พีทีที ดิจิตอล จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เตรียมความพร้อมสู่โลกยุคนิวนอร์มัล

วันนี้ ไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ ประกาศว่า บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital) ผู้ให้บริการพัฒนาและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทกลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Operations Center) เพื่อเตรียมความพร้อมและช่วยปกป้องธุรกิจของบริษัทกลุ่ม ปตท. ในช่วงการก้าวสู่โลกยุคนิวนอร์มัล โดยนำเทคโนโลยีจากไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ มาช่วยให้บริษัทกลุ่ม ปตท. สามารถตรวจจับภัยคุกคามและเหตุด้านความปลอดภัยต่างๆ ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยการแจ้งเตือน คำแนะนำ การวิเคราะห์เทรนด์อย่างละเอียด และเมทริกซ์รายงานการโจมตีจากฟีดข้อมูลภัยคุกคามอัจฉริยะ

เทอดเกียรติ พร้อมมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด

“ปัจจุบัน ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัล ไม่เพียงแต่องค์กรจะต้องก้าวทันเทคโนโลยี แต่ยังต้องรู้ทันเทคโนโลยีอีกด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้จำนวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว การเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ เพราะผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรหลากหลายด้าน เช่น ค่าใช้จ่ายจากการเรียกค่าไถ่ข้อมูล ผลกระทบจากการที่ธุรกิจต้องหยุดชะงัก  และที่ร้ายแรงที่สุด คือ การสูญเสียความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อองค์กร ดังนั้นภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญ” นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด กล่าว

“พีทีที ดิจิตอล เปิดให้บริการมากว่า 14 ปี  ด้วยพนักงานกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น ERP, Web Application, Mobile Application และกลุ่มเทคโนโลยีใหม่เช่น Data Analytics, Blockchain, Chatbot, RPA และอื่นๆ  ที่ให้บริการกับลูกค้าทั้งในและนอกกลุ่ม ปตท. ทั้งนี้ 3 ปัจจัยสำคัญที่ พีทีที ดิจิตอล ถือเป็นมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ได้แก่ การคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญมาดำเนินการ, การกำหนดกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและรวดเร็วเมื่อตรวจพบภัยคุกคาม และการคัดสรรเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” นายเทอดเกียรติ กล่าวเสริม

ศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งใหม่ของพีทีที ดิจิตอล ได้รับการติดตั้งระบบโดย MFEC ซึ่งเป็นคู่ค้าของไอบีเอ็ม บนพื้นฐานของเทคโนโลยีตรวจจับภัยคุกคามระดับโลกและแพลตฟอร์มด้านความมั่นคงปลอดภัยอัจฉริยะ IBM Security QRadar จะช่วยให้กลุ่ม ปตท. สามารถตรวจจับภัยคุกคามและเหตุด้านความปลอดภัยต่างๆ ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยการแจ้งเตือน คำแนะนำ การวิเคราะห์เทรนด์อย่างละเอียด และเมทริกซ์รายงานการโจมตีจากฟีดข้อมูลภัยคุกคามอัจฉริยะ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์บริบทด้านความมั่นคงปลอดภัยเพื่อช่วยให้การตรวจจับและตรวจสอบเหตุต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบปฏิบัติงานต่างๆ

วิบูลย์ ฐานันดรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรม โทรคมนาคม และภาครัฐ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

“การโจมตีทางไซเบอร์เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น และยิ่งเติบโตมากขึ้นอันเป็นผลมาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการแพร่กระจายของโควิด-19” นายวิบูลย์ ฐานันดรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรม โทรคมนาคม และภาครัฐ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “การตรวจจับและตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยเร่งระยะเวลาในการตอบสนอง ถือเป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบที่เกิดจากเหตุด้านซิเคียวริตี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการสูญเสียทางธุรกิจที่จะตามมา ไอบีเอ็มมีความยินดีที่ได้นำเทคโนโลยีซิเคียวริตี้และการบริการระดับโลกเข้าช่วยสร้าง cyber resiliency และช่วยปกป้องธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ในช่วงการก้าวสู่โลกยุคนิวนอร์มัล”

ผลการศึกษาองค์กรทั่วโลกเกี่ยวกับการรับมือภัยไซเบอร์

จากรายงานผลการศึกษาองค์กรทั่วโลกครั้งที่ 5 โดยไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับภัยไซเบอร์ของธุรกิจต่างๆ โดยอ้างอิงจากผลวิจัยของสถาบันโพเนมอนที่สำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและซิเคียวริตี้กว่า 3,400 คนทั่วโลก พบว่าปริมาณเหตุด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ได้เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้กระบวนการไอทีและธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงัก แม้จำนวนองค์กรที่รายงานว่าตนประสบความสำเร็จในการเพิ่มศักยภาพด้าน cyber resilience จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 35 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 53 ในปี 2563 ซึ่งเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 51 แต่ร้อยละ 53 ขององค์กรที่สำรวจก็ยังเผชิญกับเหตุข้อมูลรั่วไหลที่ทำให้ต้องสูญเสียหรือถูกขโมยข้อมูลความลับของลูกค้าหรือธุรกิจมากกว่า 1,000 รายการในช่วงสองปีที่ผ่านมา และเกือบร้อยละ 51 ยังรายงานว่าเหตุด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกระบวนการดำเนินงานด้านไอทีและธุรกิจขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 67 มองว่าปริมาณและความรุนแรงของเหตุต่างๆ เหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นมากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศกลุ่มอาเซียน มีองค์กรเพียงร้อยละ 41 ที่มีแผนรับมือเพื่อรองรับการโจมตีรูปแบบต่างๆ