ว่าที่สถาปนิ มทร.ธัญบุรี โชว์ผลงาน ‘อาคารต้นแบบและศูนย์วิจัยนวัตกรรมเครือข่ายน้ำอย่างยั่งยืนริมแม่น้ำเจ้าพระยา’ เพื่อบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับพื้นที่โดยรอบ ทั้งยังช่วยบำบัดน้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยา
ภิรายุ ตันสกุล หรือโบ๊ท นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าว่า ระบบเครือข่ายน้ำคลองสวนโบราณ เป็นระบบการจัดการน้ำหรือการชลประทานที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่บริเวณภาคกลางตอนล่าง จึงได้พัฒนาระบบดังกล่าว ด้วยแนวคิดการสร้างระบบเครือข่ายน้ำในรูปแบบของการซ้อนชั้นขึ้นไป ทำให้สามารถสร้างระบบในพื้นที่จำกัดได้ และนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายภายในอาคาร
‘ระบบเครือข่ายน้ำคลองสวนโบราณ’ ภิรายุ ขยายความให้ฟังว่า จากการศึกษาระบบเครือข่ายน้ำคลองสวนโบราณในบริเวณบางกอก (พื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) ที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นระบบการจัดการน้ำที่ช่วยลดภาระการกักเก็บน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการสร้างพื้นที่ดินในลักษณะการขุดเป็นร่องและถมพื้นที่เป็นสวนหรือร่องสวน ส่งผลให้พื้นที่ดินสมัยนั้นเป็นพื้นที่รับน้ำและกักเก็บน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้ในการเพาะปลูกทั้งสิ้น
จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบพัฒนาเมืองให้ทัดเทียมกับประเทศล่าอาณานิคม จึงมีการถมคลองสร้างเป็นถนนและตึกแถวทำให้ไปปิดกั้นเส้นทางน้ำเข้าออกระหว่างคลองสวนโบราณและแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาต้องเจอกับผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นของทะเลอ่าวไทยทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทันท่วงที จึงไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุทกภัยในบริเวณพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จึงจุดประกายความคิดของอาคารที่มีระบบการจัดการน้ำที่ช่วยลดภาระการกักเก็บน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนำมาใช้ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับพื้นที่บริเวณโดยรอบ และบำบัดน้ำเสียให้กับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
“ขั้นตอนการทำงานของระบบไม่เพียงแค่สนใจเพียงเรื่องน้ำและดินเท่านั้น แต่ยังสร้างระบบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีด้วย โดยเริ่มต้นจากการดึงน้ำขึ้นที่สูงจากระบบ ไปสู่พื้นที่เพื่อการอาศัยและการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงสุกร ซึ่งจะมีสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ จึงนำไปผลิตแก๊สชีวภาพ และใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า สำหรับใช้ในอาคารและให้กับพื้นที่โดยรอบ และยังการออกแบบติดตั้งคูลลิ่งทาวเวอร์เพิ่มเติม โดยน้ำส่วนหนึ่งนำไปใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอาคาร และถูกลำเลียงไปยังแปลงปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งผักทั้งหมดสามารถจัดจำหน่ายเพื่อนำมาเป็นต้นทุนการบริหารจัดการอาคาร รวมถึงเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย และน้ำที่ผ่านมาการใช้งานแล้วทั้งหมดจะถูกบำบัดทางธรรมชาติภายในอาคาร ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป” ภิรายุ อธิบาย
ด้วยผลงานที่เป็นประโยชน์ในด้านนวัตกรรมสำหรับวงการก่อสร้าง ที่ใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน รวมถึงสามารถสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำได้ด้วย จึงทำให้ผลงานนี้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสองในการประกวดผลงานนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างระดับนิสิตนักศึกษา “ก่อร่างสร้างนวัตกรรม” Young CIA Award 2018 จัดโดย BUILK ONE ร่วมกับ Millcon Steel และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA
“นี่เป็นรางวัลสำคัญของชีวิตที่จะเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้ก้าวต่อไปในอาชีพสถาปนิกและการจัดการงานก่อสร้างต่อไป ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่มอบความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ เทคนิคและคำแนะนำต่าง ๆ ผมยินดีแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้ที่สนใจด้านสถาปัตยกรรมฯ ทุกท่าน ซึ่งสามารถติดต่อ โทร.087 507 0973” ภิรายุ กล่าวสรุป