ซีเกทร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเปิดตัวการแข่งขันนวัตกรรมเพื่อป้องกันการล้มของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (กลางซ้าย) มอบเงิน 2.475 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน“การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ” แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ ตัวแทนจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (กลางขวา) โดยมีแพทย์หญิงดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ (ซ้ายสุด) และศาสตราจารย์ ดร. ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (ขวาสุด) ร่วมในพิธี
เตรียมพร้อมเยาวชนนักประดิษฐ์ส่งผลงานเข้าร่วม “การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ” ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาไทยได้ออกแบบ พัฒนา และสร้างนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ
การแข่งขันระดับประเทศนี้จัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทยได้พัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ซึ่งจะช่วยป้องกันการล้มของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกและ/หรือช่วยลดอาการบาดเจ็บอันเนื่องจากการล้ม
การแข่งขันนี้จะเป็นเวทีในการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ นักกายภาพบำบัด วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหุ่นยนต์รวมทั้งนักวิชาการ โดยเวิร์คช็อปที่จะจัดขึ้นให้กับผู้เข้าแข่งขันนั้นจะเอื้ออำนวยให้มีการใช้ข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ รวมทั้งเทคนิคอันทันสมัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ดังนั้น นอกจากการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ผู้เข้าแข่งขันยังจะได้รับความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์การออกแบบในทุกแง่มุมเพื่อที่จะสามารถออกแบบอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยได้มากที่สุด
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราสนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจตลอดจนพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์และความรู้ที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ซีเกทขอขอบคุณ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำหรับความร่วมมือในการเปิดตัวการแข่งขันซึ่งช่วยให้นิสิต นักศึกษาได้ใช้ทักษะและความสามารถพิเศษเพื่อช่วยผู้พิการ นอกจากนี้ ซีเกทยังเชื่อว่าการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในอนาคตนั้นจะช่วยสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นแก่สังคม”
ซีเกท ประเทศไทยได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์หลายรายการรวมทั้งการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับ การแข่งขันหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เตะฟุตบอล และการแข่งขันหุ่นยนต์บินไร้คนบังคับ เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร. ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือในการจัดการแข่งขันเพื่อผู้พิการในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย และจะเป็นเวทีที่ต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไปสู่โซลูชั่นที่มีคุณค่าซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคม ผมมีความมั่นใจว่าความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรม จากการแข่งขันในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น”
แพทย์หญิงดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เชื่อว่าเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการจะมีบทบาทสำคัญในการเอื้ออำนวยให้คนพิการได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเหมาะสมจะช่วยให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างคนปกติและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองศ์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจต่อสังคมในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ การจัดประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ในครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เข้าแข่งขันก้าวเข้าสู่สังคมนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน การแข่งขันในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังนิสิต นักศึกษา เรื่องกระบวนการคิด การวิเคราะห์ การทดลอง วิจัย พัฒนา การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและลงมือสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดประโยชน์กับสังคม ทักษะและความสามารถเหล่านี้จะติดตัวนิสิต นักศึกษาไปด้วย จนนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และพาสังคมไทยก้าวสู่สังคมนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”
สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องเป็นนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนและสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทางออนไลน์ได้ที่ www.tiat2014.com จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน ศกนี้ โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2558
– ผู้เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัว “การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ” ซึ่งจัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ ก่อนต่อยอดมาเป็นการแข่งขันประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ
สาธิตการทำงานของอุปกรณ์ tail gait ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ความผิดปกติของการเดินก่อนการล้ม ตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ