ผลงานความร่วมมือจากบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาและโรงพยาบาล ที่พัฒนาร่วมกันโดย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้พิการจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่ปลายทางตามต้องการนั้นมีความลำบาก ผู้ป่วยหลายรายอาจต้องอาศัยผู้ดูแลอย่างน้อย 1 – 2 คนขึ้นไป ในการพยุง เคลื่อนย้าย รวมถึงยกผู้ป่วยขึ้นและลงจากรถยนต์ ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังในการเคลื่อนย้าย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายหรือได้รับการบาดเจ็บเพิ่มเติม และหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยเกิดการสัมผัสหรือการกระแทกกับรถยนต์ จึงจุดประกายให้เกิดการผนึกกำลังร่วมกันคิดค้นและพัฒนาชุดระบบไฮดรอลิกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากรถยนต์ “PMK Hydraulic Car Lift”
ผลงานความร่วมมือจากบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาและโรงพยาบาล ที่พัฒนาร่วมกันโดย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี และ พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ เผยว่า การพัฒนาชุดยกระบบไฮดรอลิกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากรถยนต์นี้ นอกจากเหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้พิการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องใช้รถเข็นแล้ว ยังสอดรับกับครอบครัวที่มีบุคคลในกลุ่มผู้สูงวัย ที่ต้องการไปเที่ยว พักผ่อนหรือพบแพทย์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย รวมถึงมีความปลอดภัย และไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ดูแลหลายคน ชุดยกระบบไฮดรอลิกออกแบบมาให้ใช้งานกับรถยนต์จำพวกรถแวน เนื่องจากขนาดรถมีความเหมาะสม กว้างพอที่จะรองรับการใช้งานของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งระบบนี้สามารถติดตั้งเพื่อการใช้งานได้ง่าย กลไกหรือเทคนิคไม่ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ มีความนุ่มนวลแม่นยำและออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยรถเข็นโดยเฉพาะ
ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า PMK Hydraulic Car Lift หรือชุดยกระบบไฮดรอลิกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากรถยนต์ ใช้ระบบไฮดรอลิกส์ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้สูงถึง 250 กิโลกรัม ประกอบด้วยปั้มไฮดรอลิก ลูกสูบไฮดรอลิก ชุดอุปกรณ์ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นรถยนต์ เพียงแค่ทำการกดปุ่มให้เคลื่อนที่ลง ชุดระบบกลไกจะเคลื่อนที่ลงมาเสมอกับพื้นในแนวราบ จากนั้นผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเข็นรถเข็นไปยังจุดเคลื่อนที่บริเวณตะแกรงเหล็ก หลังจากนั้นกดปุ่มให้เคลื่อนที่ขึ้น อุปกรณ์ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะเคลื่อนที่ขึ้นและอยู่ในแนวราบเสมอกับท้ายรถยนต์ ผู้ป่วยก็สามารถเข็นรถเข็นไฟฟ้าเข้าไปในตัวรถยนต์ได้เอง ขั้นตอนสุดท้ายของระบบ อุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกเก็บในท้ายรถยนต์ และถ้าต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงจากรถยนต์ ก็จะทำในลักษณะเดียวกันทำให้สะดวกและรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากรถยนต์นั่นเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนารูปแบบการใช้งานให้สะดวกและเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่มากยิ่งขึ้น
นับว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะมาเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหรือผู้พิการให้มีความสะดวกสบาย และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างราบรื่น.