“เป็นเพียงลูกพ่อค้าแม่ค้า คงไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ หรือเรียนไกลถึงต่างประเทศ ขอบคุณโอกาสที่ทางอาจารย์มอบให้ ผมจำจนขึ้นใจว่าต้องตั้งใจเรียน และพยายามทำให้ดีที่สุด คนเราสามารถสร้างโอกาสให้ตนเองได้ ถ้าเราพยายามทำ และเมื่อได้รับโอกาสต้องทำให้สำเร็จ” ว่าที่ ดร.วัย 28 ปี “เอ็ม” นายวิเชียร ขาวดาษ นักศึกษาทุนรัฐบาลญี่ปุ่น Japanese government (Monbukakusho: MEXT) Scholarship เส้นทางชีวิตว่าที่ ดร.วัย 28 ปี
เอ็ม เล่าว่า เป็นลูกคนโตและมีน้องชายอีก 2 คน ที่บ้านทำธุรกิจขายของตกแต่งสวน ที่จังหวัดสิงห์บุรี มีฐานะปานกลาง สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านแป้งวิทยา จ.สิงห์บุรี (สายวิทย์-คณิต) หลังจาก ม.6 “มองว่าสายวิศวกรรมพลาสติกเป็นสาขาที่น่าสนใจ เป็นอะไรที่แปลกใหม่ เพราะพลาสติกเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน” จึงได้สมัครเรียนและสอบเข้าที่สาขาวิศวกรรมพลาสติก ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ชีวิตนักศึกษาปี 1 ช่วงแรกต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับการเรียน เพื่อนๆ และสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งก็ไม่เหมือนตอนม.ปลาย และก็ไม่ได้มีความรู้มากมายเท่าที่ควร และคิดแค่ว่าจะตั้งใจเรียนให้จบป.ตรีและมีอาชีพที่ดีทำก็พอแล้ว ในช่วงสอบของแต่ละเทอมตนอาสาติวหนังสือให้กับเพื่อนๆเพื่อทบทวนให้กับตัวเองและก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน สรุปบทเรียนในคาบเรียนให้เพื่อนใช้อ่านและติวก่อนสอบตลอดการเรียน ช่วงชั้นปี 2 เมื่อมีเวลาว่างจะเข้าไปช่วยดูแลแลปและเป็นผู้ช่วยวิจัย ในแลปของ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด (ปัจจุบันรองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี) ในการเข้าไปช่วยอาจารย์เป็นการเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการเรียน ซึ่งอาจารย์เป็นคนที่ใจดีมาก ดูแลลูกศิษย์คอยช่วยเหลือทุกอย่าง และมอบโอกาสที่ดีให้กับลูกศิษย์เสมอซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในนั้น
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.54 ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับการคัดเลือกจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ให้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เรียนต่อในระดับปริญญาโท-เอก ที่ Kyoto Institute of Technology ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับทาง มทร.ธัญบุรี ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท – เอกที่Department of Bio-based Materials Science สาขา System Engineering for Bio-resources โดยเงื่อนไขสำหรับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้รับ ต้องศึกษาให้สำเร็จในระดับปริญญาโท-เอก ภายในระยะเวลา 5 ปี ป.โท 2 ปี และป.เอก 3 ปี และต้องมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์วารสารวิชาการก่อนเรียนจบป.เอกจำนวน 2 ฉบับ แต่ปัจจุบันนี้ ตนมีผลงานวิจัยทำพิเศษเพิ่มอีก 1 ฉบับ รวม 3 ฉบับ ทุนนี้เป็นทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร โดยทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีเงินค่าใช้จ่ายเดือนประมาณ 147,000 เยน สำหรับนักศึกษาป.โท และ1480,000 เยน สำหรับป.เอก ซึ่งเป็นเงินไทยประมาณ 50,000 บาท ซึ่งค่าครองชีพที่ญี่ปุ่นค่อยข้างสูงเมื่อเทียบกับไทย เงินในแต่ละเดือนต้องดูแลและบริหารจัดการเอง ทั้งเรื่องหอพัก ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่างๆ
ตอนปี1 ได้อยู่หอของมหาลัยซึ่งค่าหอจะค่อนข้างถูกประมาณ 15,000 เยน/เดือน แต่เมื่อขึ้น ปี 2 ต้องออกมาเช่าหอข้างนอก จึงเช่าหอเล็กๆ ติดกับมหาวิทยาลัย ซึ่งราคาหออยู่ที่ 33,000 เยน/เดือน สะดวกในการเดินทางใกล้มหาวิทยาลัยเพียง 500 เมตร โดยปั่นจักรยานไปมหาวิทยาลัยทุกวัน และตนเองชอบทำอาหารจึงทำอาหารทานเองซึ่งราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับการกินร้านอาหารในญี่ปุ่น อยู่ที่นั่นไม่ได้ใช้เงินฟุ่มเฟือยจึงมีเงินเหลือเก็บส่งกลับให้ครอบครัวและให้น้องทั้งสองเรียนต่อ เมื่อมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองทุกคนก็ต้องปรับตัว สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในการเรียนช่วงแรกๆ คือ ภาษาและการสื่อสาร แต่ด้วยมีพื้นทางด้านภาษาอังกฤษ ช่วงแรก จึงใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับเพื่อนในแลป นำเสนอและอภิปรายงานวิจัยต่างๆ เพราะว่าไม่มีความรู้ทางด้านภาษาญี่ปุ่นเลย ยอมรับว่ากังวล และท้อกับการสื่อสารกับเพื่อนๆ ที่แลป เลยปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการหันมาเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติม เพื่อจะได้เข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนอย่างลึกซึ้ง มีเพื่อนๆ ญี่ปุ่นมากขึ้น สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ซึ่งคิดเสมอว่า “ทุกอย่างต้องเริ่มจากศูนย์ ต้องมีการปรับตัว เราไม่ได้มาคนเดียว แต่เอาหน้าตาของมหาวิทยาลัยและอาจารย์มาด้วย จะต้องไม่เสียชื่อเสียง” จึงลงเรียนภาษาญี่ปุ่น (ฟรี) เพิ่มเติมในมหาลัย “ตลอดระยะ 3 ปีแรก ของทุกวันที่อยู่ญี่ปุ่น ตนเองจะฟัง mp3 บทสนทนาพื้นฐานภาษาญี่ปุ่น” ให้เกิดความชินหู คุ้นสำเนียง พูดกับเพื่อนในแลปบ่อยๆ ซึ่งปัจจุบันสามารถสื่อสารและใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ ในขณะเดียวกันตนเองยังพัฒนาภาษาอังกฤษเพิ่มเติม จากยูทูป ด้วยการฟังเพลงและดูหนัง เพราะอย่างไรก็ตามภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่อาจจะต้องใช้ในอนาคต
ในการเรียน ปริญญาโท เรียนและเข้าแลปทำวิจัย ซึ่งแลปวิจัยที่ตนเองเรียน มีอาจารย์ 3 ท่าน โดยอาจารย์แต่ละท่านจะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน โดยปีที่ 1 เรียนเกี่ยวกับการสังเคราะห์พอลิเมอร์ (พลาสติก) ปี 2 เรียนสายชีวเคมีวิทยา มีเพื่อนร่วมแลปทั้งนักศึกษาญี่ปุ่นและต่างชาติรวม 23 คนตั้งแต่ป.ตรี-ป.เอก ซึ่งแลปวิจัย 1 ห้อง มีห้องอาจารย์ 3 ห้อง ห้องแลป 4 ห้อง คือห้องวิจัยการสังเคราะห์ทางเคมีและชีววิทยา, ห้องจุลชีววิทยา และห้องเครื่องมือทดลอง ทุกวันจันทร์-ศุกร์ต้องเข้าแลปตั้งแต่ 10.00 – 17.00 น. แต่โดยส่วนใหญ่สมาชิกในแลปจะไม่ได้กลับตรงเวลา ขึ้นอยู่กับการทดลองงานวิจัยแต่ละคน โดยงานวิจัยจบ ป.โท เป็นวิจัยเกี่ยวกับการใช้เซลล์เชื้อเพลิงทางชีวภาพโดยใช้เซลลูโลสและจุลินทรีย์
ส่วนการเรียน ปริญญาเอก จะค่อนข้างเข้มข้นขึ้นเมื่อเทียบกับป.โท งานวิจัยจะค่อนข้างลึกและละเอียดเพื่อใช้ในการตีพิมพ์วารสารวิชาการ ตามหลักสูตรวิชาเรียนจึงน้อยลง ทางหลักสูตรป.เอก จะใช้วารสารวิชาการ จำนวน 2 ฉบับในการสำเร็จการศึกษา ซึ่งงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น ได้รับการตีพิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ การวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่ใช้ย่อยสะลายสารอินทรีย์จากขยะทางการเกษตรที่เน่าเสีย หรือที่ปล่อยทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจุลินทรีย์สามารถปล่อยอิเล็กตรอนออกมาจากกระบวนการเมทบอลิซึม จากนั้นอิเล็กตรอนที่ถูกปล่อยออกมาใช้นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าผ่านเซลล์เชื้อเพลิงทางชีวภาพ โดยสามารถนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น โรงงานสำปะหลังที่มีน้ำเสีย และงานวิจัยชิ้นที่ 3 กำลังจะตีพิมพ์ จากการศึกษาทลายปาล์มน้ำมันที่เหลือทิ้งในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากและบางส่วน กลายเป็นขยะ โดยใช้จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายเป็นเซลลูโลสที่มีอยู่ในปาล์มเพื่อลดปริมาณขยะจากทลายปาล์ม และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในขณะเดียวกัน ขณะนี้อยู่ในขั้นของการดำเนินการจัดการเอกสารในการตีพิมพ์
การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น แต่ละวันเวลามีค่า ต้องพยายามเรียนให้จบภายในเวลาที่กำหนด คือ 5 ปี “ทำให้ดีที่สุด ถ้าเราทำไม่ดี แน่นอนว่ารุ่นน้องก็อาจจะไม่ได้โอกาสได้ไปเรียนแบบตนเอง จึงตั้งใจทำ ไม่ให้ใครตำหนิได้ และทำทุกวันให้มีความสุข” เส้นทางนักศึกษาทุนญี่ปุ่น ต้องมีความอดทนต่อความกดดันต่างๆ เนื่องด้วยอาจารย์จะค่อนข้างทำงานอย่างเป็นระบบ ระเบียบและละเอียดในทุกๆ ขั้นตอนเพื่อให้ได้งานวิจัยออกมาอย่างมีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง งานวิจัยจึงต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก การเรียนที่สำคัญ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขก็สำคัญ ที่นี่มีนักศึกษาไทยอยู่มากและมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิน เที่ยว สังสรรค์ มีสมาคนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น ซึ่งจะมีกิจกรรมทำร่วมกันอยู่บ่อยๆ และบางครั้งก็ไปเที่ยวกับเพื่อนๆญี่ปุ่นได้ใช้ชีวิตแบบคนญี่ปุ่น มีกิจกรรมต่างๆ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน เป็นสิ่งที่ดีมากๆ มหาวิทยาลัยที่เรียนตั้งอยู่เกียวโต ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ซึ่งน่าอยู่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกด้วย
ในเดือนกันยายน 2562 นี้ จะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ความภาคภูมิใจของลูกพ่อค้าแม่ค้า และความภูมิใจของตนเอง ซึ่งมาจากเด็กเรียนโรงเรียนเล็กๆ ไม่มีชื่อเสียงมากนัก มีเด็กนักเรียนเพียงไม่ถึง 300 คน ความคิดตอนแรกๆ ที่คิดแค่เรียนจบป.ตรี ทำงานดูแลพ่อแม่ได้แค่นี้ก็เกินพอ โดยไม่คิดว่าจะเรียนจบปริญญาเอก โดยหลังเรียนจบอยากกลับมาเป็นอาจารย์ที่ มทร.ธัญบุรี แต่ด้วยตอนนี้ไม่มีตำแหน่ง จึงแพลนที่จะทำงานที่ Token thermotech Japan ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความร่วมมือกับ ทาง มทร.ธัญบุรี ในการมอบทุนให้กับรุ่นน้องเข้าศึกษาฝึกงานทุกๆ ปี โดยโรงงานดังกล่าวเปิดในหลายประเทศทั้ง ญี่ปุ่น ไทย จีน มาเลเซีย และเม็กซิโก โดยที่ญี่ปุ่น เป็นบริษัทหลัก คิดไว้จะทำงานในโรงงานที่ญี่ปุ่นประมาณ 4-5 ปี เรียนรู้ระบบในการทำงาน และกลับมาทำงานที่บริษัทเดียวกันที่ตั้งอยู่ในไทย
หากน้องๆ อยากได้รับโอกาสดีๆ แบบนี้แน่นอนว่า มทร.ธัญบุรี สามารถเป็นสะพานส่วนหนึ่งที่จะพาเราได้มีโอกาสเรียนที่ญี่ปุ่นและมีงานดีๆ หากเรามีความตั้งใจที่แน่วแน่ ตั้งใจเรียน และที่สำคัญเป็นคนดี แน่นอนว่าความสำเร็จก็คงอยู่ไม่ไกล วิเชียร ขาวดาษ กล่าวทิ้งท้าย