รีวิว : WD My Passport Ultra 2TB บางสวย มาพร้อมสาย USB-C ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น

ทำไมผมถึงบอกว่า ‘ชีวิตง่ายขึ้น’ ย้อนกลับไปตอนที่ผมรีวิวเจ้า ‘WD My Passport (2017) 4 TB’ คือมันเป็น External HDD ที่มาพร้อมหัวต่อแบบ Micro B แบน ๆ มีสองหัวในสายเดียว สารภาพตามตรงว่า เสียบพลาดบ่อยกว่า Micro USB ที่ใช้กับสมาร์ทโฟนรุ่นเก่าซะอีก (-*-)

ดังนั้นตอนที่ผมได้เจ้า WD My Passport Ultra 2TB มารีวิว แรกคิดว่าคงต้องไปตบตีกับหัวต่อ Micro B อีกครั้งซะแล้ว แต่พอเห็นคำว่า “USB-C” โอ้วว เหมือนเห็นแสงสว่างบางอย่างเข้ามาในชีวิต ไม่รอช้าแกะกล่องแล้วเอาไปต่อกับโน้ตบุ๊กที่มีพอร์ต USB-C ทันใด ความรู้สึกเวลาหลับตาแล้วต่อสาย USB-C ระหว่าง External HDD กับโน้ตบุ๊กได้ มันช่าง Fin ยิ่งนัก…อาห์

รีวิวนี้มาพบกับ WD My Passport Ultra 2TB อุปกรณ์เก็บข้อมูลประเภท External HDD ที่มาพร้อมพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-C และดีไซน์ใหม่ บางเบายิ่งกว่าเดิม

สเปก WD My Passport Ultra 2TB

  • Innovative style with refined metal cover
  • USB-C ready, USB 3.0 compatible
  • Automatic backup and password protection
  • Social media and cloud storage import
  • Up to 4TB capacity
  • Easy to use
  • 3-year limited warranty

แกะกล่อง

กล่องของ WD My Passport Ultra 2TB ยังคงสไตล์เดิม โดยมาในโทนสีเหลีองสลับขาวเช่นเคย ส่วนอุปกรณ์ภายในกล่องก็ประกอบไปด้วยตัว WD My Passport Ultra 2TB, สาย USB-C to USB-C, หัวแปลง USB-C เป็น USB-A 3.0 และชุดคู่มือ

วัสดุและดีไซน์

การออกแบบของ WD My Passport Ultra รอบนี้ก็มาสไตล์แบบเรียบหรู โดยใช้พลาสติกที่ดีไซน์ให้ดูเหมือนอลูมิเนียม แต่ก็ต้องยอมรับว่าพลาสติกที่ใช้ เนื้องานดีมาก คือแข็งจนนึกว่าเป็นอลูมิเนียมจริง ๆ ในตอนแรกที่สัมผัสมันเลย

นอกจากดีไซน์หรูแล้ว ตัว WD My Passport Ultra ยังมีความบางเบามาก ๆ เมื่อเทียบกับ External HDD รุ่นอื่น (ยกเว้นรุ่น 4TB ที่หนาตามสภาพ)

จุดเด่นของ WD My Passport Ultra ก็คือพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-C ที่สามารถเสียบเชื่อมต่อได้ง่ายดายขึ้นมาก รู้สึกชีวิตมีความสุขขึ้นมาจริง ๆ ฮ่า ฮ่า จากปกติ External HDD จะใช้พอร์ตเชื่อมต่อแบบ Micro B ที่เวลาเชื่อมต่อต้องเล็งดี ๆ กว่าจะเสียบได้

มองจากมุมนี้ ยิ่งดูเหมือนผิวอลูนิเมียมจริง ๆ ครับ

การใช้งาน

หากใช้กับโน้ตบุ๊กหรืออุปกรณ์ที่มีช่อง USB-C ก็ไม่ต้องมาหงุดหงิดกับการต้องมาเล็งหรือกลับหัวสาย USB 3.0 แบบก่อนให้วุ่นวายอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากอุปกรณ์นั้นไม่มีช่อง USB-C ตัว WD My Passport Ultra ก็มีหัวแปลง USB-C เป็น USB-A 3.0 มาให้ ไม่ต้องกังวล

ประสิทธิภาพ

เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถาม ถ้าหากใช้หัวแปลงเป็น USB-A 3.0 ความเร็วจะลดลงหรือไม่ ส่วนนี้เคยลองพิสูจน์ตอนรีวิว SanDisk Extreme Portable SSD ผลออกมาคือ เร็วพอ ๆ กันเลย รอบนี้อยากลองเทสดูอีกครั้ง แต่มีเหตุเล็กน้อยเลยไม่ได้ลองเทสส่วนนี้ แต่เชื่อว่าผลคงออกมาไม่ต่างกัน รอบนี้ลองมาดูประสิทธิภาพความเร็วการอ่านเขียน และการโยนไฟล์ความจุสูง กับไฟล์จำนวนหลาย ๆ ไฟล์พร้อมกัน มาดูกันว่าตัว WD My Passport Ultra จะทำออกมาได้ดีไหม

ประเดิมด้วย AS SSD Benchmark หากเทียบกับตอนที่รีวิวตัว WD My Passport (2017) ตอนนั้นได้ความเร็วอ่านเขียนไปประมาณ 100 MB/s ส่วนครั้งนี้ได้ไปประมาณ 128-124 MB/s ถือว่าเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ต้องยอมรับว่า HDD ก็ยังเป็น HDD เช่นเคย

ลองทดสอบการโยนไฟล์ขนาด 1.75 GB ไฟล์เดียว ก็ใช้เวลาไปประมาณ 1 นาที

ต่อไปลองทดสอบโยนไฟล์ชุดใหญ่ โดยมีขนาดมากถึง 39.2GB แบ่งเป็น 600 โฟลเดอร์ 10,087 ไฟล์

ความเร็วโดยเฉลี่ยของการ Cory ไฟล์ 39.2GB นี้ ก็อยู๋ประมาณ 130 MB/s

สุดท้ายก็ใช้เวลาไปทั้งสิ้นประมาณ 6.30 นาที ถือว่าเร็วกว่า HDD บน PC หรือ External HDD รุ่นอื่นอยู่บ้าง

สรุป

แม้เดี๋ยวนี้จะมี SSD แบบ Portable หรือ External SSD ออกใหม่มากมายหลายรุ่น แต่ External HDD ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับใครที่กำลังมองหาอุปกรณ์เก็บข้อมูลความจุสูง ๆ แต่ราคาไม่แรง จุดเด่นของ WD My Passport Ultra ก็คือพอร์ต USB-C แทนที่พอร์ต Micro B (Goodbye…) ไม่ต้องมาคอยเล็งหัวต่อให้เข้ารูเหมือนก่อนแล้ว กับความบางที่พกพาได้สะดวกมาก ดีไซน์สุดหรู เอาไปวางอวดเพื่อนได้เลย ส่วนความเร็วก็ตามสภาพ สุดท้ายนี้ราคาของ WD My Passport Ultra 2TB ก็อยู่ที่ 2,390 บาทครับ