Home Blog Page 73

สุดล้ำ ดึงความร้อนจากน้ำ ช่วยลดค่าไฟได้ 75%

สกอตแลนด์ใช้น้ำทำระบบความร้อน “HotTwist” ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนได้มากถึง 75%

บริษัทสตาร์ทอัป SeaWarm เปิดไอเดียดึงความร้อนจากแหล่งน้ำแปลงเป็นไฟฟ้า เพราะน้ำสามารถกักเก็บพลังงานความร้อนได้มากกว่าอากาศที่มีปริมาตรเท่ากันถึง 3,400 เท่า ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่น่าสนใจและเป็นทางเลือกใหม่ในอนาคต

โดยใช้เครื่องปั๊มความร้อนได้รับการออกแบบมาเพื่อดึงพลังงานเป็นตัวกลางส่งไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า

SeaWarm จะเก็บความร้อนจากแหล่งน้ำ เช่น มหาสมุทร แม่น้ำ และทะเลสาบ หรือน้ำจากใต้ดิน โดยติดตั้งเครื่องปั๊มไว้ห่างจากแหล่งน้ำประมาณ 500 เมตร (1,640 ฟุต) โดยน้ำจะถูกสูบหรือส่งไปยังเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนโดยใช้แรงโน้มถ่วง

โดยทดลองในสถานที่จริง ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ เรือนกระจก และที่อยู่อาศัยที่สร้างขึ้นในค่ายทหาร เป็นต้น เพื่อกระจายความร้อนทำให้อากาศอุ่นขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้า

ระบบ SeaWarm สามารถรักษาประสิทธิภาพได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปีในสภาพอากาศที่แตกต่างกันมากกว่าระบบที่ใช้ความร้อนแบบเดิม ๆ แถมจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้ความร้อนขององค์กรได้ถึง 75%

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดใหม่ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย

 

ที่มา : newatlas

#TechhubUpdate

จุฬาเปิดคอร์ส สอน Python ระดับเริ่มต้น เรียนออนไลน์ฟรี มีใบเซอร์

จุฬาเปิดคอร์สเรียนใหม่ Python for Data Science ศึกษาการใช้ภาษา Python ในระดับเริ่มต้น โดยเริ่มจากการเรียน Syntax ไปจนถึงการนำมาใช้ในการดึงข้อมูล

เพื่อเพิ่มทักษะและทำเข้าใจภาษาโปรแกรม Python เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับการวิเคราะห์ข้อมูล และเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนในการใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คนทั่วไปสามารถเข้าไปเรียนได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึง – 31 กรกฎาคม 2567

ทางไปเรียน >> Python for Data Science (5 บทเรียน)

Part 0: Installation and Introduction

Part I: Introduction to Python

Part II: Numpy and Matplotlib Library

Part III: Getting to Know Pandas

Part IV: Social Media Retrievals

Part V: Conclusion

ผู้เรียนต้องทำคะแนนรวมทั้งหมด ให้ได้ร้อยละ 60 ขึ้นไป สามารถขอรับ Certificate of Completion ได้ด้วยนะ

นอกจากเนื้อหาที่แนะนำไปแล้ว ยังมีคอร์สเรียนอีกมากมายให้ได้อัปสกิลกันที่ 

จิ้มลิ้งค์เลย >> techhub productivity 

แค้นโดนปลด แอบลบข้อมูลบริษัท เสียหายกว่า 25 ล้านบาท

[ผมเข้ามาแล้ว] ถือเป็นการทิ้งทวนที่เจ็บแสบทีเดียว หลังทาง NCS บริษัทหรือหน่วยงานเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติในสิงคโปร์ ถูกอดีตพนักงานแอบลบข้อมูลในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ทดสอบ หลังแค้นที่โดนปลดออก เป็นเหตุหน่วยงานได้รับความเสียหายนับล้าน ส่วนอดีตพนักงานรายนี้ก็เข้าคุกไปตามระเบียบ

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคมปี 2022 ทาง NCS ได้ปลดนาย Kandula Nagaraju อดีตพนักงานวัย 39 ปีออก เหตุทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยนาย Nagaraju เคยเป็น Quality Assurance หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันคุณภาพ ที่คอยทดสอบเซิร์ฟเวอร์สำหรับรันแอปฯ ก่อนเปิดให้ใช้งานนี้เอง

ทว่าจากเอกสารของศาลเผยนาย Nagaraju รู้สึกสับสนและไม่พอใจกับการเลิกจ้างอย่างมาก พร้อมกล่าวว่าตนเองมีส่วนสนับสนุนที่ดีให้กับทาง NCS มาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็โดดปลดออก

หลังกลับจากสิงคโปร์ในช่วงต้นปี 2023 นาย Nagaraju พบว่าตนเองยังสามารถเข้าถีงระบบเซิร์ฟเวอร์ของหน่วยงานได้อยู่ จึงวานแผนป่วนข้อมูลภายใน ทั้งไล่ลบข้อมูลสำหรับทดสอบในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ถึง 180 เครื่อง และปรับเปลี่ยนข้อมูลภายในจนเกิดความเสียหาย

สุดท้ายทาง NCS ต้องเสียเงินประมาณ 678,000 ดอลลาร์ฯ หรือราว ๆ 25 ล้านบาทในการแก้ปัญหาครั้งนี้กันเลย นับว่ายังดีที่ไม่ได้มีข้อมูลลูกค้าหรือบริษัทที่มีความละเอียดอ่อน เก็บไว้ในเครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับทดสอบ

หลังเกิดเหตุทาง NCS ก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อค้นหาตัวการ ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็พบว่าเป็นฝืมือของนาย Nagaraju ในที่สุด และต่อมาถูกตัดสินจำคุก 2 ปีกับอีก 8 เดือน รวมเกือบ ๆ 3 ปี เป็นบทเรียนทั้งอดีตพนักงานรายนี้กับทางบริษัทไปอีกนาน โดยเฉพาะการไม่เคลียร์เรื่อง ‘สิทธิ์เข้าถึงระบบ’ ให้เรียบร้อยดีก่อนปลด

ที่มา : Techspot

ปักตะกร้า Meta จับมือ Shopee สร้างแค็ตตาล็อกสินค้าในไลฟ์

ใครที่เป็นสายเอฟของออนไลน์อาจจะคุ้นเคยกับฟีเจอร์ปักตะกร้า

Facebook อัปเดตใหม่เพิ่มฟีเจอร์การช้อปปิ้งบน Messenger เชื่อมต่อแค็ตตาล็อกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee เข้ากับแอป Facebook

เครื่องมือนี้ได้พัฒนาร่วมกับ V Rich App จะทำให้การซื้อขายสะดวกและง่ายดายกว่าเดิม ให้ผู้ซื้อค้นหาและเลือกดูสินค้า เช็ครายละเอียด เพิ่มสินค้าลงในรถเข็น และเริ่มสั่งซื้อสินค้าโดยตรง

สำหรับคนที่อยากเปิดใช้งานฟีเจอร์การช้อปปิ้งบน Messenger

1. เชื่อมต่อบัญชีของคุณเข้ากับ Shopee

2. ซิงค์แค็ตตาล็อกสินค้าของคุณเข้ากับ Facebook

3. สร้างโฆษณาที่คลิกไปยัง Messenger

ฟีเจอร์ใหม่เราสามารถเพิ่มสินค้าอย่างน้อย 6 รายการในแค็ตตาล็อก ระหว่างไลฟผู้ซื้อเลือกดูสินค้าได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเสียเวลาดูตลอดทั้งไลฟ์ หรือต้องเสียเวลาพิมพ์รหัสในช่องแชทเหมือนแต่ก่อน

นอกจากจะพัฒนาเรื่องการซื้อขายแบบใหม่แล้ว Facebook ยังหยิบเอา AI Agent มาเป็นผู้ช่วยแนะนำสินค้าในอนาคตอีกด้วย ที่พัฒนามาจากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ Llama 3 รองรับภาษาไทยอีกด้วย

 

ที่มา : facebook

#TechhubUpdate

ถูกตัดสิทธิ์ เวทีประกวดภาพ AI เดือด ภาพถ่ายจริงดันชนะผลโหวต

[ถ่ายเอามันส์] หลายคนอาจจะเคยภาพข่าวนี้แล้ว แต่เบื้องหลังบอกเลยว่าน่าสนใจทีเดียว คร่าว ๆ คือพบงานประกวดภาพที่สร้างจาก AI งานหนึ่ง และงานนั้นก็มีภาพที่ชนะผลโหวตจนได้รางวัลอันดับ 3 ทว่ารูปนั้นกลับเป็นภาพถ่ายของจริง

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ได้มีงานประกวดภาพ AI อย่าง 1839 Photography Awards และงานนั้นก็มีช่างภาพตัวจริงนาม Miles Astray ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดด้วย

และผลงานนั้นคือ “F L A M I ​​N G O N E” มาเป็นภาพนกฟลามิงโกตัวหนึ่งที่กำลังซ่อนศีรษะตัวเอง ซึ่งหลายคนเห็นแล้วคงรู้สึกหิวปลาแซลมอนอย่างบอกไม่ถูก และก็ต้องไม่เชื่อว่าภาพนี้ จะได้รางวัลอันดับ 3 หรือ People’s Vote Award ชนะผลโหวตจากเหล่าตัวแทนบริษัทดังทั้ง New York Times , บริษัทประมูล Christie’s , สำนักพิมพ์ Paidon และจากที่อื่น ๆ ด้วย

ทว่าหลังจากนั้น ตัวภาพก็ถูกลบออกจากเว็บไซต์ของการแข่งขัน สืบเนื่องจากพบว่าไม่ใช่ภาพ AI หากแต่เป็นภาพถ่ายจริง ผิดกติกาการประกวด ซึ่งก็ส่งผลให้ Miles Astray เจ้าของภาพดังกล่าวถูกตัดสิทธิ์การแข่งขันด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Miles Astray เผยภายหลังว่าตนเองมีความ ‘ตั้งใจ’ ที่จะส่งภาพดังกล่าวไปอยู่แล้ว พร้อมประกาศสนับสนุนผลงานภาพที่สร้างโดยมนุษย์เท่านั้น หลังปัจจุบันเริ่มมีการใช้ภาพที่สร้าง AI มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่เป็นทั้งศิลปิน นักข่าว นักออกแบบกราฟิก ไปจนถึงพนักงานในโรงงานที่ถูก AI เข้ามาแทนที่แล้ว

“ความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์นั้น เป็นมากกว่าตัวเลขแค่ชุดหนึ่ง” Miles Astray กล่าว

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ก็เคยมีกรณีงานประกวดภาพถ่ายอย่าง Sony World Photography Awards 2023 ซึ่งมีช่างภาพทีชื่อ Boris Eldagsen ได้ลองส่งภาพที่สร้างจาก AI ไปประกวด เพื่อทดสอบสายตากรรมการว่าแยกออกไหม ปรากฏว่าภาพนั้นกลับได้รางวัลชนะเลิศ ทว่าสุดท้ายช่างภาพรายนี้ได้ปฏิเสธรับรางวัล พร้อมเฉลยแบบแสบ ๆ ว่ามันคือภาพจาก AI ต่างหาก เรียกได้ว่า ‘Gen เอามันส์’

ที่มา : Artnews

ลดต้นทุน สร้างบ้านราคาประหยัด แค่ 5 วัน ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

บ้านราคาประหยัด สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์พร้อมเข้าอยู่

สตาร์ตอัปในเดนมาร์กเปิดตัว บ้านที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แห่งแรกในเอเชียกลาง ที่ประเทศคาซัคสถาน ออกแบบโดย BM Partners และพิมพ์โดยใช้โมเดล BOD2 ของ COBOD ซึ่งเป็นโมเดลที่สร้างศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ COBOD จะอัดส่วนผสมที่คล้ายซีเมนต์ที่มีความแข็งแรงสูง ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าบ้านจะทนต่อสภาพอากาศในพื้นที่รวมถึงแผ่นดินไหว 7.0 ตามมาตราวัดริกเตอร์

ส่วนผสมนี้ประกอบด้วยปูนซีเมนต์ ทราย และกรวดจากท้องถิ่น ผสมกับสารผสม D.fab ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง COBOD ทำให้สามารถผลิตคอนกรีตสูตรพิเศษตามความต้องการของแต่ละภูมิภาค

ส่วนอาคารจึงใช้คอนกรีตโพลีสไตรีน ซึ่งช่วยต้านความร้อนและเสียงอีกด้วย และโครงบ้านนั้นใช้เวลาพิมพ์เพียงแค่ 5 วันเท่านั้น ส่วนการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ จะใช้เวลา 2 เดือน

บ้านเป็นแบบชั้นเดียว เรียบง่าย มีพื้นที่ 100 ตารางเมตร (1,076 ตารางฟุต) เคาะราคาอยู่ที่ 20,500 ยูโร หรือประมาณ 802,000 บาทเท่านั้น

ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจบ้านที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติกันเยอะ เพราะนอกจากจะสร้างบ้านได้ไวแล้ว ข้อดีอีกอย่างคือราคาถูกกว่าบ้านทั่วไป

ที่มา : newatlas

#TechhubUpdate

3 เสาหลัก กำกับดูแลการใช้ AI (AI Governance) สำหรับผู้บริหารองค์กร

ขณะที่ทั่วโลกต่างกำลังหาวิธีรับมือเพื่อกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีบทบาททั้งต่อชีวิตประจำวันของผู้คน องค์กร อุตสาหกรรม กระทั่งถึงระดับที่มีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยซึ่งได้รับการประเมินดัชนีความพร้อมด้าน AI1 ปี 2023 ในลำดับที่ 37 แม้ว่าในช่วงเวลาที่เผยแพร่บทความนี้ (มิถุนายน 2567) จะยังอยู่ในช่วงการร่างกฎหมายที่จำเป็น ก็ต้องได้รับการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวปฏิบัติทั้งจากภายในและต่างประเทศ รวมถึงแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP จึงร่วมเป็นหนึ่งช่องทางในการเพิ่มการตระหนักถึงความสำคัญของ AI ต่อธุรกิจ โดยนำเสนอแนวทางการกำกับดูแลการใช้ AI บนหลักการด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารองค์กร (AI Governance) ที่จำเป็นต้องสร้างความสมดุลและยั่งยืนทั้งในแง่การป้องกันและการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์บางส่วนจากการบรรยายของ ดร. ศักดิ์   เสกขุนทด2 ที่ปรึกษาอาวุโส และผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในหัวข้อ AI Governance – Thailand’s Approach ในงาน TMA Digital Dialogue 2024

การกำกับดูแลการใช้ AI (AI Governance) สำหรับผู้บริหารองค์กร

เสาที่ 1: AI Governance Structure

เตรียมความพร้อมองค์กรด้วยการวางโครงสร้างรากฐานสำหรับการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ภายในองค์กร ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

  • กำหนด/แต่งตั้งคณะทำงาน AI Governance ภายใต้บริบทของแต่ละองค์กร ซึ่งควรประกอบด้วยผู้บริหารจากหลากหลายแผนก เช่น ฝ่ายไอที ฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (Compliance) เป็นต้น เพื่อร่วมกันรับผิดชอบการกำกับดูแล การพัฒนา และการดำเนินงานตามกรอบการกำกับดูแล AI มีหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น
  • การกำหนดทิศทางการดำเนินการ คณะทำงานฯ ควรเป็นผู้กำหนดทิศทางสำหรับกลยุทธ์ AI ขององค์กร จัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI รวมถึงการกำหนดนโยบายและขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง
  • การเฝ้าติดตาม คณะทำงานฯ ควรหมั่นติดตามประสิทธิภาพจากการประยุกต์ใช้ AI เทียบกับกรอบการกำกับดูแล AI ขององค์กร
  • การประเมินผล คณะทำงานฯ ควรประเมินประสิทธิภาพโดยรวม ผลกระทบ และความยั่งยืนของการประยุกต์ใช้ AI ขององค์กร ซึ่งรวมถึงประสิทธิผลของกลไกการกำกับดูแล (AI Mechanism) โอกาสและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  • กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบ กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบอย่างชัดเจนสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ AI
  • เพิ่มทักษะและความสามารถ เสริมสร้างความมั่นใจว่าพนักงานในองค์กรแผนกที่ใช้งาน AI จะมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาและจัดการระบบ AI อย่างมีความรับผิดชอบ

เสาที่ 2: AI Strategy

การกำหนดกลยุทธ์การประยุกต์ใช้ AI เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจเลือก use case ที่เหมาะสมจะใช้งาน AI การพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างแพลตฟอร์ม AI (เช่น ซื้อหรือเช่า) การบริหารจัดการความเสี่ยง และการวาง Roadmap การใช้งาน AI ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

  • กำหนดกลยุทธ์การประยุกต์ใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI Strategy) ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมายและค่านิยมองค์กร โดยเริ่มจากมองหาโอกาสในการใช้งาน กำหนดเป้าหมายตามลำดับความสำคัญและความพร้อม กำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI และจัดทำเป็นแผน Roadmap หรือ Prototype
  • ระบุและประเมินความเสี่ยง (Identifying & Assessing AI-related risks) ที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ AI ในเชิงรุก เช่น คุณภาพของข้อมูล (Data Quality) การอยู่นอกเหนือความสามารถในการกำกับดูแล (Non-compliance) ช่องโหว่ด้านความปลอดภัย (Cyber Attack) ความเสี่ยงเหล่านี้อาจรวมถึงอคติ (Bias) การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) และการละเมิดความเป็นส่วนตัว (Privacy)
  • พัฒนา/ปรับใช้แผนบริหารความเสี่ยง (AI Risk Management Framework) สร้างแผนหรือปรับใช้แผนมาตรฐานสากลเพื่อลดความเสี่ยง AI แผนนี้อาจเกี่ยวข้องกับการควบคุมการนำไปใช้ เช่น อัลกอริธึมการตรวจจับอคติและมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
  • พิจารณาระดับการมีส่วนร่วมของมนุษย์ (Level of Human Involvement) เมื่อประยุกต์ใช้ระบบ AI ให้พิจารณาระดับการมีส่วนร่วมของมนุษย์ที่เหมาะสมตลอดทั้ง AI lifecycle ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ
    • แนวทางแบบ human-in-the-loop ที่มนุษย์มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น AI ทางการแพทย์
    • แนวทางแบบ human-over-the-loop ที่มนุษย์มีอำนาจในการควบคุมดูแล เช่น AI ตรวจวัดคุณภาพ
    • แนวทางแบบ human-out-the-loop ที่มนุษย์อยู่นอกกรอบที่ AI ทำงานอัตโนมัติ (แต่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ) เช่น AI Chatbot

ทั้งนี้ ระดับการมีส่วนร่วมของมนุษย์ควรขึ้นอยู่กับลักษณะของความเสี่ยงของระบบ AI และผลกระทบจากข้อผิดพลาด

เสาที่ 3: AI Operation

ขั้นตอนการดำเนินการหลังการประยุกต์ใช้ AI แล้วว่าจะติดตาม ตรวจตรา และเฝ้าสังเกต (Monitoring) ได้อย่างไร ประกอบด้วย

  • การจัดการวงจรชีวิต AI (AI Lifecycle) สร้างกระบวนการสำหรับจัดการวงจรชีวิตทั้งหมดของระบบ AI ตั้งแต่การออกแบบและการพัฒนาไปจนถึงการใช้งานและการตรวจสอบ ซึ่งควรรวมถึงการพิจารณาระดับการควบคุมดูแลของมนุษย์ที่จำเป็นในแต่ละขั้นตอน
  • การจัดการบริการ AI (AI Service) เพื่อให้มั่นใจว่าการประยุกต์ใช้ AI จะได้รับการส่งมอบบริการจากผู้พัฒนาแพลตฟอร์มอย่างราบรื่นตาม Service Level Agreement (SLA) มีความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย ภายใต้การจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดการควบคุมดูแลของมนุษย์ที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการวงจรชีวิต มีการประกาศนโยบายและให้ข้อมูลการกำกับดูแล AI ขององค์กรอย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้พนักงานในองค์กรเข้าใจบทบาทของตนในการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ

ข้อพิจารณาเพิ่มเติม

  • รายละเอียดต่าง ๆ ภายใน AI Governance Framework อาจมีความแตกต่าง และได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมขึ้นอยู่กับขนาด ประเภทอุตสาหกรรม และลักษณะ/รูปแบบความเสี่ยงที่ป้องกันได้ขององค์กร
  • การติดตาม AI Governance Guideline ฉบับปรับปรุงล่าสุดจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเอื้อให้เกิดการปรับกรอบการทำงานขององค์กรที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
  • ควรหมั่นตรวจสอบและประเมินกรอบการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI เป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าบริบทต่าง ๆ ที่กำกับดูแล AI ที่องค์กรใช้งาน จะยังคงมีประสิทธิภาพ

การปฏิบัติตามแนวทางข้างต้น สามารถผลักดันให้เกิดการสร้างกรอบการกำกับดูแล AI ที่มีประสิทธิภาพ ผู้นำองค์กรจะรู้สึกมั่นใจได้ว่าองค์กรกำลังพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ช่วยลดความเสี่ยง สร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของ AI เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ OPEN-TEC ได้รวบรวมไว้จากงานสัมมนา “TMA Digital Dialogue 2024” ที่จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยกลุ่ม Digital Technology Management Group ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

บทความโดย OPEN-TEC

แหล่งอ้างอิงส่วนหนึ่งจาก

 

การลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) พิจารณาใหม่อีกครั้งกับการลงทุนกับผู้จัดการเดิม

เมื่อเราเข้าสู่กระบวนทัศน์ของตลาดแบบใหม่ ผู้ลงทุนในหุ้นนอกตลาด (private equity) อาจพิจารณาถอดบทเรียนจากความสำเร็จของการลงทุนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทาง ชโรเดอร์ส แคปปิตอล (Schroders Capital) ได้ทำการสำรวจโอกาสที่น่าดึงดูดที่สุดของหุ้นนอกตลาดไว้ในปัจจุบัน

กรอบแนวคิด 3D Reset ของ ชโรเดอร์ส ที่ประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ (Demographic) การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Decarbonisation) และการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalisation) กำลังกำหนดทิศทางการเติบโตในระยะยาวและพลวัตของเงินเฟ้อทั่วโลก ก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ของตลาดแบบใหม่ ที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหุ้นนอกตลาดในหลายระดับ

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันอาจลดลง แต่กรอบแนวคิด 3D Reset กำลังสร้างแรงผลักดันให้กับภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยมีความคงอยู่ในระดับที่สูงขึ้นมากกว่าแต่ก่อน สภาวการณ์นี้สร้างความท้าทายให้กับกลยุทธ์ large buyouts ซึ่งเป็นการลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดใหญ่ และมักต้องอิงกับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำ ในทางตรงกันข้าม small-mid buyouts ซึ่งเป็นการลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดกลางถึงเล็กจะมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีเสถียรภาพในแง่ของ Dry Powder มากกว่า (จำนวนเงินที่ผู้จัดการกองทุนระดมมาใช้สำหรับการลงทุนใหม่ในอนาคต) ส่งผลให้การแข่งขันในการแย่งเข้าลงทุนมีน้อยกว่า และทำให้ระดับราคาในการเข้าลงทุนมีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลยุทธ์แบบ large buyouts

โอกาสการลงทุนในหุ้นนอกตลาด (private equity) ในอินเดียและจีน

3D Reset จะสร้างกระแสการเติบโตในบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความได้เปรียบด้านประชากรศาสตร์และรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกับในอดีตที่การเติบโตเน้นไปที่การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

เมื่อพิจารณาถึงพลวัตของตลาดแบบใหม่เหล่านี้ นักลงทุนควรมุ่งเน้นไปที่โอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กระจายการจัดสรรการลงทุนหุ้นนอกตลาดให้หลากหลาย และมุ่งเน้นไปที่บริเวณที่มีพลวัตของการระดมทุนที่เหมาะสม การลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดกลางถึงเล็ก (small-mid buyouts) คาดว่าจะมีผลตอบแทนเหนือกว่าการลงทุนในบริษัทนอกตลาดขนาดใหญ่ (large buyouts) และยังมีแนวโน้มที่ดีในประเทศอินเดียและจีน ซึ่งมีการลงทุนในสกุลเงินหยวนเป็นหลัก

ความน่าสนใจของหุ้นนอกตลาดขนาดเล็กถึงกลาง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การระดมทุนโดยกองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดใหญ่ได้แซงหน้าการลงทุนไปมาก ส่งผลให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นสำหรับการเข้าซื้อและการประเมินมูลค่าของบริษัทก่อนการเข้าลงทุนที่สูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2022 กองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดใหญ่มีการระดมทุนเพิ่มขึ้น 11 เท่า แซงหน้าการเติบโตของการลงทุนที่เติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 4 เท่า ในขณะเดียวกัน กองทุนขนาดเล็กและขนาดกลางมีเสถียรภาพของอุปสงค์และอุปทานเงินทุนที่มากกว่า โดยมีการเติบโตเพียง 3 เท่าในการระดมทุน และ การลงทุนมีการเติบโต 4 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ปัจจัยนี้ส่งผลให้การประเมินราคาในการเข้าซื้อของ small-mid Buyouts มีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อของ large Buyouts ซึ่งปัจจุบันการเข้าซื้อของ small-mid Buyouts มีการประเมินราคาอยู่ที่ประมาณ 5-6 เท่าของค่า EV/EBITDA

นอกจากนี้ small-mid Buyouts ยังได้รับประโยชน์จากการขายต่อบริษัทที่เข้าลงทุน (exit strategy) เพิ่มเติม ซึ่งเป็นผลมาจากการระดมทุนที่มากในหมู่กองทุน large Buyouts อาทิ การขายบริษัทที่เข้าลงทุนให้กับกองทุน large Buyouts

การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Preqin ของเรา จากกองทุนหุ้นนอกตลาดกว่า 49,000 กองทุน แสดงให้เห็นว่า กองทุนขนาดเล็กถึงกลางมักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในแง่ของมูลค่ารวมสุทธิ (TVPI) และอัตราผลตอบแทนสุทธิ (IRR) การให้ผลตอบแทนที่สูงกว่านี้ยังปรากฏให้เห็นทั่วทุกภูมิภาคและแม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย

กองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดเล็ก-กลางให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่ากองทุนหุ้นนอกตลาดขนาดใหญ่

 การเติบโตภายในประเทศของจีนและอินเดียนำมาซึ่งโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจ

จีนยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในหุ้นนอกตลาด โดยได้รับแรงหนุนจากโอกาสภายในประเทศที่เกิดจากการสร้างธุรกิจเพื่อทดแทนการนำเข้า และการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ในส่วนนี้กองทุนที่ลงทุนเป็นสกุลเงินหยวนมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมุ่งเน้นการลงทุนไปที่บริษัทขนาดเล็กถึงกลาง และเป็นแหล่งรวมบริษัทนอกตลาดที่ใหญ่ที่สุดของจีน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุนกองทุนจีนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ภาคธุรกิจเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงและภาคการผลิต ตลอดจนเทคโนโลยีสีเขียว ได้รับอานิสงค์จากการทดแทนการนำเข้าของจีน ภาคสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนก็ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจและน่าดึงดูด ในปี 2020 ชโรเดอร์ส แคปปิตอล ได้ลงทุนในแบรนด์ของเล่นชั้นนำจากดีไซเนอร์ของจีน โดยได้รับประโยชน์จากกลุ่มประชากรเจน Z ที่มีจำนวนมาก และความนิยมในแบรนด์ท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้เรายังเห็นโอกาสในอินเดีย เนื่องจากคาดว่าอินเดียมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลกภายในปี 2028* เนื่องมาจากความได้เปรียบทางประชากรศาสตร์ การปรับใช้ระบบดิจิทัลที่มากขึ้น การเป็นฐานการผลิตที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และศักยภาพในการเป็นพันธมิตร “China+1” ที่สำคัญ หุ้นนอกตลาดให้โอกาสนักลงทุนในการเข้าถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นำโดยบริษัทที่ดำเนินงานในภาคส่วนที่เติบโตสูง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทนอกตลาดเกือบทั้งหมด ในปี 2016 ชโรเดอร์ส แคปปิตอล ได้ลงทุนในบริษัทแว่นตาชั้นนำในอินเดีย โดยได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากรอินเดีย และการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจ

*แหล่งที่มา: IMF GDP estimates, Schroders Capital, 2024

ชโรเดอร์ส แคปปิตอล: ด้วยประวัติการลงทุนในหุ้นนอกตลาดที่สร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมโอกาสการลงทุนที่เข้าถึงได้ยาก

ชโรเดอร์ส แคปปิตอล ซึ่งเป็นฝ่ายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดของชโรเดอร์ส เป็นผู้บริหารจัดการสินทรัพย์นอกตลาดชั้นนำระดับโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการราว 94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2023) ครอบคลุมกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่หลากหลาย ได้แก่ หุ้นนอกตลาด หนี้สินนอกตลาดและสินเชื่อทางเลือก อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน

ด้วยประวัติความสำเร็จตลอด 25 ปี ความเชี่ยวชาญด้านหุ้นนอกตลาดของเราครอบคลุมทั้งตลาด buyouts ตลาดรอง venture capital & growth ตลอดจนตลาดเกิดใหม่ เราเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดเฉพาะกลุ่มผ่านมุมมองระดับโลกของเรา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการซื้อธุรกิจครอบครัวและธุรกิจของผู้ก่อตั้งเป็นหลัก โดยอาศัยความสัมพันธ์อันยาวนานกับผู้จัดการลงทุน (General Partner) ที่มีผลงานยอดเยี่ยมและน่าเชื่อถือที่สุดในแต่ละตลาดและภาคธุรกิจ

กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างที่สำคัญของเราคือการมุ่งเน้นไปที่โอกาสที่หลากหลายในบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่งเรามักจะพบโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สำคัญ

ในขณะที่สินทรัพย์นอกตลาดมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น เราเชื่อว่า ทักษะ ประสบการณ์ และเครือข่ายของเราจะยังคงขับเคลื่อนผลลัพธ์และผลการลงทุนที่ดีสำหรับลูกค้าของเราต่อไป

 

นักวิจัย สจล. คว้ารางวัลนวัตกรรม ระดับนานาชาติ ผลงานเม็ดดินคุณสมบัติพิเศษเสริมธาตุอาหาร เพิ่มความชุ่มชื้นพืช ตอบโจทย์การปลูกพืชแบบยั่งยืน

นักวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คว้ารางวัล Silver Medal จาก INTARG 2024 และ Special Award จาก WIIPA (World Invention Intellectual Property associations) จากผลงาน CeraGrow: Porous Planting Pellets with NPK (เซราโกรว: เม็ดดินรูพรุนเสริมธาตุอาหารพืช) ในงาน “The 17th International Invention and Innovation Show: INTARG 2024” เมื่อวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2567 ณ MCK Katowice, International Congress Centre เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยเป็นผลงานของ ผศ. ดร.เมตยา กิติวรรณ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และผศ. ดร.พชรพล ตัณฑวิรุฬห์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

ผศ. ดร.เมตยา กิติวรรณ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. กล่าวว่า สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นนวัตกรรมเม็ดดินที่ตอบโจทย์การปลูกพืชแบบยั่งยืน เม็ดดินมีรูพรุนที่ช่วยคงความชุ่มชื้นแก่พืช ทำให้รากพืชระบายอากาศได้ดี และประกอบด้วยธาตุอาหาร NPK ที่จำเป็นต่อพืชโดยมีอัตราการปล่อยปุ๋ยอย่างช้าๆ ใช้ปลูกพืชได้หลากหลายและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ทำให้การปลูกพืชง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ใช้วัตุดิบหลักจากของเสียจากอุตสาหกรรมเซรามิกส์ ผลิตด้วยกระบวนการไมโครเวฟที่ประหยัดพลังงาน เซราโกรว จึงช่วยลดของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับการปลูกพืชด้วย “เซราโกรว” ซึ่งนวัตกรรมและความยั่งยืนมารวมกันเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์
โดยจุดเด่นของผลงาน อยู่ที่เม็ดดิน “เซราโกรว” มีความพรุนตัวสูง ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดิน มีการเสริมธาตุอาหารหลัก NPK ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าเม็ดดินที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เม็ดดินผลิตจากวัตถุดิบหลักที่เป็นของเสียจากอุตสาหกรรมเซรามิกส์ และเผาขึ้นรูปด้วยเตาไมโครเวฟ จึงทำให้มีต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงานการผลิต และเป็น Zero waste product ที่ทั้งวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผศ. ดร.พชรพล ตัณฑวิรุฬห์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า สำหรับประโยชน์ของผลงานเหมาะกับผู้ใช้งานทุกระดับเนื่องจากใช้งานได้ง่าย สามารถใช้ผสมดินเพื่อปลูกพืชในกระถางต้นไม้ และใช้โรยปิดหน้ากระถางพืชไม้ประดับเพื่อความสวยงาม และการต่อยอดธุรกิจได้มีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว พร้อมสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ “เซราโกรว” ที่สามารถผลิตจากดินทั่วไปซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ราคาถูก กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนทุกประเภท เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน (SMCE) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น รวมถึงพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชนที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหรืออิฐมอญที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ สจล. เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก “The World Master of Innovation” โดยผ่านการสำรวจ วิจัย วิเคราะห์ เข้าสู่กระบวนการวางแผนดำเนินการ ลงมือปฏิบัติ และติดตามประเมินผล ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างนักวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรม และสร้างเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง นำไปใช้ได้จริง เกิดประโยชน์กับประเทศมากมาย รวมทั้งด้านความยั่งยืน (Sustainable University) ที่ สจล. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีแนวทางลดการใช้พลังงานอย่างชัดเจน ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน และลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่บุคลากร นักศึกษา และสังคม โดยตั้งเป้าหมายในปี 2028 สจล. จะ ‘ลดปริมาณคาร์บอน’ ลงร้อยละ 50 และจะมุ่งสู่เป้า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ สำหรับประเทศไทย (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ภายใต้บริบทของสจล.ในการเป็น ‘ต้นแบบด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่โลกอนาคต บนคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 023298000-99 เว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือ www.kmitl.ac.th Facebook: KMITL Official

ออโตสตอร์ (AutoStore)เปิดโรงงานผลิตหุ่นยนต์แบบโมดูลาร์แห่งใหม่ในไทย รองรับตลาดเอเชีย แปซิฟิกที่กำลังเติบโต

ออโตสตอร์ (AutoStore™)  บริษัทด้านเทคโนโลยีคลังสินค้าระดับโลกที่เปลี่ยนระบบอัตโนมัติของคลังสินค้าด้วยระบบการจัดเก็บแบบโมดูลาร์  ประกาศ  ว่า ได้เปิดโรงงานประกอบหุ่นยนต์ในจังหวัดระยอง ประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ในความพยายามขยายธุรกิจไปทั่วโลกของบริษัทฯ โดยนำการผลิตหุ่นยนต์ที่ล้ำสมัยมาใกล้ชิดกับตลาดสำคัญมากขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้

กว่า  1,450 ระบบที่ได้กระจายไปใน 54 ประเทศ   ทำให้  AutoStore  เป็นระบบอัตโนมัติที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางมากที่สุดในโลก  จากการที่ AutoStore เร่งการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (APAC) โรงงานหุ่นยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทยจะช่วยให้ระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายอัตโนมัติของบริษัทฯเข้าสู่คลังสินค้าในเอเชีย แปซิฟิกได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  สำหรับในเอเชีย แปซิฟิก มีระบบกว่า 140 ระบบและหุ่นยนต์กว่า 5,300  ตัวที่พร้อมปฏิบัติงานสำหรับแบรนด์ชั้นนำอย่างพูมา กุชชี่ และ เบสท์ บาย ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของ AutoStore เพื่อตอบสนองความต้องการอีคอมเมิร์ซที่กำลังเพิ่มขึ้น

“ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555  หุ่นยนต์ของเราได้ผลิตและจัดส่งมาจากประเทศโปแลนด์  แต่จากการความต้องการที่เพิ่มขึ้นในระบบอัตโนมัติของเราทั้งอเมริกาเหนือและทั่วโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเปิดโรงงานหุ่นยนต์แห่งที่สองเพื่อให้บริการลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ดียิ่งขึ้น”   คุณมัทส์ โฮฟแลนด์ วิคเซ่   ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ บริษัท AutoStore กล่าวและว่า  “ความพร้อมด้านแรงงาน ความใกล้ชิดกับท่าเรือและสนามบิน ค่าแรงที่เหมาะสม และแรงจูงใจจากรัฐบาลสำหรับบริษัทด้านระบบอัตโนมัติ ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ในอุดมคติสำหรับโรงงานหุ่นยนต์แห่งที่สองของเราที่จะขับเคลื่อนการฏิบัติงานส่วนอเมริกา เหนือของ AutoStore ”

“ในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา เราได้เพิ่มกำลังการผลิตที่มีอยู่เป็นสามเท่า และเราได้วางโครงสร้างไว้สำหรับเติบโตอีก 10 เท่าในอีก 24 เดือนหากจำเป็น” คุณอิสราเอล โลซาดา ซัลวาดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ หรือ ซีโอโอ บริษัท AutoStore กล่าวและว่า  “การขยายธุรกิจสู่ประเทศไทย เราไม่ได้เพียงเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังสร้างฐานซัพพลายเออร์ที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ระยะในรอสินค้าจาก AutoStore  ลดลงจาก 34 สัปดาห์เป็น 20 สัปดาห์”

แทนที่การจัดเก็บตามชั้นและดึงออกด้วยมือ  AutoStore ใช้ระบบจัดเก็บแบบโมดูลาร์แบบคิวบ์   โดยใช้หุ่นยนต์ล้ำสมัยเพื่อให้ผู้ค้าปลีกได้ใช้โซลูชันที่เติมเต็มคำสั่งซื้อที่เร่งด่วน ให้พื้นที่คลังสินค้าสูงสุด และปรับปรุงประสิทธิภาพการฏิบัติงาน

โรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทยคาดว่า จะสร้างโอกาสการจ้างงานประมาณ 80 ตำแหน่งในปีแรก และ        มีแผนจะเพิ่มตำแหน่งงานเป็น 200-300 ตำแหน่งภายในปี 2569   ซึ่งภายใน 18 เดือนข้างหน้าได้ตั้งเป้าที่จะผลิตหุ่นยนต์ได้  15,000 ตัว เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่าของปัจจุบัน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า

Hot Issue