รีวิว Lenovo Vibe Shot ทางเลือกโดนๆ ของมือถือเน้นกล้อง

ถือเป็นเรื่องโชคดีสำหรับแอดมิน CK7 ที่ภายหลัง Lenovo Vibe Shot เปิดตัวในประเทศไทย อย่างเป็นทางการไม่กี่วันก็ได้มีโอกาสรับตัวเครื่องจริงมาทดสอบ ในเมื่อมีมือถือใหม่ สดๆ ซิงๆ แบบนี้ จะใช้เพียงอย่างเดียวแล้วไม่บอกต่อกัน คงทำไม่ได้ และด้วยดีไซน์ที่ชวนให้นึกถึงกล้องคอมแพค Sony CyberShot แถมพกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยมในความเป็นมือถือราคากลางๆ ประสิทธิภาพสูง โดดเด่นเรื่องการถ่ายภาพ ทำให้ยิ่งอยากลอง Lenovo Vibe Shot มากขึ้นไปอีก

Lenovo Vibe Shot เป็นอีกซีรีส์ในตระกูล Vibe ซึ่งหากท่านใดยังจำกันได้คงพอทราบว่าเจ้ามือถือรุ่นนี้เปิดตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ที่เมืองบาร์เซโลน่า ในงาน Mobile World Congress 2015

สเปคของ Lenovo Vibe Shot แยกออกเป็นดังนี้

– หน้าจอ IPS LCD ขนาด 5 นิ้ว ครอบด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 3 ความละเอียดการแสดงผล 1920 x 1080 พิกเซล (441 ppi)

– รัน Android 5.1 Lollipop

– ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 615

– แรม 3GB, หน่วยความจำภายใน 32GB, ใส่ MicroSD card เพิ่มได้ ความจุสูงสุด 128G

– ใช้งานได้ 2 ซิม แบบ microSIM

– กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล

– ใช้พอร์ต microUSB 2.0

– ใช้ได้ทั้ง 3G และ 4G

– แบตเตอรี่ความจุ 3,000mAh

Lenovo Vibe Shot ขนาดตัวเครื่องโดยรวมอยู่ที่ 142 x 70 x 7.3 mm น้ำหนัก 145 กรัม ซึ่งในตลาดเมืองไทยเวลานี้ขนาดมือถือที่ใกล้เคียงกับ Lenovo Vibe Shot ขอยกตัวอย่างบางรุ่น เช่น Sony Xperia M5 Dual (ขนาดโดยรวม 145 x 72 x 7.6 mm น้ำหนัก 142.6 กรัม) หรือจะเป็น Samsung Galaxy E7 (ขนาดโดยรวม 151.3 x 77.2 x 7.3 mm น้ำหนัก 141 กรัม)

ดีไซน์ Lenovo Vibe Shot ใช้กระจก Corning Gorilla Glass 3 ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง ที่ให้ข้อดีในเรื่องของการป้องกันรอยขีดข่วนจากลูกกุญแจหรือพวกเหรียญบาท ในเวลาใส่กระเป๋า ในทางกลับกันก็เกิดเป็นรอยนิ้วมือได้ง่ายด้วย ตัวเครื่องสังเกตให้ดีจะพบว่าเหมือนแบ่งออกเป็น 2 เลเยอร์ แต่ไม่กระทบกับการหยิบจับด้วยมือเดียวแต่อย่างใดครับ

Lenovo-11
ด้วยวัสดุกระจกที่ใช้ แม้จะดูสวยงาม แต่ก็เป็นรอยนิ้วมือได้ง่ายเช่นกัน

ตัวเครื่องด้านบนเป็นรูต่อหูฟังกับรูไมโครโฟน, ฝั่งซ้ายเป็นช่องสำหรับใส่ microSIM ได้ 2 ซิม, ช่อง microSD card ฝั่งขวาแบ่งเป็นปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ปุ่มปรับโหมดกล้อง และปุ่มชัตเตอร์, ท้ายสุดจะเป็นพอร์ต microUSB 2.0 คั่นกลางระหว่างลำโพง

ในหน้าจอขณะล็อค นอกจากจะคอยแสดงการแจ้งเตือนต่างๆ ยังมีปุ่มสำหรับการโทรออกและเรียกใช้งานกล้องได้ในทันที รวมไปถึงมีโหมดป้องการใช้งานที่ไม่จำเป็น อาทิ การป้องการโทรออกเมื่ออยู่ในกระเป๋า หรือป้องกันการเรียกใช้งานฟีเจอร์อื่นๆ โดยบังเอิญในขณะที่ไม่ได้ถืออยู่บนมือ

Screenshot_2015-09-01-00-29-04-993

เมื่อเข้ามายังหน้าแรกจะพบว่ามีแอพต่างๆ เรียงรายให้เลือกใช้ ในทันที โดยไม่ต้องกดเข้าหน้ารวมแอพเหมือนมือถือ Android หลายๆ รุ่นอีกต่อไป มีแอพจาก Lenovo หลายตัวที่ถูกลงมาให้เลย ได้แก่

ธีม

SHAREit แอพที่จะช่วยแชร์ภาพหรือแอพไปยัง iOS, Windows Phone หรือพีซี หรือจะโคลนไฟล์ข้อมูลทั้งหมดจากมือถือที่ใช้อยู่ ไปยังมือถืออีกเครื่องก็ได้ แต่จะใช้ต้องโหลดแอพมาติดตั้งเสียก่อน

SYNCit แอพที่ช่วยสำรองข้อมูลข้อความและหมายเลขโทรศัพท์ไปที่ระบบคลาวด์ และสามารถเรียกคืนข้อมูลในภายหลังได้

Lenovo Companion แอพที่คอยให้ข้อมูลเครื่อง และตอบปัญหาที่เกิดขึ้น

แทบแจ้งเตือน มาในแบบ Flat Design ดั้งเดิม สามารถเพิ่มคอลัมน์การแสดงเมนูลัดได้สูงสุด 5 คอลัมน์ หรือจะสลับตำแหน่งแต่ละเมนูก็ทำได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งานของแต่ละคน

ในแอพ Setting หรือการตั้งค่า มีเมนูในการปรับแต่งค่าต่างๆ ได้อีกไม่น้อย  แต่ขอคัดเอาบางเมนูมาแนะนำกันคร่าวๆ นะครับ เช่น

การแสดงผล (Display) : ในเมนูนี้ก็จะแบ่งย่อยออกไปอีกหลายเมนู ยกตัวอย่าง

แสดงความสมดุลย์สี (Display color Balance): มี 5 โหมดให้เลือก โดยจะมีข้อความกำกับของการใช้งานแต่ละโหมดไว้ชัดเจน

     – การป้องการสายตาในช่วงกลางคืน (Brightness protection) : โหมดที่ช่วยอำนวยการใช้งานในเวลากลางคืน แต่ยังไงก็เชื่อว่าการไม่เล่นมือถือในที่มืด จะช่วยถนอมสายตาได้มากกว่า

     – การตั้งค่าการแจ้งเตือน (Notification Center): สามารถเข้าไปกำหนดการแจ้งเตือนต่างๆ ได้เอง ยกตัวอย่าง

     – แสดงความเร็วเครือข่ายปัจจุบัน (Display current network speed) : อันนี้ถือว่าดี เพราะจะช่วยให้รู้ว่า เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ใช้อยู่มีความเร็วที่เท่าไหร่

     – จัดการแจ้งเตือนแอพพลิเคชัน (App notification management): สามารถกำหนดได้เองว่าต้องการให้แอพได้บ้างแสดงการแจ้งเตือน

คุณลักษณะ (Feature): ฟีเจอร์ลัด ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานบางอย่าง เช่น

     – เพิ่มความสว่างหน้าจอ (Knock to light) : ในขณะปิดหน้าจอ แตะสองครั้งที่หน้าจอเพื่อให้หน้าจอสว่างขึ้นมา แต่โดยส่วนตัวแล้ว ปิดหน้าจออยู่และกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องหรือปุ่มพาวเวอร์จะง่ายกว่าเยอะ

Screenshot_2015-09-15-18-12-47-118

     – ฉากแบบสมาร์ท (Smart scene) : ตัวเลือกที่ผู้ใช้สามารถเลือกปรับค่าต่างๆ ให้เหมาะสมในสถานการณ์ที่หลากหลายได้ด้วยตนเอง หรือจะเลือกใช้ตามที่กำหนดมาให้อัตโนมัติเลยก็ได้ อันนี้ก็ถือว่าน่าลองใช้นะ ประมาณว่าเวลาเรียนหรือประชุมอยู่ก็ให้เลือกใช้โหมดให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ รวดเดียวจัดการให้เสร็จสรรพ แต่จะง่ายกว่ามั้ย ถ้าลากแทบแจ้งเตือนลงมาและแตะปุ่มปิดเสียง …. ?

Screenshot_2015-09-15-18-13-08-771

     – สัมผัสกว้าง (Wide Touch) : การเรียกใช้ปุ่ม Virtual Home สำหรับการเข้าถึงบางเมนูที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน

Screenshot_2015-09-14-21-25-54-765

ระบบจัดการพลังงาน (Power Manager) : จากที่ผมได้ลองจับมือถือ Android หลายรุ่นในปีนี้ มักพบว่าผู้ผลิตหลายค่ายใส่ใจเรื่องการจัดสรรพลังงานและวิธีที่ช่วยประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มโหมดประหยัดพลังงานเข้ามาเป็นทางเลือกที่ช่วยให้มือถืออยู่ได้นานยิ่งขึ้น ประมาณว่าไม่ต้องแบกแบตสำรองให้หนักกระเป๋า ใน Lenovo Vibe Shot ก็เช่นกันที่ใช้โหมดประหยัดพลังงานมาเป็นตัวช่วยเพิ่มชั่วโมงการใช้งานมากขึ้น จะแบ่งออกเป็นโหมดย่อยได้ ดังนี้

Screenshot_2015-08-31-23-48-22-690

  -โหมดประหยัดแบตเตอรี่ (Battery Saver) : โหมดนี้จะช่วยลดการทำงานของอุปกรณ์ลง เช่น การหยุดไม่ให้แอพพลิเคชั่นอัพเดตอัตโนมัติ ซึ่งโหมดนี้จะหยุดทำงานทันทีเมื่อมีการต่อสายชาร์จ

-ประหยัดพลังงานสำหรับหน้าจอและ GPU (Screen and GPU power saver) : เป็นการลดและจำกัดการแสดงผลบนหน้าจอ รวมไปถึงลดพลังงานจากกราฟิก

-โหมดประหยัดพลังงานขั้นสูง (Ultimate Power Saver) : ตัวเลือกตัดหน้าจอให้เป็นขาวดำ ซึ่งหลายคนที่ใช้มือถือ Samsung น่าจะได้ลองใช้โหมดในลักษณะนี้มาบ้าง ในยามที่แบตเหลือน้อย ไม่มีแบตสำรองพกติดตัว เช่นกันใน Lenovo Vibe Shot ใช้หลักการเดียวกัน เมื่อเปิดใช้โหมดนี้จะตัดหน้าจอเป็นขาวดำ เพื่อประหยัดพลังงานในระดับสูงสุด ตัดการใช้งานให้เหลือ 4 อย่างที่จำเป็น พร้อมแจ้งว่าในขณะที่แบตเตอรี่มีเปอร์เซ็นต์เหลือเท่านี้ จะสามารถใช้งานมือถือได้อีกกี่ชั่วโมง กี่นาที

Screenshot_2015-08-31-23-48-33-286

นอกจากนี้ในระบบจัดการพลังงาน ยังสามารถดูรายละเอียดการใช้พลังงาน ทั้งในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ได้ โดยในด้านซอฟต์แวร์จะทำให้รู้ได้ว่า แอพใดที่ใช้พลังงานมาก ใช้พลังงานน้อย เพื่อให้สามารถปิดการใช้งานได้ในยามที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อลดการใช้พลังงานได้อีกด้วย

แนะนำบางเมนูไปบ้างแล้ว คราวนี้มาดูผลคะแนน Benchmark จากแอพ Antutu กันบ้าง เป็นการทดสอบในแบบ 64-bit ซึ่งคะแนนโดยรวมถือว่าโอเคเลย และหากลองนำคะแนนการทดสอบในแต่ละส่วนไปเปรียบเทียบกับมือถือตัวท็อปบางค่าย อาจพบว่าคะแนนบางส่วนของ Lenovo Vibe Shot เหนือกว่าด้วยซ้ำ

ในการทดสอบเล่นเกมบน Lenovo Vibe Shot ผมเลือกใช้ Implosion เกมต่อสู้ ตะลุยด่าน ซึ่งเมื่อรวมภาพกราฟิกจากเกมกับความละเอียดหน้าจอระดับ Full HD รวมไปถึงชิป Snapdragon ส่งผลให้การแสดงผลออกมาค่อนข้างคมชัด และเนี๊ยบ ลื่นไหลพอสมควร แถมเสียงจากลำโพงคู่แสดงรายละเอียดออกมาได้ค่อนข้างน่าพอใจ

Screenshot_2015-09-15-23-35-09-147
ภาพจากเกม Implosion

Screenshot_2015-09-16-01-19-57-492

ทดสอบการดูตัวอย่างหนังผ่าน YouTube

มาถึงไฮไลท์สำคัญที่เรื่องกล้อง ซึ่ง Lenovo ชูจุดเด่นของมือถือที่ให้ประสิทธิภาพด้านการถ่ายภาพ ที่ใช้การออกแบบละม้ายคล้ายกล้องคอมแพค  มีความชัดเจนในการออกแบบที่แยกปุ่มชัตเตอร์ออกไว้ด้านข้างของตัวเครื่อง พร้อมเพิ่มสวิตซ์ที่สามารถเลือกโหมด Auto หรือการถ่ายภาพแบบปกติไปใช้โหมด Pro หรือปรับแต่งค่าต่างๆ ก่อนถ่ายภาพได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่า ISO, White Balance หรือค่าชดเชยแสง เป็นต้น

Lenovo-12

โหมด Auto

Lenovo-4

โหมด Pro

อีกหนึ่งจุดเด่นจากกล้อง Lenovo Vibe Shot คือ ฟีเจอร์ Smart Composition เป็นส่วนหนึ่งในโหมด Auto ช่วยในเรื่องจัดองค์ประกอบของการถ่ายภาพ สังเกตได้จากหน้าจอก่อนถ่ายภาพจะปรากฏเส้นสองเส้นตัดกัน เพื่อแสดงให้ผู้ใช้รู้ว่าภาพที่เตรียมจะถ่าย มีการจัดวางมุมกล้องอยู่ในแนวสมดุลแล้วหรือไม่

Lenovo-3

ขณะที่โหมด Smart ที่ปรากฏอยู่แทบด้านบน เสมือนเซนเซอร์ที่คอยตรวจวัดแสงให้อัตโนมัติ ซึ่งเมื่อใดที่ถ่ายภาพในที่แสงน้อยหรือในเวลากลางคืน เจ้าโหมด Smart ก็จะปรับเข้าสู่โหมดการถ่ายภาพในที่แสงน้อยหรือกลางคืนโดยอัตโนมัติให้ทันที นับเป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับนักถ่ายภาพสมัครเล่น

Lenovo-2

นอกจากนี้ที่ลืมไม่ได้คือ โหมดถ่ายภาพอื่นๆ ในลักษณะต่างๆ ก็มีมาให้เช่นเคย ใครที่ชอบสไตล์ไหนก็สามารถเลือกใช้กันได้ตามสบาย หรือจะเป็นการปรับตั้งค่าอื่นๆ ก็มีให้เลือกครับ

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง Lenovo Vibe Shot  ส่วนภาพที่นำเสนอใช้โหมด Auto เป็นหลักครับ

คลิกที่ภาพ เพื่อขยายใหญ่

เปรียบเทียบภาพถ่ายแบบใช้แฟลชระหว่าง Lenovo Vibe Shot กับ Samsung Galaxy Note 4 

Lenovo-6
Lenovo Vibe Shot
Lenovo-7
Samsung Galaxy Note 4

กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล บอกสั้นๆ ว่า เชื่อใจได้ เรื่องเซลฟี่ ทั้งชัด และมีโหมดปรับหน้าใสเช่นเคย

ข้อดี

-ดีไซน์มีความโดดเด่น พรีเมียมด้วยกรอบด้านข้างด้วยวัสดุอะลูมิเนียม

-แสดงความชัดเจนของความเป็นมือถือเน้นกล้อง ด้วยปุ่มชัตเตอร์ที่แยกออกมา รวมถึงเลือกใช้โหมด Auto ที่มาพร้อมตัวช่วยสำหรับนักถ่ายภาพมือสมัครเล่น หรือหากเป็นคนชอบปรับสภาพแสงสีเอง ก็สามารถปรับไปใช้โหมด Pro ได้ง่ายๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน

-กล้องหน้าฟรุ้งฟริ้ง ถ่ายภาพเซลฟี่ในแบบหน้าเนียนๆ ชัดๆ ได้สบาย

-มีมุมสำหรับคล้องเชือก ไว้ห้อยคอได้

-ไร้กังวลเรื่องการดูหนัง เล่นเกม ฟังเพลง

ข้อเสีย

-อินเตอร์เฟซหรือส่วนติดต่อกับผู้ใช้ ยังขาดจุดเด่น ดูไม่ต่างจากมือถือ Android ทั่วไป

-ด้วยความเป็นกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้เกิดรอยนิ้วมือได้ง่าย

-เมื่อถ่ายภาพเสร็จ เรียกดูภาพได้ค่อนข้างช้า

สรุปภาพรวมของของ Lenovo Vibe Shot

เด่นในเรื่องดีไซน์ สนับสนุนคนชอบถ่ายภาพ จะสมัครเล่นหรือมืออาชีพก็ใช้งานได้ง่าย การใช้งานทั่วไปตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ภายใต้ราคาเพียง 11,900 บาท หากเมินหน้านี้ iPhone หรือ Samsung ลองมาใช้ Lenovo Vibe Shot ก็นับว่าเด็ดครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here