- เทคโนโลยี QKD คืออะไรและเหตุใดจึงจำเป็นต่อเศรษฐกิจควอนตัม
- การรวมสัญญาณ – นำเทคโนโลยี QKD สู่สังคมกระแสหลัก
- การติดตั้งเครือข่ายปลอดภัยระดับควอนตัมในภาคอุตสาหกรรมครั้งแรกของสหราชอาณาจักร
โดยปกติแล้ว เทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องผ่านด่านสำคัญหลายด่านกว่าจะได้ออกจากห้องปฏิบัติการและถูกนำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ และด่านที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คือการทดสอบและการทดลองกับพันธมิตรทางการค้าในสภาพแวดล้อมการใช้งานจริง บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่าทำไมระบบการกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (Quantum key distribution หรือ QKD) ของโตชิบาจึงเป็นสิ่งจำเป็น พร้อมนำเสนอตัวอย่างการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในเครือข่ายที่ใช้งานจริงแล้วใน สหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้พร้อมนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว
เหตุใดจึงต้องมี QKD
ระบบการเข้ารหัสที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม แม้เราต้องพึ่งพาระบบเหล่านี้อย่างมหาศาล แต่เรากลับมักมองข้ามข้อเท็จจริงนี้ ระบบการเข้ารหัสต่างๆ เช่น การเข้ารหัสกุญแจสาธารณะอาร์เอสเอ (Public Key Encryption หรือ PKE) สำคัญอย่างยิ่งต่อเว็บ อีคอมเมิร์ซ รวมถึงการถ่ายโอนและการจัดเก็บข้อมูลธุรกิจและข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนจำนวนมากให้ปลอดภัย แต่กระนั้น การรักษาความปลอดภัยพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานของระบบเหล่านี้มักถูกมองข้าม ทั้งที่ในยุคปัจจุบันเป็นครั้งแรกที่ความปลอดภัยของระบบ PKE ถูกคุกคามโดยสองปัจจัยใหม่ที่มาคู่กัน นั่นก็คือ อาชญากรไซเบอร์ที่มีทรัพยากรพร้อมสรรพและมีแรงจูงใจที่จะขโมยข้อมูลส่วนตัว และความเป็นไปได้ที่อาชญากรเหล่านี้อาจจะมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัมใหม่ล่าสุดมาใช้ช่วยทำสิ่งเหล่านี้ในอีกไม่นานนี้ หลังจากที่ใช้ระบบที่มั่นคงมาหลายทศวรรษ แม้ความคิดที่ว่าระบบการเข้ารหัสอาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไปหรือปลอดภัยน้อยลงอาจฟังดูแล้วเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ตอนนี้อาจเกิดขึ้นได้จริงๆ แล้ว แต่ก่อนเราเคยเชื่อกันอยู่นานว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมสากลเป็นเพียงแค่อุปกรณ์ในจินตนาการ แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความคิดนี้ก็ได้เปลี่ยนไปเมื่อระบบคิวบิตพื้นฐานระบบแรกถือกำเนิดขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นอุปกรณ์ล้ำสมัยที่ดูจะมีขีดความสามารถในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์แซงหน้าคอมพิวเตอร์ปกติที่ใช้กันอยู่ไปแล้ว
ความโชคไม่ดีก็คือ อาชญากรไซเบอร์ที่เจตนาไม่ดีกับขีดความสามารถของเทคโนโลยีที่สูงขึ้นดันมาบรรจบกันในยุคที่ปริมาณข้อมูลที่ส่งข้ามเครือข่ายกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการขยายตัวของเครือข่ายรับส่งข้อมูลมือถือ 5 จี อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) และการสื่อสารระหว่างเครื่องจักร (machine-to-machine หรือ M2M) เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ซิสโก้ได้ประมาณการณ์ว่าภายในปีพ.ศ. 2564 ปริมาณข้อมูลที่ส่งทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียวจะมากกว่าในปีพ.ศ. 2554 ถึง 122 เท่า และในจำนวนนี้ มีสัดส่วนข้อมูลที่เจ้าของธุรกิจจัดว่าเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวเพิ่มขึ้นด้วย
แน่นอนว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัมไม่ได้เป็นภัยต่อข้อมูลที่รับส่งกันอยู่ในทุกวันนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโอกาสส่งผลกระทบต่อข้อมูลปริมาณมหาศาลที่จัดเก็บและเข้ารหัสไว้ย้อนกลับไปถึงยุคแรกที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ แม้ว่าข้อมูลที่ว่านี้จะยังปลอดภัยอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรจะมาหยุดผู้ประสงค์ร้ายไม่ให้ดาวน์โหลดข้อมูลที่เข้ารหัสไว้ดังกล่าว แล้วรอเวลาให้คอมพิวเตอร์คอวนตัมใช้ได้จริงเพื่อถอดรหัสข้อมูลและลงมือโจมตี การจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ความท้าทายด้านเทคนิคเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำทั้งในเชิงพาณิชย์และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ เพราะหากไม่มีการเข้ารหัสอย่างปลอดภัยแล้ว การสื่อสารที่ผู้ใช้ในปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นส่วนตัวก็จะเริ่มพังทลาย ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการทำธุรกิจในโลกออนไลน์และลามไปถึงเศรษฐกิจทั้งระบบในที่สุด
การกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (QKD)
ระบบการกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัมของโตชิบา
ทางออกของปัญหานี้ คือ การเข้ารหัสเชิงควอนตัม ซึ่งทำได้โดยใช้การกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (quantum key distribution หรือ QKD) การเข้ารหัสแบบนี้แตกต่างจากการเข้ารหัสกุญแจสาธารณะแบบที่ใช้กันอยู่ตรงที่ระบบเดิมตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า คอมพิวเตอร์ปกติที่เราใช้กันแก้โจทย์คณิตศาสตร์ซับซ้อนไม่ได้เร็วพอ ส่วน QKD มีความปลอดภัยแน่นอนเพราะอาศัยอุตุนิยามหรือกฎธรรมชาติพื้นฐานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อรวมกับอัลกอริทึมชนิดต้านระบบควอนตัมแล้ว จึงทำให้ QKDปลอดภัยทั้งจากการแอบส่องดูข้อมูลในปัจจุบันและการโจมตีทุกรูปแบบในอนาคต QKD กระจายกุญแจเข้ารหัสให้แก่ทั้งสองฝ่ายที่สื่อสารกันอย่างปลอดภัย ดังนั้น หากมีการพยายามดักข้อมูล ก็จะแสดงข้อผิดพลาดชัดเจน
เทคโนโลยีบุกเบิกและความเชี่ยวชาญเหนือระดับที่สั่งสมจากงานวิจัยเกือบสองทศวรรษ
โตชิบาเป็นผู้บุกเบิกด้าน QKD มาเกือบ 30 ปีแล้ว ทั้งยังได้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมหลายอย่างเป็นรายแรกของโลกและทำการสาธิตต่อสาธารณชนจนสามารถพลิกโฉมเทคโนโลยี QKD จากโครงการขั้นพิสูจน์แนวคิดจนไปสู่ขั้นที่นำไปใช้งานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแล้ว การศึกษาวิจัยด้าน QKD ของโตชิบาเริ่มต้นจากการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยเคมบริดจ์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 โตชิบาได้พัฒนาเครื่องตรวจจับโฟตอนเดี่ยว ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เป็นหัวใจของเทคโนโลยีนี้ ในปีพ.ศ. 2547 โตชิบาได้ทำการสาธิต QKD ครั้งแรกของโลกผ่านเส้นใยยาว 100 กม. ก่อนที่จะทุบสถิติโลกในปีพ.ศ. 2551 ด้วยการทำความเร็ว 1 เมกะบิตต่อวินาทีที่ระยะทาง 20 กม. ในปัจจุบัน เทคโนโลยี QKD ของโตชิบาทำสถิติได้ถึง 13.7 เมกะบิตต่อวินาทีในระยะทาง 10 กม. ทั้งนี้ ระยะทางสูงสุดที่เคยสาธิตการใช้เทคโนโลยีนี้คือ 240 กม. และเคยทำระยะทางได้ถึง 500 กม. ด้วย QKD สนามคู่ (Twin-Field QKD) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้การสื่อสารข้ามเมืองได้อย่างปลอดภัย ในปีพ.ศ. 2562 โตชิบาได้เข้าร่วมโครงการ Open QKD ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยเข้าร่วมในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างสนามทดสอบ QKD เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่างๆ ได้แก่ เวียนนา เบอร์ลิน มาดริด พอซนาน เคมบริดจ์ และ กราซ
การรวมสัญญาณ – นำเทคโนโลยี QKD สู่สังคมกระแสหลัก
หลังวิจัยและพัฒนามานานหลายทศวรรษ การเปิดตัวเทคโนโลยี QKD แบบรวมสัญญาณของโตชิบาถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับ เทคโนโลยี QKD เทคโนโลยีนี้ทำให้สามารถนำ QKD ไปใช้กับเส้นใยที่ใช้รับส่งข้อมูลอยู่แล้วได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการติดตั้งได้อย่างมาก ทำให้เทคโนโลยีนี้สามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้ในแวดวงเครือข่ายผู้ให้บริการมาตรฐาน หาก QKD เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราวางใจได้มาโดยตลอดว่าสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกุญแจที่ปลอดภัยได้ เทคโนโลยีรวมสัญญาณนี้ก็นับเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานต่างๆ จะเข้าถึงความวางใจดังกล่าวได้ในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบบริการพื้นฐานจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม ระบบ QKD ปกติมีข้อด้อยตรงที่ต้องใช้ช่องสัญญาณใยแก้วแยกต่างหากในการกระจายกุญแจและข้อมูล ทำให้ค่าติดตั้งแพงกว่าเพราะต้องใช้สายใยแก้วนำแสงที่ยังไม่ได้ใช้งาน ด้วยเหตุนี้ โตชิบาจึงได้พัฒนาอุปกรณ์รวมสัญญาณแบบแบ่งความยาวคลื่น (wavelength division multiplexing หรือ WDM) ซึ่งทำให้รวมช่องสัญญาณสำหรับข้อมูลควอนตัมและข้อมูลปกติอยู่ในเส้นใยแก้วนำแสงที่ใช้งานอยู่แล้วเส้นเดียวกันได้ โดยใช้แถบความถี่โอ (สัญญาณควอนตัม) และแถบความถี่ซี (การรับส่งข้อมูล) สามารถส่งสัญญาณเป็นระยะไกลสุดถึง 70 กม. ด้วยอัตราการรับส่งข้อมูลกุญแจกว่า 40 กิโลบิตต่อวินาที โดยสูญเสียสัญญาณ 10 เดซิเบล การทำให้ QKD ชนิดรวมสัญญาณใช้งานได้จริงในเครือข่ายที่ไม่เสถียรในโลกความเป็นจริงนั้นจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่พัฒนารุดหน้าไปหลายขั้น เพื่อให้สามารถชดเชยกับสัญญาณแทรกสอดและการสูญเสียสัญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปริมาณข้อมูลและระดับสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสัญญาณเลเซอร์ในสายสัญญาณปกติมีความแรงและสว่างกว่าสัญญาณในช่องสัญญาณควอนตัมหลายสิบล้านเท่า โตชิบาจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบกรองกรรมสิทธิ์เฉพาะขึ้นเพื่อให้สามารถแยกสัญญาณดังกล่าวได้โดยที่อัตราความผิดพลาดไม่เกินค่าที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ โตชิบายังใช้เทคโนโลยีสร้างความเสถียรแบบแอ็กทิฟเพื่อตรวจสอบและชดเชยการเปลี่ยนแปลงด้านอุณหภูมิและความยาวของสายใยแก้ว ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแค่เพียงน้อยนิดก็สามารถทำให้เกิดข้อผิดพลาดและลดอัตราบิตโดยทันที ขณะนี้สามารถรับส่งสัญญาณไปพร้อมกับQKD ได้ในอัตราหลายเทระไบต์ต่อวินาทีในโหมด WFM นี้
เศรษฐกิจที่พร้อมรับระบบควอนตัม
ในปีพ.ศ. 2563 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ควอนตัมแห่งชาติ (National Quantum Computing Center หรือ NQCC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนที่มีการให้เงินทุน 10 ล้านปอนด์เพื่อสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมเชิงพาณิชย์เครื่องแรกของประเทศที่ออกแบบมาเพื่อทดสอบอัลกอริทึมและลักษณะการใช้งานใหม่ๆ อันนับเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะทำให้ประเทศมี “เศรษฐกิจที่พร้อมรับระบบควอนตัม” การลงทุนในลักษณะคล้ายๆ กันนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเดินหน้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีควอนตัมเป็นรากฐาน แม้ระบบที่ว่านี้วิศวกรเครือข่ายในโลกทุกวันนี้จะยังไม่คุ้นเคย แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดไกลตัวโดยสิ้นเชิง ในด้าน QKD ก้าวแรกของยุคควอนตัมพร้อมใช้งานแล้ว
การถ่ายโอนข้อมูลละเอียดอ่อนอย่างปลอดภัยระหว่างโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมระยะไกลด้วยเส้นใยเพียงเส้นเดียว
โตชิบา ได้ร่วมมือกับบีที โดยนำระบบที่ปลอดภัยระดับควอนตัมไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เพื่อใช้รับส่งสัญญาณระหว่างศูนย์วัสดุคอมโพสิตแห่งชาติ (National Composites Centre หรือ NCC) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาวัสดุคอมโพสิตชั้นนำของโลกที่ตั้งอยู่ในบริสตอล กับศูนย์เพื่อการสร้างแบบจำลองและการจำลอง (Centre for Modelling & Simulation หรือ CFMS) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไรและเป็นผู้บุกเบิกด้านขีดความสามารถด้านวิศวกรรมดิจิทัลใหม่ๆ
การติดตั้งเครือข่ายปลอดภัยระดับควอนตัมในอุตสาหกรรมครั้งแรกของสหราชอาณาจักร
เครือข่ายดังกล่าวสาธิตให้เห็นว่า QKD สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยในการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างหน่วยงานอุตสาหกรรมสำคัญที่ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดโซลูชันเทคโนโลยีนี้กำลังเข้ามาแทนที่วิธีการส่งข้อมูลที่มีความอ่อนไหวแบบเดิม ที่ต้องบรรจุข้อมูลลงในอุปกรณ์เก็บข้อมูลพกพาแล้วนำส่งอุปกรณ์ระหว่างทั้งสองหน่วยงาน คือ เอ็นซีซี และ ซีเอฟเอ็มเอส ซึ่งตั้งอยู่ในเอเมอร์สันส์กรีนและฟิลตันในนอร์ท บริสตอล และที่มหาวิทยาลัยบริสตอล วิธีการใหม่นี้สามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงผ่านสายเส้นใยนำแสงยาวกว่า 7 กิโลเมตร พร้อมกับส่งกุญแจเข้ารหัสในรูปกระแสโฟตอนเดี่ยวที่เข้ารหัสแล้ว ทำให้ทั้งประหยัดเวลาและทำให้การถ่ายโอนข้อมูลสำคัญปลอดภัยยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีรวมสัญญาณล้ำยุคช่วยให้สามารถส่งข้อมูลและกุญแจควอนตัมในเส้นใยสายเดียวกันได้ ไม่ต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการกระจายกุญแจโดยเฉพาะ ระบบ QKD ของโตชิบาใช้เส้นใยโอเพนรีชมาตรฐาน ทำให้สามารถกระจายกุญแจเข้ารหัสได้นับพันต่อวินาที นอกจากนี้ ความสามารถในการรวมสัญญาณยังทำให้ส่งข้อมูลและกุญแจควอนตัมในเส้นใยเดียวกันได้ ไม่ต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการกระจายกุญแจโดยเฉพาะ ระบบดังกล่าวยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสร้างความเสถียรแบบแอ๊กทิฟของโตชิบา ซึ่งช่วยให้ระบบสามารถกระจายกุญแจได้อย่างต่อเนื่องแม้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายที่สุด โดยที่ไม่ต้องมีคนเข้ามาควบคุมดูแล ช่วยให้ไม่ต้องปรับเทียบระบบใหม่เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในความยาวของเส้นใยอันเนื่องมาจากอุณหภูมิ
ก้าวสำคัญของสหราชอาณาจักรสู่เศรษฐกิจที่พร้อมรับระบบควอนตัม
องค์กรสมัยใหม่ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกต่างหันมาจัดให้เรื่องการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาการทำงานของสิ่งอำนวยความสะดวกและทรัพย์สินของตนเอง ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับห่วงโซ่อุปทานเพื่อการออกแบบและการผลิตมีความ ชาญฉลาดขึ้นและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้การส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานปลอดภัยมั่นคงเพื่อปกป้องข้อมูลการออกแบบและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว
เนื่องจาก QKD ทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลร่วมกันได้มากขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Internet of Things หรือ IIoT) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งข้อมูลได้อย่างปลอดภัยเป็นพิเศษ
การแบ่งปันข้อมูลอย่างปลอดภัยด้วย QKD ได้กลายมาเป็นข้อคำนึงถึงที่สำคัญในเชิงพาณิชย์สำหรับธุรกิจในปัจจุบัน
“เราดีใจมากที่ได้ร่วมงานกับบีทีและโตชิบา และได้มีส่วนร่วมในการบุกเบิกติดตั้งอุปกรณ์นี้เป็นครั้งแรก” มาร์ค ฟันเนลล์ ผู้อำนวยการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีและนวัตกรรมวิศวกรรมดิจิทัล (DETI) ของเอ็นซีซี กล่าว “ระบบควอนตัมทำให้เราต้องคิดใหม่เรื่องวิธีสร้างความปลอดภัยให้แก่ข้อมูลของเรา การเชื่อมต่อแบบปลอดภัยพิเศษที่น่าเชื่อถือจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านวิศวกรรมดิจิทัลในแวดวงอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร เรามีแผนที่จะขยายขอบเขตให้กว้างขึ้น และนำไปบูรณาการรวมเข้ากับสนามทดลองระบบ 5จี ของเราที่เอ็นซีซี และนำไปขยายผลกับพันธมิตรในกลุ่ม DETI ของเรา”
นาธาน ฮาร์เปอร์ หัวหน้าหน่วยบริการคอมพิวเตอร์วิศวกรรมของซีเอฟเอ็มเอส กล่าวว่า “โครงการนี้แสดงให้เห็นว่า QKD สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ในโลกความเป็นจริงได้ วิศวกรรมดิจิทัลจะสร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลให้แก่กันและกันได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมอาจส่งผลให้วิธีการเข้ารหัสเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล แต่โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นว่า QKD พร้อมใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว ทำให้เรายังคงสามารถแบ่งปันข้อมูลที่มีความอ่อนไหวผ่านเครือข่ายสาธารณะได้เช่นที่ผ่านมา”
แอนดรูว์ ชีลด์ส หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีควอนตัมของโตชิบาในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การทำงานร่วมกับเอ็นซีซี ซีเอฟเอ็มเอส และบีที เปิดโอกาสให้เราได้สาธิตเทคโนโลยีการสื่อสารแบบควอนตัมที่ปลอดภัยสำหรับนำไปใช้ในระบบการผลิตอัจฉริยะ การรวมสัญญาณควอนตัมและสัญญาณธรรมดาในเส้นใยเดียวกันทำให้เราสามารถบูรณาการ QKD เข้าไปในผลิตภัณฑ์เส้นใยมาตรฐานของบีที ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า QKD พร้อมนำไปใช้งานแล้วโดยไม่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานราคาแพงขึ้นมาโดยเฉพาะ ขณะนี้คาดกันว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร หลังจากที่ออกจากสหภาพยุโรปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อให้เกิดโรงงานอัจฉริยะและอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีการเชื่อมต่อถึงกัน