ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2014 ไมโครซอฟท์ ประกาศแต่งตั้ง สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอคนที่ 3 ของบริษัท ในรอบ 39 ปี วิสัยทัศน์ของนาเดลลาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง คือการเดินหน้ากลยุทธ์ใหม่ที่เน้นการเพิ่มผลิตผลทางเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม ภายใต้วิสัยทัศน์ Mobile-First Cloud-First ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ฮาร์ดแวร์ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเติมเต็มพลังให้กับผู้คนบนโลก
ช่วงเวลา 2 ปี ในการกุมบังเหียนไมโครซอฟท์ของสัตยา นาเดลลา ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับความคาดหวังจากผู้คนทั่วโลก ผู้ถือหุ้น ไปจนถึงนักลงทุน ที่ต้องการเห็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ที่จะพลิกโฉมไมโครซอฟท์ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกไอทีได้อีกครั้ง วันนี้เรามาย้อนรอยดูกันดีกว่ากับผลงานของสัตยา นาเดลลา ตลอด 2 ปีที่ผ่านมากับไมโครซอฟท์ มีอะไรโดดเด่น เชิญชมครับ
1. การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์
ด้วยวิสัยทัศน์ของนาเดลลาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ได้ให้คำมั่นว่าไมโครซอฟท์จะมุ่งเน้นเพิ่มผลิตผลทางเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ฮาร์ดแวร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยกระบวนการทางด้านวิศวกรรมที่มีความทันสมัยเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้า ซึ่งจะมีทั้งความรวดเร็วและคุณภาพเป็นองค์ประกอบหลัก
2. Office ใช้ได้ทุกที่
นอกเหนือกลยุทธ์ Mobile-First Cloud-First สัตยา นาเดลลา ยังต้องการให้โปรแกรม Office คลอบคลุมทุกอุปกรณ์ ทุกแพลตฟอร์ม พร้อมกับให้ผู้คนสามารถใช้บริการออนไลน์ได้จากทุกที่ ทุกเวลาบนระบบคลาวด์อย่าง OneDrive ของไมโครซอฟท์เอง ด้วยเหตุนี้ Office for iPad จึงเป็นจุดเริ่มแรกในบริการ Office รูปแบบใหม่ แม้จะสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี แต่การใช้งานเต็มรูปแบบผู้ใช้จะต้องสมัครบริการ Office 365 ควบคู่ไปด้วยเท่านั้น
3. Surface Pro 4 และ Surface Book
แบรนด์ Surface Pro ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม และยิ่งมากขึ้นเมื่อการมาของ Surface Pro 4 รวมไปถึง Surface Book แท็บเล็ตลูกผสมที่เมื่อต่อเข้ากับคีย์บอร์ดแล้วสามารถใช้งานได้เสมือนแล็ปท็อป ประกอบกับหน้าจอสามารถใช้งานระบบสัมผัสร่วมกับปากกา Surface Pen ได้ นับเป็นอุปกรณ์จากไมโครซอฟท์ที่เรียกว่าสนใจให้กับผู้คนทั่วโลกได้มากที่สุดในรอบหลายปี และการเปิดตัวแท็บเล็ตลูกผสมดังกล่าวยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนธุรกิจฮาร์ดแวร์ในอนาคตของไมโครซอฟท์ได้เช่นกัน
4. มุ้งเน้นระบบคลาวด์มากขึ้น
ในยุคที่การใช้ชีวิตต้องมีอุปกรณ์พกพาติดตัวไปด้วยทุกที่ ทำให้ไมโครซอฟท์จึงต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ Mobile-First Cloud-First โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ผลักดันชุดโปรแกรมการทำงานบนคลาวด์ Office 365 ทั้งในส่วนของผู้ใช้ทั่วไปและภาคธุรกิจ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ผลักดันชุดโปรแกรมการทำงานบนคลาวด์ Office 365 ทั้งในส่วนของผู้ใช้ทั่วไปและภาคธุรกิจ สามารถเชื่อมโยงการทำงานในหลายรูปแบบและให้ความปลอดภัย ตอบสนองการใช้งานในยุคโมบายได้เป็นอย่างดี
5. Windows 10
ถือเป็นหมัดเด็ดจากไมโครซอฟท์เมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับระบบปฏิบัติการใหม่ที่กระโดดจาก Windows 8 ข้ามมาเป็น Windows 10 พร้อมคอนเซปต์ง่ายๆ คือ “One Windows” หรือระบบปฏิบัติการเดียวใช้ได้ทุกอุปกรณ์ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ เข้ามามากมาย อาทิ Microsoft Edge เบราเซอร์รุ่นใหม่ แทนที่ Internet Explorer หรือมีผู้ช่วยฉลาดๆ รับคำสั่งได้ด้วยเสียง ที่เรียกว่า Cortana เป็นต้น
6. สู่โลกเสมือนจริงด้วย HoloLens
นับเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่เรียกเสียงฮือฮาไม่ได้ไม่เบา สำหรับอุปกรณ์สวมใส่คล้ายแว่นตาจากไมโครซอฟท์ หรือเรียกมันว่า “HoloLens” มีการทำงานโดยใช้ร่วมกับโปรแกรม Windows และเทคโนโลยีโฮโลกราฟิก ทำให้ผู้สวมใส่สามารถเห็นภาพอันเกิดจากเกิดจากการจำลองขึ้นในรูปแบบต่างๆ และยังสามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสายตาเราได้ ซึ่งปัจจุบันไมโครซอฟท์ได้จับมือกับองค์การนาซา เพื่อใช้ HoloLens และโปรแกรมเฉพาะในการวิจัยและพัฒนายานอวกาศและอุปกรณ์สำรวจที่ควบคุมโดยหุ่นยนต์ เพื่อใช้ในยานสำรวจดาวอังคาร
นอกจากนี้ HoloLens จะยังให้ประโยชน์ที่สำคัญต่ออาชีพต่างๆ มากมายในอนาคต เช่น แพทย์, วิศวะ, นักออกแบบ, ช่างซ่อม และอื่นๆ เป็นต้น
7. นำเทคโนโลยีพัฒนาสังคม
ในปีที่ผ่านไมโครซอฟท์ได้ตั้งองค์กรเพื่อการกุศล ที่เรียกว่า Microsoft Philanthropies โดยมีเป้าหมายในการทำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสังคม ทั้งในด้านการศึกษา คุณภาพชีวิต และอื่นๆ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อต้นปี 2016 ไมโครซอฟท์ได้บริจาคเครดิตบริการคลาวด์ ได้แก่ Azure, Power BI, CRM Online ให้กับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรให้ใช้งานฟรี 3 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังเดินหน้านำบริการคลาวด์เข้าถึงองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรอีก 70,000 แห่งต่อไป
จากทั้ง 7 ข้อที่สรุปในครั้งนี้ เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งของสัตยา นาเดลลา ในฐานะซีอีโอไมโครซอฟท์ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่หากถามว่าผลงานใดที่ยังไม่เข้าตา คงเป็นเรื่องของธุรกิจสมาร์ทโฟนที่นาเดลลายังต้องขบคิดเพื่อหาทางพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสต่อไป