เมื่อวันที่ 11 ก.ค. รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อออกนอกระบบมหาวิทยาลัยจะสามารถสร้างระเบียบหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าจ้างให้กับบุคลากรและอาจารย์ได้เอง โดยสามารถกำหนดค่าจ้างได้จากความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล แทนที่จะยึดค่าจ้างตามเกณฑ์วุฒิการศึกษาอย่างที่ผ่านมา
ตามที่ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ได้มีแนวคิดที่จะให้มีการผลักดันมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั่วประเทศ ให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐให้หมด หลังจากที่มีการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมนั้น เมื่อวันที่ 11 ก.ค. รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อออกนอกระบบมหาวิทยาลัยจะสามารถสร้างระเบียบหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าจ้างให้กับบุคลากรและอาจารย์ได้เอง โดยสามารถกำหนดค่าจ้างได้จากความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล แทนที่จะยึดค่าจ้างตามเกณฑ์วุฒิการศึกษาอย่างที่ผ่านมา
ทั้งนี้การออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ มหาวิทยาลัยจะต้องมีจุดแข็ง มีอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน เพื่อนำเสนอมหาวิทยาลัยต่อนักศึกษาที่จะเข้าเรียนได้ว่ามีจุดแข็งในเรื่องใด นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องมุ่งเน้นหารายได้ให้กับตัวเอง นอกเหนือจากงบประมาณที่ภาครัฐสนับสนุน โดยเน้นงานบริการวิชาการ งานวิจัย และอื่น ๆ แต่จะต้องไม่ใช่จากการขึ้นค่าเล่าเรียน เพราะหากไม่หารายได้เพิ่มจะส่งผลเสียต่อการบริหารจัดการในอนาคต “ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี ขณะนี้ได้ดำเนินการทำระเบียบข้อบังคับกฎหมายเรียบร้อยแล้ว สิ้นปีนี้จะยื่นเรื่องขอออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ คาดว่า 1-2 ปีจะออกนอกระบบ ทั้งนี้ที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรี ได้มีการเตรียมความพร้อมมาตลอดเวลา ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบได้นั้น จะต้องมีการบริหารจัดการภายใต้ศักยภาพของมหาวิทยาลัย โดยมีสภามหาวิทยาลัยช่วยบริหาร การบริหารจัดการต้องเน้นเป้าหมาย มีดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI) โดยดูจากบริการวิชาการ บริการงานวิจัย บริการสังคม และอื่น ๆ ซึ่งมทร.ธัญบุรี ได้ให้แต่ละคณะใช้ระบบนี้มาแล้ว 5 ปี รวมถึงการบริหารจัดการด้านรายได้ เน้นการหารายได้จากภายนอก ซึ่งปี 2556 รายได้ของมหาวิทยาลัย 100 % ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 70% ที่เหลือมหาวิทยาลัยหาเอง แต่ปัจจุบันตัวเลขจะมีความแตกต่าง ภาครัฐ 40% ที่เหลือ 60% มหาวิทยาลัยหาเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดที่มทร.ธัญบุรีพร้อมที่จะออกไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว
รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า การที่จะออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับนั้น ตนมองว่ามหาวิทยาลัยจะต้องหารายได้เป็น 3 เท่าของงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ เพราะค่าดำเนินการของบุคลากรและอาจารย์ในระยะยาวจะสูงขึ้น ทั้งนี้การที่ให้มรภ.และ มทร.ทั่วประเทศ ออกนอกระบบทั้งหมด ขณะนี้ความพร้อมของแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ซึ่งในส่วนของ มทร.เอง มีทั้งมหาวิทยาลัยเล็ก กลาง ใหญ่ การออกนอกระบบควรอาศัยระยะเวลา แบ่งเป็นระยะโดยดูจากความพร้อมของมหาวิทยาลัย ศักยภาพและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย