จะเรียกว่ารีวิวก็ยังไงอยู่ น่าจะเรียกว่า “รีวิวเฉพาะกิจ” ดีกว่า เนื่องจากผมมีเวลาใช้งานเจ้า Lenovo Yoga Book ตัวนี้แค่วันเดียวเท่านั้น (เอาจริง ๆ ครึ่งวัน – -) พอดีมันเป็นเครื่องโชว์ในงานแถลงข่าว Commart Work 2016 เสร็จงานคือต้องรีบคืนเลย แต่ก่อนงาน ผมได้ฉกมันมาใช้งานที่บ้านก่อนหนึ่งคืนแล้ว ฮ่า ฮ่า ทว่าด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ผมไม่ได้ทดสอบในด้านสเปกมากนัก ดังนั้นจึงขอหนักไปทาง “การใช้งาน” แทน มาดูกันครับว่า เจ้า Yoga Book จะมีความน่าสนใจยังไงบ้าง
This is a Book !! เมื่อช่วงวันแรกของเดือนกันยายน ทาง Lenovo ได้เปิดตัวของแปลกหนึ่งอย่างคือ “Yoga Book” เป็นโน๊ตบุ๊คหรือแท็บเล็ตสองหน้าจอ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “Create Pad” ที่สามารถใช้งานสร้างสรรค์งานเขียน หรือใช้เป็นสมุดจดงานได้จริง ๆ (เขียนเป็นหมึกลงกระดาษเลยนะเออ) มาในร่างของโน็ตบุ๊ต และระบบปฏิบัติที่เลือกซื้อได้ระหว่าง Windows 10 หรือ Android 6.0 ส่วนฟีเจอร์เด่น ๆ มีดังนี้
- ขนาดเบาบางที่สุดในสามโลก
- มีสองหน้าจอ ที่ใช้งานแบบสัมผัสได้ 2 จอในตัวเดียว
- มาพร้อม “Halo Keyboard” หรือแป้นพิมพ์ Touch Screen !!
- แถมปากกา “The Real Pen” ที่รองรับแรงกดได้ถึง 2,048 ระดับ
- สามารถเขียนทะลุชั้นกระดาษ ไปแสดงผลการขีดเขียดในหน้าจออีกฝั่งได้
ในบางฟีเจอร์ หลายคนอาจสงสัยว่า “คือยังไง” ในรีวิวครั้งนี้ ผมได้ไขความกระจางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาดูกันครับว่า แต่ล่ะฟีเจอร์ จะมีความพิศวงอย่างไรบ้าง
สเปค Lenovo Yoga Book (รายละเอียดเพิ่มเติม)
CPU : Intel Atom x5-Z8550 (2M Cache, Quad-Core, Up to 2.4 GHz)
RAM : 4GB LPDDR3
ROM : 64 GB (ใส่ SD Crad ได้สูงสุด 128 GB)
Display : 10.1″ FHD 1080p IPS 224 ppi (1920 x 1200)
Sound : Dolby Atmos
Touch : Capacitive Touch ใช้กับปากกา EMR Pen Technology (The Real Pen detects 2,048 levels)
Sensors : Vibrator, G-Sensor, Ambient Light Sensor, Hall Sensor, GPS, A-GPS
Front Camera : 2 ล้านพิกเซล
Rear Camera : 8 ล้านพิกเซล
SIM : รองรับ Nano SIM Card
Connections : Micro HDMI x 1, Micro USB x 1, Jack 3.5 mm x 1, SD Card reader x 1, SIM Slot x 1
Network : 3G/4G LTE กับ WiFi 802.11 a/b/g/n/ac;
OS : Windows 10 (หรือเลือกซื้อเป็นรุ่น Android 6.0)
Battery : 8500 mAh (เคลมว่าใช้งานได้ 15 ชั่วโมง)
Dimensions : 10.1″ x 0.38″ x 6.72″
Weight : 690 g
Colors : Champagne Gold, Gunmetal Grey, Carbon Black (ทอง เทา และเฉพาะ Windows จะเป็นเครื่องสีดำ)
แกะกล่อง
ในกล่องประกอบไปด้วย
- ตัวเครื่อง Yoga Book x 1
- ปากกา Real Pen x 1
- ไส้ปากกา (แบบมีหมึกจริง ๆ) x 3
- สมุดจด Book Pad จำนวน 20 หน้า x 1
- ชุด Adapter ชาร์จไฟ x 1
- ผ้าเช็ดจอ (อย่างดี) x 1
- ชุดคู่มือ x 1
- เข็มแกะถาด SIM x 1
วัสดุและดีไซน์
ได้ยินมาว่าตัวเครื่องมีขนาดจอแค่ 10 นิ้ว ก็พอนึกไว้แล้วว่าต้องจิ๋วเหมือนเจ้า Miix 310 แน่ ๆ แต่พอมาจับจริง ๆ แล้ว มันเล็กกว่าที่คิดซะอีก คงเป็นเพราะขนาดความบางของมัน ที่บางจนไม่รู้ว่าจะบางยังไง ทำให้มันดูเล็กจิ๋วไปทันตานี้เอง
ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 10.1″ x 0.38″ x 6.72″ หนักแค่ 690 g นี้ก็เบาจนไม่รู้ว่าจะเบายังไงเหมือนกัน ส่วนการออกแบบตัวเครื่อง ยอมรับเลยว่า สวยมากกก (แถวบ้านเรียก “เท่”) วัสดุที่ใช้เป็น Magnesium กับ Aluminum ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและหรูหราเข้าไปอีก งานประกอบโดยรวมจัดว่าแจ่ม
แต่ด้วยความบางของมัน ก็บอกลาช่อง USB ไปได้เลย ตัวเครื่องจึงมีแค่พอร์ตเชื่อมต่อ Micro USB x 1 กับ Micro HDMI x 1 และถาดใส่ SIM กับ SD Card อย่างละตัวเท่านั้น ส่วนรูจุด ๆ ตรงนั้นคือลำโพงครับ
อีกฝั่งก็มีลำโพงเช่นกัน ที่เหลือก็ปุ่ม Power กับปุ่มปรับระดับเสียง และช่องเสียบหูฟัง 3.5 mm (นึกน่าจะโดนเจือนไปพร้อมความบางเหมือนค่าย “สาลี่” ซะแล้ว…..)
เมื่อพับหน้าจอ ตัวเครื่องจะมีความบางอยู่ที่ 9.6 mm
แต่เมื่อกางออก ตัวเครื่องก็จะเหลือความบางแค่ 4.05 mm เท่านั้น O_O
ลองเทียบกับขนาดหนังสือ (หากใครรู้สึกคุ้น ๆ โปรดอย่าเนียนนะครับ เหอ ๆ)
เทียบความบางกับหนังสือ และ นิตยสาร Comtoday หน่อย
เทียบกับสมุดจด (น่าเอาสูตรคูณไปแปะด้านหลังเครื่องจริง ๆ)
ในส่วนบานพับ ก็มาในสไตล์ Yoga หรือสายนาฬิกาที่เราคุ้นเคย สามารถพบได้ 360 องศา และช่วยเพิ่มความแข็งแรงกับความหรูหราได้มากทีเดียว (สำหรับผม มันให้อารมณ์เหมือนสันเกลียวในสมุดจดยังไงยังงั้น)
Open !!
มาถึง ก็ขอดูส่วนที่คาใจก่อนเลยคือ “Halo Keyboard” หรือแป้นพิมพ์ Touch Screen พบว่า มันมีการสลักช่อง LED แป้นพิมพ์ภาษา Eng ไว้เรียบร้อยโรงเรียนจีน เป็นอันว่า บอกลาแป้นพิมพ์ภาษาไทยได้เลยครับ…..
**เว้นแต่จะมีรุ่นแป้นพิมพ์ Thai Edition ขายในไทยโดยเฉพาะ หรือมีวิธิติดสติ๊กเกอร์แป้นพิมพ์ภาษาไทยที่เข้าท่า**
การใช้งาน
โฉมหน้า “Halo Keyboard” แบบชัด ๆ !!
เทสสิครับ !! รออะไร เมื่อลองสัมผัสการพิมพ์ Halo Keyboard ดูแล้ว ก็ขอบอกเลยว่า “เกือบดีล่ะ” เวลาพิมพ์ ตัวเครื่องมันจะสั่นและส่งเสียงตอบสนองต่อการพิมพ์ของเรา แต่ด้วยขนาดจอเพียง 10 นิ้ว ก็ทำให้ตัวคีย์บอร์ดมีขนาดเล็กตามไปด้วย การพิมพ์จึงเหมือนการจิ้ม เลยใช้สเต็ป มือซ้ายปุ่ม A S D F มือขวาปุ่ม J K L : ได้ลำบากหน่อย ต้องอาศัยความเคยชินสักพักหนึ่ง ถึงจะเริ่มคล่องจริง ๆ ครับ แต่ถึงจะคล่อง ก็ต้องพิมพ์สัมผัสไทยเท่านั้น เพราะตัวแป้นไม่มีคีย์ไทยมาให้ แต่ถ้าเคยชินกับพิมพ์สัมผัสไทยมาแล้ว ก็รอดตัวไป ส่วนตัว Touch Pad ผมหลุดสัมผัสไปหลายรอบล่ะ : D
มาถึงส่วนขีดเขียนกันแล้ว ในตัวแป้นพิมพ์ มันจะมีปุ่มสลับการใช้งานระหว่าง Halo Keyboard และ Real Paper อยู่มุมขวามือ (รูปปากกา) เมื่อกดแล้ว ก็จะเข้าสู่โหมดขีดเขียนทันที
สัมผัสการเขียน เมื่อลองเทียบกับเมาส์ปากกา หรือเจ้า Intuos Pro ที่บ้าน (ฝุ่นเกาะตรึม – -) ตัว Yoga Book ให้ความรู้สึกได้ดีไม่แพ้กัน แต่ก็มีจุดด้อยกว่าอยู่บ้างคือ การแลเงาและการลงน้ำหนักที่ยังดีไม่สุด แต่โดยรวมพอใช้แทนกันได้ครับ เกือบลืมบอก หน้าจอด้านล่างนี้ใช้ได้กับเฉพาะปากกา Real Pen เท่านั้น
สำหรับตัวปากกา Real Pen นั้น จะไม่มีแบตฯ ในตัว รองรับแรงกดได้ถึง 2,048 ระดับ กับเอียงมุมสูงสุด 100 องศา และสามารถเปลี่ยนไส้ปากกาได้ ซึ่งในกล่องก็แถมไส้แบบมีหมึกปากกาให้ด้วยเลย ส่วนจะใช้ทำอะไรนั้น เดี๋ยวก็รู้ครับ
ทดสอบการลงเส้นและแลเงา (ทักษะการวาดผมได้เท่านี้ล่ะครับ T T)
ในหน้าจอ Display จะเป็นจอสัมผัส Capacitive Touch เช่นเดียวกับอีกหน้าจอ ข่าวดีคือ เราสามารถใช้ปากกาขีดเขียนบนหน้าจอได้ด้วย แต่ Feeling การเขียนนั้น จะผิดกับหน้าจอคีย์บอร์ด หรือ Real Peper อยู่เยอะ มีการตอบสนองช้ากว่า และไม่สามารถเอามือรองแล้วเขียนได้ (เวลาอุ้งมือไปโดน มันก็ตอบสนองด้วย – -) สรุปเอาไว้ใช้จิ้มเครื่องมือ หรือใช้งานแทนเมาส์ดีกว่า
เทียบปากกา Real Pen ของ Yoga Book (ล่าง) กับ ปากกา Wacom Intuos Pro (บน)
สำหรับคำถาม เอาไส้ปากกาแบบมีหมึกไปทำอะไร คำตอบคือ เอาไว้ใช้กับสมุดหรือกระดาษอะไรก็ได้ ให้เราสามารถขีดเขียนข้อความลงเจ้า Yoga Book ตัวนี้ได้โดยตรงนั้นเอง ซึ่งในกล่องก็แถมตัวสมุดโน็ตแบบฉีกมาให้ด้วย โดยตัวสมุดจะมีแม่เหล็กยึดกับตัวเครื่อง
ทีนี้ล่ะครับ เราก็จะได้ Feeling การเขียนบนกระดาษจริง ๆ สากจริง ๆ และมีหมึกปรากฎในหน้ากระดาษจริง ๆ ซึ่งตัว Real Pen สามารถเปลี่ยนไปใช้ไส้แบบมีหมึกได้ด้วย (แต่อนิจจา ผมเปลี่ยนไม่เป็น – -) เวลาขีดเขียนอะไรในกระดาษ ที่วางบนหน้าจอ Real Peper หน้าจออีกฝั่งก็จะแสดงผมตามที่เราเขียนแปะ ๆ เลยครับ
ทดสอบการเขียนบนกระดาษจริง (แบบไม่มีหมึก….)
คำถาม เราสามารถเอาสมุดหรือกระดาษอื่นมาใช้แทนได้ไหม ? คำตอบคือ ได้ครับ และทั้งนี้ตัว Yoga Book สามารถรองรับความหนาของกระดาษได้ถึง 1.5 ซม. ประมาณเอาหนังสือแบบเรียนหนึ่งเล่มมาวางทับ และเขียนได้เลย (หนากว่านั้นสัญญาณจะเริ่มขาด ๆ หาย ๆ) แต่มีข้อแม้ว่า ต้องใช้ปากกา Real Pen ที่แถมมาเท่านั้น
ประสิทธิภาพ
อย่างที่บอกไปตอนแรก ผมมีเวลาใช้งานเพียง 1 วัน เลยทำให้ผมแทบไม่ได้ยุ่งในส่วนนี้เลย แต่กระนั้นก็ได้พยายามลองเทสประสิทธิภาพฉบับบ้าน ๆ อย่างหนึ่งคือ ใช้ Chrome เปิดเว็บหลาย ๆ แท็บ พร้อมกัน ผลคือ ยังลื่นอยู่ แม้จะมีการเปิดเว็บมากมาย แต่ตัว Yoga Book ก็ยังไม่ค้างหรือช้าแต่อย่างใด (แต่ก็มีเอ๋อ ๆ อยู่บางครั้งเหมือนกัน) ทั้งนี้ผมลองไปแอบส่องผลเทสจากเว็บนอกมาแล้ว พบว่า มันมีประสิทธิภาพพอ ๆ กับ Surface 3
ส่วนระยะการใช้งาน Lenovo เคลมว่า แบตฯ ของ Yoga Book อยู่ได้นานถึง 13 ชั่วโมง จากการใช้งาน ก็พบว่า น่าจะอยู่ได้นานจริง ผมเทสเปิดเครื่องตั้งแต่ 9 ทุ่ม ยันตี 2 แบตฯ ยังเหลือประมาณ 70% จาก 90%
ตัวพื้นที่เก็บข้อมูลของ Yoga Book จะเป็น NAND Fash Storage มีพื้นที่ให้ 64 GB
หน้าจอความละเอียดระดับ Full HD (1,920 x 1,080) ในขนาดจอ 10 นิ้ว
สรุปภาพรวม รีวิว Lenovo Yoga Book
หลังสัมผัสมันได้หนึ่งวัน (หรือครึ่งวัน) บอกเลยว่า ไม่อยากคืน อยากด้ายยยยยย เหตุผลที่อยากได้คือ “มันเท่” เรียกได้ว่า มันเป็นโน๊ตบุ๊คหรือแท็บเล็ตที่มีความเบาบางที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลย ทั้งดีไซต์กับวัสดุที่ใช้ จัดว่าดีงามมาก ๆ ส่วนประสบการณ์ใช้งาน หน้าจอ 10 นิ้ว แต่ความละเอียด 1080p ดีงามกว่าที่คิด ในส่วนคีย์บอร์ด ยังไม่ตอบสนองการพิมพ์สำหรับผมมากนัก คงต้องลองใช้งานจนชินก่อนถึงจะชอบ อีกเรื่องคือ แป้นพิมพ์ Eng ที่ดูแล้วคงหมดโอกาสหาสติ๊กเกอร์ภาษาไทยมาติดแน่นอน แต่พอให้อภัยได้ เพราะเวลาไปพิมพ์ให้คนอื่นเห็น รู้สึกเท่อย่างบอกไม่ถูก… ต่อมาคือ การขีดเขียน ส่วนนี้ผมให้คะแนน 8/10 อีกสองคือหักในเรื่องการแลเงาและลงเส้น ที่ยังต้องปรับปรุงอยู่หน่อย แต่นอกนั้น Feeling การเขียนแจ่มมาก และจดลื่นไหลดี
สุดท้ายนี้ อาจต้องหนักใจในสเปกตัวเครื่องอยู่บ้าง ที่เมื่อเทียบกับราคาแล้ว จัดว่าสูงไปนิด (ราคาและสเปก ก็พอ ๆ กับ Surface 3) โดยราคาของ Yoga Book สนนอยู่ที่ 549 เหรียญฯ หรือประมาณ 20,000 บาท สำหรับรุ่น Windows 10 และ 499 เหรียญฯ หรือประมาณ 18,000 บาท สำหรับรุ่น Android แต่ถ้าไม่เน้นใช้งานหนัก ๆ เอามาขีดเขียนอย่างเดียว ก็อีกเรื่องหนึ่งครับ
ข้อดี
- เบาบางและสวยงามยิ่งนัก
- งานประกอบดูแข็งแรงและหรูหรามาก
- หน้าจอ 1080p
- ให้สัมผัสการชีดเชียนได้ดี โดยเฉพาะเวลาเขียนบนกระดาษ
- คีย์บอร์ด Halo Keyboard ดูสวยแปลกตาดี
- แบตฯ อึด
ข้อสังเกต
- พื้นที่ 64GB ยังน้อยไปนิด
- คีย์บอร์ด Halo Keyboard ต้องใช้เวลาถึงจะพิมพ์คล่อง
- ไม่มีแป้นพิมพ์ภาษาไทย
- พื้นที่การขีดเขียนเล็กไปหน่อย (มีบางครั้ง อุ้งมือไปโดนปุ่มสลับแป้นพิมพ์ตอนวาด คีย์บอร์ดโผล่มาเฉย)
- ไม่มี OTG USB แถมมาให้
- ราคายังสูงไปนิดเมื่อเทียบกับสเปก
พี่ครับมันลงโปรแกรมเพิ่มได้ปะคับ
ถ้านำมาใช้งานกับ power point 200 slide เต็มไปด้วยรูป นี่ไหวไหมครับ