ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และในฐานะผู้ดูแลกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนับสนุน SME ปี 2562 พร้อมด้วยทีมวิทยากรจาก มทร.ธัญบุรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานของคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร” เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและเกษตรด้านสมุนไพร ที่ศูนย์โอทอป สระบุรี (พุแค) ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี โดยมีสมาชิกคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร ทีมวิทยากรจาก มทร.ธัญบุรี คณะกรรมการคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา คลัสเตอร์เข้าร่วมการอบรม
สสว. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี ในปี 2562 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ คลัสเตอร์สมุนไพร ซึ่งเป็นการดำเนินต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน ระหว่างผู้ประกอบการจากฐานล่างถึงระดับบนให้เป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง การพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน เพื่อการนำสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มที่ 2 คลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานในปีแรก เน้นไปในเรื่องการรวมกลุ่ม การทำแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งตามความต้องการของกลุ่มคลัสเตอร์
เนื้อหาในการอบรมให้กับคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร จะทบทวนแนวคิดการบริหารแบบคลัสเตอร์ ระบบการจัดการคลังสินค้า การพัฒนาตลาดในรูปแบบการตลาดออนไลน์ รวมถึงการทบทวนแผนกลยุทธ์/ยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาคลัสเตอร์ในปี 2562 ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเน้นจะเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเป็นแนวทางหลัก เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมี ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี กล่าวชี้แจงรายละเอียดโครงการและเปิดการอบรม
“กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนับสนุน SME ปี 2562 จะทำให้เครือข่าย SME ที่ได้รับการพัฒนามีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มีแนวทางที่สามารถลดต้นทุน และที่สำคัญมีการสนับสนุนการนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ทำให้เกิดการพัฒนาที่สูงขึ้น ที่จะสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่อไปได้” ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ กล่าว
เรื่อง/ อลงกรณ์ รัตตะเวทิน. มทร.ธัญบุรี.