เคยไหม ระหว่างกำลังปั่นงานหรือเล่นเกม ใจหนึ่งอยากเปิด Line, Spotify หรือ Youtube ไปพร้อม ๆ กันด้วย แต่อนิจจาจอเดียวมันไม่พอ จึงเป็นที่มาของจอ Monitor ที่สอง (หรือ 3 ขึ้นไป) ส่วนในฝั่งโน้ตบุ๊ก… วันนี้ขอเสนอ Asus ZenBook Pro Duo UX581 โน้ตบุ๊ก 2 จอสำหรับสาย Creator โดยเฉพาะ

ก่อนหน้านี้ Asus เคยเปิดตัว ZenBook Pro 15 (UX580) ที่มาพร้อมหน้าจอเล็ก ๆ ขนาด 5.5 นิ้วตรง Touch Pad รอบนี้เล่นใหญ่ ขยายขนาดเป็น 14.4 นิ้ว ใช้พื้นที่ครึ่งหนึ่งของแป้นพิมพ์กันเลย ซึ่งสามารถใช้งานแบบสัมผัสได้ดีกว่ารุ่นก่อน

สำหรับ Asus Zenbook Pro Duo จะมีหน้าตาคล้าย ๆ กับ Zephyrus รุ่นแรก โดยตัวคีย์บอร์ดจะอยู่ชิดขอบล่าง โดยย้าย Touch Pad ไปอยู่ขวามือแทน ส่วนพื้นที่ว่างด้านบนคีย์บอร์ดก็ใช้เป็น ScreenPad Pro หน้าจอที่สองขนาด 14.4 นิ้ว ซึ่งอัดความละเอียด 4K พร้อมมุมกว้างถึง 178 องศา ใช้งานเป็นจอที่ 2 ได้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้เลย ส่วนตัว Asus Zenbook Pro Duo จะตอบโจทย์ Creator และช่วย Create งานได้ขนาดไหน ลองมาดูกันเลย

สเปก Asus Zenbook Pro Duo UX581

Display : จอสัมผัสขนาด 15.6 นิ้ว OLED สัดส่วน 16:9 ความละเอียด 4K (3840×2160) 60Hz มาพร้อม 100% DCI-P3 กับ HDR  และมุมมองกว้าง 178 องศา
ScreenPad Plus  : จอสัมผัสขนาด 14.4 นิ้ว ความละเอียด 4K (3840×2160) มาพร้อม Anti-Glare
CPU : Intel Core i7 9750H
VGA : NVIDIA GeForce RTX 2060 6GB GDDR5
RAM : 32 GB DDR4 2666MHzz
SSD : 1TB PCIe Gen3
Wireless : Wi-Fi 6 (2×2)
Bluetooth : 5.0
Port : Thunderbolt 3 x 1, USB 3.1 Type A x 2, HDMI x 1, Combo audio jack x 1 และช่องไฟเลียง DC-in
Battery : 8 Cell 71 Wh lithium-polymer
Weight : 2.5 kg
Color :  Celestial Blue
OS : Windows 10 Pro

แกะกล่อง

ตัวกล่องแอบธรรมดากว่าที่คิด ส่วนภายในก็มีตัวเครื่อง Zenbook Pro Duo กับชุดไฟเลี้ยง, ที่รองมือ, ปากกา Stylus และชุดคู่มือ

ขนาด Adapter ชุดไฟเลี้ยงถือว่าใหญ่พอควร

วัสดุและดีไซน์

….ตอนที่เห็นคลิปหรือภาพเปิดตัว เคยคิดว่าตัวเครื่องต้องใหญ่เทอะทะ ขนย้ายลำบากแน่ แต่หลังมาสัมผัสจริง ๆ ตัวเครื่องกลับไม่ใหญ่กว่าที่คิด (แต่แอบหนักอยู่) โดยรวมตัวเครื่องดีไซน์สวยงามสมราคามาก ๆ มีการออกแบบเหลี่ยมมุมอยู่หลายจุด ทำให้ตัวเครื่องดูล้ำทุกมุมมอง ผนวกกับใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมทั้งตัว ก็ช่วยทำให้ตัวเครื่องดูแข็งแรงทนทานและเพิ่มความ Hi-End ยิ่งขึ้น

น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 2.5 กิโลกรัม ระดับเดียวกับเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อก็มี Thunderbolt 3 x 1, USB 3.1 Type A x 2, HDMI x 1, Combo audio jack x 1 และช่องไฟเลียง DC-in ถือว่าสวนทางกับขนาดตัวเครื่องอยู่บ้าง (จากปกติขนาดตัวเครื่องยิ่งใหญ่ พอร์ตก็ยิ่งจัดเต็ม) ไม่นับว่าครบครันนัก

เมื่อพลิกดูใต้เครื่อง สิ่งเห็นกลับเป็น ‘แผ่นพับ’ ที่ช่วยให้ตัวเครื่องยกสูงขึ้นจากเดิม ช่วยให้เห็นหน้าจอ ‘ที่สอง’ ชัดขึ้น และพิมพ์ได้สะดวกขึ้น

และแล้วมาพบกับ (อนึ่ง ตัวเครื่องสามารถเปิดหน้าจอด้วยมือเดียวได้นะ)

ScreenPad Plus หรือหน้าจอที่สองของ Asus ZenBook Pro Duo ที่มาพร้อมความละเอียดระดับ 4K เช่นเดียวกับหน้าจอหลัก เป็นจอสัมผัสทั้งคู่ แต่ตัวจอ ScreenPad Plus จะมาพร้อม Anti-Glare หรือจอด้าน ช่วยให้การใช้งานแบบสัมผัสได้ลื่นไหลกว่า

ตัวจอแสดงผลได้สวยงามมาก ๆ ๆ ๆ สมกับที่มีความละเอียดสูงถึง 4K ทั้งคู่ กับมี DCI-P3 100% และรองรับการแสดงผล HDR หากแต่แอบขัดเล็กน้อย ตรงที่จอ ScreenPad Plus มันมี Anti-Glare จอเดียว เวลาเจอแสง ก็จะเห็นความต่างระหว่างสองจอทันที

นอกนั้นตัวแป้นพิมพ์ก็มาพร้อมไฟ LED สีน้ำเงิน กับปุ่ม Num Pad ตรง Touch Pad แบบสัมผัส ส่วนตำแหน่งแป้นพิมพ์ก็อยู่ตรงล่างสุดของตัวเครื่องเลย (เพราะด้านบนเป็นจอ) อาจดูพิมพ์ลำบากไปบ้าง แต่ทาง Asus มีวิธีแก้ คืออะไรนั้นเดี๋ยวรู้กัน

ส่วน ErgoLift หรือดีไซน์บานพับช่วยยกแป้นพิมพ์ ก็ยังคงมีใน ZenBook รุ่นนี้เหมือนเคย หากแต่ตัวเครื่องยังมีแผ่นพับใต้เครื่อง ที่ช่วยยกแป้นพิมพ์หรือตัวเครื่องได้สูงกว่าเดิม เข้าใจว่าเป็นเพราะมีจอที่สองอย่าง ScreenPad Plus เพิ่มเข้ามานั้นเอง

ในเมื่อแป้นพิมพ์มันอยู่ชิดขอบไปนิด ทาง Asus จึงมี ‘ที่รองมือ’ แถมมาให้กับตัวเครื่อง เอาไว้ใช้กับตัว Asus ZenBook Pro Duo โดยเฉพาะ แล้วสัมผัสการใช้งานโน้ตบุ๊กของเราจะเปลี่ยนไปทันใด : b

จุดสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ เวลานำรองมือไปวางชิดกับแป้นพิมพ์ตัวเครื่อง มันจะมีไฟ LED ส่องเป็นขีดเล็ก ๆ ตรงช่องที่เห็นในภาพด้วยนะเออ

การใช้งาน

 

หากใครอยากรู้ว่า ScreenPad Plus เอาไว้ทำอะไร ในที่นี้ผมลองเปิด Premiere Pro โปรแกรมตัดต่อชื่อดัง โดยผมมีความเชื่อว่า มันต้องใช่ ๆ แน่ ๆ แล้วก็ใช่จริง ๆ ตัวจอ ScreenPad Plus สามารถรองรับการแสดงผลแถบเครื่องมือของ Premiere Pro ได้ด้วย โดยผมลากเอาส่วน Timeline Panel ลงมาแสดงข้างล่างซะเลย ซึ่งช่วยให้เราสามารถเอานิ้วหรือปากกา Stylus มาจิ้มเพื่อตัดต่อได้โดยตรง และช่วยให้มีพื้นที่สำหรับแสดงวิดีโอขณะตัดต่อได้มากขึ้น

เอาตามตรง มันก็เหมือนกับว่าเรากำลังใช้จอ Monitor สองจอติดกัน คือจอหนึ่งแสดงผลหลัก อีกจอก็แสดงผลอีกอย่างช่วยเสริม ในตัว Asus ZenBook Pro Duo ก็มี ScreenPad Plus ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่การแสดงผลให้มากขึ้นนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ตัว ScreenPad Plus ก็มีฟีเจอร์เฉพาะตัวติดมาด้วย ซึ่งจะมีฟีเจอร์อะไรน่าสนใจบ้าง ลองมาดูแบบชัด ๆ กันเลย

อย่างแรกเลยคือ ตัวจอ ScreenPad Plus สามารถรวมร่างกับจอหลัก เพื่อการแสดงผลที่ใหญ่ขึ้นได้

หรือสามารถลากโปรแกรมให้แสดงผลไปมาระหว่าง จอหลัก กับจอ ScreenPad Plus ได้ตามต้องการ

ตัวอย่างการใช้จอ ScreenPad Plus แบบสัมผัส (Trello)

สามารถสลับการแสดงผลระหว่าง จอหลัก กับ จอ ScreenPad Plus ได้ทันที

บันทึกหรือตั้งโปรไฟล์การเปิดใช้โปรแกรมผ่านจอ ScreenPad Plus ได้ทันที ไม่ต้องค่อยมาไล่เปิดใหม่

ซึ่งก็ตั้งได้สูงสุด 5 โปรไฟล์

สุดท้ายตัวจอ ScreenPad Plus ก็รองรับการใช้งานปากกา Stylus ได้เช่นเดียวกับจอหลัก

ประสิทธิภาพ

ขุมพลังหลักของ Asus ZenBook Pro Du ก็มีซีพียู Intel Core i7 9750H กับการ์ดจอ RTX 2060 พร้อมแรม 6GB GDDR5 และแรมหลักขนาด 32 GB แบบ DDR4 2666MHzz ถือสเปกเล่นเกมชั้นดีเลยครับ ซึ่งจะลุยได้ขนาดไหนลองมาดูกัน

รายละเอียด Intel Core i7 9750H + NVIDIA GeForce RTX 2060 6GB GDDR5

ประเดิมด้วย Cinebench R20 วัดประสิทธิภาพของซีพียู Intel Core i7 9750H ตรง ๆ ก็ได้คะแนนไป 2508 cb ถือว่าได้ผลตามสเปกของซีพียู ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น

ลองวัดความเร็วอ่านเขียนของ SSD ขนาด 1TB ก็ได้ความเร็วอ่านทะลุ 3,000 MB/s กับความเร็วเขียน 2,000 MB/s ขึ้นไป จัดว่าสูงใช่เล่น

เทส PC Mark 10 ก็ได้ไป 4,944 คะแนน

มาฝั่งการ์ดจอกันบ้าง Time Spy ได้ 5,630 คะแนน

ส่วน Fire Strike Ultra ก็ได้ไป 3,477 คะแนน

ปิดท้ายด้วยการเล่น พร้อมเทสประสิทธิภาพการระบายความร้อนไปในตัว การเล่นเกม (Apex Legends 1080p ปรับสุด) ก็ลื่นไหลใช้ได้ โดย FPS เฉลี่ยอยู่ที่ 80 – 95 FPS หากแต่อุณหภูมิ idel โดยเฉลี่ย ก็อยู่ประมาณ 85 – 95 องศากันเลย ถือว่าร้อนพอควร

สรุป

ถ้าถามว่า Asus Zenbook Pro Duo เหมาะสำหรับใคร ก็ตอบได้เต็มปากเลยว่า เหมาะสำหรับคนทำ Content จอที่สองหรือ ScreenPad Plus สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างหรือ Create งานได้ดีจริง จากเมื่อก่อนต้องคอยสลับจอไปมา แต่รุ่นนี้ไม่ต้อง เราสามารถทำงานไปด้วย เปิด Youtube หรือเปิด Spotify ไปพร้อมกันได้เลย หรือจะเปิดโปรแกรมอื่น ๆ ตามที่ต้องการก็ได้

ด้านวัสดุกับดีไซน์แทบไม่มีที่ติ สวยหรูมาก จะมีก็ขนาดตัวเครื่อง ที่แม้ผมบอกว่าดูเล็กกว่าที่เห็น แต่ถึงอย่างไรมันก็ไม่เหมาะที่จะพกพาไปไหนมาไหนเท่าไรนัก

ด้านสเปกก็โหดได้ใจ สามารถใช้เล่นเกมหรือทำงานกราฟฟิกได้เต็มที่ (ยิ่งรุ่น Core i9 จะโหดกว่านี้มาก) แต่หากจะนำไปใช้ข้างนอก ก็ต้องเพลา ๆ หน่อย ถ้าไม่เสียบสายชาร์จ ตัวเครื่องก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งหากจะใช้งานหนัก ๆ โดยเฉพาะการเล่นเกม ต้องบอกเลยว่าตัวเครื่องค่อนข้างร้อนใช้ได้เลย

ท้ายนี้ราคาของ Asus ZenBook Pro Duo ในรุ่น Core i7 ที่รีวิวนี้ก็อยู่ที่ 89,990 บาท หากเป็นรุ่น Top สุดที่ใช่ซีพียู Core i9 ก็อยู่ที่ 109,990 บาท ครับ