แก็งหลอกเป็นคู่รัก นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีพฤติกรรมคล้ายกันคือ หลอกให้โอนเงินฟรี ซึ่งมีผู้หญิงบ้านเราโดนหลอกกันเยอะด้วย เนื่องจากกลุ่มนี้ จะปลอมแปลงตัวตนให้ดูน่าเชื่อถือและมีฐานะดี จากนั้นก็จะหลอกจีบผู้หญิงในบ้านเราจนมีความไว้ใจ สุดท้ายก็จะโดนหลอกให้เสียเงินฟรีในที่สุด
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2559 ผมได้มีโอกาศไปนั่งฟังบรรยายของ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า “ท่านรอง”) จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในหัวข้อ “Cyber Crime รู้ก่อนโดนล้วง… ภัยร้ายในยุค Connected life ที่ใกล้ตัวจนคุณอาจคาดไม่ถึง!” แรก ๆ ก็คิดว่า อาจเหมือนข้อควรระวังทั่ว ๆ ไป ตามที่เคยได้ยินบ่อย ๆ แต่ในวันนั้น ผมกลับได้รู้ข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อยอย่าง แก็งหลอกเป็นคู่รัก หรือ Romance Scammer โดยท่านรองได้ให้ข้อมูลของแก๊งนี้ชนิดละเอียดเลยทีเดียว ตั้งแต่พวกเขาเป็นใคร เข้ามาบ้านเราได้ยังไง และมีวิธีการอย่างไรบ้าง ในที่นี้ผมก็จะขอสรุปรายละเอียดของแก๊งดังกล่าวไว้ดังนี้ครับ
แก็งหลอกเป็นคู่รัก นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีพฤติกรรมคล้ายกันคือ หลอกให้โอนเงินฟรี ซึ่งมีผู้หญิงบ้านเราโดนหลอกกันเยอะด้วย เนื่องจากกลุ่มนี้ จะปลอมแปลงตัวตนให้ดูน่าเชื่อถือและมีฐานะดี จากนั้นก็จะหลอกจีบผู้หญิงในบ้านเราจนมีความไว้ใจ สุดท้ายก็จะโดนหลอกให้เสียเงินฟรีในที่สุด
แก็งพวกนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกแอฟริกาตะวันตก (West Africa) อย่างไนจีเรีย ไม่ก็แคเมอรูน ซึ่งพวกนี้จะมีความรู้พอควร เนื่องจากเป็นประเทศค้าน้ำมัน แต่ที่น่าตกใจคือ พวกนี้มีการตั้งโรงเรียนสำหรับหลอกหลวงโดยเฉพาะเลยด้วย
จากนั้นก็จะมีการย้ายถิ่นฐานมายังมาเลเซีย และที่ไทย โดยเวลาเข้าประเทศ ก็มักจะใช้วีซ่าสำหรับนักเรียน เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ต่อมาก็จะมองหาผู้หญิงคนไทยเป็นแฟนทันที เพื่อให้เป็น “นอมินี” โดยเฉพาะ (จะได้เปิดบัญชีในไทยได้) พร้อมกับมองหาคอนโดที่มีร้านอินเทอร์เน็ตกว้าง ๆ เพื่อให้เช่าอยู่ด้วยกันทีเป็นสิบ ๆ คนได้ ถัดมาก็มีการจัดแบ่งเวรผลัดกันมาที่ร้านคอมฯ เสร็จสรรพ และดำเนินการแผนร้ายตามนี้
รูปแบบการทำงานของแก็ง Romance Scammer
1.ตั้งโปรไฟล์ปลอมแปลงตนเองว่า เป็นคนมีฐานะ เช่น วิศวกรน้ำมัน
2.จัดทีมสุ่มอีเมล์หาผู้หญิงไทยไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีคนตอบ
3.หลังมีคนตอบกลับ ก็จะดำเนินทักทายด้วยคำหวานที่เตรียมมาอย่างดี
4.เมื่ออีกฝ่ายหลงและมีความไว้ใจได้ที่ ก็จะหลอกเหยื่อว่าจะส่งของขวัญบางอย่างมาให้
5.ในการส่งของ จะมีการแนบ Tackimg Number พร้อมกับลิงค์เว็บไซต์สำหรับเช็คตำแหน่งมาให้ด้วย แต่ทั้งหมดเป็นของปลอมที่ทำขึ้นอย่างแนบเนียน
6.เมื่อเวลาผ่านไป จะมีอีเมล์ปลอมส่งมาหาเหยื่อ โดยระบุว่ามาจากกรมศุลกากร และอ้างว่า ขอเก็บค่านำเข้าหรือค่าปรับเป็นเงินจำนวนมาก เนื่องจากของที่ส่งมามีมูลค่าสูง
7.เหยื่อก็จะโอนเงินเป็นจำนวนมาก เพราะคิดว่าจะได้ของที่มีมูลค่ากว่ากลับมา แต่ไม่ว่าจะรอยังไง ของที่ว่าก็ไม่เคยส่งถึงมือเลย ตลอดกาล…
ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ ยังมีคนโดนหลอกด้วยวิธีนี้อยู่หรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ท่างรองได้กล่าวไว้ตอนนั้นว่า “ทุก ๆ วัน จะมีเหยื่อมาถามหาของที่สน. ในสนามบินวันล่ะ 3 – 4 ครั้งอยู่เสมอ”