ตั้งแต่ ChatGPT เปิดตัวเมื่อพฤศจิกายน 2565 การลงทุน พัฒนา และใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ คาดการณ์ว่าพลังประมวลผลที่ใช้สำหรับ AI นั้นก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก ๆ 100 วัน
และนั่นก็กลายผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตื่นตัว หน่วยงานกำกับดูแลในยุโรปเพิ่งกดดันให้ Meta ชะลอแผนการฝึกฝนโมเดล AI ด้วยข้อมูลจาก Facebook และ Instagram
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ทั้งที่การถามคำถามเดียวกับแชทบอท AI อาจใช้พลังงานมากกว่าการค้นหาด้วย Google แบบเดิมถึง 10 เท่า และอาจใช้พลังงานมากกว่าซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมถึง 33 เท่าในการทำงานให้เสร็จสิ้น
แอปพลิเคชัน AI ส่วนใหญ่ทำงานบนเซิร์ฟเวอร์ในศูนย์ข้อมูล ซึ่งในปี 2566 ก่อนที่ AI จะบูมจริงจัง สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศประเมินว่า ศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ คิดเป็น 1-1.5% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก และประมาณ 1% ของการปล่อย CO₂ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั่วโลก
การเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้ AI เปลี่ยนแปลงตัวเลขเหล่านี้อย่างไร ? รายงานด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุดจาก Microsoft, Meta และ Google ให้ข้อมูลเชิงลึกไว้อย่างน่าสนใจ
โดย Microsoft ได้ลงทุนใน AI อย่างมาก ถือหุ้นใหญ่ใน OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT รวมถึงแอปพลิเคชัน Copilot ของตัวเองสำหรับ Windows ตั้งแต่ระหว่างปี 2563 ถึง 2566 ซึ่งการปล่อยมลพิษประจำปีที่ Microsoft ได้เปิดเผยนั้น เพิ่มขึ้นประมาณ 40% จาก 12.2 ล้านตัน เป็น 17.1 ล้านตัน (CO₂)
Meta ก็ทุ่มทรัพยากรมหาศาลให้กับ AI เช่นกัน ในปี 2566 บริษัทเปิดเผยว่าการปล่อยมลพิษ เพิ่มขึ้นกว่า 65% ในเวลาเพียงสองปี จาก 5 ล้านตัน ในปี 2563 เป็น 8.4 ล้านตันในปี 2565 (CO₂)
การปล่อยมลพิษของ Google ในปี 2566 สูงกว่าในปี 2562 เกือบ 50% โดยรายงานด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี 2567 ของ Google ระบุว่าแผนการลดการปล่อยมลพิษจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการประมวลผล AI ที่เข้มข้นขึ้น
และต้องยอมรับว่า ศูนย์ข้อมูลนั้นสร้างความร้อนจำนวนมาก และใช้น้ำปริมาณมากเพื่อระบายความร้อนให้กับเซิร์ฟเวอร์ จากการศึกษาในปี 2564 ศูนย์ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาใช้น้ำประมาณ 7,100 ลิตรต่อการใช้พลังงานหนึ่งเมกะวัตต์-ชั่วโมง และศูนย์ข้อมูลของ Google ในสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียว ใช้น้ำจืดประมาณ 12.7 พันล้านลิตรในปี 2564
ในปัจจุบัน หลาย ๆ แห่งทั่วโลกนั้น มีอุณหภูมิสูงกว่า 50°C และหลาย ๆ ที่นั้นมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ทศวรรษนับตั้งแต่ปี 2523 เดือน กรกฎาคม 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้
ความร้อนจัดส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในท้องถิ่น การศึกษา Lancet 2022 พบว่าแม้แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1°C ก็ทำให้อัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในฐานะผู้บริโภค เราสามารถช่วยได้ ด้วยการซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่มีธรรมาภิบาลเรื่องความยั่งยืนมากกว่า
ที่มา
theconversation