ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รีวิว Powerline จากทาง TP-Link สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าว ก็เป็นตัวขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านทางสายไฟฟ้าที่วางภายในบ้าน หรือก็คือการกระจายสัญญาณ Wi-Fi ผ่านทางปลั๊กไฟนั้นเอง
ในครั้งนี้ก็มาพบกับ TP-Link AV1000 เป็น Powerline ที่มาพร้อมความเร็วสูงสุด 1000Mbps สามารถกระจายสัญญาณแบบ Dual band ได้ทั้ง 2.4GHz (300 Mbps) กับ 5GHz (433 Mbps) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขยายสัญญาณ Wi-Fi ที่เหมาะสำหรับอาคารหรือบ้านหลังที่มีกำแพงหนา จน Access Point หรือ Repeater ทะลวงไม่ได้ สุดท้ายต้องเจาะผนังให้วุ่นวาย แต่ตัว TP-Link AV1000 จะส่งสัญญาณ Wi-Fi ผ่านทางสายไฟโดยตรง ซึ่งทางสายไฟก็ถูกวางไว้ทั่วบ้านตั้งแต่ตอนก่อสร้างแล้ว ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องกำแพงหนา หรือความไม่ทั่วถึงเลย ทั้งนี้ตัว TP-Link AV1000 ยังรับรองมาตรฐาน HomePlug AV2 ด้วย ซึ่งจะทำได้ขนาดไหน ลองมาดูกันครับ
สเปก TP-Link AV1000 Powerline
- Wireless :IEEE 802.3, IEEE 802.3u, IEEE 802.3ab, IEEE 802.11b/g/n 2.4GHz, IEEE 802.11a/n/ac 5GHz
- ความเร็วสูงสุด : 1000 Mbps แบ่งเป็น 2.4 GHz + 300 Mbps กับ 5 GHz + 433 Mbps
- พอร์ต : Gigabit Ethernet x 1
- ระบบความปลอดภัย : 128-bit AES Encryption
- ชนิดปลั๊กไฟ : EU, UK, US
- ใช้พลังงานไฟ : สูงสุด 8 W (230V/50Hz) และ Standby 2.2 W (230V/50Hz)
- ขนาด : TL-WPA7510 135.6×70.8×49 mm กับ TL-PA7010 98×60×36 mm
- Range : รอบรับพื้นที่สูงสุด 300 เมตร ภายในบ้าน
แกะกล่อง
อุปกรณ์ภายในกล่อง ก็มีตัว TP-Link AV1000 แบ่งเป็น ตัวส่งสัญญาณ TL-PA7010 x 1 และตัวรับสัญญาณ TL-WPA7510 x 1, สาย LAN x 2 และชุดคู่มือพร้อมรหัส Wi-Fi card
วัสดุและดีไซน์
หน้าตาตัว TP-Link AV1000 ตัวส่งหรือ TL-PA7010 จะมีขนาดเล็กเป็นทรงสี่เหลี่ยมใช้พลาสติกผิวมันสีขาวล้วน ส่วนตัวรับหรือ TL-WPA7510 จะมีขนาดใหญ่กว่าหน่อย แต่มีหน้าตาคล้ายกัน วัสดุก็เหมือนกัน
ทั้งสองตัว จะมีช่อง Gigabit Ethernet ให้หนึ่งตัวต่อหนึ่งช่อง ซึ่งตัวส่งอย่าง TL-PA7010 ก็เอาไว้ใช้สำหรับรับสัญญาณอินเทอรเน็ตจากทาง Modem Router หรือ Router Wi-Fi ตัวอื่น ส่วนตัวรับอย่าง TL-WPA751 ก็เอาไว้สำหรับต่อสาย LAN กับคอมฯ หรือโน๊ตบุ๊ค เพื่อความเสถียรของสัญญาณอินเทอรเน็ตแทน Wi-Fi ทั้ง 1 ตัวจะใช้ปลั๊กไฟแบบ Type-A หรือปลั๊กหัวแบนสองขา เสียบกับปลั๊กไฟตรงไหนก็ได้
ส่วนช่องระบายความร้อน ก็อยู่ตรงปลายของอุปกรณ์ โดยทั้งนี้ตัวส่งตัวเล็กอย่าง TL-PA7010 จะมีแค่ปุ่ม Pair ปุ่มเดียวเท่านั้น ส่วนตัวรับตัวใหญ่อย่าง TL-WPA751 จะมีทั้งปุ่ม Pair, LED และ Wi-Fi เป็นสามปุ่มเลย ซึ่งจะใช้ทำอะไรนั้น เดี๋ยวมาดูกัน
การใช้งาน
ในการใช้งานครั้งแรก อันดับแรกให้นำตัวส่ง TL-PA7010 ไปต่อปลั๊กไฟ ที่อยู่ใกล้กับ Modem Router จากนั้นก็นำสาย LAN ไปต่อเข้ากับตัว Modem Router หรือ Router Wi-Fi ในบริเวณนั้นเพื่อรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ส่วนตัวรับ TL-WPA751 ก็นำไปต่อกับจุดที่คิดว่าอับสัญญาณ Wi-Fi หลังติดตั้งเสร็จแล้ว ให้กดปุ่ม Pair ที่ตัวส่งค้างไว้จนกว่าไฟจะกระพริบ จากนั้นก็มุ่งไปที่ตัวรับ ให้กดปุ่ม Pair ค้างไว้ด้วยอีกเช่นกัน จนกว่าจะมีไฟ LED ตรงไอคอนสี่เหลี่ยม 3 รูปเล็ก ๆ ติดไฟขึ้นมา เท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้ว
สำหรับแอพฯ ที่ใช้ในครั้งนี้ก็คือ tpPLC ให้ไปดาว์นโหลดและติดตั้งให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นก็ต่อ Wi-Fi จากตัว TP-Link AV1000 (ผ่านตัวรับ TL-WPA751) โดยรหัสก็ใช้จาก Wi-Fi card ที่มันแถมมาในกล่องเลย
หลังต่อ Wi-Fi เสร็จแล้ว ให้เปิดตัวแอพฯ ขึ้นมา ก็จะมีชื่อตัวอุปกรณ์ขึ้นมา 2 ตัว ให้จิ้มที่ตัวแรกจากนั้นมันจะให้ใส่ชื่อกับรหัส ให้เรากรอกคำว่า “admin” ลงไปทั้งช่อง Username และ Password เลย แล้วค่อยไปเปลี่ยนภายหลัง จากนั้นก็จะเข้าสู่หน้าหลักของตัว TP-Link AV1000 แล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวแอพฯ ยังตั้งค่าอะไรได้ไม่มากนัก นอกจากฟีเจอร์พื้นฐานจริง ๆ หากอยากตั้งค่าละเอียดกว่านี้ ให้จิ้มไปที่ปุ่ม “Web Configuration”
ตามชื่อเลย หลังกดเราจะเข้าสู่หน้า Config อุปกรณ์ผ่านเว็บ ในหน้านี้ก็จะแสดงหน้า Dashboard ชัดเจน โดยมันจะบอกเลยว่า เรามีการต่อตัว TP-Link AV1000 ที่ไหนบ้าง และสถานะเป็นไง ณ ตอนนั้น
ในส่วนตั้งค่า ก็จะมีตั้งแต่ตั้งค่า Wi-Fi และ LAN อย่างละเอียด โดยใน Wi-Fi เราสามารถตั้งค่าการทำ Wi-Fi Schedules กับ Wi-Fi Clone (หรือ Wireless Roaming) ได้
หน้าตั้งค่าต่าง ๆ ของตัว TP-Link AV1000
ประสิทธิภาพ
ก่อนทดสอบประสิทธิภาพ ต้องบอกก่อนว่าตัวส่งอย่าง TL-PA7010 จะไม่กระจายสัญญาณ Wi-Fi ออกมา จะมีเฉพาะตัวรับ TL-WPA751 ที่เป็นตัวใหญ่เท่านั้น ดังนั้นการทดสอบครั้งนี้ จะเป็นการวัดความสามารถของ TP-Link AV1000 ในฐานะ Powerline ล้วน ๆ เลย ซึ่งผมได้จัดวางอุปกรณ์ทั้ง 2 ตัวดังนี้
ตัวส่งอย่าง TL-PA7010 ก็อยู่ในห้องทำงาน ส่วนตัวรับ TL-WPA751 มาอยู่ที่ห้องนอน เริ่มแรก ผมจะไปเทสคุณภาพ Wi-Fi ที่ห้องนอนก่อน
ผลการเทส ก็ออกมาน่าประทับใจไม่น้อย โดยปกติห้องนอนจะมีสัญญาณ Wi-Fi มาไม่ถึง แต่หลังต่อตัวรับ TL-WPA751 ก็มีสัญญาณออกมาทั้งคลื่น 2.4 GHz ซึ่งวัดความเร็วได้ที่ 72 Mbps จากเน็ต 100/30 ส่วนคลื่น 5 GHz ได้ไป 90 Mbps ส่วนความแรงของสัญญาณก็ตามภาพเลย (TP-link 8110) พุ่งแซงทั้ง Modem Wi-Fi และ Router Wi-Fi ที่ใช้อยู่
คราวนี้ผมลองมาเทสสัญญาณที่ห้องน้ำตรงฝั่งห้องทำงาน อย่างที่กล่าวไปตัวส่งอย่าง TL-PA7010 จะไม่กระจายสัญญาณ Wi-Fi ออกมา จึงถือเป็นการวัดความแรงของตัวรับ TL-WPA751 ที่ทำหน้าที่กระจายสัญญาณ Wi-Fi อยู่ จากจุดนั้นมาจุดนี้ มีระยะห่างพอควร และเต็มไปด้วยกำแพงห้อง ผลที่ได้คือ สัญญาณยังมีครับ แต่ก็ตามสภาพ อย่างไรก็ตาม การที่มันสามารถกระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้ดีในห้องนอน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว อันนี้คือประสิทธิภาพการกระจายสัญญาณจากตัวรับ TL-WPA751 ล้วน ๆ แสดงให้เห็นเลยว่า แต่ตัวเดียวก็กระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้ขนาดนี้เลย
สรุป
เกือบลืมบอกไป ที่บ้านผมมีเบรคเกอร์ตัดวงจรไฟฟ้าถึง 2 ตัว (เป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 หลังติดกัน) ซึ่งปกติมันจะทำให้ประสิทธิภาพของ Powerline ลดลงไม่น้อย แต่ผลเทสก็ได้เห็นไปแล้ว ตัว TP-Link AV1000 ยังคงส่งสัญญาณ Wi-Fi ผ่านทางสายไฟ ทะลุมาฝั่งตรงข้ามได้ และยังมีสัญญาณที่แรงกับเสถียรอีกด้วย ส่วนการเทสรอบสุดท้าย ก็คงได้เห็นประสิทธิภาพการกระจายสัญญาณ Wi-Fi แบบชัด ๆ ไปแล้ว เรียกได้ว่าหากนำตัว Extender หรือมีตัวรับอีกชุด ความเร็วเน็ตคงพุ่งเกือบถึง 100 Mbps ตามที่สมัคร 100/30 แน่นอน ทั้งนี้ตัว TP-Link AV1000 สามารถขยายเพิ่มได้สูงสุด 16 ตัว เหมาะสำหรับใครที่อยู่ในอาคารหลายชั้นหรือบ้านที่มีกำแพงหนา ท้ายนี้หากพูดถึงข้อสังเกต ก็คงเป็นการติดตั้งใช้งานครั้งแรก ที่อาจจะยุ่งยากนิด ๆ แต่หลังติดตั้งเสร็จ ชีวีตสบายขึ้นเยอะ สำหรับตัว TP-Link AV1000 ก็สนนอยู่ที่ 2,990 บาท เท่านั้น