นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกแบบและตัดเย็บชุดเด็ก 32 ชุด จากผ้าที่เป็นส่วนคงเหลือจากสถานประกอบการที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกหมวก จัดแสดงแฟชั่นโชว์ ในงาน “คหกรรมศาสตร์ร้อยเรียงวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมชุมชน” ณ ศูนย์การค้า zpell รังสิต ปทุมธานี
นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกแบบและตัดเย็บชุดเด็ก 32 ชุด จากผ้าที่เป็นส่วนคงเหลือจากสถานประกอบการที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกหมวก จัดแสดงแฟชั่นโชว์ ในงาน “คหกรรมศาสตร์ร้อยเรียงวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมชุมชน” ณ ศูนย์การค้า zpell รังสิต ปทุมธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อ้อยทิพย์ ผู้พัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม เล่าว่า ชุดเด็กทั้ง 32 ชุด เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาเทคนิคการตัดเย็บเสื้อผ้าเด็ก ซึ่งนักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เริ่มจากการออกแบบ (Design) การทำแบบตัด (Pattern) การตัดผ้า และเทคนิคในการเย็บ ด้วยการบูรณาการเรียนการสอน การลงมือปฏิบัติจริง จุดเริ่มต้นจากการที่ คุณประไพ หลิ่วผลวณิชย์ เจ้าของและผู้จัดการ บริษัท ร็อคกี้ การ์เม้นท์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกหมวก ได้ให้ความอนุเคราะห์ผ้าที่เป็นส่วนคงเหลือจากการผลิตหมวก เพื่อให้สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นำมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษา เป็นวัสดุให้กับนักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ จึงเป็นที่มาของโจทย์ที่ท้าทายนักศึกษา ในการนำผ้าที่เหลือใช้ที่มีความหลากหลายมาออกแบบและตัดเย็บ ด้วยเทคนิคที่เกิดจากการเรียนรู้ในครั้งนี้ การออกแบบและตัดเย็บชุดเด็ก ต่างกับชุดผู้ใหญ่ “แฟชั่นเด็กเน้นความสดใส ความเหมาะสมของช่วงวัย และที่สำคัญสามารถสวมใส่ได้จริง”
“เจได” นายอนุรักษ์ พรมพิทัก เล่าว่า “เสื้อผ้าเด็กมีขนาดเล็กต้องอาศัยความละเอียด” ชุดที่ออกแบบและตัดเย็บเป็นชุดเด็กชายด้วยการเลือกใช้ผ้าที่มีสีพื้นเรียบ ๆ (สีฟ้าอ่อน) ตกแต่งด้วยเทคนิคการใช้ผ้าลายสก็อต ตัดผ้าเกรนเฉลียง มาตกแต่งบริเวณปกเสื้อ ปลายแขนเสื้อ และปลายขากางเกง เป็นการเพิ่มลูกเล่นให้ชุดเด็ก มีความเป็นแฟชั่น สามารถสวมใส่ได้ในโอกาสพิเศษ ตลอดจนสวมใส่ได้ทุกโอกาส ความรู้ที่ได้สามารถนำไปต่อยอดในการออกแบบและตัดเย็บชุดผู้ใหญ่ต่อไป
“คิตต้า” นายวรวุฒิ ไพรบึง เล่าว่า หยิบในส่วนของผ้าลูกไม้ มาออกแบบตัดเย็บ โดยคนส่วนใหญ่มองว่าลูกไม้เหมาะกับคนมีอายุ จึงได้นำผ้าลูกไม้มาออกแบบและตัดเย็บครึ่งบนของชุดเดรส ซับในด้วยผ้าสีเทา ทำให้ชุดดูเด่น เพิ่มลูกเล่นด้วยการปักมุกลงไปตรงผ้าลูกไม้ สำหรับความรู้ในวิชานี้ สามารถนำไปสร้างอาชีพในอนาคต ถ้ามีโอกาสอยากเปิดร้านชุดเด็ก เพราะว่า เสื้อผ้าเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องสวมใส่ บางโอกาสพ่อแม่ผู้ปกครองที่ชอบแต่งตัวให้กับลูกๆ ชุดที่ออกแบบยังมีผู้ปกครองขอซื้อ รู้สึกดีใจและภูมิใจในชิ้นงานที่ออกแบบ
“ก้านแก้ว” นายโยธิน ฆ้องนอก เล่าว่า ความเป็นเด็ก สิ่งที่คำนึงถึง คือ ความน่ารักสมวัย แตกต่างกับชุดผู้ใหญ่ ที่เน้นความทันสมัย ก่อนจะลงมือตัดแพทเทิร์น ต้องศึกษาทฤษฎีช่วงวัยของเด็ก และลงมือวัดขนาดตัวนายแบบ นางแบบตัวน้อย จากโรงเรียนสาธิตอนุบาลราชมงคล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ของคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โจทย์ที่ท้าท้ายคือการเลือกผ้าที่ใช้จากโรงงานทำหมวก ออกแบบชุดเด็กผู้หญิง เพื่อเพิ่มความน่ารัก และดูทันสมัย จึงใช้เทคนิคการจีบระบายชายเสื้อ และปลายขากางเกง ทำให้ชุดมีความอ่อนหวานเหมาะกับเด็ก
“การออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าเด็ก นักศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นเด็ก สรีระของเด็กและกิจกรรมที่เด็กทำเมื่อสวมใส่เครื่องแต่งกาย เป็นสิ่งที่ต้องยึดถือเป็นสำคัญ ซึ่งจะพบว่ามีการนำยางยืด (อีลาสติค) มาเป็นส่วนประกอบในรูปแบบของเสื้อผ้าเด็กเกือบทั้งหมด เพราะสิ่งนี้ คือ ความยึดหยุ่นของเสื้อผ้า หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ การเผื่อการเจริญเติบโตของเด็ก การคำนึงถึงความสบายในการสวมใส่ ไม่อึดอัด และต้องมีความสวยงามน่ารักในทุกรูปแบบที่นำเสนอในแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าเด็ก สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการ คือเน้นที่สามารถนำไปสวมใส่ได้จริง” ผศ.ดร.อ้อยทิพย์ ผู้พัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย