Sharing Economy ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ทั่วโลก ได้แก่ บริษัท Airbnb ตลาดชุมชนที่ผู้เข้าพักสามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พัก โดยเน้นการนำเสนอประสบการณ์ของผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก และเชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน และมีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัท Start Up ที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่งในตลาดนี้

ในขณะที่ Spotify ผู้ให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 40 ล้านราย และ Uber ยังถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถแท็กซี่ในรูปแบบรถลีมูซีนรายใหญ่ของโลก ที่ใช้การเรียกบริการผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน และมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy และแม้ว่า Uber จะถูกตรวจสอบจากสาธารณชน เกิดการประท้วง คดีความ และข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่แท็กซี่หรู Uber ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและสามารถขยายกิจการไป 250 ประเทศทั่วโลกได้ในเวลาเพียง 5 ปี และมีมูลค่าบริษัทกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ามาร์เก็ตแคปของสายการบินอเมริกันบางรายเสียอีก

sipa-09

ในประเทศไทยเอง Sharing Economy เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทยไม่แพ้ชาติอื่น ๆ เห็นได้จากการที่คนไทยเข้าไปแชร์ที่พัก หรือใช้บริการที่พักผ่านแอพฯ มากขึ้น หรือแม้แต่การใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพฯ ก็มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เลือกอยู่หลายรายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Easy Taxi, Grab Taxi, Uber หรือ All Thai Taxi ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในวงการแท็กซี่ไทย

และไม่เพียงแต่ภาคเอกชนที่มีการตื่นตัว ปัจจุบันการส่งเสริม Tech Startup เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภาครัฐ ที่ดำเนินการส่งเสริมผ่านสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์วแวร์แห่งชาติ (SIPA) ซึ่งการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ทางด้านดิจิทัล (Tech Startup) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านทางผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างกำลังคนทางด้านดิจิทัลจำนวนมาก

ปัจจุบัน SIPA ได้ผลักดัน Tech Startup ผ่านโครงการหลากหลายเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เช่น การบ่มเพาะ อบรม และการประกวดผลงานนวัตกรรม การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของนวัตกรรมธุรกิจ และการเร่งพัฒนาศักยภาพสู่ระดับสากล ตลอดจนถึงการสร้างโอกาสทางการตลาด การขยายตลาด และการผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของ Tech Startup

แนวโน้มของ Sharing Economy จะผลักดันให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ เช่น Tech Startup ซึ่งมีพร้อมทั้งบริการที่เข้าถึงผู้บริโภค และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ผ่านซอฟต์แวร์ และแอพพลิคชัน จึงเป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีต้องปรับตัวเพื่อรับกับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นธุรกิจไทยเป็นแบบ Sharing Economy มากยิ่งขึ้น โดยภาคส่วนต่าง ๆ จะเชื่อมเข้าหากัน และภาคธุรกิจจะแบ่งปันหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันเพิ่มมากขึ้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here