นักศึกษาคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โชว์ผลงานการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดจากต้นมันสำปะหลังที่เหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อใช้เป็นวัสดุตกแต่ง สินค้าและเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก
แผ่นชิ้นไม้อัดจากต้นมันสำปะหลัง ผลงานของ นายฐิติกร วงค์เลื่อน ‘มาร์ค’ นักศึกษาชั้นปี 4 สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมี ดร.สุภา จุฬคุปต์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา
ฐิติกร เล่าจุดเริ่มต้นของผลงานว่าเกิดขึ้นจากประสบการณ์และความคุ้นเคยในอาชีพเกษตรกร เห็นการปลูกมันสำปะหลังในทุกกระบวนการ ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนใหญ่หัวมันนำไปทำแป้ง ลำต้นที่มีความพอดีนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อ ขณะที่ลำต้นที่แก่มากหรืออ่อนมากจะถูกตัดทิ้ง และถูกกำจัดด้วยการเผาทำลาย ส่งผลต่อธรรมชาติ ก่อเกิดมลพิษ ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงเลือกนำส่วนเหลือทิ้งของต้นมันสำปะหลังในจังหวัดกำแพงเพชรและสุโขทัยมาผลิตเป็นแผ่นชิ้นไม้อัด ซึ่งผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานพิเศษตามหลักสูตร
การผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดจากต้นมันสำปะหลัง มีขั้นตอนโดยสรุป คือ (1) เตรียมต้นมันสำปะหลังที่เหลือทิ้งจากการเกษตร และคัดเลือกลำต้น จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งหรืออบไล่ความชื้น (2) บดย่อยให้มีความละเอียด เพื่อให้เกิดพื้นผิวหรือลวดลาย (3) นำไปผสมกับกาวหรือสารที่ใช้ในการประสานและยึดติด ด้วยสูตรและเทคนิคที่คิดค้นขึ้น (4) อัดขึ้นเป็นรูปเพื่อความแข็งแรง ทนทานแก่การนำไปใช้งาน (5) ตัดขอบและชิ้นงานตามขนาดที่ต้องการ ทั้งนี้ในการทดลองได้นำแผ่นชิ้นไม้อัดไปทดสอบสมบัติทางกายภาพ ตามมาตรฐานที่กำหนดโดยทดสอบความต้านทานแรงดัด ความต้านทานแรงดึง และค่าความชื้น เพื่อให้ได้แผ่นชิ้นไม้อัดจากต้นมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ
ดร.สุภา กล่าวเสริมว่าแผ่นชิ้นไม้อัดจากต้นมันสำปะหลังที่ผลิตขึ้นนี้ เพื่อการใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคารบ้านเรือน มีความแข็งแรงทนทาน ให้สีและลวดลายที่เป็นธรรมชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของต้นมันสำปะหลัง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นมันสำปะหลังในส่วนที่เหลือทิ้งจากการเกษตร อันจะก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นแก่ผู้ปลูก และถือเป็นแนวทางการพัฒนาและเป็นทางเลือกให้กับผู้ผลิตวัสดุตกแต่ง สินค้าผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มกรีนโปรดักส์ ทั้งยังช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติเพราะถือเป็นการแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แทนการทำลายด้วยการเผาทิ้ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรผู้ปลูก โดยต้นทุนการผลิตต่อชิ้นจะมีปริมาณที่ถูกกว่าไม้อัดโดยทั่วไปประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบความหนาของแผ่นไม้
ผลงานดังกล่าวได้อวดโฉมร่วมจัดแสดงผลงานและประกวดระดับนานาชาติ ในงาน IEI & WIIF 2018 เมืองฝอซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสามารถคว้า 3 รางวัลวิจัยสำคัญ คือรางวัลวิจัยเหรียญทอง รางวัล Special Awards from The Egypt Council of Innovations and Association และรางวัลเหรียญทอง Manila Young lnventors Association Philippine Gold Award for Invention จากประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ยังได้รับรางวัลระดับ ‘ดีมาก’ จากโครงการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับอุดมศึกษา The 7th RMUTT Young Talent Innovation Awards 2018 ร่วมด้วย สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0814415506.