ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ 802.11ax สักเล็กน้อยก่อน 802.11ax คือมาตรฐานการเชื่อมต่อ Wi-Fi ใหม่ล่าสุดจากทาง IEEE ที่ต่อยอดจาก 802.11ac เดิม โดยมีความสามารถในการรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น มีช่องสัญญาณที่กว้างขึ้น และส่งผลให้ MU-MIMO สามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันได้หลายอุปกรณ์ดีกว่าเดิม ท้ายนี้ 802.11ax จะมีชื่อเรียกอย่างง่าย ๆ ที่ทาง Wi-Fi Alliance กำหนดไว้คือ Wi-Fi 6 หรือจะเรียกแบบเท่ ๆ ว่า Wireless AX ก็ได้
กลับมาที่รีวิว สำหรับครั้งนี้ผมได้เจ้า TP-Link Archer AX6000 มาลองใช้งาน ตามชื่อเลยครับ มันคือเราเตอร์ Wi-Fi ที่มาพร้อม 802.11ax (Wi-Fi 6) มาตรฐานการเชื่อมต่อใหม่ล่าสุด ชูโรงด้วยความเร็วระดับ 5952Mbps โดยรวมจากคลื่น 5G ที่ 4804Mbps และคลื่น 2.4GHz ที่ 1148Mbps มาพร้อมช่อง WAN Port ระดับ 2.5Gbps กันเลย อัดการรองรับความเร็ว (จาก ISP หรือผู้ให้บริการเน็ต) ให้พร้อม และสเปกเครื่องระดับ Hi-End เพื่อรองรับการใช้งานอย่างหนักหน่วง
สเปก TP-Link Archer AX6000
- Archer AX6000 ความเร็วรวม 5952Mbps : 4804Mbps (5GHz) และ 1148Mbps (2.4GHz)
- เชื่อมต่อรวดเร็วด้วย WAN Port 2.5Gbps จำนวน 1 ช่อง , ช่อง LAN Gigabit จำนวน 8 ช่อง , 1 USB Type A 3.0 Port , 1 USB Type C 3.0 Port
- แรม 1GB RAM and 128MB Flash
- ระบบประมวลผลทรงพลัง 1.8GHz Quad-Core CPU และ 2 Coprocessors ช่วยให้ส่งสัญญาณได้อย่างเสถียรและมีประสิทธิภาพ
- ระบบเชื่อมต่อที่ชาญฉลาด ด้วย Band Steering และ Airtime Fairness
- มาพร้อมระบบช่วยรักษาความปลอดภัย ด้วย TP-Link HomeCare ป้องกันการโจมตีจากไวรัสและมัลแวร์ โดย Trend Micro
- ตั้งค่าง่ายผ่านโดยการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth และดำเนินการต่อโดยแอพฯ TP-Link Tether
แกะกล่อง
รอบนี้ขอส่องตัวกล่องแบบชัด ๆ กันหน่อย อย่างตัว TP-Link Archer AX6000 ที่รีวิวนี้ หน้ากล่องมีการเขียนตัวโต ๆ เลยว่า 802.11ax หรือ Wi-Fi 6 พร้อมอักษร X แบบเน้น ๆ ด้านหลังก็มีการอธิบายข้อดีของ Wi-Fi 6 อย่างละเอียด ชูความเป็น Wi-Fi 6 เต็มสูบ
สำหรับอุปกรณ์ภายในกล่องก็ประกอบไปด้วย ตัว TP-Link Archer AX6000, สาย LAN, ชุดไฟเลี้ยง, ชุดคู่มือ และ Wi-Fi Card (บอกชื่อรหัสสำหรับการเชื่อมต่อใช้งานครั้งแรก)
วัสดุและดีไซน์
ดีไซน์ตัว TP-Link Archer AX6000 มาเป็นทรงหกเหลี่ยมพร้อมวัสดุเป็นพลาสติกผิวสีดำล้วน แต่โดดเด่นด้วย ดีไซน์ “กากบาท” กับโลโก้ TP-Link สีทองเด่นสะดุดตายิ่งนัก ตัวเครื่องมีช่องระบายความร้อนเยอะพอควร จะเรียกว่ามีรอบตัวเครื่องเลยก็ยังได้
เสาสัญญาณคุณภาพสูง 8 ต้น หรือเรียกเท่ ๆ ว่า 8 High-Performance External Antennas สามารถหมุนขึ้นเพื่อกางใช้งานได้ง่าย ๆ ทั้งนี้ตัวเสายังได้อานิสงส์จาก Wi-Fi 6 ด้วย ทำให้กระจายสัญญาณได้แรง ไม่ต้องกลัวสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์อื่น ๆ อีกต่อไป
เป็นครั้งแรกที่ได้เห็น WAN Port ที่รองรับความเร็วในการเชื่อมต่อระดับ 2.5G จากปกติเห็นเฉพาะ 1G (1000 Mbps) หรือ 100M มานาน จุดนี้ใครสมัครเน็ตเร็วระดับ 1G ขึ้นไป อาจได้ร้องว้าวแน่ ๆ เพราะตัวเครื่องรองรับความเร็วได้สูงมาก ๆ นอกจาก WAN Port แล้ว ที่เหลือก็มี LAN Ports ระดับ 1G อีก 8 ช่อง ทั้งนี้ยังมีพอร์ต USB 3.0 และ USB Type-C ให้ด้วย ใครมี ExSSD ที่ใช้พอร์ต Type-C มาต่อทำเป็น Cloud Storage ได้ฟิน ๆ เลยครับ
…………….
การใช้งาน
การติดตั้งใช้งานครั้งแรก หลังต่อกับ Modem เราเตอร์ประจำบ้านแล้ว เมื่อเปิดเครื่องใช้งานก็จะเห็นไฟ LED สีฟ้าสวยงามตามภาพ (หากเครื่องยังใช้เน็ตไม่ได้จะเป็นสีแดง)
และเช่นเคย หากใช้เราเตอร์จาก TP-Link อันดับแรกให้โหลดและติดตั้งแอพฯ TP-Link Tether ก่อน จากนั้นก็ทำการเชื่อมต่อ Wi-Fi โดยให้ใช้รหัสที่ได้จาก Wi-Fi Card ที่แถมมาไปก่อน จากนั้นก็เปิดแอพฯ TP-Link Tether แล้วตั้งรหัสใหม่ให้เรียบร้อย
หน้าตั้งค่าในแอพฯ TP-Link Tether ผ่านตัว TP-Link Archer AX6000 ก็มีฟีเจอร์ที่คุ้นตาตามสไตล์ TP-Link อาทิ Parental Control, QoS, ตั้งค่าป้องกันไวรัส (Power By TrendMicro), ทำ Virtual Server, PPTP, OpenVPN ได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tp-link.com/th/home-networking/wifi-router/archer-ax6000/#specifications)
ประสิทธิภาพ
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพครั้งนี้ ก็จะขอเน้นที่คลื่น 5 GHz เป็นหลัก และทดสอบแบบ Animal เอ้ย Minimal ทดสอบไม่มาก แต่เข้าใจง่ายไว้ก่อน เชื่อว่าใครที่บ้านมีสมาชิกครอบครัวหลายคน และแต่ละคนก็ใช้เน็ตอย่างหนักหน่วง จนเราเตอร์ที่ใช้อยู่แทบจะร้องขอชีวิต หากเป็นตัว TP-Link Archer AX6000 จะทนการใช้งานแบบนี้ได้ไหม
การทดสอบครั้งนี้จึงได้นำอุปกรณ์มาเชื่อมต่อทั้งหมด 4 เครื่อง แบ่งเป็น PC x 1, โน้ตบุ๊ค x 1 และสมาร์ทโฟน x 2 (รวมเครื่องที่ใช้วัดความเร็วด้วย) พร้อมเปิด Youtube ที่ระดับ 4K ทั้งหมด ได้ข้อมูลมาว่า การเปิด 4K ผ่าน Youtube ต้องใช้ความเร็วเน็ตสูงถึง 20 Mbps เป็นอย่างต่ำ ที่บ้านผมใช้เน็ตความเร็ว 100/30 หรือมีความเร็วเพียง 100Mbps เท่านั้น มาดูกันว่า หากเปิดผ่านตัว TP-Link Archer AX6000 นี้จะเป็นยังไง แต่ก่อนอื่นมาดูคุณภาพของสัญญาณ Wi-Fi กันก่อนครับ
เริ่มแรก วัดความเร็วของสัญญาณ Wi-Fi ขณะอยู่ใกล้กับตัวเราเตอร์ผ่านแอพฯ Wifi Analyzer เจ้าเก่า
ความเร็วเน็ตก็ได้ตาม 100/30 ไม่น่าแปลกใจ แต่ลองดูค่า dBm ที่ได้ไป -20 dBm แซง Modem ประจำบ้านที่วางอยู่ใกล้กันไปแล้ว รวมถึงแซงคลื่น 5GB จากเราเตอร์อีกตัว (KBenZ69) ที่วางอยู่อีกห้องที่อยู่ใกล้กัน แต่ค่า dBm แซงหน้าไปไกลเลย
ต่อไปลองย้ายมายืนอยู่ในห้องนอนที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม ลองวัดความเร็ว Wi-Fi ผ่านคลื่น 5 GHz ผลคือได้ความเร็วทะลุ 100/30 เหมือนตอนที่ยืนอยู่ใกล้กับ Modem ประจำบ้าน ทั้งเส้นกราฟหรือความเสถียรยังออกมาตรงสวยงามเหมือนกันอีกด้วย ถือว่าคลื่น 5 GHz จากตัว TP-Link Archer AX6000 มีประสิทธิภาพเอาเรื่องทีเดียว ส่วนค่า dBm ก็ลงมาที่ -42 dBm ตามสภาพ
สุดท้ายนี้ผลการเทส 4K จาก 4 อุปกรณ์ตามที่เกริ่นไป หากเชื่อมต่อ Wi-Fi อยู่ใกล้ ๆ กับตัว TP-Link Archer AX6000 ก็เหลือความเร็วที่ 70 Mbps จาก 100 Mbps สามารถใช้งานเน็ตได้เร็วและเสถียรอยู่ แต่หากอยู่ไกลจากตัวเครื่องออกมาหน่อย (หรือตำแหน่งห้องนอน) ความเร็วตกมาเหลือ 61.5 Mbps พร้อมเส้นกราฟหรือความเสถียรที่แกว่งอย่างสวยงาม…
สรุป
เชื่อว่าปัจจุบัน อุปกรณ์พกพาหลายรุ่นน่าจะรองรับการเชื่อมต่อ 5Ghz กันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นหากต้องการเล่นเกมออนไลน์หรือโหลดไฟล์ ควรใช้ Wi-Fi ผ่านคลื่น 5Ghz ไปเลย และตัว TP-Link Archer AX6000 ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แม้ตอนเทสผมใช้อุปกรณ์ 802.11ac ไม่ได้เป็น 802.11ax ก็ตาม แต่ก็สามารถใช้ TP-Link Archer AX6000 ได้ดีอยู่ (หากเป็น 802.11ax คงได้ผลการเทสโหดกว่านี้แน่) บอกตามตรงว่าตัวผมยังดึงประสิทธิภาพของ TP-Link Archer AX6000 ได้ไม่หมด เนื่องจากข้อจำกัดที่เน็ตบ้านความเร็ว 100Mbps เท่านั้น
แต่แค่นี้ก็พอเห็นประสิทธิภาพทั้งด้านความแรงของสัญญาณ Wi-Fi และการใช้งานหลายอุปกรณ์พร้อมกันแล้ว อย่างการเชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่านคลื่น 5 GHz ผลออกมาคือ มีความทะลุทะลวงกว่าที่คิด ให้ความเร็วแรงและความเสถียรได้รอบบ้าน ส่วนการใช้งานหลายอุปกรณ์พร้อมกัน ก็ให้ผลการเทสได้ดีพอควร แม้จะมีการใช้งานเน็ตอย่างหนักหน่วงพร้อมกัน แต่ก็ยังเหลือความเร็วให้ใช้อีกเยอะ เหมาะสำหรับใครที่บ้านมีผู้ใช้เน็ตหลายคน ไม่ต้องกลัวเรื่องการแย่งเน็ตใช้ของคนในบ้านอีกต่อไป
สุดท้ายนี้ราคาของ TP-Link Archer AX6000 ก็อยู่ที่ 9,990 บาท มาพร้อม Limited Lifetime Warranty โดย TP-Link ประเทศไทย ล่าสุดมีโปรโมชั่นผ่าน Shopee แถมฟรี Pocket Wi-Fi M7200 (มูลค่า 2,490 บาท) ถึงวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่