จับเทส HP Z2 Mini G3 Workstation คอมพ์จิ๋วหรือ Mini PC ที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็อัดสเปกในระดับ Workstation ด้วยขุมพลังจาก ซีพียู Intel Xeon E3 และ การ์ดจอ Nvidia Quadro m620 ในตัว
อย่างที่รู้กันว่าพวกอุปกรณ์ระดับ Workstation ส่วนมากจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่สำหรับ HP Z2 Mini G3 Workstation ตัวนี้ กลับหดอยู่ในร่าง Mini PC ที่กินพื้นที่โต๊ะทํางานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยจับ พรีวิวไปแล้ว คราวนี้ก็ได้มีโอกาสจับรีวิวเสียที กับหนึ่งในอุปกรณ์ระดับ Commercial อีกรุ่น ที่ชูคอนเซ็ปต์ Office of The Future รุ่นตอบโจทย์กลุ่มคนทำงานด้านกราฟฟิกหรือตัดต่อโดยเฉพาะ ด้วยสเปกที่ทรงพลังไม่น้อยอย่างซีพียู “Xeon” และการ์ดจอ “Quadro”
สเปก HP Z2 Mini G3 Workstation (รายละเอียด)
CPU : Intel Xeon E3 1225 V5 (3.30GHz)
GPU : Nvidia Quadro m620 2GB DDR5
RAM : 16 GB DDR4-2400 (2 x 8 GB)
HDD : HGST 1TB 7200 rpm (2.5″)
Ports : USB 3.0 x 4, USB Type-C x 2, Display Port x 4, LAN Gigabit x 1, Jack 3.5 mm x 1
Dimensions : 216 x 216 x 58 mm
Weight : 2 Kg
Warranty : รับประกัน 3 ปี
OS : Windows 10 Pro 64
สำหรับสเปกของ HP Z2 Mini G3 Workstation ต้องบอกก่อนว่า ตอนเลือกซื้อ เราสามารถเลือกสเปกตามที่ต้องการได้หลายอย่าง โดยจะเลือก CPU อะไร (ตั้งแต่ Core i3 ไปถึง Xeon E5) RAM ขนาดไหน (สูงสุด 32GB ใช้แรมแบบโน็ตบุ๊ค) HDD/SSD (500GB หรือ 1TB กับมีช่อง M2 ไว้ใส่ SSD เพิ่มอีกได้) และสุดท้าย การ์ดจอ Nvidia Quadro m620 ที่เลือกว่าจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ (ถ้าไม่ใส่ก็จะได้ใช้ HD Graphics ของซีพียูแทน) ดังนั้นสเปกในที่นี้ จึงไม่ใช่สเปกตายตัวของรุ่นนี้ซะทีเดียว แต่ก็บอกได้ว่าเป็นสเปกเกือบสุดของรุ่นแล้วครับ
แกะกล่อง
อุปกรณ์ภายกล่อง ก็แถมชุดเมาส์ + คีย์บอร์ดไร้สาย และตัวเครื่อง
ส่องความใหญ่ของชุดไฟเลี้ยงกันก่อนครับ..
วัสดุและดีไซน์
ตัวเครื่องมีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยม แต่ด้วยมุมเครื่องที่ตัดเป็นมุมเหลี่ยมอีกที ทำให้กลายเป็น 8 เหลี่ยม ซึ่งก็ช่วยเพิ่มความสะดุดตาได้พอควร วัสดุโดยรวมเป็นพลาสติกดูแข็งแรงทนทานดี งานประกอบแน่นหนามั่นคงมาก ส่วนสีตัวเครื่องก็ออกเทา ๆ ด้าน ๆ มากกว่าดำ
โลโก้แบบใหม่ของ HP เด่นสง่าหน้าเครื่อง
แต่ส่วนที่ราบเรียบนั้น ก็เป็นพื้นที่สำหรับวางตัวเครื่องในแนวตั้งนี้เอง
หลังดูรอบ ๆ ตัวเครื่องแล้ว จะสังเกตได้ว่าตัวเครื่องไม่มีน็อตสักตัวเลย ทำให้มันดูราบเรียบสวยงามไปซะทุกส่วน แต่คำถามคือ แล้วเราจะแกะเครื่องยังไง ? หลังควานหาอยู่นานในที่สุดก็พบ “ปุ่มลับ” บางอย่าง
หลังกดปุ่มลับที่ว่า ก็จะเป็นการปลดล็อค “ฝาบน” ของตัวเครื่องนี้เอง เมื่อถอดออกมาก็จะพบกับไส้ในทั้งหมดของ HP Z2 ตัวนี้ หากต้องการอัพสเปกเพิ่มเติมยังไง ก็มาแกะดูที่นี้ได้
ในส่วนที่อัพสเปกได้ ก็มี SD RAM DDR4 ซึ่งใส่ได้สูงสุด 32 GB มีช่องใส่ HDD หรือ SSD ขนาด 2.5″ และช่องใส่ M2 SSD อย่างล่ะช่อง ส่วนซีพียูสามารถเลือกสเปกได้ตั้งแต่ Intel Core i3 ไปจนถึง Intel Xeon สุดท้ายการ์ดจอ Nvidia Quadro m620 2GB DDR5 จะเป็นสเปกเดียวที่ตายตัว เลือกได้แค่ใส่หรือไม่ใส่เท่านั้น
ประสิทธิภาพ
เนื่องจาก HP Z2 ที่ได้มารีวิวนี้ มาพร้อมการ์ดจอ Nvidia Quadro m620 ในตัวเลย จึงมีโอกาสได้ทดสอบประสิทธิภาพด้าน Workstation ด้วย แต่ให้พูดตามตรงแล้ว การ์ดจอตัวนี้ถือเป็นรุ่นเกือบเล็กสุดของตระกูล Quadro คือยังไม่ใช่ตัวโหด ๆ อะไรนัก (ถึงอย่างนั้นก็ลุยงานกราฟฟิกได้ดีกว่าพวก GeForce หลายเท่า) แต่ก็มาพร้อมแรม 16GB และ Xeon ซีพียูสำหรับเครื่อง Server ที่มีจุดเด่นในเรื่องความเสถียรและถึกทนเป็นพิเศษ ทำให้พอลุ้นว่าจะลุยงาน Workstation ได้ดีขนาดไหน โดยผลการทดสอบก็เป็นไปตามนี้
รายละเอียดซีพียู Intel Xeon E3 1225 V5 และ Nvidia Quadro m620 2GB DDR5 ของ HP Z2 Mini G3 Workstation รุ่นที่รีวิว
คะแนน Cinebench R15 การ์ดจอ Quadro m620 ทำได้ดีพอควร ส่วนซีพียู Xeon E3 ก็ถือว่าไม่เลว
X264 โปรแกรมทดสอบพลังซีพียูอีกตัว (จำลองการเข้ารหัสหรือแปลงไฟล์) สำหรับ Xeon E3-1225 v5 ใน HP Z2 นี้ก็ให้ความเร็ว 20.48 fps ไม่มากไม่น้อย
เทสพลังของซีพียูต่อด้วย AIDA64 Cache & Memory Benchmark
ผลเทสของซีพียูและการ์ดจอจาก AIDA64 GPGPU Benchmark
ทดสอบความเร็ว HDD ขนาด 1TB จาก HGST ของเครื่อง ด้วย AS SSD Benchmark ความเร็วอ่าน/เขียนที่ได้ ก็ตามมาตรฐานครับ
ผลทดสอบความร้อนของ HP Z2 ขณะใช้งานแบบเต็มที่หรือ Full Load (ทดสอบในห้องแอร์) ความร้อนสูงสุดที่วัดได้คือ 78 องศา ถือว่าระบายความร้อนได้ดีระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็ไม่ระดับ 80 องศาเป็นต้นไป ส่วนความร้อนโดยเฉลี่ย 41 – 69 องศา ถือว่าดีงาม
ลักษณะการระบายความร้อนของ HP Z2 ใช้พัดลมแบบ Blower 2 ตัว (ถ้าไม่ใส่การ์ดจอ ก็มีตัวเดียว) ดูดลมเข้าจากด้านหน้าเครื่อง แล้วเป่าลมร้อนออกด้านหลังนั้นเอง
มาถึงผลเทสด้าน Workstation กันแล้ว ในส่วนนี้ก็ทดสอบด้วยโปรแกรม Spec Viewperf 12.1 ที่ได้รวมเอาโปรแกรมสร้างงานกราฟฟิกชื่อดังต่าง ๆ มาทดสอบโดยเฉพาะ โดยตัว HP Z2 คะแนนถือว่าทำได้ดีเกินคาด แทบไม่ห่างจาก Quadro K1200 ที่เป็นการ์ดระดับสูงกว่าเลยครับ (ดูผลเปรียบเทียบได้ที่นี้) เรียกได้ว่า ลุยงานกราฟฟิกที่สเกลไม่ใหญ่มากได้สบาย ๆ เลย
อีกโปรแกรมคือ Realbench 2.54 ทดสอบประสิทธิภาพและความเสถียรโดยรวมของเครื่อง เช่น แต่งภาพ แปลงไฟล์ OpenCL และ Multitasking เปิดใช้งานหลาย ๆ โปรแกรม เมื่อลองเอาเครื่อง Workstation อย่าง HP Z2 เทสดู คะแนนโดยรวมที่ได้คือ 58,924 จัดว่ากลาง ๆ ไม่สูงมากนัก
HP Z2 สเปค Workstation รุ่นนี้พอเล่นเกมได้ไหม ? จับเทสด้วยเกม Resident Evil 6 ถือว่าพอเล่นได้
แต่หากลองเทสด้วย Monster Hunter Online ที่กินสเปกหนักหน่อย ก็ตามสภาพ…
สรุป
มาพูดถึงข้อดีของ Mini PC กันก่อน อย่างแรกคือ 1.ประหยัดพื้นที่ 2.มีฟีเจอร์พิเศษ 3.สำเร็จรูปพร้อมใช้งาน 4.ประกันแจ่ม และ 5.ดีไซน์สวย ทั้งหมดถือเป็นข้อดีหลัก ๆ ของคอมฯ ประเภทนี้ กลับมาที่ HP Z2 Mini G3 Workstation ก็ถือได้ว่าเป็น Mini PC สเปกสูงมาก ๆ ตัวหนึ่ง ที่สามารถใช้งานด้าน Workstation ได้ดีพอควร ว่ากันที่ภายนอกก่อน การออกแบบถือว่าสวยในระดับหนึ่ง วัสดุและงานประกอบดีมาก ขนาดตัวเครื่องก็เล็กไม่กินพื้นที่ดี ส่วนประเด็นหลักอย่างภายใน ที่วัดต้องวัดกันตรง ๆ ว่า “เล็กแต่ทรงพลัง” จริงหรือไม่ ? จากผลเทสด้วยโปรแกรม Spec Viewperf 12.1 ก็เป็นคำตอบแล้วว่า ทรงพลังจริง สามารถรันงานกราฟฟิกได้ดีไม่แพ้พวกเครื่อง Workstation ระดับกลาง ๆ เลย แม้ตัว HP Z2 จะใช้การ์ดจอระดับเริ่มต้นอย่าง Nvidia Quadro m620 ก็ตาม ทว่าหากใช้งานทั่ว ๆ ไปแล้ว ก็ไม่สูงโดดเด่นซะทีเดียว แต่รวม ๆ ก็ยังอยู่ในขั้นดีงาม พอเทียบเท่าเครื่อง Desktop PC ได้อยู่
สุดท้ายก็ต้องมาวัดใจที่ราคา ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ราคาเริ่มต้นของ HP Z2 Mini G3 Workstation อยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท แต่สเปกที่ได้มีเพียง Intel Core i3-6100 + Intel HD Graphics 530, RAM 4GB, HDD 1TB เท่านั้น ส่วนตัวเครื่องที่ได้มารีวิวนี้ คือสเปกแบบเกือบจัดเต็ม ราคาอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทกว่า ๆ แพงกว่าเครื่อง Workstation ในร่าง Desktop ที่สเปกประมาณนี้ น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 4 – 5 หมื่นบาท สรุปคือ เราต้องเลือกระหว่างข้อดีของ Mini PC ตามที่ว่าไว้ หรือยอมใช้เครื่อง Desktop ตัวเบ้งไปเลย ซึ่งมีข้อดีคือ ราคาต่อสเปกถูกกว่า อัพเกรดสเปกได้ไกลกว่า แต่ข้อเสียคือมันใหญ่เท่านั้น แล้วแต่ความต้องการเลยครับ
ข้อดี
- วัสดุและงานประกอบพรีเมี่ยมหรูหรามาก
- ตัวเครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัดดี น้ำหนักก็เบา
- อัพเกรดสเปกง่าย ไม่ต้องขันน็อตหรือแกะอะไรให้วุ่นวายมาก
- จัดสเปกได้หลากหลาย โดยเฉพาะซีพียู
- ประสิทธิภาพด้าน Workstation ถือว่าดีเกินคาด
- ระบบระบายความร้อนไม่เลว และยังไม่ส่งเสียงรบกวนด้วย
ข้อสังเกต
- เลือกการ์ดจอตัวอื่น ๆ ไม่ได้ นอกจาก Nvidia Quadro m620 เท่านั้น
- ราคาต่อสเปกค่อนข้างโหด