เดิมที TP-LINK เป็นชื่อที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี จากการเป็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายที่ครอบคลุมตั้งแต่ เราเตอร์ โมเด็ม อะแดปเตอร์ ระบบกระจายสัญญาณ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปัจจุบัน TP-LINK ได้ขยายธุรกิจจากเดิม พร้อมเดินหน้าบุกตลาดสมาร์ทโฟน และประเดิมด้วยการเปิดตัว Neffos C5 เป็นครั้งแรก และในโอกาสนี้ Comtoday จึงขอนำเสนอ รีวิว TP-LINK Neffos C5 สมาร์ทโฟน ที่มาพร้อมความเรียบง่าย พร้อมใช้ 4G มาบอกต่อทุกคนครับ
อันดับแรกเริ่มต้นที่สเปก
– หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียดการแสดงผล HD (1280 x 720 พิกเซล 294ppi)
– ความหนาตัวเครื่อง 8.8 มิลลิเมตร น้ำหนัก 141 กรัม
– รัน Android 5.1 Lollipop
– ซีพียู MTK MT6735 4x Cortex-A53 1.3GHz และจีพียู ARM Mali-T720 MP2 450Mhz
– แรม 2GB หน่วยความจำภายใน 16GB รองรับ microSD card ความจุสูงสุด 32GB
– กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มาพร้อมระบบ Auto Focus
– ใช้งานได้ 2 ซิมการ์ด ประเภท Micro SIM
– สนับสนุนการเชื่อมต่อเครือข่าย 2G/3G/4G
– แบตเตอรี่ความจุ 2,200mAh
Neffos C5 มีการออกแบบที่เรียบง่าย ฝาหลังเกิดจากการนำพลาสติกประเภทโพลิคาร์บอเนตมาเป็นส่วนประกอบ สามารถถอดฝาหลังได้ รอบขอบตัวเครื่องแทรกด้วยอะลูมิเนียม ซึ่งภาพรวมของตัวเครื่องนับว่าการออกแบบไม่ได้หวือหวานัก แต่การหยิบจับทำได้ง่าย มีน้ำหนักเบา
ส่วนประกอบอื่นตามจุดต่างๆ บนตัวเครื่อง ได้แก่ ด้านหน้าเหนือจากหน้าจอจะมีลำโพงสนทนา กับกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และมีปุ่มปิดแอปที่ไม่ใช้งาน ปุ่มย้อนกลับ และปุ่มโฮม มาในรูปแบบของทัชสกรีน แสดงผลอยู่ท้ายสุดของจอแสดงผล เหนือขึ้นไปบริเวณขอบด้านบนจะเป็นพอร์ตขนาด 3.5 มิลลิเมตร สำหรับต่อกับหูฟัง ส่วนขอบด้านล่างเป็นพอร์ต microUSB ขณะที่ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง ปุ่มเปิด-ปิดหน้าจอ หรือปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ถูกวางในตำแหน่งขอบด้านขวา และสุดท้ายด้านหลังประกอบไปด้วยกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล แฟลชคู่ Dual LED และลำโพงเดี่ยวๆ ที่มุมขวาล่าง
หน้าจอขนาด 5 นิ้วของ TP-LINK Neffos C5 ให้ความละเอียดการแสดงผลที่ระดับ HD เท่านั้น ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ได้ขี้เหร่แต่ประการใด สิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะทั้งแอพพลิเคชัน วอลเปเปอร์ ไปจนถึงการเปิดชมวีดีโอจาก YouTube หรือ LINE TV สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับการรับชมได้ในระดับที่ดี
เรื่องกล้อง เป็นสิ่งที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องหยิบขึ้นมาใช้แน่นอน ซึ่งกล้องหลัง 8 ล้านพิกเซล ดูจะเป็นความละเอียดขั้นพื้นฐานของสมาร์ทโฟนราคาประหยัดของยุคนี้ไปแล้ว การใช้งานตั้งแต่การเปิดกล้อง จับโฟกัสอัตโนมัติ กดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ไปจนถึงการเขียนข้อมูลลงในหน่วยความจำ มีจังหวะความเร็วที่ใช้ได้ ไม่พบอาการหน่วงหรือดีเลย์แต่อย่างใด ส่วนภาพที่ออกมาจากการใช้โหมดปกติ ถือว่าชัดเจนใช้ได้ จะโพสต์ แชร์ลง Facebook หรือ Instagram ก็ทำได้ไม่เสียหาย แต่ในมุมมองส่วนตัวยังคิดว่าสีสันของภาพยังให้คุณภาพที่ซีดจางอยู่พอสมควร
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง
ขณะตัวเลือกก่อนลั่นชัตเตอร์ของกล้องหลัง มาพร้อมโหมดช่วยถ่ายภาพในแบบต่าง ๆ ได้แก่ Food, HDR, Intelligent, Screnery, Beauty และ Panorama นอกจากนี้ ยังมีฟิลเตอร์สำหรับปรับสีก่อนถ่ายภาพได้ด้วยครับ
โหมดถ่ายภาพของกล้องหลัง TP-LINK Neffos C5
มาที่ฝั่งซอฟต์แวร์กันบ้าง อินเทอร์เฟซหรือส่วนติดต่อกับผู้ใช้ของ TP-LINK Neffos C5 มีพื้นฐานจาก Android 5.1 Lollipop ไอคอนแอพพลิเคชันมีลักษณะเรียบ แบน ตามคอนเซ็ปต์ Material Design ซึ่งการจัดเรียงแอพฯ ต่าง ๆ จะติดตั้งไว้ยังหน้าจอหลัก ไม่มี App Drawer หรือหน้าต่างรวมแอพฯ ทั้งหมดที่ติดตั้งในเครื่อง ช่วยให้การเลือกใช้งานมีความสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลาในการค้นหาแอพฯ หรือทำให้หน้าจอแสดงผลรก เมื่อดาวน์โหลดแอพฯ มาใช้งานเรื่อยๆ โดยภาพรวมแล้วในฝั่งซอฟต์แวร์คงจะบอกได้ว่าไม่ได้แสดงถึงความหวือหวา ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้งานง่าย ๆ พร้อมด้วยแอพฯ ที่ตอบสนองการใช้งานเป็นประจำของผู้คนส่วนใหญ่
ปิดท้ายด้วยผลคะแนนการทดสอบ AnTuTu Benchmark
สรุปการใช้งาน
หลังการใช้งาน TP-LINK Neffos C5 ต้องขอบอกเลยว่า ถึงดีไซน์จะดูธรรมดา แต่ตัวเครื่องขนาด 5 นิ้ว ให้น้ำหนักเบา ถือง่าย พกพาสะดวก การเลือกชมซีรีส์ผ่าน LINE TV หรือละครย้อนหลังผ่าน YouTube ตอบสนองความต้องการได้อย่างไม่มีปัญหา แอพพลิเคชันที่มากับเครื่องมีเท่าที่จำเป็น เน้นแอพฯ ที่ให้ประโยชน์และมีการใช้งานสม่ำเสมอเป็นประจำ ตัดความยุ่งยากของหน้าต่างรวมแอพฯ หรือ App Drawer ออกไป
ส่วนการใช้กล้องถ่ายภาพ และการเลือกโหมดใช้งานในสถานการณ์ที่หลากหลายไม่มีอะไรซับซ้อน ความชัดเจนของภาพอยู่ในระดับที่จัดว่าดีพอใช้ได้ ส่วนสีสันอาจจะดูซีดจางไปเล็กน้อย นอกจากนี้ สิ่งที่ TP-LINK Neffos C5 สามารถตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ยุคสมัยนี้ได้ นั่นคือการรองรับสัญญาณ 4G ได้ด้วย พร้อมกับเป็นทางเลือกของหลายๆ คนที่อาจกำลังมองหาสมาร์ทโฟนราคาประหยัด เพื่อไว้ใช้งานเบาๆ อาทิ เล่นเน็ต รับสาย โทรออก เล่นเกม หรือดูหนังออนไลน์แบบครั้งคราวไป
สำหรับราคายังไม่มีการระบุที่แน่ชัดครับ