[ก่อนบานปลาย] ความสะดวกที่ได้จาก AI นับว่ามหาศาล ทว่าขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหากมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็น Deepfake , ข่าวปลอม หรือเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ ล่าสุดทางวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมแล้ว โดยคุมตั้งแต่การพัฒนากันเลย
ปัจจุบันพบการใช้ AI ปลอมแปลงข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ทั้งการใช้ Deepfake เพื่อปลอมแปลงใบหน้าเป็นคนดัง หรือคนอื่น ๆ ให้เกิดความเสียหาย การใช้ให้ช่วยเขียนเนื้อหาหรือข่าวปลอม หากปล่อยไว้นาน ๆ ย่อมไม่เป็นผลดีแน่ เป็นเหตุให้ทางด้านวุฒิสภาของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฏหมายใหม่ในชื่อว่า
Content Origin Protection and Integrity from Edited and Deepfaked Media Act (COPIED Act) ว่าด้วยการคุ้มครองแหล่งที่มาและความสมบูรณ์ของเนื้อหา พร้อมกับควบคุมการใช้เทคโนโลยี Deepfake ที่ผิดจรรยาบรรณ โดยจะเริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมโมเดล AI หรือ Machine Learning ทั้งนี้ยังคุมไปถึงเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ด้วย
ตัวร่างกฏหมายถูกเสนอและสนับสนุนโดยทั้ง Maria Cantwell จากวอชิงตัน กับ Martin Heinrich จากนิวเม็กซิโก พรรคเดโมแครต และ Marsha Blackburn จากเทนเนสซี พรรครีพับลิกัน
“ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ทำให้มีผู้ไม่หวังดีสามารถสร้าง Deepfakes ให้กับทุกคนโดยไม่ได้รับความยินยอมได้ และยังมีการแสวงหาผลกำไรจากเนื้อหาปลอมอีก” Marsha Blackburn กล่าว
ด้านวุฒิสมาชิกยังมองว่า “Deepfake เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฏหมายนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ และช่วยปราบปรามเนื้อหาที่สร้างโดย AI ที่เป็นอันตรายกับหลอกลวงไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งจะช่วยปกป้องทั้งนักข่าว ศิลปิน และเหล่า Creator ได้ดีขึ้น จากการถูก AI นำเนื้อหาไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม
ท้ายนี้ตัวร่างกฏหมายได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝั่งผู้ผลิตเนื้อหามากมาย ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักแต่งเพลงนานาชาติแนชวิลล์, SAG-AFTRA, สมาคมผู้จัดพิมพ์เพลงแห่งชาติ, RIAA และองค์กรออกอากาศและหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง โดยต่างออกมาชื่นชมในความพยายามครั้งนี้ ส่วนฝั่ง Google, Microsoft, OpenAI และผู้ให้บริการ AI รายอื่น ๆ ยังไม่มีความเคลื่อนไหว
ที่มา : Techspot