มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่าโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอป นวัตวิถี เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำขึ้นตามนโยบายรัฐบาล
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่าโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอป นวัตวิถี เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำขึ้นตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเน้นการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่ง มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายจากนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครให้ดำเนินการใน จ.สกลนคร รวม 36 หมู่บ้าน โดยใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมด้วยศิษย์เก่า มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่ปั้น โอทอป นวัตวิถี สกลนคร ในการร่วมพัฒนาเชิงพื้นที่ชุมชน ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป สินค้าของที่ระลึก รวมถึงจัดทำข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งสื่อออนไลน์และสื่อออฟไลน์
“การพัฒนาโอทอป นวัตวิถี สกลนคร ได้ยึดตามกรอบการดำเนินงานที่ดึงดูดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนและให้ชาวบ้านขายของในชุมชน นำภูมิปัญญา วิถีชีวิตวัฒนธรรมต่าง ๆ อันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน มาดัดแปลงเพื่อสร้างสรรค์ในสินค้า บริการและแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดการกระจายรายได้กับชุมชนอย่างแท้จริง ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศเกิดความเข้มแข็งในที่สุด จากการดำเนินงานแล้วเสร็จ ผนวกกับความมีชื่อเสียงของจังหวัด ที่มีความโดดเด่น ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมือง 3 ธรรม คือ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม จึงมั่นใจว่าการดำเนินการครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาคนในชุมชน สินค้าบริการ และแหล่งท่องเที่ยว สร้างศักยภาพพื้นที่ให้เกิดความเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนมากยิ่งขึ้น”รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว
นางปณิตา สงวนทรัพย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ได้ร่วมออกแบบปรับปรุงพื้นที่ให้น่าสนใจ กลมกลืนกับสภาพความเป็นธรรมชาติและอัตลักษณ์ของชุมชน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือคนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดการทำงานเป็นทีม และชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ศักยภาพของชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว มีผลผลิตน่าสนใจ แหล่งท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ ประกอบกับชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงทำให้การทำงานมีความง่ายขึ้น
ด้าน นางจำเนียร คำพัศดี สมาชิกบ้านหนองแข้และนักเล่าเรื่อง พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ จ.สกลนคร เล่าว่า โครงการนี้มีประโยชน์เชิงลึก เห็นถึงความตั้งใจและความร่วมมือของหลายฝ่ายที่ร่วมกันทำงาน อยากให้มาท่องเที่ยวบ้านหนองแข้ มาร่วมกันเรียนรู้และภาคภูมิใจไปด้วยกัน และสร้างความรู้จักให้มากยิ่งขึ้นสำหรับพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ และขอเป็นตัวแทนชาวสกลนครเชิญชวนทุกคนมาท่องเที่ยว ซึ่งมั่นใจว่าศิลปวัฒนธรรม การเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นเกี่ยวกับการทอผ้าไหมแห่งนี้ มีคุณค่าและน่าภาคภูมิใจ ทั้งยังสามารถเลือกซื้อผ้าไหมจากฝีมือชาวบ้านในราคาพิเศษ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนเติบโต และเป็นที่รู้จักในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปได้
ขณะที่ นายจิรายุ นนตระอุดร ผู้ใหญ่บ้านชุมชนลาดค้อ จ.สกลนคร บอกว่ารู้สึกดีใจที่เป็น 1 ใน 3 ของอำเภอ ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ทำให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ได้ร่วมกันทำงานเริ่มตั้งแต่การสร้างจุดเช็คอินสำหรับถ่ายภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และบอกจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ชุมชน “ผ้าครามราชวัตร โคกศรีสุพรรณ” อยากให้ทุกคนมาสัมผัสบรรยากาศความเป็นชุมชน มาเห็นวิถีชีวิตชุมชน และเรียนรู้ร่วมกัน
อีกหนึ่งเสียงจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านบ่อแกน้อย จ.สกลนคร นายปณชัย ฟองชน เผยว่า สิ่งที่ดำเนินการนี้ สะท้อนถึงการเป็นชุมชนท่องเที่ยวและตรงกับอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้คนในชุมชนเกิดการตื่นตัว เกิดการรวมกลุ่มเพื่อช่วยกันทำงาน แม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่มีความเข้มแข็งและได้ร่วมโครงการดังกล่าว “มากกว่าความภูมิใจของหมู่บ้าน คือการหาวิธีการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”.