สิ่งที่ผ่านมา ดีแล้วหรือยัง ? ประโยคนี้คงใช้ได้กับหลายๆ เรื่อง ทั้งการใช้ชีวิต การทำงาน ซึ่งในมุมของการทำธุรกิจของ Samsung ประโยคนี้อาจเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจต่อการพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ อย่างเช่น การเปิดตัว Samsung Galaxy S6 Edge เมื่อปี 2015 ความโค้งของหน้าจอได้แสดงถึงความแปลกใหม่ ความเป็นนวัตกรรม แต่ประโยชน์ของมันแทบจะน้อยนิดซะเหลือเกิน มิหนำซ้ำยังตัดช่องใส่ microSD card ตัวเสริมเก็บข้อมูลอันเป็นของคู่กับ Samsung มาโดยตลอด
จนมาปี 2016 สมาร์ทโฟนจอโค้งคู่กลับมาอีกครั้ง ในชื่อ Samsung Galaxy S7 Edge ที่ภายนอกใหญ่กว่ารุ่นก่อน แต่เน้นเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย และอัพเกรดประสิทธิภาพให้ดีกว่า ส่วนจะโน้มน้าวให้คุณผู้อ่านเปลี่ยนใจมาซื้อมันรึเปล่า มาดูรีวิวต่อจากนี้กันดูครับ
สเปก Samsung Galaxy S7 Edge มีดังนี้
– ตัวเครื่องบาง 7.7 มิลลิเมตร น้ำหนัก 157 กรัม
– หน้าจอโค้ง Super AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดแสดงผล 2560 x 1440 พิกเซล 534 ppi ครอบด้วยกระจกกันไร้รอย Corning Gorilla Glass 4 ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
– ใช้งานได้ซิมเดียว ประเภท Nano SIM
– รัน Android 6.0.1 Marshmallow ครอบด้วย TouchWiz UI อินเทอร์เฟซของ Samsung
– ชิปประมวลผล Samsung Exynos 8890 Octa-Core 64-bit ความเร็ว 2.6GHz
– ชิปประมวลผลกราฟิก Mali-T880 MP12
– แรม 4GB, รอม 32GB, รองรับ microSD card ความจุสูงสุด 200GB
– กล้องหลังความละเอียด 12 ล้านพิกเซล, รูรับแสง f/1.7, มีแฟลช LED, ระบบกันสั่น OIS, ระบบโฟกัสภาพแบบ Phase Detection Autofocus
– กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล, รูรับแสง f/1.7
– พอร์ตเชื่อมต่อ microUSB 2.0, headphone jack ขนาด 3.5 มิลลิเมตร
– สนับสนุนการเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac, dual-band, Wi-Fi Direct, hotspot, Bluetooth 4.2, NFC
– รองรับ Fingerprint หรือสแกนลายนิ้วที่ปุ่มโฮม, และเซนเซอร์ Heart rate วัดอัตราการเต้นของหัวใจ บริเวณใต้แฟลชของกล้องหลัง
– กันน้ำได้ลึก 1 เมตร นาน 30 นาที พร้อมกันฝุ่นได้ ภายใต้มาตรฐาน IP68
– แบตเตอรี่ความจุ 3600 mAh แกะฝาหลัง ถอดแบตไม่ได้
การออกแบบ
ในลุคของสมาร์ทโฟนจอโค้ง Samsung Galaxy S7 Edge เลือกใช้ขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว ที่เปรียบได้กับน้องคนกลางระหว่าง S6 Edge (หน้าจอ 5.1 นิ้ว) กับ S6 Edge+ (หน้าจอ 5.7 นิ้ว) แถมด้านหลังยังหยิบความโค้งจาก Note 5 มารวมไว้ในร่างเดียวอีกด้วย
ซึ่งด้วยขนาดและความโค้งก็ให้ทั้งข้อดีและข้อเสีย ขอเริ่มที่ข้อดีก่อนละกันครับ ด้วยหน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว ไม่สร้างความรู้สึกที่ว่ามันใหญ่ไปแต่อย่างใด ขนาดมือของผมที่ไม่ใหญ่มาก ยังสามารถใช้นิ้วโป้งเอื้อมไปแตะที่ขอบจออีกฝั่งหนึ่งได้ ส่วนความโค้งของฝาหลังได้เข้ามาเพิ่มความสะดวกในการหยิบขึ้นมาถือในขณะที่วางอยู่โต๊ะหรือพื้นราบ ในเรื่องข้อเสีย การหยิบจับและใช้งานด้วยมือเดียว มีบางครั้งที่อุ้งมือไปสัมผัสกับแอพฯ ในตำแหน่งด้านข้าง กับปุ่ม Recent app โดยไม่ตั้งใจ
วัสดุที่ใช้กับ S7 Edge หลักๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ด้านหน้าและด้านหลังเป็นกระจก Corning Gorilla Glass 4 ที่ทนทานต่อการถูกของมีคมขีดข่วนและกันกระแทกต่อการตกหล่นจากระยะที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งไม่ต้องแปลกใจนักถ้าจะเกิดรอยนิ้วมือได้ง่ายแสนง่าย และหากเกิดอุบัติเหตุจนหน้าจอแตก ค่าซ่อมก็แพงพอสมควรครับ เพราะฉะนั้นการใส่เคสจึงเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยปกป้องหน้าจอได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ขอบทั้ง 4 ด้าน เป็นโลหะทั้งหมด
ใช้กระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก่อให้เกิดรอยนิ้วมือได้ง่าย
ปุ่มควบคุม
จะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ด้านซ้าย เป็นปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง (เป็นปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพได้ด้วย), ด้านขวา เป็นปุ่มพาวเวอร์ (เปิด-ปิดหน้าจอ / เครื่อง), ด้านล่าง เห็นปุ่มโฮมหน้าตาเดิมๆ แต่ยังเป็น Fingerprint หรือสแกนลายนิ้วมือได้ด้วย ขณะที่ปุ่ม Recent app หรือปิดแอพฯ ที่ไม่ใช้งานจะอยู่ด้านซ้าย กับปุ่มย้อนกลับจะอยู่ด้านขวา ขนาบข้างปุ่มโฮมนั่นเอง ส่วนอื่นๆ เช่น ถาดใส่ Nano SIM กับ microSD card จะอยู่ขอบด้านบน ขอบล่างสุดมี headphone jack ขนาด 3.5 มิลลิเมตร, พอร์ต USB 2.0, และลำโพง
หน้าจอแสดงผล
S7 Edge ยังคงหน้าจอแสดงผลแบบ Super AMOLED ให้มุมมองภาพที่กว้าง มีความคมชัด ได้สีที่ชัดเจน สามารถสู้แสงได้ดี ในส่วนความละเอียดใช้เท่าเดิมกับ S6 Edge ที่ 2560 x 1440 พิกเซล แต่ปรับลดค่า ppi (Pixel Per Inch) จำนวนเม็ดพิกเซล จากเดิมที่ 577 ppi ใน S6 Edge ลดลงมาเหลือ 534 ppi ซึ่งถือว่าไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรต่อความชัดเจน และจากการหยิบมาลองใช้นอกสถานที่ที่มีแดดจ้า ก็ยังสามารถมองเห็นแอพฯ ได้อยู่พอสมควร แต่ผมเองก็ไม่แนะนำให้หยิบออกมาเล่นในช่วงที่มีแดดจ้าแบบนี้นะครับ เพราะอาจมีผลกระทบต่อสายตาได้
ซอฟต์แวร์
S7 Edge รันด้วยระบบปฏิบัติการ Android 6.0.1 Marshmallow ครอบทับด้วย TouchWiz อินเทอร์เฟซสไตล์ Samsung ซึ่งในขณะที่หน้าจอปิดจะปรากฏวันที่ เวลา ตารางนัดหมาย แจ้งเตือนต่างๆ บนพื้นหลังสีดำตลอดเวลา เรียกว่า Always On Display ฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในรุ่นนี้ สามารถเปลี่ยนรูปแบบนาฬิกาบอกเวลา หรือจะเพิ่มการแสดงปฏิทินขึ้นมาด้วยก็ได้ รวมไปถึงพื้นหลัง หากต้องการใส่สีสันให้กับพื้นหลังสีดำก็มีตัวเลือกที่ Samsung กำหนดมา แต่ Always On Display ก็มีข้อเสียเพราะแบตเตอรี่จะลดลงชั่วโมงละ 1% แถมยังทำให้รู้สึกว่าหน้าจอเปิดตลอดเวลาอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากโหมดนี้เป็นสิ่งที่รบกวนก็เลือกที่จะปิดได้ เพียงเข้าไปที่แอพฯ ตั้งค่า และไปที่เมนู Always On Display หรืออีกวิธีเราสามารถเปิดโหมด “นาฬิกากลางคืน” เป็นตัวบอกเวลาที่จอโค้งในขณะหน้าจอปิดอยู่ พร้อมกับซ่อน Always On Display ให้โดยอัตโนมัติ
โฟลเดอร์เปลี่ยนสีได้ : เชื่อว่าผู้ใช้หลายคนมักนำแอพฯ ประเภทเดียวกันมารวมในโฟลเดอร์เดียวเพื่อความสะดวกในการเรียกใช้ ใน S7 Edge นอกจากจะสร้างโฟลเดอร์ขึ้นมาได้แล้ว ยังเปลี่ยนสีโฟลเดอร์ได้ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลือกที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองหาโฟลเดอร์ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
S Planner เป็นอีกแอพฯ ที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนล่วงหน้า แม้ไม่ได้เป็นแอพฯ ใหม่ แต่ถือเป็นปฏิทินส่วนตัวที่คอยแจ้งเตือนทั้งวันเกิด สิ่งที่ต้องทำ แถมพยากรณ์อากาศได้ด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้ชีวิต การทำงานหลายอย่าง หลายเรื่อง ภายในระยะเวลาที่เร่งรีบ
ในเรื่องของเสียง สำหรับคนชอบฟังเพลง ใน S7 Edge มีเมนูที่สามารถปรับเปลี่ยนความถี่ของเสียง เพื่ออรรถรสของการฟังเสียงที่ไพเราะ ราบเรียบ นุ่มนวล ขณะเดียวกันใครที่ต้องการปิดเสียงปุ่มกด หรือเสียงปลดล็อกหน้าจอ ก็เลือกที่จะเปิด-ปิดเสียงต่างๆ ได้
จอโค้งเลือกปรุงแต่ง ใช้งานได้หลากหลายขึ้น : ใครที่ใช้ S6 Edge คงพอรู้ดีว่าฟีเจอร์ที่รองรับกับจอโค้งมีน้อยนิดซะเหลือเกิน แต่ใน S7 Edge พัฒนาให้จอโค้งด้านขวามีทางเลือกในการใช้งานมากขึ้น ไม่เพียงแต่กำหนดรายชื่อที่สำคัญสำหรับการติดต่อที่รวดเร็ว ยังสามารถสไลด์เพื่อเรียกใช้งานแอพฯ ที่จำเป็นและใช้บ่อยประจำวันได้ แถมสามารถแท็บแสดงข่าวสารต่างประเทศได้อีก
ขณะเดียวกันการแสดงไฟ LED ที่จอโค้งเมื่อคว่ำหน้าจอ ในช่วงมีสายเรียกเข้าเป็นส่วนที่ยังคงไว้เหมือนกับ S6 Edge เราสามารถเลือกเปิด-ปิดฟีเจอร์ที่จอโค้งด้านขวาได้ หากไม่พอใจในสไตล์ที่ Samsung ลงมาให้ในเครื่อง ก็มีให้ดาวน์โหลดเพิ่มทั้งแบบฟรีและเสียเงิน นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งฟีเจอร์ เรียกว่า “ฟีด” ตัวแสดงการแจ้งเตือนที่จอโค้งในระหว่างปิดหน้าจอ เพื่อให้ผู้ใช้รู้การแจ้งเตือนที่เข้ามา รวมถึงข่าวสารต่างประเทศ
เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับ S7 Edge ด้วยการตั้งรหัสล็อคหน้าจอ ซึ่งมีทั้งการตั้งรหัสด้วยตัวเลข, ลากเส้นจุดต่อจุด และ Fingerprint หรือ สแกนลายนิ้วมือ
ทางลัดในหน้าจอล็อค ตามปกติแล้วจะสามารถเข้าถึงแอพฯ โทรออกกับกล้องได้ แต่หากผู้ใช้ต้องการใช้แอพฯ อื่น ตามที่สะดวก ก็สามารถเลือกเปลี่ยนได้
แบตเตอรี่ เป็นเรื่องที่รู้ไว้ไม่เสียหาย ในตัวเมนูจะคอยบอกสถานะแบตเตอรี่ว่าจากเปอร์เซนต์ในขณะนี้จะสามารถใช้งานได้อีกนานเท่าไหร่ พร้อมกับบอกด้วยว่าหากเปิดโหมดประหยัดพลังงานจะใช้งานได้อีกเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รู้สถานะการใช้งานและวางแผนจำกัดการใช้งานได้ ขณะเดียวกันยังทำบอกให้รู้ว่าในแต่ละแอพฯ มีการใช้แบตเตอรี่กี่เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ Samsung ยังให้ตัวเลือกสำหรับการชาร์จที่เร็วขึ้น ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการชาร์จแบตเตอรี่ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด
สำหรับคนชอบใช้สมาร์ทโฟนบนรถยนต์ ใน S7 Edge มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า “Mirror Link” ใช้การเชื่อมต่อระหว่าง S7 Edge กับคอนโซลรถยนต์ผ่านสาย USB เพื่อเปลี่ยนหน้าจอคอนโซลจากปกติ ให้กลายเป็นหน้าจอ S7 Edge สามารถเปิดแอพฯ ฟังเพลง, ดู YouTube, เปิดแผนที่นำทางได้เสมือนบน S7 Edge แต่ทั้งนี้ต้องขอบอกว่าภายในรถยนต์จะต้องมีหน้าจอคอนโซลที่มีระบบรองรับถึงจะใช้งานได้นะครับ
Game Launcher : เป็นอีกฟีเจอร์ใหม่ใน S7 Edge มีลักษณะเป็นปุ่มลอยในระหว่างเล่นเกม ซึ่งโดยปกติแล้วตอนเราเล่นเกมจะไม่มีปุ่มใดมาแทรกอยู่บนหน้าจอ แต่การมี Game Launcher จะเข้ามาช่วยปิดการแจ้งเตือนที่เด้งเข้ามาขณะที่เรากำลังเมามันส์กับเกม ช่วยล็อคปุ่มล่าสุดและปุ่มกลับ, ย่อหน้าต่างเกมได้, จับภาพหน้าจอเกมในระหว่างเล่น รวมถึงการเปิดกล้องหน้าพร้อมบันทึกวีดีโอ สำหรับผู้ที่ต้องการรีวิวเกมนั้นๆ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปที่ตั้งค่าเพื่อปรับลดคุณภาพการแสดงกราฟิก ในกรณีที่ต้องการเล่นเกมแบบประหยัดแบตเตอรี่ด้วย
การควบคุมด้วยท่าทาง เป็นอีกฟีเจอร์ที่ไม่เคยห่างหายไปจาก Samsung Galaxy ซึ่งใน S7 Edge ยังคงมีลูกเล่นการใช้ท่าทาง เช่น การปิดเสียงโทรเข้าและการเตือน เพียงวางมือบนหน้าจอหรือพลิกอุปกรณ์, การเตือนอัจฉริยะ ที่จะคอยสั่นเมื่อหยิบอุปกรณ์ขึ้นมา เพื่อบอกให้รู้ว่ามีสายเรียกเข้าที่ไม่ได้รับและข้อความ, พักหน้าจออัจฉริยะ เป็นการตรวจจับใบหน้าเพื่อให้จอภาพทำงานในขณะที่คุณกำลังมองอยู่ หรือหากต้องการใช้งานด้วยมือเดียว ยังมีฟีเจอร์ที่ลดขนาดหน้าจอมาไว้ด้านข้างเพื่อการใช้งานด้วยมือเดียวที่ง่ายยิ่งขึ้น พร้อมกับสามารถเรียกใชฟีเจอร์นี้เพียงกดปุ่มโฮม 3 ครั้งติดกัน
การใช้งานแบบเร่งด่วน อาจเป็นสิ่งที่ชื่นชอบสำหรับบางคน ซึ่งใน S7 Edge มีตัวเลือกที่ช่วยให้การใช้งานรวดเร็วขึ้น ได้แก่ การเปิดกล้องด่วน อันนี้ถือว่าส่วนตัวผมค่อนข้างชอบเพราะเพียงแค่กดปุ่มโฮมสองครั้งติดกัน ก็จะเข้ากล้องถ่ายภาพได้เลย, การโทรด่วน จะอยู่ในเมนู Galaxy Labs ที่ใช้การกดปุ่มโฮมค้างไว้ แล้วพูดรายชื่อที่ต้องการโทรออก, ส่งข้อความฉุกเฉิน เป็นอีกเครื่องมือสำหรับใช้งานในเวลาที่คุณต้องการความช่วยเหลือ โดยการจะใช้งานจะต้องมีการบันทึกรายชื่อของคนที่คุณคิดว่าจะสามารถรับรู้ความช่วยเหลือของคุณได้ การใช้งานเพียงกดปุ่มพาวเวอร์ติดกัน 3 ครั้ง เพื่อส่งการแจ้งเตือนแบบเร่งด่วนไปยังรายชื่อที่คุณกำหนดไว้
ทดสอบประสิทธิภาพด้วยแอพฯ Benchmark
Antutu Benchmark แอพฯ วัดค่าการประมวลผล ได้ผลคะแนนอยู่ที่ 127569
3D Mark แอพฯ วัดการแสดงผลสามมิติ ผลคะแนนอยู่ที่ 1924
PCMark for Android วัดประสิทธิภาพและระบบโดยรวมของ Android ผลคะแนนอยู่ที่ 4887
Geekbench 3 แอพฯ ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานโดย พร้อมทดสอบหน่วยประมวลผลทั้งแบบ Multi-Core และแบบ Single-Core ผลคะแนนแบบ Single-Core อยู่ที่ 2182 ส่วนแบบ Multi-Core อยู่ที่ 6354
Key Feature
จุดขายสำคัญของ S7 Edge อย่างแรกที่ Samsung เปิดการ์ดให้เห็น นั่นคือ “กล้อง” ตอนแรกที่ดูงานเปิดตัวคิดว่าความละเอียดน่าจะอัดมาเพิ่มขึ้น แต่ Samsung ทำสิ่งที่ตรงกันข้าม ด้วยการลดความละเอียด 16 ล้านพิกเซลจาก S6 Edge เหลือ 12 ล้านพิกเซล แต่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “Dual Pixel” เข้ามายกระดับการถ่ายภาพให้มันเจ๋งยิ่งขึ้นไปอีก โดยเจ้า Dual Pixel นี้ ถูกใช้ในกล้อง DSLR ของค่าย Cannon มาก่อน แต่วันนี้มันได้ถูกนำมาไว้ในสมาร์ทโฟน ช่วยให้การล็อกโฟกัสแม่นยำ รวดเร็ว ทั้งการถ่ายภาพนิ่งหรือวีดีโอ นอกจากนี้ Samsung ยังปรับค่ารูรับจากเดิม f/1.9 ใน S6 Edge มาใช้ f/1.7 ทั้งกับกล้องหน้าและกล้องหลังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายภาพในที่แสงน้อยให้มีความคมชัดยิ่งกว่ารุ่นก่อน พร้อมด้วยระบบกันสั่นระหว่างถ่ายภาพ หรือ OIS
การถ่ายภาพด้วยกล้องหลัง ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล อัตรส่วนของภาพจะอยู่ที่ 4:3 ซึ่งในโหมดปกติสามารถเพิ่มความสว่างก่อนถ่ายได้ หรือจะเปิดโหมด HDR, แฟลช ให้เป็นแบบ Auto ก็กำหนดได้เองเช่นกัน ส่วนเมนูถ่ายภาพและวีดีโอมีให้เลือกรวมกันถึง 10 โหมด รวมทั้งมีฟิลเตอร์ที่ช่วยให้ภาพแสดงอารมรณ์และสะท้อนความรู้สึกที่หลากหลาย หากใครชอบ หรืออยากทดสอบแบบไหนเลือกได้ตามต้องการครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากล้องหลัง
โหมดปกติ
ตัวอย่างภาพเซลฟี่
การถ่ายภาพเซลฟี่นี้ หากไม่ถนัดที่จะใช้นิ้วกดที่ปุ่มโฮม ยังสามารถใช้นิ้ว แตะแล้วปล่อย ที่เซนเซอร์ Heart rate ใต้แฟลช รวมไปถึงใช้ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงเพื่อถ่ายภาพได้เช่นกัน
จุดขายสำคัญอย่างที่สอง ที่น่าปลื้มมากๆ คือ “กันน้ำ” ภายใต้มาตรฐาน IP68 สามารถกันน้ำได้ลึก 1 เมตร นาน 30 นาที แถมกันฝุ่นเข้าเครื่องได้ด้วย ซึ่งการนำ S7 Edge ลงน้ำ ที่ลองพิสูจน์พบว่าสามารถใช้ถ่ายภาพได้, เปิด YouTube ไว้ก็ทำได้นะ แต่ต้องไม่เกิน 30 นาที โดยหลังจากหยิบขึ้นจากแช่น้ำแนะนำว่าควรเช็ดให้แห้ง และหากเปิดเสียงจะฟังเพลงหรือดูหนังในทันทีเลย จะพบว่าเสียงจะขาดๆ หายๆ หรือกระตุกไปบ้าง ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะเป็นอาการที่ปกติที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรานำ S7 Edge ไปแช่น้ำ ทางแก้ง่ายๆ ครับ ปล่อยทิ้งไว้สักครู่แล้วจากนั้นเสียงก็จะกลับมาเป็นปกติตามเดิม และการเสียบสายชาร์จก็ไม่ควรทำทันที หลังหยิบขึ้นมาจากน้ำ ควรรอให้แห้งสักพัก แล้วค่อยเสียบสายชาร์จ ขอแนะนำเพิ่มเติมในการแช่น้ำ ควรเป็นน้ำจืดนะครับ อย่าได้เอาไปใช้กับน้ำทะเล น้ำสบู่ นะครับ
สรุปภาพรวม รีวิว Samsung Galaxy S7 Edge
สิ่งที่ S7 Edge ได้ใจผมเลย นั่นคือเรื่องกล้องกับกันน้ำ กล้องถ่ายภาพเรียกใช้งานได้เร็วทันใจ เพียงกดปุ่มโฮมติดกัน 2 ครั้ง ก็เปิดกล้องแล้วถ่ายได้เลย หากไม่ได้เป็นคนชอบปรับโน้นปรับนี่ ลองโหมดนั้นโหมดนี้ การใช้แค่โหมดปกติก็สามารถสร้างภาพที่ถูกใจได้ สำหรับคนทำงานด้านคอนเทนต์อย่างผม การใช้ S7 Edge ยังช่วยทั้งการเรื่องถ่ายภาพสินค้ารีวิว การใช้เป็นเครื่องมือในการอัพเดทข้อมูลผ่านแฟนเพจและทวิตเตอร์ aripfan นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ
เรื่องกันน้ำ ผ่านการใช้งานช่วงสงกรานต์มาแบบชิวๆ ไม่ต้องใช้ซองกันน้ำเพื่อใส่ S7 Edge ใช้แต่เก็บเงิน เก็บกุญแจบ้านแทน ขณะที่ S7 Edge ใช้เดินลุยน้ำสงกรานต์ได้แบบเท่ๆ เปียกก็ไม่กลัว
ในเรื่องอื่นๆ อย่างการหยิบจับมือเดียวที่อาจไม่ถนัดนัก เพราะเนื่องด้วยความโค้งของจอทั้งสองด้าน หรือแม้กระทั่งรอยนิ้วมือบนเครื่อง นับว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยครับ
ส่วนใครที่อยากได้ S7 Edge ก็ดูเงินในกระเป๋าให้ดีเสียก่อน หรือหากจะผ่อนก็วางแผนการเงินให้ดีนะครับ