ปัจจุบัน เราได้เห็นเราเตอร์ Wi-Fi รูปแบบแปลกใหม่มากมาย อย่าง Mesh technology พวก 3-in-1 เอย มี AI ในตัวเอย รองรับการสั่งงานด้วยเสียงเอย (ถ้ามีลำโพง Google Assistant หรือ Amazon Alexa ด้วยนะ) และอื่น ๆ แต่เชื่อว่าหลายคน น่าจะอยากได้เราเตอร์ที่ กระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้แรง ๆ มากกว่า และขอมีราคาไม่แรงด้วย ไม่ต้องมีฟีเจอร์แปลกพิสดารอะไรมากนัก ในที่นี้ก็ขอเชิญทุกท่านมาพบกับ Tenda AC10U AC1200 เราเตอร์ Wi-Fi ทรงเกมมิ่ง ตอบโจทย์เรื่องสัญญาณ Wi-Fi โดยเฉพาะ แต่ยังมากความสามารถ ซึ่งพัฒนาต่อจากรุ่น AC6 ที่เคยเป็นเราเตอร์รุ่นคุ้มค่าตัวหนึ่งของ Tenda พอมาเป็นรุ่น AC10U ก็เพิ่มฟีเจอร์ MU-MIMO ช่องเสียบ USB 2.0 และอัพเกรดประสิทธิภาพซีพียูเป็น 1 GHz พร้อมแรม 128MB ด้วย แต่ยังมีราคาย่อมเยาเหมือนเคย
สเปก Tenda AC10U AC1200 (รายละเอียด)
- ความเร็วสูงสุด 1200 Mbps (AC1200) แบ่งเป็น 2.4 GHz (300Mbps) กับ 5 GHz (867Mbps)
- 10/100Mbps WAN x 1 กับ 10/100Mbps LAN x 3 และ USB 2.0 x 1
- เสาสัญญาณ 5dBi HG x 4
- CPU ความเร็ว 1GHz กับแรม 128MB
- รองรับการทำงานผ่านแอพฯ ทั้ง Android และ iOS
- SSID Broadcast, MU-MIMO, Beamforming และ Signal Power Adjustment
- Smart WiFi Schedule, Smart Power Saving และ Smart LED on/off
- Router, AP, Universal Repeater และ WISP
แกะกล่อง
กล่องมาในธีมสีดำ ให้อารมณ์เหมือนเป็นอุปกรณ์เกมมิ่ง ส่วนภายในกล่องก็มีอุปกรณ์แถมให้แบบพอดีอย่าง ตัวเครื่อง Tenda AC10U x 1, สาย LAN x 1, ชุดไฟเลี้ยง x 1 และชุดคู่มือ
วัสดุและดีไซน์
อย่างแรกต้องขอชมเรื่องดีไซน์ตัว Tenda AC10U ก่อนเลย คือเท่มากกกกกก ตัวเครื่องออกแบบคล้ายกับ ‘Nighthawk’ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดชื่อดังของสหรัฐ บางคนคงบอกคล้ายยานอวกาศ (แต่ผมว่ามีเราเตอร์หลายตัวที่คล้ายยานอวกาศเยอะแล้ว แต่รุ่นนี้เห็นครั้งแรกก็ชวนนึกถีงเจ้า F-117A Nighthawk ทันที หรือเฉพาะผมหว่า….) จริง ๆ หน้าตาก็คล้ายกับตัว AC6 และ AC18 ที่เคยเปิดตัวก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเราเตอร์เกมมิ่งของทาง Tenda เองก็ว่าได้
วัสดุที่ใช้หลัก ๆ ก็เป็นพลาสติกผิวด้านสีดำ มีการสะท้อนแสงเล็กน้อย ตรงด้านข้างตัวเครื่องก็มีช่องระบายความร้อนให้ทั้ง 2 ฝั่งด้วย
โลโก้ Tenda สีเงินแวววาวตรงหน้าเครื่อง
ส่วนพิเศษของ Tenda AC10U ที่ช่วยกระจาย Wi-Fi ได้ทะลุทะลวง ก็มาจากเสาสัญญาณทั้ง 4 ต้น ที่ใส้ในเป็น 5dBi แบบ Omni-Directional ช่วยกระจายสัญญาณได้หลายทิศทาง
ชิป 5dBi ภายในเสาของตัว Tenda AC10U ซึ่ง ในเว็บ เคลมว่ากระจายสัยญาณได้ดีกว่าเราเตอร์ทั่วไปพอควร
ไฟสถานะ 4 ดวง (WAN, LAN, Wi-Fi/WPS และ SYS) จากมุมนี้จะเห็นว่า ตัวเครื่องมีความบางในระดับหนึ่ง และดูดุดันตามสไตล์เกมมิ่ง
ส่องความยาวของเสาสัญญาณ 5dBi ทั้ง 4 แบบชัด ๆ
พอร์ตเชื่อมต่อด้านหลังที่ประกอบไปด้วย 10/100Mbps WAN x 1, 10/100Mbps LAN x 3, USB 2.0 x 1 และช่องเสียบไฟเลี้ยงแบบ AC พร้อมปุ่มเปิดปิด Wi-Fi กับปุ่ม Reset เครื่อง แบบไม่ต้องเอาปากกาจิ้ม
ใต้เครื่องก็มีช่องระบายความร้อนทั้งแถบ มีรูช่วยติดตั้งสำหรับแขวนผนัง ยางกันลื่นทั้ง 4 มุม และรายละเอียดตัวเครื่องพร้อมรหัสใช้งาน Wi-Fi ครั้งแรก
การใช้งาน
จากที่เคยรีวิว Mesh Technology ของทาง Tenda ไป 2 รุ่น ก็ชื่นชมเรื่องการตั้งค่าใช้งานครั้งแรกไปแล้ว ที่เสียบปลั๊กก็พร้อมใช้งานเลย ส่วนตัว AC10U นี้ ก็เหมือน ๆ กับเราเตอร์ทั่วไปคือ เสียบไฟเลี้ยง ต่อสาย LAN เข้ากับ Modem Router ประจำบ้าน (จาก ISP หรือผู้ให้บริการ) จากนั้นก็เปิดสมาร์ทโฟน เลือกเชื่อมต่อ Wi-Fi จากตัวเครื่อง พร้อมกรอกรหัสที่เขียนอยู่ใต้เครื่อง เป็นอันเสร็จ
และเพื่อการใช้งานที่สมบูรณ์ ก็ติดตั้งแอพฯ Tenda WiFi หลังเชื่อมต่อ Wi-Fi กับตัวเครื่องแล้ว เมื่อเปิดแอพฯ ขึ้นมา มันก็จะให้เลือกก่อนว่า จะควบคุมตัวเราเตอร์นี้ไหม หากต้องการก็กด Control Now ก็จะเข้าสู่หน้า Devices แสดงอุปกรณ์ที่กำลังเชื่อมต่อทันที
ความสนุกในหน้านี้ ก็คือการกำหนดสิทธิ์ใช้งาน Wi-Fi ของอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างในที่นี้ผมใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่ออยู่หนึ่งเครื่อง ก็จะปรากฎเป็นชื่อรุ่นในแอพฯ Tenda WiFi ชัดเจน และเมื่อลองจิ้มเข้าไป ก็จะเห็นหน้าควบคุมการใช้งาน โดยความพิเศษคือ สามารถกำหนดการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ 3 แบบใหญ่ ๆ อาทิ Web, Video และ Gaming โดยแต่ละหัวข้อ มันจะจำกัดปริมาณการใช้เน็ตให้เหมาะสมตามหัวข้อแบบพร้อมสรรพเลย บ้านไหนมีสมาชิกครอบครัวหลายคน ก็กำหนดตามสมควรแบบง่าย ๆ เลยครับ
ส่วนการตั้งค่าต่าง ๆ ก็ถูกยัดมาอยู่ในหัวข้อ ‘Tools’ ทั้งหมดเลย แต่เราจะลองมาดูส่วนที่เป็น “Smart apps” ด้านล่าง ที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของตัว AC10U นี้เลยคือ
เหล่าฟีเจอร์อัจฉริยะ ที่ช่วยตรวจสอบสถานะและปรับแต่งการทำงานของตัวเครื่องโดยอัตโนมัติ แต่มีฟีเจอร์น่าสนใจอย่าง Transmit Power ช่วยปรับความแรงของสัญญาณ Wi-Fi ที่กำลังกระจายออกจากตัวเครื่อง หลายคนคงสงสัยว่าเพื่ออะไร แรก ๆ ผมก็งงเหมือนกัน กระทั่งไปพบโดยบังเอิญตอนกำลังส่องสเปก AC6 ในหน้าเว็บ Tenda จนพบว่ามันคือ…
ฟีเจอร์ Health Care ชนิดหนึ่ง ช่วยลดความแรงสัญญาณ Wi-Fi เพื่อไม่ให้ไปกระทบเด็กที่อยู่ในท้องแม่นั้นเอง !! นับว่าเกินความคาดหมายสุด ๆ ไม่นึกว่าจะมีมุมนี้ด้วย
อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็มี Remote Wakeup สั่งเปิดปิดตัวเราเตอร์ AC10U บนแอพฯ Tenda WiFi ได้ เผื่อเราตั้งค่าให้มันทำงานแบบ Sleep เอาไว้ (ปิดการทำงานเกือบทุกอย่างเพื่อยืดอายุการใช้งาน) ตอนไหนอยากใช้ ก็มากดสั่งเปิดในแอพฯ ได้นั้นเอง
ประสิทธิภาพ
จากที่เกริ่นในตอนแรก ๆ ก็เผยแล้วว่าตัว AC10U เด่นเรื่องการกระจายสัญญาณ Wi-Fi ซึ่งผมก็ได้ทดสอบนิด ๆ หน่อย ๆ ดังนี้
ตำแหน่งการติดตั้งตัวเราเตอร์ภายในบ้าน
เริ่มแรก ก็ลองทดสอบความแรงสัยญาณขณะอยู่ใกล้เครื่องก่อนเลย ผลที่ได้ก็ถือว่าแรงกว่าตัว Modem Router ประจำอยู่นิด ๆ ต่อไปลองเดินมาฝั่งห้องนอน (ตามภาพแผนผังก่อนหน้า) ที่อยู่ห่างจากตัวเราเตอร์ไม่น้อย และมีกำแพงกันเยอะพอควร ผลที่ได้คือสัญญาณ Wi-Fi จาก AC10U ยังแรงสุดในบรรดาเราเตอร์ที่ตรวจพบ
จุดสำคัญของตัวเราเตอร์ AC10U นี้ก็คือ มี MU-MIMO ช่วยกระจายการรับส่งข้อมูลผ่าน Wi-Fi ไปยังหลาย ๆ อุปกรณ์ได้พร้อมกัน โดยความเร็วยังคงที่ไม่ลดลง และยังมี Beamforming ที่ยิงสัญญาณได้แบบทะลุทะลวง แม้มีกำแพงกั้นอยู่ก็ตาม
ไม่รอช้า จึงลองเทสความเร็วอินเทอร์เน็ตผ่านคลื่น 5 GHz ของตัว AC10U ในห้องปิดที่มีกำแพงกั้น (ตำแหน่งห้องน้ำฝั่งขวามือในแผนผัง) ผลที่ได้ก็คือความเร็วโหลดและอัพโหลดเกิน 100/30 Mbps ตามที่ใช้บริการอยู่ โดยไม่มีลดเลย แม้มีกำแพงกั้นอยู่ถึง 2 ชั้น
สรุป
อยากได้เราเตอร์ Wi-Fi กระจายสัญญาณได้แรง ๆ แต่ราคาไม่แรงตาม ก็ขอแนะนำ Tenda AC10U แบบไม่ลังเลเลยครับ Wi-Fi ทะลุทะลวงได้ใจมาก ดีไซน์ก็เท่สุด ๆ ทั้งยังมีฟีเจอร์ที่จำเป็นต่อเราเตอร์สมัยใหม่อย่าง MU-MIMO กับ Beamforming ด้วย ส่วนฟีเจอร์ Smart apps ก็ช่วยเรื่องความสะดวกในการตั้งค่าและเช็คสถานะต่าง ๆ ได้รวดเร็ว และมีความน่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หน้า UI ของแอพฯ อาจดูธรรมดาไปนิด และมีการตั้งค่าอะไรไม่ละเอียดมากนัก เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นที่ทำได้หวือหวากว่า แต่คิดว่าคงเป็นคอนเซ็ปต์ของ Tenda ที่ต้องการความเป็น User Friendly เป็นหลัก สุดท้ายราคาของ Tenda AC10U AC1200 ก็อยู่ที่ ไม่เกิน 2,000 บาท พร้อมของแถมเป็นร่มพับสวยๆจาก Tenda (โปรโมชั่น 1 ส.ค 61 – 30 ก.ย. 61)