เป็นอุปกรณ์ที่ตั้งตารอเลยทีเดียวหลังจากมีการประกาศว่าจะวางขายในไทยกับ Surface 3 ด้วยความที่ไม่มีปัญญาซื้อ Surface 3 Pro และไม่อยากไปเบียดเบียนโค้วต้าของนักศึกษาในการซื้อ Surface RT ที่มีข้อจัดในการใช้งาน แต่ Surface 3 นี่เห็นแล้ว เฮ้ยมันใช่อะ ราคาก็เอื้อมถึง แบบนี้จึงต้องลองกันสักหน่อย
Surface 3 เป็นแท็ปเล็ตจาก Microsoft ที่ออกจับตลาดล่าง (หรือเปล่า) ซึ่งต่างจากตัว Pro ที่จัดเสเปกเต็มพอๆ กับอัลตราบุ๊ก Surface 3 จะมาพร้อมกับสเปกที่เบาลงมาพอสมควร แต่ยังอยู่บนแพลตฟอร์ม x86 เช่นเดียวกับรุ่น Pro และคอมพิวเตอร์ปกติ ซึ่งแปลว่ามันใช้ Windows 8.1 รุ่นปกติ (และสามารถอัพเกรดเป็น Windows 10 ได้) รวมถึงโปรแกรมหรือแอพฯ ต่างๆ ที่เหมือนกัน ไม่ได้แยกเป็นรุ่น RT ที่กระจอกงอกง่อยอีกแล้ว
สิ่งที่แตกต่างจากรุ่น Pro อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือขนาดของหน้าจอที่ลดลงจาก 12 นิ้ว เหลือ 10.8 นิ้ว (นิดเดียวจริง) และลดความละเอียดจาก 2160×1440 เหลือ Full HD 1920×1080 ซึ่งยังคงเหลือเฟือสำหรับการใช้งาน นอกจากนี้ Kick Stand ด้านหลังก็ยังปรับระดับได้ 3 ระดับ จากในรุ่น Pro สามารถเลือกปรับระดับองศาได้ตามต้องการ
สุดท้ายที่แตกต่างกันก็คือการลดสเปกซีพียูลงมาจาก Intel Core i5 รุ่นเดียวกับบรรดาอัลตราบุ๊ก เหลือเพียง Intel Atom x7 ซึ่ง Atom X นั้นเป็นซีพียูตระกูลใหม่ โดยออกแบบให้ประสิทธิภาพในการทำงานนั้นต่ำพอๆ กับ Atom เดิม เพราะต้องการให้ประหยัดพลังงาน แต่ได้เพิ่มส่วนของ Cellular เข้าไว้ในชิปด้วยเลย ดังนั้น Surface 3 (และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ Atom X) จะมีออปชั่นให้รองรับการเชื่อมต่อ 3G หรือ 4G มาให้ด้วย แต่ก็น่าเสียดายนะที่ Surface 3 ไม่มีรุ่นออปชั่นเหล่านี้มาให้เลย
จุดเด่นด้านอื่นที่ Surface 3 มีเช่นเดียวกันก็คือรองรับ Wireless-AC, Bluetooth 4.0LE และยังมีพอร์ตการเชื่อมต่อทั้ง USB 3.0 ขนาดปกติซึ่งสามารถใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก มี mini DisplayPort สำหรับเชื่อมต่อจอภาพ และมี Micro USB สำหรับชาร์ตไฟด้วย
สำหรับ Surface 3 นั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 2 สเปกคือ รุ่นที่ใช้แรม 2GB กับพื้นที่เก็บข้อมูล 64GB และรุ่นที่ใช้แรม 4GB กับพื้นที่เก็บข้อมูล 128GB ซึ่งทั้งสองรุ่นราคาต่างกันประมาณ 3-4 พันบาท
ทดสอบการใช้งาน
พูดถึงการใช้งานทั่วไป มันคือแท็ปเล็ตที่ใช้ Windows 8.1 ซึ่งทำให้ประสบการณ์การใช้งานที่เหมือนกับโน้ตบุ๊กไม่มีผิด โดยเฉพาะการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริม Type Cover ที่เป็นแผ่นปิดหน้าจอและคีย์บอร์ดในตัว และต้องถือว่าครบเครื่องจริงๆ เพราะนอกจากจะได้ Windows 8.1 ติดเครื่องมาแล้ว ยังได้ใช้ Office 365 ฟรีอีก 1 ปีด้วย ส่วนปีถัดไปก็ซื้อต่อเอาเอง ไม่แพงหรอกครับ ส่วน Windows 10 ได้อัพเกรดฟรีอยู่แล้ว แต่ในตอนที่เทสยังเปิดให้อัพเกรด
ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมต้องบอกตามตรงว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปเท่านั้น แม้ว่าจะใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ SSD ที่อ่านเขียนข้อมูลเร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดของซีพียู ก็คงเรียกใช้งานเต็มที่แล้ว ดังนั้นถ้าแค่ดูหนัง เปิดเว็บ ทำไฟล์เอกสารทั่วไป แบบนี้ถือว่าใช้งานได้โดยแทบไม่รู้สึกว่าช้าเลย แต่ถ้าเริ่มโหลดโปรแกรมเยอะขึ้น มีโปรแกรมรันในแบ็กกราวด์เยอะขึ้น มีการ Sync ข้อมูลกับบรรดา Cloud Storage มากขึ้น แบบนี้จะเห็นว่าเครื่องอืดลงพอสมควร อีกทั้งพวกเกมที่เริ่มใช้กราฟิกดีหน่อยก็มีอาการกระตุกให้เห็นแล้ว
สำหรับประสิทธิภาพในการทำงานทดสอบมาให้ดูใน 3D Mark จะเห็นว่ามันก็พอๆ กับแท็ปเล็ตตัวอื่นที่ใช้ Atom นั่นแหละ
ข้อดีที่ได้มาแทนคือแบตเตอร์รี่ที่ใช้งานได้ค่อนข้างยาวนาน เพราะจากการใช้งานทั่วไปไปครึ่งชั่วโมงแบตยังลดไปแค่ประมาณ 5-6% ถือว่าตัวเลขที่เคลมไว้ว่า 10 ชั่วโมงนั้นไม่ได้โม้เกินไป ซึ่งต้องยกความดีให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประหยัดไฟเป็นอย่างดี
สิ่งที่น่าสังเกตุคือในราคาสองหมื่นนิดๆ คุณจะได้เพียงแค่ตัวเครื่อง ส่วนคีย์บอร์ด และปากกา Stylus สุดหรูนั้น ถ้าอยากได้มาใช้ด้วยต้องจ่ายเพิ่มอีกราวๆ เกือบหมื่น ดังนั้นถ้าต้องการใช้งานแบบเต็มที่ อาจจะต้องกำเงินไปถึง 3 หมื่นบาท ซึ่งราคาระดับนั้นน่าจะแพงเอาเรื่องอยู่ ได้แต่หวังว่าจะมีการจัดเซตทำโปรฯ ให้ราคาลงมากกว่านี้สัก 2 หมื่นกลางๆ ก็จะเป็นอะไรที่น่าสน
สรุปภาพรวมสำหรับ Surface 3 แล้วมองว่ามันเป็นแท็ปเล็ต (หรือโน้ตบุ๊กดีๆ นี่เอง) สำหรับคนที่ใช้งานทั่วไป เน้นการเปิดข้อมูลและทำงานหนักบ้างนิดๆ หน่อยๆ เช่นตัดต่อวิดีโอ หรือแตกต่างภาพ ประสิทธิภาพไม่มาก แต่แบตอึดดี ที่เหลือก็เพียงอุปกรณ์เสริมที่ราคาแพงไปหน่อย ไม่งั้นซื้อไปแล้ว ^_^