สรุปผลการวิจัยโดย Salesforce และ YouGov ในหัวข้อ มุมมองของผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยต่อเทคโนโลยี Generative AI

วิธีการวิจัย 

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงจำนวน 225 คนในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 250 คนขึ้นไป ผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจครั้งนี้ประกอบด้วยประธานฝ่ายสารสนเทศ (CIO) หรือประธานฝ่ายสายงานเทคโนโลยี  (CTO) และผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ เช่นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท (CEO) กรรมการบริษัท และเจ้าของธุรกิจ

ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย มองว่า Generative AI เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจ และได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานขององค์กรแล้ว

  • ‎ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (84%) มองว่า Generative AI เป็นหนึ่งในสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ภายในอีกสามปีข้างหน้า
    • 37% มองว่า Generative AI มีความสำคัญมากที่สุดเป็นลำดับแรก
    • 47% มองว่าเป็นหนึ่งในสามสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด
  • ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ (58%) กล่าวว่าองค์กรได้มีกลยุทธ์ด้าน Generative AI ที่กำหนดขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ขณะที่ผู้บริหารจำนวน 38% กล่าวว่าได้เริ่มวางแผนเพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านนี้แล้วเช่นกัน
  • ปัจจัยสามอันดับแรกที่ผลักดันให้ผู้บริหารจัดลำดับความสำคัญกับการนำ Generative AI มาใช้ในองค์กร ได้แก่
    • ความคาดหวังจากลูกค้า ที่ต้องการความรวดเร็วและประสบการณ์ที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น (44%)
    • ความต้องการของพนักงานในการนำเครื่องมือ Generative AI มาใช้ในองค์กร (44%)
    • ความต้องการขององค์กรที่จะนำนวัตกรรมที่สร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ มามอบให้กับลูกค้าและพนักงาน (41%)
  • ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท (CEO) เป็นผู้ที่มีความสำคัญและความรับผิดชอบมากที่สุด (30%) ต่อความสำเร็จในการนำ Generative AI มาใช้งาน และสนับสนุนให้องค์กรมีความพร้อม โดย 28% ระบุว่าเป็นประธานฝ่ายสารสนเทศ (CIO) หรือประธานฝ่ายสายงานเทคโนโลยี (CTO) และ 24%‎ ระบุว่าคือหัวหน้าแผนกงานด้านต่าง ๆ

แม้ว่าผู้บริหารจะมีความมั่นใจต่อการใช้งานเทคโนโลยี แต่ยังคงพบอุปสรรคในการนำ Generative AI มาใช้ดำเนินงาน เนื่องจากประสบปัญหาในด้านข้อมูล ซึ่งอาจขัดขวางความก้าวหน้าในการใช้ Generative AI ได้

 

  • อุปสรรคและปัญหาในด้านข้อมูลที่พบจากการสำรวจ ได้แก่
    • Generative AI มักให้ผลการทำงานที่ขาดความถูกต้องแม่นยำ (29%)
    • การใช้ข้อมูลสาธารณะซึ่งขาดความครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน ในการฝึกโมเดล AI (28%)‎
    • การใช้ข้อมูลลูกค้าหรือข้อมูลบริษัทที่ไม่ครบถ้วน ในการฝึกโมเดล AI (28%)‎
    • ปัญหาการปกป้องความเป็นส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูล (28%)‎
    • สำหรับผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน ผลสำรวจพบว่าประเด็นด้านความเป็นส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูลถือเป็นอุปสรรคที่ผู้บริหารเลือกมากที่สุดเป็นอันดับสอง (30%)
  • เมื่อถามถึงเรื่องที่เป็นหัวข้อสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อการใช้เครื่องมือ Generative AI ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (98%) ระบุว่าความถูกต้องแม่นยำ‎เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ยังระบุว่าการมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ (96%) และการปกป้องความเป็นส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูล (97%) นั้นคือสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีนี้

เมื่อพิจารณาตามฟังก์ชันแผนกงาน การวิจัยพบว่ายังคงมีช่องว่างระหว่างศักยภาพของผลตอบแทนจากการลงทุนในเทคโนโลยี Generative AI ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไป และยังคงมีโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคตสำหรับประเทศไทย

  • เมื่อถามว่า Generative AI จะสร้างผลเชิงบวกที่สำคัญในฝ่ายงานด้านไหนขององค์กร ผู้บริหารระดับสูงระบุว่าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT เป็นด้านที่ได้รับผลเชิงบวกมากที่สุด ‎(44%)‎ โดยฝ่ายปฏิบัติการเป็นอีกด้านที่ได้รับผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ ‎(30%)‎
  • ผู้บริหารมองเห็นผลกระทบเชิงบวกของ AI ในฝ่ายงานที่ต้องติดต่อสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น ฝ่ายบริการลูกค้า (26%) และฝ่ายขาย (23%)‎

ท่ามกลางความนิยมในการใช้ Autonomous AI ผู้บริหารระดับสูงของไทยต่างมีความมั่นใจที่จะมอบให้ AI ดำเนินงานแบบอัตโนมัติได้ด้วยตนเอง

  • ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของคลื่นลูกที่สามของการพัฒนา AI ซึ่งคือ Autonomous AI หรือ AI ที่ทำงานได้ด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีนี้สามารถทำงานที่ซับซ้อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาคอยควบคุมกำกับ
  • ผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดที่เข้าร่วมในการวิจัย (100%) ระบุว่าพวกเขาเชื่อมั่นและไว้วางใจที่จะมอบหมายงานตามที่ระบุในการสำรวจอย่างน้อยหนึ่งด้าน ให้ AI เป็นผู้ดำเนินการโดยไม่ต้องมีการควบคุมกำกับจากมนุษย์ ภายในอีกสามปีข้างหน้านี้