ทีมนักศึกษาสถาปัตย์ มทร.ธัญบุรี ซิวแชมป์ BEC Award 2018 สำเร็จ ออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ด้วยแนวคิดพึ่งพาธรรมชาติและผสมผสานกับวัสดุอุปกรณ์ทันสมัย
ทีมนักศึกษาสถาปัตย์ มทร.ธัญบุรี ซิวแชมป์ BEC Award 2018 สำเร็จ ออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ด้วยแนวคิดพึ่งพาธรรมชาติและผสมผสานกับวัสดุอุปกรณ์ทันสมัย
นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นายพงศธร กลิ่นเทียน ‘จิ๋ว’ และ นางสาวณัฐสุกานต์ คำสิริจรัส ‘ดรีม’ ชนะเลิศผลงานกิจกรรมประกวดออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประเภทนักศึกษาออกแบบสถานศึกษา ในชื่อผลงาน ‘โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มทร.ธัญบุรี’ School of Energy Project โดยมี ผศ.ดร.วรากร สงวนทรัพย์ และอาจารย์โสพิศ ชัยชนะ เป็นที่ปรึกษา ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ภายใต้กิจกรรม ‘แบบอาคาร BEC ที่มีประสิทธิภาพพลังงานระดับดีเด่น’
พงศธร เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบ มี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ Passive Design ที่เน้นการพึ่งพาธรรมชาติด้วยแนวคิดการแบ่งสมองซีกซ้าย-การเรียน และสมองซีกขวา-การเล่น โดยออกแบบพื้นที่ของอาคารที่เน้นช่องเปิดโล่งให้ลมสามารถเข้าออกได้สะดวก ตามทิศทางของลม และนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ใช้สอยได้รับบรรยากาศในสภาวะที่สบาย กลืมกลืนไปกับธรรมชาติ ส่วนที่สองคือ Active Design ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานในอาคาร
วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เลือกใช้ประกอบด้วย 1.การปกปิดผิวอาคารด้วยเมทัลชีท 2.ผนังอาคารใช้คอนกรีตมวลเบาฉาบเรียบ 2 ด้าน ภายนอกทาสีอ่อน 3.ติดตั้งกระจกใสสีเขียว เพื่อให้แสงส่งผ่านเข้ามาได้เพียง 40 % 4.ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ประมาณ 130 แผง ทางทิศใต้และทิศตะวันตก 5.ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ใช้เทคนิคการออกแบบติดตั้งสวิตช์เปิดเปิดแบบแยกตามแนวอาคารที่มีแสงสว่างจากภายนอกเข้าถึง และเลือกใช้หลอดไฟ LED 6.เครื่องปรับอากาศ จะเลือกติดตั้งเฉพาะพื้นที่ที่มีความจำเป็น 7.แผงกันแดดเป็นวัสดุเดียวกับหลังคาชั้นบน และ 8.การเลือกตำแหน่งสระน้ำ เพื่อให้ลมช่วยพัดพาความเย็นเข้าสู่ตัวอาคาร
“ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังให้ความสนใจอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และเริ่มใช้แนวทางตามมาตรฐาน BEC นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก อยากให้มีการรณรงค์ สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากช่วยลดรายจ่ายด้านพลังงานของประเทศได้อีกด้วย สำหรับการประกวดครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ที่ดี และเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนในห้องเรียนมาสู่สนามจริง” พงศธร กล่าว
ขณะที่ ณัฐสุกานต์ กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้อาคารเรายังไม่ผ่านเกณฑ์การประกวดที่จะต้องประหยัดพลังงานทั้งอาคารให้ได้มากกว่า 70% เราจึงได้เลือกใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นพลังงานทางเลือก และผลลัพธ์คือ สามารถช่วยประหยัดพลังงานทั้งอาคารได้อีก 6.5 % ขณะเดียวกันการตกแต่งสภาพแวดล้อมบริเวณรอบอาคารให้ร่มรื่นก็มีผลต่อความเย็นสบายของผู้ใช้อาคาร และสามารถลดการใช้พลังงานได้ด้วย หลังจากออกแบบเบื้องต้นแล้วได้นำข้อมูลวัสดุไปคำนวณด้วยโปรแกรม Building Energy Code: BEC ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ตรวจสอบความสอดคล้องของแบบอาคารต่อเกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ซึ่งผลอาคารประหยัดพลังงานที่ออกแบบเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานสามารถประหยัดพลังงานถึง 71 % ผ่านเกณฑ์ฉลากระดับดีเด่นประเภทอาคารสถานศึกษา
ณัฐสุกานต์ กล่าวอีกด้วยว่า อาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเป็นเรื่องราวที่สอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมและพลังงานโดยตรง ตนได้ฝึกคิดและลงมือปฏิบัติโดยเฉพาะการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม และมีคุณภาพตามมาตรฐาน BEC การดำเนินกิจกรรมในอาคารจำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก ถ้าเราวางแผนตั้งแต่แรกเริ่มของงานสถาปัตย์ จะทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ และมีความฝันอยากเป็นสถาปนิก และมองว่า “ความยั่งยืนของสถาปัตยกรรม ส่วนหนึ่งมาจากด้านพลังงาน” ขอบคุณประสบการณ์ที่ดีครั้งนี้ และจะเป็นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นอื่นต่อไป.