จากเมื่อก่อนเกมมือถือมักจะมีแต่แนว Casual เล่นได้เรื่อย ๆ ง่าย ๆ แต่หลังมีสมาร์ทโฟน รูปแบบเกมก็เริ่มมีความจริงจังขึ้น จนถึงขึ้นจัดการแข่งขันและกลายเป็นกีฬาอีกประเภทในที่สุด ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนัก หากจะมีสมาร์ทโฟนที่เกิดมาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ รีวิวครั้งนี้มาพบกับ ASUS ROG Phone ll สุดยอดสมาร์ทโฟนเล่นเกมโดยเฉพาะจากทาง Asus ROG ที่ได้พัฒนาเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว พร้อมอัพเกรดใหม่ยกชุด ลบข้อด้อยจากรุ่นก่อนหน้าอย่างหมดจด และยังเปี่ยมไปด้วยฟีเจอร์เพื่อการเล่นเกมมากมายเช่นเคย มีอะไรบ้าง มาดูกัน

สเปก ASUS ROG Phone ll

หน้าจอ : ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด 2340×1080 สัดส่วน 19:9:5 มาพร้อมค่าความไวในการเปลี่ยนภาพ (Refresh Rate) ที่ 120Hz จอสวยสมจริงด้วย HDR 10-bit , Delta E < 1 , DCI-P3 111.8% , NTSC 107.4% และ sRGB 151.7% ครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 6 กับมี Always On
หน่วยประมวลผล : Qualcomm Snapdragon 855 Plus ขนาด 7 nm ความเร็ว 2.96GHz
ชิปกราฟฟิก : Qualcomm Adreno 640
แรม : 12GB LPDDR4X
รอม : 512GB แบบ UFS 3.0
กล้องหลังคู่ : ความละเอียด 48 (Sony IMX586) F/1.8 + 12 ล้านพิกเซล F/2.4
กล้องหน้า : 24 ล้านพิกเซล F/2.2
การเชื่อมต่อ : USB 3.1 Gen 1 และรองรับ DP 1.4 (4K) กับพอร์ตหูฟัง 3.5 mm
เน็ตเวิร์ค : 802.11a/b/g/n/ac (2×2 MIMO) , Bluetooth 5.0 รองรับ aptX HD
แบตฯ : Li-Ion 6,000mAh รองรับ Fast Charging (30W)
ระบบเสียง : Hi-Res audio 192kHz/24-bit รองรับ DTS:X Ultra 7.1 virtual surround
ขนาดตัวเครื่อง : 170.99 x 77.6 x 9.48 mm
น้ำหนัก : 240g
ระบบปฏิบัติการ : Android Pie (ROG UI)

แกะกล่อง

กล่องยังคงให้อารมณ์แบบ ‘วัตถุต่างดาว’ เหมือนรุ่นแรก โดยมาเป็นทรงกระบอกสามเหลี่ยม (แต่มีหกเหลี่ยม) สีดำล้วน พร้อมลวดลายวงจรล้ำ ๆ ส่วนภายในกล่องก็มีตัวเครื่อง ROG Phone ll  

AeroActive Cooler II หรือชุดระบายความร้อนเสริม, Aero Case (เคสกึ่งเปลือย), สาย Type-C to C, แท่นชาร์จ (30W) และสุดท้ายชุดคู่มือ

วัสดุและดีไซน์

ความกังวลแรกที่มีต่อ ASUS ROG Phone ll คือ ‘จะหาเคสที่ไหนมาใส่ดี’ ต้องบอกเลยว่าตัวเครื่อง มีการออกแบบมาได้เด่นสะดุดตามาก ๆ อีกทั้งยังมีช่องระบายความร้อนเฉพาะตัว ซึ่งคงใส่กับเคสทั่วไปไม่ได้แน่ (แต่ตัวเครื่องก็มีเคสที่ออกแบบเฉพาะมานะ เป็นไงเดี๋ยวรอดู) ตัวเครื่องใช้วัสดุเป็นอลูมีเนียมสีดำสะท้อนแสงอย่างงาม โดยรวมดูคล้ายกับ ROG Phone รุ่นแรก แต่ในรุ่นที่ 2 มีการตัดลวดลายบางส่วนไป ทำให้ดูไม่รกเหมือนก่อน ฝาหลังดูสวยงามขึ้นอย่างสังเกตได้

ระบบระบายความร้อน GameCool II ที่ออกแบบใหม่ (รุ่นก่อนมี 2 บั้ง) ซึ่งพัฒนาให้สามารถระบายความร้อนได้มากขึ้น

ส่วนประกอบของระบบระบายความร้อน GameCool II

 สำหรับน้ำหนักตัวเครื่องก็เพิ่มจากรุ่นแรกถึง 40 กรัม รวมเป็น 240 กรัม

นอกจากจะปรับลวดลายใหม่แล้ว ตัวเครื่องยังมีความโค้งมันมากขึ้นด้วย สำหรับพอร์ต Type-C ข้างเครื่อง (ซึ่งห้ามนำสาย Type-C มาต่อโดยตรง ต้องผ่านอุปกรณ์เสริมของ ASUS เท่านั้น) กับปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง ก็มีให้ใช้เหมือนก่อน

จุดเปลี่ยนสำคัญของ ROG Phone ll รุ่นนี้เลยคือ หน้าจอเพิ่มขนาดเป็น 6.59 นิ้ว แต่มีสัดส่วนเป็น 19:9:5 ส่งผลให้หน้าจอตัวเครื่องดูผอมลง แต่มีความกว้างขึ้น ตัว Refresh Rate จาก 90Hz ก็เพิ่มเป็น 120Hz ลื่นไหลกว่่าเดิม ด้านสีสันและความคมชัด ก็การันตีด้วย HDR 10-bit , Delta E < 1 , DCI-P3 111.8% , NTSC 107.4% และ sRGB 151.7% ซึ่งก็สวยสะท้านตามาก ๆ

ตัวเคส Aero ที่แถมมา ….Sexy มากครับ (ฮ่า) คือไร้ซึ่งความมิดชิด ดูเปรี้ยวมาก

สภาพหลังใส่เคส

การใช้งาน

สำหรับรีวิวรอบนี้ ผมจะไม่เน้นจุดที่เป็นสมาร์ทโฟนของรุ่นนี้มากนัก ขอข้ามไปดูเฉพาะส่วนที่เป็น Gmaing ไปเลย ซึ่งตัว ASUS ROG Phone ll ก็มาพร้อมฟีเจอร์สำหรับเล่นเกมมากมายตามนี้

AeroActive Cooler II

ประเดิมด้วย AeroActive Cooler II อุปกรณ์เสริมที่ ASUS ใจดีแถมมาให้ตั้งแต่รุ่นแรก จะเรียกว่าเป็นพัดลมช่วยดูดความร้อนสำหรับตัวเครื่องก็ได้ สืบเนื่องจากตัว ROG Phone ll มีโหมด Overclock เพิ่มประสิทธิภาพซีพียู ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นเกมมากขึ้น และความร้อนก็เพิ่มตามด้วยเช่นกัน ดังนั้นตัว AeroActive Cooler II ก็จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้เอง ซึ่งหลังลองใช้ ก็พบว่าช่วยลดอุณหภูมิตัวเครื่องลงมากขึ้นจริง (เทียบกับตอนไม่ใส่) หากแต่ไม่ได้ลดระดับ 5 – 10 องศา แต่ก็พอช่วยให้ตัวเครื่องเล่นเกมได้ต่อเนื่องขึ้น โดยไม่ร้อนจนแฮงค์ซะก่อน

อนึ่ง ตอนที่ใส่ตัว AeroActive Cooler II กับ ROG Phone ll ไม่ใช่ช่วยลดลดอุณหภูมิตัวเครื่องเท่านั้น แต่มันยังช่วย ‘เปานิ้วมือ’ เราด้วย บอกเลยว่าถ้าใครเอาไปเล่นในห้องแอร์หรือตามห้าง ลมที่คอยเปานิ้วมือก็จะเย็นตามด้วย Fin

Asus Aura Sync

หากขาดแสงสีไปคงเรียกเกมมิ่งได้ไม่เต็มปาก สำหรับตัว ROG Phone ll ก็มาพร้อม Asus Aura Sync หรือระบบควบคุมแสง RGB ที่เป็นโลโก้ ROG ด้านหลังตัวเครื่องนี้เอง ซึ่งเราสามารถปรับได้ว่า จะให้ไฟกระพริบแบบไหน ส่องสว่างเป็นสีอะไร ถ้าไม่อยากคิดเยอะ ก็เลือก ‘แสงผสม’ ให้มันแสดงครบทุกสีไปเลยก็ได้

ตัวอย่างแสงไฟ RGB บลนโลโก้ ROG งาม ๆ

Game Genie

ระหว่างเล่นเกม เราสามารถดูสถานะความร้อน (กล้าโชว์) ค่า FPS และความเร็วซีพียูที่ใช้อยู่ได้ทันที อีกทั้งยังปรับตั้งค่าฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น เคลียร์แรม, AirTriggers, ปุ่มมาโคร, ล๊อกการสัมผัส และบันทึกวิดีโอขณะเล่นเกมก็ได้ด้วย

X Mode

ถัดจาก RGB ก็คือ X Mode หรือโหมดเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกม ซึ่งก็มีสารพัดการปรับแต่งให้เลือกใช้เพียบ อาทิ ปุ่มมาโคร การแสดงผล เสียง แต่โดยหลัก ๆ คือ การเพิ่มความเร็วซีพียูให้แรงขึ้น ทั้งนี้ตัว X Mode สามารถเลือกปรับเป็นโปรไฟล์แยกตามเกมได้ด้วย ตัวอย่างเช่น เกมนี้ต้องการประสิทธิภาพหนัก ๆ ก็ปรับ X Mode ให้สุด เกมนี้เล่นขำ ๆ ก็ปรับ X Mode แบบพอเหมาะ เป็นต้น

ตอนเปิด X Mode ตัว Wallpaper หน้าจอหลักจะเปลี่ยนตามไปด้วย

Refresh Rate 120Hz

สำหรับหน้าจอ 120Hz เราสามารถปรับเป็นรายเกมได้เช่นเดียวกับ X Mode ทั้งนี้หากเกมไหนรองรับการแสดงผล 120Hz ก็เตรียมมันได้ อาจลืมการเล่นเกมในจอ 60Hz ไปเลย

AirTriggers

สุดท้ายคือฟีเจอร์ที่เรียกได้ว่าเป็นท่าไม้ตายของ ROG Phone เลยคือ AirTriggers หรือปุ่มสัมผัสแบบ R1 – L1 ในจอยสติ๊ก ซึ่งรุ่นนี้ก็ปรับให้มีความไวต่อการสัมผัสมากขึ้น ไม่กดติดบ้างไม่ติดบ้างเหมือนรุ่นแรกแล้ว ตัวปุ่มนี้สามารถรองรับเกมแนว FPS ได้ทุกเกมเลย หรือเกมแนวอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ ซึ่งประยุกต์ใช้หรือวิธีการปรับใช้งานยังไงนั้น ลองดูคลิปนี้ได้ และดูข้อได้เปรียบของการมี AirTriggers ให้เห็นกันชัด ๆ ตามนี้เลย   

เล่นง่ายขึ้นเยอะ

ส่วนประสิทธิภาพของแบตฯ ที่เพิ่มมาจุใจถึง 6000mAh ใหญ่ได้ใจมาก (แลกกับเครื่องหนักขึ้น : b) หลังลองใช้ ก็อึดสมขนาด ลองเล่นเกมจากแบตฯ ที่เหลืออยู่ 60% ก็สามารถเล่นได้ต่อเนื่องถึงครึ่งวันสบาย ๆ หากใช้งานทั่วไปก็อยู่ได้ 1 วัน หรือ 2 วันถ้าเปิดเครื่องไว้เฉย ๆ

Gaming

การเทสรอบนี้ จะมีทั้งการเปิด X Mode และใส่ AeroActive Cooler II พร้อมปรับภาพกราฟฟิกของเกมสุดหมด ซึ่งผลจะเป็นยังไงมาดูกัน  

ประเดิมด้วย Call of Duty Mobile พร้อมเทสระบบเสียง ความลื่นไหลมาเต็ม เสียงก็ดังได้สะใจ (รำคาญเสียงแอร์ในห้องหน่อยนะ)

อีกมุม

ถัดมาก็ Honkai Impact 3 สำหรับเกมนี้รองรับ 120Hz ด้วย บอกเลยว่าเล่นเพลินมาก อีกทั้งในเครื่อง ROG Phone ll นี้ ก็สามารถได้ลื่น ๆ ไม่มีอาการกระตุกให้เห็นเลย แม้ตัวเกมจะมีแสงสีเอฟเฟคมากแค่ไหนก็ตาม

กล้อง

ตัวกล้องถือว่าพัฒนาจากรุ่นแรกมาพอควร จากเลนส์หลักความละเอียดเพียง 12 ล้านพิกเซล ก็เพิ่มมาเป็น 48 ล้านพิกเซลเลย ซึ่งใช้ชิป Sony IMX586 ด้วย เพื่อการพิสูจน์ รอบนี้จะขอจัดหนักภาพถ่ายตอนกลางคืนเป็นพิเศษดังนี้

สรุป

นับเป็นสมาร์ทโฟนที่เกิดมาเพื่อเล่นเกมอย่างแท้จริง ASUS ROG Phone ll ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลย ด้านดีไซน์และวัสดุ ก็สวยงามดุดัน จนแทบไม่ต้องหาเคสมาใส่ให้หมดความสวย (แต่ใส่เคส Aero ที่แถมมาได้นะ ความเท่ยังคงอยู่) ด้านประสิทธิภาพ Snapdragon 855 Plus ก็ช่วยให้เล่นเกมได้ลื่นไหลไร้ความกระตุกกวนใจ หากแต่ความร้อนก็สูงตาม ยังดีที่ระบบระบายความร้อนทำหน้าที่ได้ดีอยู่ โดยความร้อนเฉลี่ยที่เจอคือ 30 – 40 องศา ด้านฟีเจอร์สนับสนุน อาทิ X Mode , Game Genie และ AirTriggers ก็ช่วยให้การเล่นเกมสนุกขึ้นมาก ๆ โดยเฉพาะ AirTriggers

ส่วนกล้อง ยอมรับว่าดีขึ้นจากรุ่นก่อนจริง แต่หากเทียบกับสมาร์ทโฟนระดับเรือธงรุ่นอื่น ๆ ในราคาพอ ๆ กัน ประสิทธิภาพยังไม่สุดเท่า กับมีฟีเจอร์ถ่ายภาพยังไม่จัดจ้านเท่าไรนัก

สุดท้ายนี้ราคาของ ASUS ROG Phone ll ก็อยู่ที่ 29,999 บาท ถือเป็นราคาที่เกินคาด ไม่ทะลุไป 3 หมื่นอย่างที่คิดครับ

เช็คราคาโปรโมชั่น คลิก