ดูเหมือนว่าในอนาคตอันใกล้นี้ หุ่นยนต์จะมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากขึ้นๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด
นักวิจัยจากเยอรมันกำลังพัฒนาหุ่นยนต์ให้รู้จักความเจ็บปวดได้ โดยทำการจำลองระบบประสาทขึ้นมา ภายใต้ระบบดังกล่าว หุ่นยนต์จะรู้ได้ว่าอะไรคือความเจ็บปวด และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเจ็บปวดนั้นๆ
Johannes Kuehn หนึ่งในนักวิจัยทีมพัฒนาดังกล่าวระบุว่า การที่หุ่นยนต์สามารถเจ็บปวดและตอบสนองต่อความเจ็บปวดได้จะทำให้หุ่นยนต์รู้จักที่จะปกป้องตัวเองจากอันตราย เช่นเดียวกันกับมนุษย์เราที่รู้จักหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด จึงไม่ทำอะไรที่เสี่ยงๆนั่นเอง การที่หุ่นยนต์รู้จักเจ็บปวด นอกจากจะทำให้มันสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายแล้ว ยังทำให้มันสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ดีขึ้น เพราะมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บปวด
ในการพัฒนาครั้งนี้ ทีมวิจัยได้ใช้แบบจำลองที่เลียนแบบมาจากโครงสร้างผิวหนังของมนุษย์ ซึ่งการทำงานของแบบจำลองนี้ใกล้เคียงกับเซลล์ระบบประสาทของมนุษย์ที่จะส่งผ่านข้อมูลความเจ็บปวดเมื่อเจอกับแรงที่มากเกินกว่าขอบเขตที่กำหนดไว้ ซึ่งนักวิจัยก็ได้แบ่งความเจ็บปวดออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเบา ปานกลาง และรุนแรง และโปรแกรมให้หุ่นยนต์มีการตอบสนองที่แตกต่างไปตามแต่ละระดับของความเจ็บปวด
การที่จะทำให้หุ่นยนต์สามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ ทีมวิจัยได้ทำการติดตั้ง BioTac ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการสัมผัสของปลายนิ้ว ซึ่งสามารถรับรู้แรงกดและอุณหภูมิได้บนแขนของหุ่นยนต์ Kuka (หุ่นยนต์สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม) จากคลิปจะเห็นว่า ณ ระดับความเจ็บแบบเบา หุ่นยนต์จะมีการหลบหนีจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเจ็บ (เช่น ความเจ็บในที่นี้เกิดจากการเอาปลายนิ้วของมนุษย์ไปกดที่ตัวเซ็นเซอร์) ถ้าเป็นความเจ็บระดับปานกลาง หุ่นยนต์ก็จะหลบหลีกเร็วขึ้น พอไปถึงระดับความเจ็บปวดรุนแรง หุ่นยนต์จะเปลี่ยนไปอยู่ในโหมดนิ่ง เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้