ยังคงวนอยู่กับเราเตอร์ประเภท Mesh Technology หรือ Mesh Wi-Fi ที่รู้สึกจะได้เขียนรีวิวบ่อยเหลือเกิน และตัวที่ได้รีวิวในครั้งนี้ก็คือ Tenda Nova MW6 นี้ เป็น Mesh Wi-Fi รุ่นท็อป สำหรับรุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นเดิมด้วยดีไซน์ที่ดูสวยทันสมัย คล้ายลูกเต๋าหรือลูกบาศก์ ส่วนความเร็วสูงสุดแม้จะเป็น AC1200 รองรับ Dual Band เหมือนรุ่น Nova MW3 แต่ความสามารถในการกระจายสัญญาณ Wi-Fi ของ Nova MW3 กระจายได้ไกล 3,500 ตารางฟุต ส่วน Nova MW6 สามารถกระจายสัญญาณได้ไกลมากถึง 6,000 ตารางฟุตกันเลย ทั้งยังมี MU-MIMO กับ Beamforming Technology ที่เป็นเทคโนโลยีในเราเตอร์ Wi-Fi ระดับ Hi-End ทั้งหลายด้วย อย่างไรก็ตาม Nova MW6 ยังคงมีราคาเป็นมิตรเช่นเคยครับ
สเปก Tenda NOVA MW6
- ใน 1 กล่อง มีอยู่ 3 ตัว แต่ละตัวก็มาพร้อมเสาสัญญาณแบบ 3dBi จำนวน 2 เสาในตัว
- เป็น Dual Band รองรับการปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ทั้ง 2.4GHz IEEE 11b/g/n (300Mbps) และ 5 GHz IEEE 802.11ac/a/n (867Mbps) ความเร็วรวมเป็น AC1200
- การเชื่อมต่อแบบ PPPoE, Dynamic IP, Static IP, Bridge Mode
- มีMU-MIMO, Beamforming และ Seamless Roaming
- ระบบความปลอดภัย WPA2-PSK
- ผ่านการรับรองFCC, CE, RoHS, EAC, IC
- พอร์ตเชื่อมต่อ Gigabit Ethernet ตัวละ 2 ช่อง (มี WAN กับ LAN x 1 และ LAN x 1)
- ควบคุมการทำงานผ่านแอพฯ Tenda WiFi ใช้งานได้ทั้ง Android กับ iOS (Android 0 กับ iOS 8 ขึ้นไป)
- ขนาด : 100 x 100 x 100 มิลลิเมตร
แกะกล่อง
ในรุ่น MW3 ผมแอบติเรื่องกล่องเล็กน้อย แต่พอมาในรุ่น MW6 นี้ ดูหรูหราขึ้น ภายในเป็นโฟมกันกระแทกสีดำอย่างดี ไม่ดูเป็นกล่องลังเหมือน Nova MW3
ส่วนอุปกรณ์ภายใน ก็ยังประกอบไปด้วยตัวเครื่อง Nova MW6 จำนวน 3 เครื่อง, ชุดไฟเลี้ยง 3 ชุด, สาย Gigabit Ethernet 1 เส้น และชุดคู่มือ
วัสดุและดีไซน์
ตัว Nova MW6 ก็มาเป็นกล่องสี่เหลี่ยมจตุรัส ดูคล้ายลูกเต๋าหรือลูกบากศ์ ดูสวยทันสมัย ถ้าเรียกแบบ Inter หน่อย ก็คือ “มันดู Modern มาก” จากใจเลย
คำว่า “nova” ก็ย้ายมาอยู่ใกล้ ๆ กับไฟ LED บอกสถานะตรงหัวมุมบนซ้าย ไม่เป็นจุดสะดุดตา (ส่วนตัวคิดว่าดีนะ สำหรับดีไซน์เป็นกล่องสีเหลี่ยมนี้)
กระทั่งไฟ LED ก็เป็นสีเหลี่ยมเหมือนตัวเครื่อง
ส่วนใต้เครื่องก็มี Gigabit Ethernet ทั้ง 2 ช่องเอาไว่ โดยฝั่งหนึ่งจะเป็น WAN กับ LAN อีกฝั่งก็เป็น LAN อย่างเดียว ข้าง ๆ ก็เป็นช่องเสียบไฟเลี้ยง นอกจากช่องเสียบสายแล้ว รอบ ๆ ก็เป็นช่องระบายความร้อนด้วย เรียกได้ว่าเอาทุกอย่างที่ดูเกะกะตา มาซ่อนอยู่ใต้เครื่องหมดเลย ทำให้ตัว MW6 ดูไม่ใช่เราเตอร์ Wi-Fi แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านตัวหนึ่งเลยครับ
ขนาดตัวเครื่อง 100 x 100 x 100 มิลลิเมตร ที่เท่ากันทั้ง 3 ด้านนี้ ก็ดูสมมาตรได้ใจสุด ๆ
การใช้งาน
ในรุ่น MW3 เคยสร้างความประทับด้วยการ “แค่เสียบปลั๊กก็พร้อมใช้แล้ว” ตัว Nova MW6 ก็เป็นเช่นเคยครับ เอาตัวเครื่องไปตั้งที่จุดอับสัญญาณภายในบ้าน และอีกตัวมาต่อกับ Modem ประจำบ้าน เสียบสายไฟกับสาย LAN/WAN ให้เรียบร้อย รอจนไฟ LED ขึ้นเป็นสีฟ้า ก็พร้อมใช้งานทันที
เกือบลืมบอก ใต้เครื่องจะมีช่องว่างเว้นไว้สำหรับสายต่อต่าง ๆ ด้วยนะ
ลักษณะการเชื่อมต่อของ Nova MW6 ทั้ง 3 ตัว ก็กระจายตามนี้เลย (หลายคนน่าจะคุ้น ๆ กับภาพกราฟฟิกนี้แล้วแน่ ๆ ใช้หากินได้ตลอด ฮ่า ฮ่า)
การเชื่อมต่อครั้งแรก ก็เป็นไปอย่างง่ายดาย ต่อเครื่องเสร็จ รอขึ้นไฟ LED สีฟ้า และทำการเชื่อมต่อ Wi-Fi ชื่อ “NOVA_BCB8” เท่านี้ก็ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านตัว Nova MW6 แล้ว แต่ยังไงเราก็ควรตั้งค่าให้เสร็จสมบูรณ์ ก็ไปติดตั้งแอพฯ “Tenda WiFi” เปิดขึ้นมา และทำการตั้งค่ารหัส Wi-Fi สำหรับตัว MW6 ให้เรียบร้อย Finished !!
ส่วนฟีเจอร์ภายใน ก็ไม่ต่างจากตัว Nova MW3 เลยครับ โดยยังมีหน้าตา UI สีขาวล้วนเหมือนกัน กับส่วนตั้งค่า Guest Network , Parental Control และ QoS กับ Fast Roaming, Smart Assistant (ที่เอาไว้ใช้งานร่วมกับ Amazon Alexa หรือ Google Assistant) Port Forwarding และ UPnP เช่นกัน
ประสิทธิภาพ
อธิบายประโยชน์ของ Mesh Wi-Fi อีกซักนิด ตัวเราเตอร์ Wi-Fi ประเภทนี้ มักจะมี 2 – 3 ตัวในกล่องเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อเอาแต่ละตัวไปทำเป็น Range Extender ช่วยกระจายสัยญาณให้ทั่วบ้านนี้เอง คือไม่ต้องซื้อใหม่ ทุกอย่างมีให้แล้วในกล่องเดียว หรือหากจะต่อเพิ่มมากกว่า 3 ตัวขึ้นไปก็ทำได้ อย่างไรก็ตามตัว MW6 นี้ มาพร้อมความสามารถในการกระจาย Wi-Fi ได้ไกลถึง 6000 ตารางฟุต (ราว ๆ 550 ตารางเมตร) ซึ่งพอลองทดสอบด้วยแอพฯ Wifi Analyzer แล้ว ก็ได้ผลตามนี้
เทสสัญญาณขณะอยู่ใกล้กับตัวเครื่อง MW6 และ Modem ประจำบ้าน ส่วนความเร็วก็ได้ตามโปรที่สมัคร (100/30) โดยมีเกินมานิด ๆ เลยครับ
จากนั้นก็ลองย้ายไปเทสตัว MW6 ที่ตั้งอยู่ในห้องนอน (เลื่อนไปดูผังติดตั้งด้านบน) ก็จะเห็นความแรงแบบทะลุทะลวงสุด ๆ ของ MW6 ที่แม้จะอยู่ห่างจาก Modem มาก แต่สัญญาณ Wi-Fi ก็ยังเข้มข้น รวมถึงความเร็วยังทะลุ 100/30 เช่นเคย
ในรุ่น MW3 ยังไม่ได้ลองเทสความสามารถในการกระจายสัญญาณไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อม ๆ กัน รอบนี้ได้มีโอกาสเทสแล้ว ก็จัดแจ้งเอาสมาร์ทโฟน 4 เครื่อง (รวมตัวที่ยกขึ้นถ่ายภาพนี้) และ PC ต่อสัญญาณ 2.4 GHz ด้วย รวมเป็น 5 เครื่อง จากนั้นก็เปิด Youtube ที่ความละเอียดสูงสุดเท่าที่อุปกรณ์นั้นรองรับ (มีเปิด 4K หนึ่งรุ่น) พร้อมลองวัดความเร็วอินเทอร์เน็ตดูอีกครั้ง
ผลคือ ความเร็วมีตกไปบ้างแต่ไม่เยอะเลย เรียกได้ว่า MU-MIMO กับ Beamforming ของตัว Nova MW6 ทำหน้าที่ได้ดีจริง ๆ
สรุป
พอลองไปเทียบกับตัว Nova MW3 กับ Nova MW6 ที่รีวิวนี้แล้ว ก็เรียกได้ว่า “สมกับที่มีราคามากกว่ากันเท่าตัว” คือตัว MW3 อยู่ประมาณ 3,xxx บาท ส่วนตัว Tenda Nova MW6 นี้ ก็อยู่ที่ประมาณ 9,xxx บาท ดีไซน์และประสิทธิภาพ มันแจ่มกว่าเท่าตัวตามราคาจริง ๆ ทั้งการกระจายสัญญาณ Wi-Fi แบบ Mesh Wi-Fi ที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด แม้จะมีความเร็ว AC1200 เหมือนกันก็ตาม ยังมีเทคโนโลยีระดับ Hi-End อย่าง MU-MIMO + Beamforming Technology ทั้งยังมี Seamless Roaming ที่ช่วยให้สลับการเชื่อมต่อขณะย้ายไปยัง MW6 ที่ตั้งอยู่จุดอื่น ๆ ได้อย่างแนบเนียน ไม่รู้สึกถึงการหลุดและเชื่อมต่อใหม่เลยด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวแอพฯ หรือหน้าตั้งค่าของ Nova MW6 ก็ยังดูธรรมดาไปบ้าง เมื่อเทียบกับ Mesh Wi-Fi ของแบรนด์อื่น ๆ โดยเฉพาะตัวที่มีราคาระดับเกินหมื่นบาทขึ้นไป แต่ด้าน Hardware หรือตัวอุปกรณ์สามารถสู้ได้สบาย ๆ ยิ่งเปิดราคาที่เป็นมิตรกว่าด้วยแล้ว Tenda Nova MW6 จัดเป็นตัวเลือกที่น่ามองไม่น้อยเลยครับ