เตือนภัยออนไลน์ มิจฉาชีพระบาดหนัก หลอกลงทุนสูญเงินหลักล้าน

เตือนภัยออนไลน์

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ถึง 5 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441 ได้รับรายงานเคสตัวอย่างของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์จำนวน 5 เคสรวมมูลค่าความเสียหายสูงถึง 10,973,777 บาท สะท้อนให้เห็นถึงภัยร้ายจากมิจฉาชีพออนไลน์ที่ยังคงระบาดหนัก

สำหรับรายละเอียดของเคสตัวอย่างทั้ง 5 เคสนั้นคือ
1.การหลอกลวงให้ลงทุนเทรดหุ้นสกุลเงินดิจิทัล อ้างผลตอบแทนดี
2.การหลอกลวงให้โอนเงินโดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
3.หลอกลงทุนผ่านโฆษณาบน Facebook
4.หลอกให้รักแล้วโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันหาคู่
5.หลอกขายรถยนต์มือสอง

ซึ่งทั้งหมดนี้มิจฉาชีพใช้ช่องทางออนไลน์ทั้ง Line, Facebook, แอปฯ หาคู่ และโทรศัพท์ เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเหยื่อ โดยสร้างความน่าเชื่อถือ และใช้กลอุบายต่างๆ จนผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงิน

เคสแรก มิจฉาชีพชักชวนเหยื่อลงทุนเทรดหุ้นผ่าน Line อ้างผลตอบแทนดี ช่วงแรกจ่ายจริง เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเพิ่ม สุดท้ายถอนเงินไม่ได้ เสียหายกว่า 1.5 ล้านบาท
เคสที่สอง มิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง หลอกให้ติดตั้งแอปฯ ยืนยันข้อมูลบำนาญ แล้วดูดเงินจากบัญชีไปเกือบ 2 ล้านบาท
เคสที่สามเหยื่อพบโฆษณาเทรดหุ้นบน Facebook ลงทุนผ่านแอปฯ ช่วงแรกถอนได้ ภายหลังถอนไม่ได้ พบเป็นเพจปลอม สูญกว่า 3 ล้านบาท
เคสที่สี่ มิจฉาชีพตีสนิทผ่านแอปฯ หาคู่ หลอกให้ร่วมลงทุน สูญอีกกว่า 2 ล้านบาท
เคสสุดท้าย หลอกขายรถมือสองผ่าน Facebook โอนเงินแล้วเชิดหนี เสียหาย 2.3 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยถึงสถิติผลการดำเนินงานของศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2568 พบว่ามีสายโทรเข้ามากถึง 1,355,182 สาย เฉลี่ยวันละ 3,152 สาย และสามารถระงับบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับคดีหลอกลวงออนไลน์ได้แล้ว 458,680 บัญชี เฉลี่ยวันละ 1,182 บัญชี โดยประเภทคดีที่มีการระงับบัญชีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ, หลอกลวงหารายได้พิเศษ, หลอกลวงลงทุน, หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล และหลอกลวงให้กู้เงิน

จากเคสตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพมักใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกัน คือหลอกลวงให้ลงทุน อ้างผลตอบแทนสูง หรือแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน หรือหลอกให้รักแล้วชวนลงทุน ดังนั้น ประชาชนจึงควรระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่มักใช้ความโลภ และความกลัว เป็นเครื่องมือในการหลอกลวง รวมถึงไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

วิธีป้องกันตัวเองคือ ให้เราสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนโอนเงินหรือให้ข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการลงทุนที่อ้างผลตอบแทนสูงเกินจริง หรือการอ้างว่าได้รับรางวัลโดยไม่มีที่มาที่ไป หากสงสัยว่าจะถูกหลอกลวง สามารถติดต่อขอคำปรึกษาหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ AOC 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง และขอให้ยึดหลัก 4 ไม่ คือ “ไม่กดลิงก์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ครับ

ที่มา
กระทรวง DE