รีวิว Sony Xperia Z5 Premium เมื่ออารยธรรม ขอฮึดสู้ ! อีกครั้ง

หลายครั้งได้มีโอกาสถามไถ่คนใช้สมาร์ทโฟน Sony ใกล้ตัวที่สุดเห็นจะเป็นคนในออฟฟิศของผมเองเนี่ยล่ะครับ ว่าทำไม ? ถึงเลือกใช้ Sony บางคนบอกว่าก็เพราะมันเป็นสมาร์ทโฟนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวบ้าง เห็นแล้วถูกใจบ้าง กล้องดี กันน้ำได้ หลากหลายเหตุผลต่างกันไป พอถามว่าคิดจะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นดูบ้างมั้ย คำตอบชัดเจนคือ ไม่ ! อย่างน้องในทีมผมเองที่ใช้ Sony Xperia ZR ก็ยืนยันหนักแน่นว่า ถ้าเก็บเงินได้เมื่อไหร่ รุ่นต่อไปที่ใช้ก็ยังเป็น Sony เหมือนเดิม !!!

เมื่อเจอแบบนี้เข้า แอดมิน CK และเชื่อว่าหลายๆ คนคงอยากรู้เหมือนกันว่าสมาร์ทโฟน Sony มีอะไรดี วันนี้จึงขอนำเสนอ รีวิว Sony Xperia Z5 Premium ตัวท็อปที่สุดใน Xperia Z5 Series มาบอกเล่าประสบการณ์หลังการใช้งานให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ได้ทราบกันครับ

Z5-Premium-1
อันดับแรกเริ่มต้นที่สเปก

– หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด 3840 x 2160 พิกเซล (4K)

– รัน Android 5.1.1 Lollipop ครอบทับด้วย Xperia UI

– ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 810

– แรม 3GB, หน่วยความจำ 32GB, รองรับ microSD card และใช้ NANO SIM

– กล้องหลังความละเอียด 23 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ Exmor RS, G lens ให้มุมกว้าง 24mm, บันทึกวีดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 4K

– กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล

– กันน้ำกันฝุ่น และมีฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือ

– แบตเตอรี่ความจุ 3430 mAh ถอดแบตไม่ได้

Z5-Premium

การออกแบบ Sony Xperia Z5 Premium ยังเป็นแบบ “Omnibalance” เหมือนเช่นเดิม ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในสมาร์ทโฟน Sony แทบทุกรุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขอบด้านข้างใช้วัสดุประเภทสแตนเลสสตีล ใช้กระจกเป็นส่วนประกอบหลักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งก่อให้เกิดรอยนิ้วมือได้โดยง่ายอย่างยิ่ง

Z5-Premium-2

ส่วนประกอบอื่น เช่น ลำโพงสเตอริโอ สังเกตให้ดีจะแอบเนียนๆ อยู่บริเวณขอบหน้าจอบนและล่าง ตำแหน่งปุ่มต่างๆ จะอยู่ด้านขวาของตัวเครื่องเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ที่เป็นสแกนลายนิ้วได้ในตัวด้วย มีปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพ ขณะที่พอร์ตเชื่อมต่อจะมีอยู่ในตำแหน่งขอบบนตัวเครื่องขนาด 3.5 มิลลิเมตร สำหรับต่อหูฟัง และพอร์ตที่ขอบด้านล่างสำหรับต่อสาย USB ที่ยังไม่ได้อัพเกรดมาใช้ USB Type-C ซึ่งตรงจุดนี้เองมีการเปลี่ยนแปลง โดยใครที่ใช้สมาร์ทโฟน Sony รุ่นก่อนๆ จะพบว่ามีปุ่มยางที่ต้องคอยแกะออกมาเพื่อใช้งานและยังทำหน้าที่ปิดกันน้ำได้ แต่ใน Sony Xperia Z5 Premium ได้ถูกตัดออกไป พร้อมพัฒนาให้สามารถกันน้ำกันฝุ่นได้ด้วยตัวของมันเอง นอกจากนี้ใกล้ๆ กับพอร์ต USB จะมีช่องสำหรับใส่สายคล้องคอได้ด้วย

Z5-Premium-3

หน้าจอแสดงผลที่ Sony เคลมว่าให้ความละเอียดถึง 3840 x 2160 พิกเซล หรือ 4K แต่ในความเป็นจริงแล้วการใช้งานปกติจะให้ความละเอียดอยู่ในระดับ Full HD เท่านั้น ซึ่ง Sony ให้ข้อมูลว่าเหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการประหยัดแบตเตอรี่นั่นเอง ส่วนการจะใช้ 4K ได้ เมื่อบันทึกและเล่นวีดีโอเท่านั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วแค่การแสดงผลในระดับ Full HD ก็ให้ความชัดเจนได้ดีอยู่แล้ว โดยหากความละเอียดบนสมาร์ทโฟนสูงมากไปกว่านี้ สายตาก็แทบแยกไม่ออกแล้วว่ามันชัดแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

จุดเด่นถัดมาที่พลาดไม่ได้คือ กล้อง !! ด้วยความละเอียดของกล้องหลังที่อัดมาถึง 23 ล้านพิกเซล แต่ก่อนหน้าที่จะลงมือถ่ายภาพ ความละเอียดไม่ได้ถูกตั้งมาในระดับสูงสุดครับ แต่เราสามารถเข้าไปตั้งค่าให้ใช้ความละเอียด 23 ล้านพิกเซล ได้เองครับ โดยจากที่ถ่ายจริงในโหมด “อัตโนมัติพิเศษ” (ไอคอนกล้องมีเครื่องหมายบวก ที่มีความฉลาดในการปรับเลือกใช้โหมดถ่ายภาพให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ได้)  ให้ภาพที่คมชัด โดยผมมักเลือกถ่ายในเวลากลางคืนครับ ก็พบว่าภาพแทบจะไม่มี Noise หรือจุดที่เกิดขึ้นบนภาพให้เห็น แถมยังแสดงรายละเอียดของสีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

Z5-Premium-7

ตัวอย่างภาพถ่าย

Z5-Premium-13

นอกจากในโหมดอัตโนมัติพิเศษแล้ว Sony Xperia Z5 Premium ยังมีโหมดปรับด้วยตัวเองหรือ Manual ที่เลือกได้เองตั้งแต่ ค่าชดเชยแสง (ISO), White Balance, แบบถ่ายภาพ, เป็นต้น

Z5-Premium-9

อีกหนึ่งความน่าสนใจต้องเป็นเรื่องของระบบโฟกัสครับ เพราะ Sony Xperia Z5 Premium มีระบบที่เรียกว่า “ไฮบริด โฟกัส” ที่สามารถจับภาพได้ในเวลาเพียง 0.3 วินาที เท่านั้นครับ ถือว่าเร็วมาก นอกจากนี้กล้องหลังในความละเอียด 23 ล้านพิกเซล ยังสามารถซูมสูงสุดถึง 8 เท่า แต่เท่าที่ลองใช้งานดู บอกเลยว่าคงต้องมือนิ่งพอสมควร หรือไม่ก็ใช้ขาตั้งกล้องเข้ามาเป็นตัวช่วย ส่วนภาพที่ออกมาก็ต้องยอมรับสภาพล่ะครับว่าให้ภาพที่หยาบพอสมควรครับ แต่ในภาพรวมเรื่องกล้อง Sony ทำได้ดีมาก ไม่แปลกใจเลยที่แบรนด์สมาร์ทโฟนหลายเจ้ายังต้องเลือกใช้บริการเซนเซอร์ถ่ายภาพของ Sony ด้วยครับ

มาไม้เด็ดเรื่อง 4K กันบ้าง อย่างที่บอกไปเมื่อสักครู่ว่า แม้ Sony จะเคลมเรื่องการแสดงผลในความละเอียดสูง แต่ในหน้าจอปกติจะปรับการแสดงผลเหลือเพียง Full HD เท่านั้น ส่วน 4K จะถูกนำไปใช้ในการดูวีดีโอ หรือสำหรับบันทึกวีดีโอครับ ซึ่งก่อนการบันทึกวีดีโอที่ความละเอียด 4K สามารถเข้าไปกำหนดประเภทไฟล์การบันทึกว่าจะใช้เป็น H.264 หรือ H.265 หรือจะกำหนดค่า White Balance ก็ทำได้เช่นกันครับ และในโหมดบันทึกวีดีโอ 4K ยังมี SteadyShot ซอฟต์แวร์ป้องกันสั่นที่เข้ามาช่วยลดการสั่นในขณะถ่ายวิดีโอได้ดีทีเดียวครับ

Z5-Premium-21

ตัวอย่างวีดีโอ 4K จาก Sony Xperia Z5 Premium

เข้ามาดูกันที่ซอฟต์แวร์กันบ้าง ตามสเปกบอกว่า Sony Xperia Z5 Premium ใช้ Android 5.1.1 Lollipop ครอบทับด้วย Xperia UI ซึ่งเป็นอินเทอร์เฟซแบบเดิมๆ ที่ Sony ยังยึดมั่นใช้กับสมาร์ทโฟนแทบจะทุกรุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Sony คิดอะไรอยู่กันแน่ถึงไม่ยอมเปลี่ยนสักที จนแฟนๆ Sony มีแอบบ่นเหมือนกันนะ !!

ในส่วนของแอปพลิเคชันที่มากับเครื่องอาจไม่มีอะไรที่โดดเด่นขึ้นมาจากรุ่นก่อนหน้านัก แต่สำหรับใครที่รักการฟังดนตรี ชอบการได้ยินรายละเอียดเสียงที่มันคมชัด แต่อาจจะยังไม่รู้หรืออาจพึ่งหันมาใช้สมาร์ทโฟน Sony Xperia Z5 Premium วันนี้ผมจึงขอแนะนำเล็กน้อยแล้วกัน โดยในแอปการตั้งค่า ไปที่เมนูเสียงและการแจ้งเตือน จะมีเมนูการตั้งค่าเสียง เมื่อเข้าไปถึงจะมีเมนูสำหรับปรับค่าเสียงอยู่ 4 หมวดหมู่ ซึ่งในหมวดหมู่เอฟเฟ็คเสียงจะมีให้ตั้งค่าอิควอไลเซอร์, การตั้งค่าหูฟัง, เสียงรอบทิศทาง และการตั้งค่าลำโพงที่มีฟีเจอร์ S-Force Front Surround ที่ปรับการแสดงเสียงให้เป็นแบบรอบทิศทางมีความสมจริงมากขึ้น

อีกหนึ่งเมนูที่หยิบนำมาฝากกันในครั้งนี้ เป็นเรื่องของระบบการจัดการพลังงาน เป็นตัวช่วยที่ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ หรือที่เรียกว่า โหมด STAMINA ที่ยังมาพร้อมกับโหมด Ultra STAMINA การประหยัดพลังงานในระดับสูงสุด ที่เมื่อใดที่เลือกใช้งานจะช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ และเปิดให้ใช้งานเฉพาะฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับสมาร์ทโฟนเท่านั้น โดยผมได้ทดสอบเปิดใช้โหมด Ultra STAMINA  ก็พบว่าด้วยเปอร์เซนต์แบตเตอรี่ที่มีอยู่ 64% จะสามารถใช้งานไปได้อีกถึง 9 วัน กับอีก 4 ชั่วโมง ครับ

Z5-Premium-26

สุดท้าย เป็นเรื่องของการกันน้ำ มากับมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น IP65/68 สามารถใช้งานใต้น้ำในระดับความลึก 1.5 เมตร นาน 30 นาที  ซึ่งผมได้ลองนำ Sony Xperia Z5 Premium วางแช่และจุ่มลงน้ำในระยะเวลาชั่วครู่ ซึ่งหลังจากหยิบมาใช้ระบบทัชสกรีน ทดสอบกล้อง ยังใช้งานได้ปกติ แต่ !!! เมื่อนำมาโทรออก เปิดเพลง ดูวีดีโอ กลับเจอปัญหาขึ้น นั่นคือ อย่างแรกเสียงปลายสายขณะคุยขาดๆ หายๆ ตอนแรกคิดว่าอาจเป็นที่สัญญาณเครือข่าย แต่พอเปิดฟังเพลง เสียงที่ออกมากลับขาดๆ หายๆ เช่นกัน แถมเมื่อดูวีดีโอทั้งจากที่บันทึกไว้ในเครื่องหรือผ่าน YouTube มีอาการเดี๋ยวเล่น เดี๋ยวหยุดเอง แถมเสียงก็ขาดๆ หายๆ เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้าที่จะนำมาทดสอบการกันน้ำ ไม่เคยปรากฏอาการเช่นนี้มาก่อนครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเป็นเครื่องสำหรับเทสด้วยรึเปล่า เลยเกิดปัญหาขึ้น ตัวผมก็ไม่สามารถตอบเองได้

แม้อาจจะใจหายแว็บหนึ่ง คิดว่าเครื่องจะพัง แต่อาการดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ครับ โดยที่ผมทำการรีเซ็ตเครื่องหนึ่งรอบ ทุกอย่างก็กลับมาใช้งานได้เป็นปกติ

ปิดท้ายการทดสอบด้วย AnTuTu Benchmark
สรุปการใช้งานครับ

ตลอด 1 อาทิตย์ที่ได้ใช้ Sony Xperia Z5 Premium ในความรู้สึกของผม ชื่นชมในเอกลักษณ์ของ Sony ที่จะผ่านมากี่ปีก็ยังยึดดีไซนตัวเครื่องในแนวทางของตัวเอง มีเปลี่ยน เพิ่มเติมวัสดุบ้างเล็กน้อยก็เพื่อทำให้มันมีความพรี่เมี่ยมมากขึ้น เพื่อไม่ให้น้อยหน้าทั้ง iPhone, Samsung หรือแม้กระทั่ง Huawei

ตัวกล้องยังเป็นจุดขายที่ Sony ตอกย้ำคุณภาพมาโดยตลอด ซึ่งในรุ่นนี้อาจไม่ได้พัฒนาให้ก้าวกระโดดเป็นจากของเดิมนัก แต่ก็ได้มีการปรับแต่งหน้าตาการใช้งานในโหมดต่างๆ ให้มีความง่ายและสะดวกขึ้นครับ

ส่วนของ 4K แม้จะไม่ได้นำมาใช้ในการแสดงผลปกติ แต่ก็จะสามารถเปิดใช้งานได้อัตโนมัติเมื่อดูวีดีโอ แถมยังรองรับการรับชมคอนเทนต์ในอนาคต ไม่ว่าจะผ่านบริการสตรีมมิ่ง หรือผ่าน YouTube ที่เมื่อใดก็ตามการแสดงผลก้าวไปสู่ระดับ 4K สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ก็รอต้อนรับอยู่แล้วครับ

พูดถึงข้อดีไปแล้ว มาถึงข้อเสียกันบ้าง หลายเว็บที่รีวิวไปก่อนผมคงรู้สึกเหมือกันว่า Sony Xperia Z5 Premium เมื่อใช้งานต่อเนื่องไปสักพัก เครื่องจะร้อนค่อนข้างเร็ว แต่นับว่ายังดีที่ร้อนเร็ว ก็กลับเป็นปกติเร็วเช่นกันครับ อีกปัญหาที่พบเป็นเรื่องรอยนิ้วมือและคราบฝุ่นที่ติดง่ายมากกับวัสดุกระจก แถมเครื่องยังมีความลื่น เวลาล้วงออกจากกระเป๋ากางเกงทีไร กลัวจะหลุดมืออยู่บ่อยครั้ง ส่วนปัญหาหลังการทดสอบแช่และจุ่มน้ำ อาจเป็นแจ็คพอตที่เกิดขึ้นกับตัวผมคนเดียวก็เป็นได้ แต่ก็หวังว่าอย่าได้ไปเกิดกับเครื่องที่ขายจริงเลยครับ

เรื่องสำคัญอย่างราคา ล่าสุดลดเหลือ 25,990 บาท จากราคาเดิม 27,990 บาท อาจจะดูแพงในสายตาคนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับแบรนด์ Sony แต่หากจะเลือกสมาร์ทโฟนกล้องเทพ ถ่ายวีดีโอได้ในความละเอียดสูง ชอบพลังเสียงแบบรอบทิศทาง ก็อย่าคิดนานครับ Sony Xperia Z5 Premium ถือว่าน่าใช้ครับ ส่วนแฟนๆ Sony ผมเดาว่าก็คงไม่รอช้าที่จะจับจองรุ่นนี้เป็นเจ้าของครับ ^^

4 COMMENTS

  1. จุ่มน้ำ เอาขึ้นมา เช็ดให้แห้งครับ ไม่ใช่รีสตาร์ท เสียงขาดๆหายๆ เพราะหยดน้ำในรูหูฟัง ทำให้ระบบตัดเป็นลำโพงกับหูฟังสลับกัน

  2. ลง​น้ำ​แล้ว​ขึ้น​มา​เสียง​หาย​เป็น​ปกติ​ครับ​ ต้อง​รอ​สักพัก​ให้​ลำโพง​แห้ง​เสียง​จะ​กลับ​มา​เหมือนเดิม​

  3. ลองอ่านเกี่ยวกับระบบกันน้ำกันดูก่อนนะครับ
    http://support.sonymobile.com/th/dm/waterproof/?utm_source=marketing-url&utm_medium=http%3A%2F%2Fsupport.sonymobile.com%2Fwaterproof&utm_campaign=http%3A%2F%2Fwww.sonymobile.com%2Fwaterproof
    ตัวเครื่องมีระบบเข้าวอล์คแมนอัตโนมัติเมื่อเสียบหูฟัง พอน้ำเข้า น้ำก็ไหลไปมา ทำให้เพลงเล่นๆหยุดๆครับ

    การดูแลเบื้องต้น
    นี่เป็นคำแนะนำบางส่วนที่ช่วยให้อุปกรณ์ของคุณทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด:

    หลังจากการใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์เสริมของคุณในสภาพแวดล้อมที่เปียก อย่าลืมทำให้ฝาปิดทั้งหมดและพื้นที่อื่นๆ ที่น้ำสามารถสะสมตัวได้แห้งสนิท
    ห้ามให้อุปกรณ์สัมผัสกับน้ำทะเล น้ำเค็ม น้ำผสมคลอรีน หรือของเหลวต่างๆ เช่นน้ำผลไม้ น้ำยาซักผ้าและน้ำส้มสายชู
    หากอุปกรณ์สัมผัสกับน้ำที่ไม่ใช่น้ำสะอาด เช่นน้ำผสมคลอรีนจากสระว่ายน้ำ ให้ล้างอุปกรณ์ของคุณด้วยน้ำสะอาดเสมอ
    หากลำโพงหรือไมโครโฟนเปียกชื้น ฟังก์ชันการทำงานอาจได้รับผลกระทบจนกว่าความชื้นทั้งหมดจะแห้งสนิท
    ระดับ IP ของอุปกรณ์ของคุณจะคิดจากเงื่อนไขในห้องปฏิบัติการในโหมดสแตนด์บาย ดังนั้นคุณจึงไม่ควรใช้งานอุปกรณ์ใต้น้ำ เช่นการถ่ายภาพ ห้ามใช้อุปกรณ์ในการถ่ายภาพขณะที่ทำกิจกรรมใดๆ ใต้น้ำ รวมถึงการดำน้ำลึกหรือดำน้ำตื้น
    เวลาในการทำให้แห้งจะแตกต่างกันโดยขึ้นกับสภาพแวดล้อม แต่กระบวนการอาจใช้เวลาถึงสามชั่วโมง ระหว่างช่วงเวลานี้ คุณยังคงสามารถใช้คุณลักษณะทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวข้องกับลำโพงหรือไม่โครโฟนได้ – คุณสามารถถ่ายรูป เช็คอีเมลของคุณ หรือส่งข้อความได้โดยไม่ต้องกังวล
    ห้ามใช้เครื่องเป่าผมเพื่อทำให้ชิ้นส่วนที่เปียกแห้ง
    การสึกหรอและฉีกขาดจากการใช้งานประจำวันที่เกิดกับอุปกรณ์ อาจทำให้ความสามารถในการป้องกันฝุ่นหรือความชื้นลดลง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here