สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) แถลงความสำเร็จกิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร ปีที่ 2 ด้วยแนวคิด ‘นวัตกรรมนำงานวิจัย’ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561
นายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่าย ผู้ให้บริการเอสเอ็มอี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการโดยการสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเครือข่าย และทำให้เกิดความเข้มแข็ง จำเป็นจะต้องนำแนวคิดในการพัฒนาเครือข่ายมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ที่ผ่านมา สสว. ได้นำนโยบายการพัฒนาเครือข่าย มากำหนดแนวทางการส่งเสริม SME เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME และจากความสำเร็จของการพัฒนาเครือข่ายคลัสเตอร์สมุนไพรเดิมในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกเติบโตและมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น ทาง สสว. จึงได้มอบหมาย มทร.ธัญบุรี สานต่อ กิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร เป็นปีที่ 2 ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอีในปี 2561 เพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรในกลุ่มสมุนไพรไทย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นไปตามความมุ่งหวัง และ สสว. พร้อมที่จะสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ SME และคลัสเตอร์สมุนไพรไทยให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน SME ในกลุ่มธุรกิจสมุนไพรครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ (ผู้ปลูก) กลางน้ำ (ผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์) และปลายน้ำ (ผู้จำหน่าย) รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในท้องที่ของแต่ละจังหวัด เป็น คลัสเตอร์ (Cluster) หรือเครือข่ายที่มีความครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรที่เข้าร่วมโครงการเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างมีความเข้มแข็ง และสานต่อโครงการให้มีความต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จำนวน 9 จังหวัด คือ เครือข่ายชีววิถีน้ำเกี๋ยน (จ.น่าน) เครือข่ายไพรสบปราบ (จ.ลำปาง) เครือข่ายไพรสองแคว (จ.พิษณุโลก) เครือข่ายภูมิพรรณไพร (จ.สระบุรี) เครือข่ายจันท์พันไพร (จ.จันทบุรี) เครือข่ายไพรเมืองย่า (จ.นครราชสีมา) เครือข่ายไพรร้อยแก่นสารสินธุ์ (จ.ขอนแก่น) เครือข่ายศรีพนมไพร (จ.นครพนม) และเครือข่ายนักษัตรนครไพร (จ.นครศรีธรรมราช)
กิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร ปีที่ 2 ประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร มุ่งเน้นการบริหารจัดการร่วมกันแบบเครือข่าย โดยมีสมาชิกที่เป็นกลุ่มต้นน้ำ กลุ่มกลางน้ำ และกลุ่มปลายน้ำ รวมทั้งหมดกว่า 899 ราย รวมถึงผู้ประสานงานเครือข่าย (CDA) หรือแกนนำคลัสเตอร์กว่า 36 ราย ขณะเดียวกัน ยังสร้างนวัตกรรมด้านการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการกว่า 60 ราย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และยังมีผู้สนับสนุนส่งเสริม (SP) เข้ามาส่งเสริมร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอีกหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัด
ขณะเดียว ยังสร้างโอกาสในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ โดยผลักดันและส่งเสริมให้ร่วมจัดแสดงสินค้าและทำ Business Matching ซึ่งในประเทศได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ส่วนในต่างประเทศ ได้จัดให้มีการร่วมแสดงสินค้าในงาน Hotel Asia Maldives Exhibition & International Culinary Challenge 2018 พร้อมด้วยกิจกรรม Business Matching ณ ประเทศมัลดีฟส์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งในด้านเศรษฐกิจ และเป็นจุดศูนย์กลางไปยังประเทศอื่น ทั้งศรีลังกา อินเดีย รวมถึงทวีปยุโรป
ดังนั้น การพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์สมุนไพร ในปี 2561 สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นบนหลักการ “นวัตกรรมนำงานวิจัย” และกำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินการจัดตั้ง คลัสเตอร์สมุนไพรแห่งชาติ เพื่อเตรียมการในการก้าวสู่ Social Enterprise Company ต่อไป.