รีวิว : TP-Link Deco M9 Plus ขยายสัญญาณ Wi-Fi ระดับ AC2200 พร้อมคอมโบกับปลั๊กไฟอัจฉริยะ

Mesh Wi-Fi เทคโนโลยีการเชื่อมต่อสัญญาณแบบโยงใยคล้ายกับใยแมงมุม จากเดิมที่มีเราเตอร์ Wi-Fi ตัวเดียวกระจายสัญญาณ ก็กลายมาเป็นเราเตอร์ Wi-Fi จำนวน 2 – 3 ขึ้นไป ร่วมกันกระจายสัญญาณแบบโยงใยให้คลอบคลุมทั่วบ้าน “โดยมาในชุดเดียว” ไม่ต้องซื้อ Access Point หรือ Range Extender ให้เปลืองเงินเพิ่มเติม และครั้งนี้เรามาอยู่กับ TP-Link Deco M9 Plus ภาคต่อของ Deco M5 ที่เคยรีวิวไปก่อนหน้า ซึ่งอัพเกรดความเร็วจาก AC1200 มาเป็น AC2200 และจาก Dual Band ก็กลายมาเป็น Tri-Band กันเลย ส่วนคอนเซ็ปต์ยังคงเดิมคือ “Whole-Home Wi-Fi System” ช่วยกระจายสัญญาณให้ครอบคลุมทั้งบ้าน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน สัญญาณ Wi-Fi ก็ยังแข็งแรงดี

รีวิวรอบนี้พิเศษหน่อย นอกจากตัว Deco M9 Plus แล้ว ยังได้ตัว TP-Link HS100 ปลั๊กไฟอัจฉริยะ มาร่วมทดสอบด้วย เนื่องจากมีฟีเจอร์ใหม่อย่าง “ZigBee” ช่วยเพิ่มอุปกรณ์ IoT หรือ Smart Home อื่น ๆ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของ Deco M9 Plus ได้เลย ซึ่งจะมีการใช้งานยังไง และมีประสิทธิภาพขนาดไหน มาดูไปพร้อม ๆ กันครับ

คุณสมบัติ TP-Link Deco M9 Plus

  • Qualcomm Quad-core
  • Wireless: 400 Mbps on 2.4 GHz + 867 Mbps on 5 GHz + 867 Mbps on 5 GHz
  • 8 Internal Antennas
  • 2 LAN/WAN Gigabit ports
  • 1 USB 2.0 Port
  • Compatible with IPv6 (Internet Protocol version 6)
  • Product dimensions (144 mm × 64 mm)
  • Bluetooth 4.2 , ZigBee HA1.2

แกะกล่อง

ตัวกล่องยังสวยงามและหรูหราเหมือนตอนรีวิว Deco M5 ซึ่งน่าจะจุดเด่นของซีรีย์นี้ไปแล้ว คือกล่องมันสวยจริง ๆ ชนิดแกะเสร็จแล้ว ก็ยังอยากเก็บกล่องเอาไว้ด้วย ส่วนภายในกล่องก็ประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง Deco M9 Plus x 2, ชุดไฟเลี้ยง AC x 2 , สาย LAN RJ45 x 1 และชุดคู่มือ

วัสดุและดีไซน์

หน้าตาตัว TP-Link Deco M9 Plus ก็ยังคงสไตล์ซีรีย์นี้ โดยเป็นวงกลมแบน ๆ สีขาวล้วนดูสะอาดตา ใช้วัสดุเป็นพลาสติกอย่างดี ซึ่งทนความร้อนพอควร และไม่ติดไฟเวลาเกิดเพลิงไหม้ด้วย

และมาพร้อมไฟ LED แสดงสถานะ 1 ดวงเช่นเคย (เพราะอย่างไรทุกอย่างก็ไปแสดงในหน้าจอสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว เลยไม่จำเป็นต้องใส่ไฟ LED แสดงสถานะเยอะ ๆ เหมือนก่อน)

พอร์ตเชื่อมต่อ 4 ช่อง ประกอบไปด้วย ช่องเสียบไฟเลี้ยง AC, USB 2.0 x 1 และ LAN/WAN Gigabit x 2

รูระบายความร้อนใต้เครื่อง

อยากให้ดูตัวชุดไฟเลี้ยงหรือ Adepter ของ Deco M9 Plus ซักนิด ก่อนหน้านี้ใน Deco M5 ใช้สายเสียบแบบ USB Type-C รอบนี้เปลี่ยนมาเป็น AC หัวกลมแล้ว ซึ่งก็น่าแปลกใจนิด ๆ เหมือนกัน

และหน้าตาของ TP-Link HS100 ที่จะมาร่วมรีวิวไปกับ TP-Link Deco M9 Plus ครั้งนี้เอง

การใช้งาน (Deco M9 Plus)

ในการ Set-Up ครั้งแรก ก็เหมือน ๆ กับเราเตอร์ Wi-Fi ทั่วไป คือต่อสาย WAN เข้ากับช่อง LAN ของโมเด็มเราเตอร์ประจำบ้าน และต่อไฟกับปลั๊กก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ระหว่างนี้ก็เอา Deco M9 Plus อีกเครื่อง ไปวางตรงจุดที่คิดว่าอับสัญญาณรอไว้เลย ซึ่งไม่ต้องต่อสาย WAN เหมือนกับเครื่องแรก

เมื่อต่อสายอะไรเรียบร้อยแล้ว ต่อไปมันจะให้รอเชื่อมต่อ Wi-Fi กับตัวเครื่องเลย พร้อมให้ติดตั้งแอพฯ TP-Link Deco เพิ่มเติมด้วย

เปิดแอพฯ ขึ้นมา TP-Link Deco เลือก Deco M9 Plus จากนั้นก็ตามขั้นตอนที่ตัวแอพฯ บอกเลย จนมาถึงขึ้นตอนเชื่อมต่อตัวเครื่องด้วย Bluetooth

ในขั้นตอนนี้ เราต้องเอาสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออยู่ ไปอยู่ใกล้ ๆ กับตัวเครื่อง หลังเชื่อมต่อ Deco M9 Plus เครื่องแรกเสร็จแล้ว ต่อไปก็เดินไปยังตัวเครื่องอีกตัวที่วางอยู่อีกฝั่ง แล้วทำการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เช่นกัน

นอกจากที่ว่าสวยแล้ว หน้าตา UI ของแอพฯ ก็ออกแบบได้สวยงามและดูสบายตาเหมือนกัน โดยมีการปรับปรุงหน้าการใช้งานให้ดูง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย เมื่อเทียบกับตอนรีวิว Deco M5 ก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ใช้ทั่วไปก็คงวน ๆ อยู่ในหน้า Router Settings ซึ่งได้รวมเอาการตั้งค่าที่จำเป็นมาไว้ในหน้านี้แล้ว ส่วนผู้ใช้ระดับ Hi-End User ก็คงสิงอยู่ในหน้า Advanced ที่มีหน้าตั้งค่า IPv4 กับ IPv6 แทน

ในส่วนของ Parental Controls ก็มีการอัพเกรดให้ควบคุมการใช้งานของบุตรหลานได้โหดกว่าเดิม แต่เป็นมิตรต่อพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น ด้วยการตั้งค่าที่ง่ายขึ้นอีก อย่างการแบ่งระดับการควบคุม 4 ระดับ อาทิ Child, Pre-Teen, Teen และ Adult มาให้เลือกพร้อมสรรพ

ส่วนที่เหลือ ก็มี Antivirus แบบ Built-In จาก Trend-Micro (ใช้งานได้ 3 ปี) หน้ารายงาน Reporting ที่ละเอียดกว่าเดิมมาก แต่ดูง่ายขึ้น โหมดทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต และหน้ากำหนดการเวลาการทำงานของ Automation สำหรับอุปกรณ์ Smart Home อื่น ๆ ซึ่งเราจะได้ดูกันในหัวข้อถัดไปนี้เลย

การใช้งาน (Deco M9 Plus + TP-Link HS100)

การติดตั้งตัว TP-Link HS100 ใครอยากดูวิธีใช้งานอย่างละเอียด ลองไปดูได้ใน รีวิว TP-Link Smart Wi-Fi Plug Mini ส่วนวิธีใช้ตัว HS100 ควบคู่กับ Deco M9 Plus ก็จะมีตามนี้

ในหน้าแรกของแอพฯ TP-Link Deco ตรงไอคอนรูป + เมื่อจิ้มเข้าไป มันจะมีตัวเครื่องเพิ่มอุปกรณ์ออกมา ให้เลือกที่ Smart Devices จากนั้นก็จะโผล่ไปในหน้า Add Device ซึ่งจะมีหน้าเพิ่มอุปกรณ์ Smart Device หรือ Smart Home จากแบรนด์อื่น ๆ ด้วย ในที่นี้เราก็เลือกไปยัง TP-Link และเลือก TP-Link Smart Plug  ตามชื่ออุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อ พอถึงหน้า Connect to Deco Network ก็พับแอพฯ นี้ไว้ชั่วคราว

ต่อไปก็เปิดแอพฯ Kasa พร้อมสลับการเชื่อมต่อจาก Deco M9 Plus มาเป็น TP-Link Smart Plug ชั่วคราว (ถ้ายังไม่ขึ้นชื่อเครือข่ายนี้ ให้ลองกดปุ่ม Reset ตัว Smart Plug ก่อน) ในที่นี้มันจะให้เรา Set-Up ตัว TP-Link HS100 เข้ากับแอพฯ Kasa ก่อน หลังเสร็จแล้ว ก็กลับไปที่แอพฯ TP-Link Deco กันต่อ (แอบยุ่งยากนิด ๆ นะ)

เมื่อเข้ามาที่แอพฯ TP-Link Deco แล้ว ตัว Deco M9 Plus ก็จะทำการค้นหาตัวอุปกรณ์ Smart Device ต่อเลย หลังเจอแล้ว ตั้งค่าอะไรเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีตัวเลือกใหม่อย่าง Switches/Plugs/Outlets (ตามที่เราตั้งค่า) ไปปรากฏในหน้าแรกของแอพฯ ทันที

จากนี้ก็เป็นความสนุกของเราแล้ว หนึ่งในการใช้งานอุปกรณ์ Smart Device ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ Deco M9 Plus ก็คือการสร้าง Shortcut หรือปุ่มลัด เราได้ตัว Smart Plug มาร่วมทดสอบ ซึ่งก็มีคุณสมบัติเด่นคือ สั่งเปิด/ปิด จากระยะไกลได้ ดังนั้นเราจะมาสร้างปุ่ม On/Off บนแอพฯ TP-Link Deco กัน ซึ่งการตั้งค่าก็ตามขึ้นตอนที่บอกในแอพฯ เลย ไม่ยาก

หลังได้ปุ่ม On/Off บนแอพฯ TP-Link Deco ก็สามารถเรียกใช้งานตัว TP-Link HS100 ผ่านแอพฯ นี้ได้แล้วครับ ไม่ต้องเปิดผ่านแอพฯ Kasa เมื่อก่อนหน้า เว้นถ้าอยากตั้งค่าอะไรแบบเฉพาะกิจจริง ๆ

ประสิทธิภาพ

สำหรับใครที่อยากรู้ว่าผมเอา Deco M9 Plus สองตัว กับ TP-Link HS100 ไปวางที่ไหนในบ้านบ้าง ก็ดูตามภาพนี้เลย ในส่วนทดสอบประสิทธิภาพ ก็ใช้แอพฯ Wi-Fi Analyzer มาช่วยวัดความแรงของสัญญาณเช่นเคยตามนี้

ลองวัดความเร็วและความแรงของสัญญาณ Wi-Fi จาก Deco M9 Plus ตัวแรก ที่ติดตั้งอยู่ใกล้กับโมเด็มเราเตอร์ สำหรับความเร็วก็เป็นไปตามโปร 100/30 ที่ใช้บริการอยู่ โดยมีเกินมานิด ๆ ส่วนความแรงของสัญญาณเมื่อเทียบกับโมเด็มเราเตอร์ (True_home2G_sBG) ก็สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

Deco M9 Plus + โมเด็มเราเตอร์ จุดที่ทดสอบในรอบแรก

ต่อไปก็ทดสอบกับตัว Deco M9 Plus ที่อยู่ในห้องนอน โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโมเด็มเราเตอร์ ความเร็วยังคงเดิมเหมือนตอนแรก แม้ไม่ได้อยู่ใกล้กับโมเด็มเราเตอร์ ส่วนความแรงของสัญญาณ Wi-Fi ลองดูจากคลื่น 5 Ghz ทั้ง 2 คลื่น จะเห็นความห่างแบบชัดเจนเมื่อเทียบกับตัวเราเตอร์ Wi-Fi ที่ปล่อยคลื่น 5 Ghz อีกตัว ซึ่งอยู่ใกล้กับโมเด็มเราเตอร์ (ในห้องน้ำ…)

Deco M9 Plus ที่อยู่อีกฝั่งของบ้าน มีเสียบแค่สายไฟอย่างเดียว

สุดท้ายลองวัดความสามารถในการกระจายสัญญาณ Wi-Fi ของ Deco M9 Plus ด้วยการออกห่างจากจุดที่ปล่อยโดยนับเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์อีก 2 หลังเลย (จากข้างหน้ารถในรูปภาพ) ผลคือสัญญาณ Wi-Fi ตกเหลือเพียง 2 ขีด ความเร็วลดจาก 100 Mbps เหลือ 68.5 Mbps ความแรงก็ลดตามภาพ แต่ยังใช้ได้ !!

สรุป

จุดเด่นจริง ๆ ของ TP-Link Deco M9 Plus ก็คือฟีเจอร์ ZigBee สามารถเพิ่มอุปกรณ์ IoT หรือ Smart Home อื่น ๆ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเครื่องได้เลย โดยสั่งงานผ่านแอพฯ TP-Link Deco ได้โดยตรง ซึ่งก็ช่วยให้ควบคุมอุปกรณ์ไร้สายเหล่านี้ได้สะดวกขึ้นมาก ไม่ต้องเปิดหลาย ๆ แอพฯ ให้งง จากรีวิวก็คงเห็นลูกเล่นการสร้างปุ่ม Shortcut ไปแล้ว จริง ๆ มันยังมีในส่วนของการตั้งเวลาทำงาน หรือการควบคุมแบบอื่น ๆ อีกเยอะมาก ขึ้นอยู่กับชนิดของอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อ (และตัว TP-Link Deco รองรับ) ส่วนประสิทธิภาพด้านเราเตอร์ Wi-Fi ของตัว TP-Link Deco M9 Plus เอง ก็ยังแจ่มสมกับเป็น Mesh Wi-Fi เทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบใหม่ ที่ช่วยลดปัญญาอับสัญญาณโดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นผลดีต่อฟีเจอร์ ZigBee รวมถึงการใช้งานร่วมกับ Amazon Alexa ที่รองรับด้วยเหมือนกัน

สุดท้ายราคา​ TP-Link Deco M9 Plus (x 2 Pack) ก็อยู่ที่​ 12,990 บาท พร้อมประกันศูนย์ Limited Lifetime ตลอดชีพ ทั้งนี้หากซื้อ Deco M9 Plus ก็มีโปรแถม TP-Link Smart Wi-Fi Plug HS100 ให้ไปลองใช้กันฟรี ๆ เลย พร้อมมีบริการติดตั้งให้ฟรีทั่วกรุงเทพและปริมณฑลด้วยครับ หากต้องการติดตั้ง หรือติดต่อสอบถามได้ที่ LINE Official : @tplinkdeco