มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า มหาวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้โครงการ Big Rock Project หรือโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระจายองค์ความรู้ให้เข้าถึงได้โดยเฉพาะโรงเรียนภูมิภาค ซึ่งจะเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมของประเทศตามแนวทางการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
โครงการดังกล่าวได้ส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้ ‘โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม’ ในสถานศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา และร่วมพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม ส่งเสริมการคิดอย่างสร้างสรรค์และสามารถออกแบบสร้างชิ้นงานโดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ โดย มทร.ธัญบุรี ได้เข้าร่วมในฐานะมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง โดยให้คำปรึกษาในการพัฒนาทักษะและความสามารถของนักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม มีชิ้นงานหรือโครงการเกิดขึ้น ซึ่ง มทร.ธัญบุรี ดูแลทั้งหมด 15 แห่ง ตามรายชื่อสถานศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก และเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เด็กนักเรียนเกิดแรงบันดาลใจและสนใจที่จะประกอบอาชีพวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต
ด้าน ดร.จุฬาลักษณ์ วัฒนานนท์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี และเป็น STEM Ambassador Thailand กล่าวว่า เราจะเน้นความรู้ใน 4 ด้านทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่าการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง STEM เข้ามาใช้ในโครงการเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล เกิดการเชื่อมโยงเนื้อหาอย่างมีเหตุมีผล ลดช่องทางทักษะการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเป็นนักปฏิบัติมืออาชีพต่อไปได้ โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโนลยี และคณะครุศาตร์อุตสาหกรรม ในการพัฒนาบ่มเพาะให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการการเรียนรู้ โดยนำแนวทาง STEM มาใช้ในการสร้างเสริมความเข้าใจของศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ศาสตร์เหล่านี้ในการแก้ปัญหาจริง
ผศ.จักรี รัศมีฉาย อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าวนี้ คือการมีสถานที่ฝึกการเรียนรู้ การทดลอง และการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างชิ้นงานให้เกิดขึ้นต่อไป อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ อย่างถ่องแท้.