ปัจจุบัน Zenfone นับเป็นสมาร์ทโฟนจาก ASUS ที่กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยพอสมควร ในฐานะของการเป็นสมาร์ทโฟนสเปกดี ราคาถูก ซึ่ง Zenfone แบ่งสายแยกย่อยออกเป็นซีรีส์ต่างๆ มากมาย เพื่อตอบโจทย์ผู้คนที่มีความต้องการแตกต่างกัน โดยพฤติกรรมของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่นอกจากการใช้อินเทอร์เน็ต 3G/4G ยังใช้เพื่อการถ่ายภาพ ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ ASUS จึงหมายมั่นปั้นมือที่จะตอบสนองพฤติกรรมดังกล่าว และยกระดับประสบการณ์ด้านการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ASUS Zenfone Zoom
สเปก ASUS Zenfone Zoom เครื่องที่ใช้ทดสอบ มีดังนี้
– หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว กระจกหน้าจอ Corning Gorilla Glass 4 ความละเอียดการแสดงผล Full HD (1920 x 1080 พิกเซล)
– รัน Android 5.0 Lollipop ครอบทับด้วย ZenUI
– ชิปประมวลผล Intel Atome Z3590 ความเร็ว 2.5GHz, หน่วยประมวลผลกราฟิก PowerVR G6430
– แรม 4GB LRDDR3, หน่วยความจำภายใน 128GB, ใส่ microSD Card ความจุสูงสุด 128GB
– กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล, ชุดเลนส์ 10 ชิ้น เรียกว่า HOYA, f/2.7-4.8, 3X optical zoom ซูมสูงสุด 3 เท่า, มีระบบกันสั่น OIS, Laser Auto Focus และแฟลชคู่ Dual LED
– กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
– รองรับ 1 ซิมการ์ด
– สนับสนุนการเชื่อมต่อ 3G / 4G, WLAN 802.11ac, Bluetooth 4.0 และ NFC
– แบตเตอรี่ความจุ 3,000 mAh ถอดฝาหลังได้ รองรับเทคโนโลยี Fast Charging
การออกแบบ ASUS Zenfone Zoom ด้านหน้าเป็นกระจก Gorilla Glass 4 ที่ช่วยลดปัญหาการเกิดรอยขีดข่วนจากของมีคม ซึ่งรูปลักษณ์ด้านหน้ายังยึดแนวทางเช่นเดียวกับ Zenfone ในรุ่นอื่นๆ ที่ผ่านมา มีปุ่มควบคุมแบบ capacitive ได้แก่ ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มโฮม และปุ่มปิดแอปที่ไม่ได้ใช้งาน อยู่ถัดลงมาจากกจอแสดงผล ขอบด้านข้างทั้ง 4 ด้านใช้วัสดุประเภทสแตนเลสสตีล มีปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง (แถมเป็นปุ่มซูมสำหรับถ่ายภาพ), ปุ่มพาวเวอร์ (เปิด-ปิดหน้าจอ และเปิด-ปิดเครื่อง), ปุ่มกดบันทึกวีดีโอ และปุ่มชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ โดยทั้ง 4 ปุ่มดังกล่าวอยู่ในฝั่งขวาของตัวเครื่องทั้งหมด
ขอบตัวเครื่องด้านบนเป็นพอร์ตสำหรับต่อหูฟัง ขนาด 3.5 มิลลิเมตร สำหรับต่อหูฟัง และพอร์ตที่ขอบด้านล่างสำหรับต่อสาย microUSB นอกจากนี้ใกล้ๆ กันจะมีช่องสำหรับใส่สายคล้องมือ ซึ่งจะมีแถมมาให้ด้วยเลยครับ
ส่วนด้านหลังนับว่ามีความแตกต่างไปจาก Zenfone ทุกรุ่น ฝาหลังเปลี่ยนวัสดุมาเป็นหนัง ผิวขรุขระ แทนการใช้พลาสติก ซึ่งลักษณะดูคล้ายฝาหลังของ Samsung Galaxy Note 3 มีโมดูลกล้องขนาดใหญ่ และตำแหน่งลำโพงอยู่ในมุมซ้ายด้านล่างของฝาหลังครับ
จุดเด่นสำคัญของ ASUS Zenfone Zoom เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก กล้อง !! อันเป็นจุดขายที่สร้างความแตกต่างมากกว่า Zenfone ในรุ่นอื่นๆ มีเทคโนโลยี 3X optical zoom ซูมสูงสุดได้ 3 เท่า ใช้ชุดเลนส์ 10 ชิ้น เรียกว่า HOYA ตามที่ ASUS บอกเล่าให้ฟัง ความละเอียดของกล้องหลังที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรก จะอยู่ที่ 10 ล้านพิกเซล อัตราส่วน 16 : 9 ซึ่งสามารถปรับเป็นค่าสูงสุด 13 ล้านพิกเซล ตามสเปกที่ระบุไว้ได้เองครับ นอกจากนี้โหมดต่างๆ สำหรับถ่ายภาพยังมีให้เลือกอีกหลากหลายเช่นเดิมครับ นอกจากนี้หากในสถานที่ที่เรากำลังจะถ่ายภาพมีแสงน้อย ตัวเซนเซอร์ทำหน้าที่ตรวจจับสภาพแสงและแนะนำให้เปิดโหมดแสงน้อย ซึ่งจะเป็นรูปหัวนกฮูกที่มุมขวาล่างของจอแสดงผลครับ
จากการทดลองถ่ายภาพจากกล้องหลังในโหมดปกติ ไม่มีการปรับแต่งใดๆ ภาพที่แสดงให้เห็นภาพหน้าจอ Full HD ให้สีสันที่ดูสดใสครับ ส่วนของการซูม 3 เท่า ภาพที่ออกมามีความคมชัด ให้สีสันได้ไม่ต่างจากการถ่ายปกติ และการมีระบบกันสั่นหรือ OIS ช่วยให้ภาพที่เกิดจากการซูม ไม่เบลอครับ ขณะเดียวกันปุ่มชัตเตอร์ที่อยู่ขอบตัวเครื่องด้านขวา สนับสนุนการถ่ายภาพในแนวนอนที่ถนัดมากกว่าการกดปุ่มบนจอแสดงผลครับ แถมเมื่อหน้าจอปิดอยู่ สามารถกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ เพื่อเรียกใช้งานกล้องถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างภาพถ่าย
ภาพซ้ายเป็นภาพที่ถ่ายปกติ ส่วนขวาเป็นภาพที่เกิดจากการซูม 3 เท่าครับ
ภาพซ้ายเป็นภาพที่ถ่ายปกติ ส่วนขวาเป็นภาพที่เกิดจากการซูม 3 เท่าครับ
ภาพซ้ายเป็นภาพที่ถ่ายปกติ ส่วนขวาเป็นภาพที่เกิดจากการซูม 3 เท่าครับ
ภาพถ่ายจากการซูม 3 เท่าครับ
กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล มาพร้อมโหมด Beauty ให้เสร็จสรรพ แต่ยังสามารถปรับเพิ่มความสวย เพิ่มความเรียบเนียนให้กับใบหน้าได้อีกครับ
เข้ามาดูกันที่ซอฟต์แวร์กันบ้าง ตามสเปกบอกว่า ASUS Zenfone Zoom ใช้ Android 5.0 Lollipop ครอบทับด้วย ZenUI ซึ่งเป็นอินเทอร์เฟซแบบเดิมๆ ที่แทบไม่เปลี่ยนไปจาก Zenfone รุ่นก่อนๆ ภายในยังอัดแน่นไปด้วยแอปพลิเคชั่นมากมาย ที่ต้องยอมรับว่าการใช้งานจริงมีเพียงไม่กี่แอปเท่านั้น
ฟีเจอร์น่าใช้ที่น่าสนใจยังอยู่ครบ อาทิ ZenMotion การสัมผัสบนหน้าจอด้วยท่าทางเพื่อเรียกใช้งานแอพฯ ในขณะปิดหรือล็อคหน้าจอ เช่น การเขย่าเพื่อบันทึกภาพลงในเมนู Do It Later, เมื่อปิดหน้าจอสามารถแตะที่หน้าจอสองครั้ง เพื่อสั่งให้หน้าจอเปิดขึ้นมาได้, หรือจะเป็นใช้นิ้ววาดเป็นรูปตัว C เพื่อเปิดโหมดกล้อง เป็นต้น
ปิดท้ายการทดสอบด้วย แอป CPU Prime benchmark กับ Geekbench 3 ซึ่งเป็นการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผล, แรม และการทำงานในภาพรวมครับ
สรุปการใช้งาน
จากแค่ภายนอกคงบอกได้เป็นอย่างดีว่า จุดขายของ Zenfone Zoom อยู่ที่กล้องด้านหลัง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการถ่ายภาพจากระยะไกลด้วยการซูม พร้อมด้วยระบบกันสั่น ลดปัญหาของผู้ใช้ที่มีความกังวลว่าหากจะต้องซูมแล้วถ่าย มือจะต้องนิ่งมากๆ หรือบางครั้งอาจต้องหาขาตั้งกล้องเข้ามาช่วย และการถ่ายภาพจากกล้องหลังในแบบไม่ต้องซูม ภาพที่ออกมานับว่ามีความคมชัด มีสีสันที่สดใส นอกจากนี้เมื่ออยู่ในสภาพแสงน้อย เซนเซอร์ที่คอยตรวจจับสภาพแสงจะส่งสัญญาณมาที่หน้าจอ เพื่อแจ้งให้เราทราบว่าควรเปิดใช้โหมดถ่ายภาพในที่แสงน้อย นับเป็นจุดเด่นที่ ASUS หยิบยกขึ้นมานำเสนอได้ดี
ในส่วนข้อเสียนั้น พบว่าเมื่อกดชัตเตอร์แล้ว เสียงชัตเตอร์จะช้ากว่าภาพที่จับไปแล้วเสี้ยววินาที รวมไปถึงการจัดเก็บภาพลงในพื้นที่เก็บข้อมูลยังช้าไปเล็กน้อยครับ ขณะที่ตัวเครื่องมีน้ำหนักพอสมควร และสุดท้ายเรื่องของซอฟต์แวร์ที่เชื่อว่าหลายคนคงอยากเห็นการอัพเดทระบบปฏิบัติการจาก 5.0 Lollipop ไปเป็น 6.0 หรือ 6.x.x Marshmallow พร้อมอินเทอร์เฟซในดีไซน์ใหม่เสียทีครับ
ASUS Zenfone Zoom ประกาศวางขายในไทยแล้ว โดยจะแบ่งออกเป็นสองรุ่น สองราคา ได้แก่
– รุ่น 64GB ราคา 16,990 บาท
– รุ่น 128GB ราคา 18,990 บาท แถมอุปกรณ์เสริม ZenFlash มาให้ในกล่องด้วยครับ