GovTech Next Move เจาะลึกเบื้องหลังนวัตกรรมภาครัฐฝีมือคนไทย เชื่อมคนเข้าถึงรัฐ เปลี่ยนโฉมบริการแบบพลิกฝ่ามือ
ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เชื่อมต่อคนให้เข้าถึงบริการภาครัฐได้ด้วยนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม e-service รวมถึงตู้คีออสก์ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การใช้บริการภาครัฐง่ายและสะดวกสบายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ข้อมูลสำคัญถูกเปลี่ยนโฉม ลดขั้นตอนให้เข้าถึงได้จากมือถือ ปริมาณการใช้งานจากประชาชนจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นตัวเร่งให้นวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐ หรือ GovTech เติบโตมากขึ้น และรู้หรือไม่ว่า GovTech เป็นหนึ่งในเทรนด์มาแรงที่ภาคเอกชนหรือสตาร์ทอัพหันมาสนใจลงทุน หลายประเทศประกาศชัดเจนว่าจะใช้ GovTech เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อยากชวนคนไทยให้ลองเปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรรมที่จะเข้ามาพลิกโฉมการทำงานของระบบราชการไทย กับเบื้องหลัง ส่อง 6 นวัตกรรมภาครัฐ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนไทยให้ต่างไปจากเดิม ผ่านซีรีส์ “GovTech Next Move”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA บอกว่า GovTech ในไทยเกิดขึ้นมาในช่วง 5-6 ปี หลังจากมีโครงการพัฒนา Startup Thailand ขึ้นมา โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัฐ 6-7 สาขา เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมภาครัฐ (GovTech), นวัตกรรมภาคประชาชน (CivilTech) และนวัตกรรมด้านการศึกษา (EdTech) ขึ้นในประเทศ จากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ, เอกชน และภาคประชาชน
จุดเปลี่ยนที่ชัดที่สุดคือสถานการณ์ Covid-19 ที่เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส และกลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ภาครัฐต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเราไม่สามารถที่จะให้บริการหน้างานได้แบบที่ผ่านมา ทำให้ต้องพัฒนามิติของการบริการด้วยเทคโนโลยีให้ใช้งานได้ผ่านระบบออนไลน์
ในขณะที่ต่างประเทศ GovTech มีพัฒนาการมาสักพักในวงการนักลงทุน ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา จะมีสตาร์ทอัพให้บริการแทนหน่วยงานราชการในระดับท้องถิ่น มีนักลงทุนที่พร้อมให้การสนับสนุนพัฒนาบริการสาธารณะเป็นหลัก ส่วน GovTech ของสิงคโปร์ จะเน้นเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Digital tranformation) โดยให้ทุนกับสตาร์ทอัพทำแพลตฟอร์มให้บริการภาครัฐ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ส่อง 6 นวัตกรรมภาครัฐ เปลี่ยนชีวิต
- ลดขั้นตอน เพิ่มความเร็ว นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับบริการภาครัฐ
- เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ให้ง่ายกว่าเดิม นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
- เข้าถึงข้อมูลสุขภาพบนมือถือ นวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต
- เชื่อมต่อข้อมูลเข้าถึงชุมชน นวัตกรรมที่เน้นจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องน้ำ อากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ
- โปร่งใส ตรวจสอบได้ นวัตกรรมภาครัฐที่นำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการ
- จัดสรรพื้นที่ ใช้เทคโนโลยีสร้างความสมดุลย์ นวัตกรรมด้านการกระจายตัวในระดับพื้นที่ (Decentralization)
ด้านคุณอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) บอกว่า การทำงานของภาครัฐต้องเน้นตอบโจทย์เทคโนโลยีที่ประชาชนใช้บริการอยู่เป็นประจำ ทุกวันนี้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งอยู่บนมือถือ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาครัฐจะไม่ปรับตัว จากการทำงานบนกระดาษ มาให้บริการผ่านมือถือ ซึ่งประชาชนมีความเคยชินมากที่สุด กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบงานของภาครัฐให้ไปสู่ระบบดิจิทัล
แต่การเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล สำหรับผู้ใช้งานแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ต้องรีเซ็ตความคิด เปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ที่ต่างไปจากเดิม
ถ้าเราทำงานไปโดยที่ไม่ดูความต้องการ บางทีก็เหมือนทำไปแล้วเสียเปล่า ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไป ก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น การให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการมาช่วยออกแบบ จะเป็นการตอบโจทย์ และความคุ้มค่ามากที่สุด
“ถ้าเป้าหมายคือ “รัฐที่ล้ำหน้า” โดยการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ อย่างเหมาะสม เพื่อการบริการประชาชนที่รวดเร็ว รวมทั้งเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ในการปรับปรุงงานให้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ อันนี้คือภาพที่เราอยากจะเห็น” รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวย้ำ
ร่วมเปลี่ยนอนาคตด้วยนวัตกรรม เจาะลึกเบื้องหลังเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ติดตามต่อได้ในซีรีส์ GovTech Next Move ทาง Techhub และ BrandThink
#GovTech #GovTechNextMove #NIA #นวัตกรรมภาครัฐ #startup