ขึ้นชื่อว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและได้มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับแต่ถึงแม้จะเป็นโจทย์ยากก็ไม่เกินความสามารถของคนไทย
จากจุดเริ่มต้นทีมวิศวะจุฬาฯ เมื่อ 7 ปีก่อน ได้สร้างปรากฎการณ์ที่น่าทึ่งให้กับวงการแพทย์ไทย เมื่อคนไทยสามารถสร้างกระดูกเทียมเฉพาะบุคคลได้สำเร็จ และมันได้ช่วยชีวิตคนมานับไม่ถ้วน
Techhub Inspire พาไปดูเบื้องหลังของ เมติคูลี่ บริษัทสัญชาติไทย หนึ่งใน Health Tech Startup ที่กำลังมาแรง กับความตั้งใจพัฒนานวัตกรรมของคนไทยให้ไปไกลระดับโลก
: คนปั้นกระดูกเทียม
“สิ่งที่เชื่อตั้งแต่วันแรกคือเราอยากที่จะมีกระดูกสักชิ้นหนึ่งออกแบบมาได้พอเหมาะที่สุด และอยู่กับผู้ป่วยไปได้นานที่สุด” ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เมติคูลี่ จำกัด กล่าว และเล่าว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เทคโนโลยีที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยถูกนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง
เมติคูลี่ เกิดจากการรวมกลุ่มของอาจารย์และนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อว่ากระดูกของแต่ละคนมีความแตกต่าง เหมือนลายเซ็นที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด การจะปรับกระดูกเทียมนำเข้าที่ผลิตมาเป็นไซส์มาตรฐานให้เข้ากับผู้ป่วยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยปรับกระดูกคนไข้ในขั้นตอนการรักษา
เริ่มจากการผ่าตัดรักษานิ้วหัวแม่มือ เคสแรกที่ประสบความสำเร็จ เมื่อ 7 ปีก่อน จนถึงวันนี้ เทคโนโลยีถูกพัฒนาเพื่อช่วยรักษาและฟื้นฟูอาการบาดเจ็บในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะแผ่นปิดกะโหลกเทียมที่ได้รับมาตรฐานระดับสากลจาก FDA ของสหรัฐ รวมถึงได้รับการขึ้นทะเบียนให้อยู่ในสิทธิ์ของการเบิกจ่ายทั่วหน้าหรือสิทธิ์บัตรทอง ของไทยด้วย
“เมติคูลี่ไม่ได้เป็นแค่บริษัทที่พัฒนานวัตกรรมสำหรับคนไทย เราเชื่ออย่างมากเลยว่าเรากำลังพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับคนไทยได้ต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นของคน 4-5 คนในปี 2017 ปัจจุบันเรามีคนพัฒนานวัตกรรม หรือ นวัตกรเกิดขึ้นมากกว่า 60 คน ที่กำลังเอานวัตกรรมของประเทศไทยไปช่วยคนทั่วโลก” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เมติคูลี่ จำกัด กล่าว
: สร้างจุดแข็งจากนวัตกรรม
มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายระหว่างการพัฒนานวัตกรรม เช่น ความพยายามลดขั้นตอนในกระบวนการผลิตโดยนำ AI เข้ามาช่วยวิศวกรออกแบบวัสดุเทียม จากที่เคยใช้เวลาหลักเดือน ให้เหลือเพียง 7 วัน
กันตภัทร ภักดีวิเศษกุล Product development manager ยอมรับว่า ความยากของการพัฒนากระดูกเทียมอยู่ที่การออกแบบให้เหมาะกับคนไข้ เช่นกระดูกข้อต่อสะโพกที่ต้องรับแรงและน้ำหนักตัวของคนไข้ได้ ดีไซน์ต้องเข้ากันได้กับร่างกาย รวมถึงความต้องการคุณหมอที่จำเป็นในขั้นตอนการผ่าตัด
“AI ถูกนำมาใช้ช่วยในการสื่อสารกับระหว่างคุณหมอ กับวิศวกรให้เข้าใจมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถรับข้อมูลจากภาพถ่าย CT-Scan ซึ่งเป็นข้อมูลหลักในการออกแบบวัสดุเทียม ก่อนนำไปขึ้นรูปโลหะไทเทเนียมด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ” ธันยา เจริญศรีสมบูนณ์ Clinical design lead กล่าว
กันตภัทร เสริมว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไม่ใช่ว่าซื้อมาแล้วจะใช้ผลิตได้เลย แต่ความยากของมันคือจะกำหนดค่าพารามิเตอร์ยังไงให้ออกมาได้ตามที่ออกแบบ รวมถึงสื่อสารกับคุณหมอได้อย่างถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่เมติคูลี่กำลังเดินหน้าสร้างทั้งนวัตกรรม และนวัตกร จากรุ่นสู่รุ่น
: การตลาดคือแต้มต่อ
จากจุดเริ่มต้นของการสร้างทีม หา Product Champion ที่สามารถหล่อเลี้ยงบริษัทสตาร์ทอัพให้ตั้งตัวได้ ก็เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
“การตลาดที่เมติคูลี่ทำเรียกว่า โรบินฮู้ดโมเดล หรือการทำของให้ได้มาตรฐานในระดับเดียวกับต่างประเทศ และเราก็จะเอาสิ่งเหล่านั้นกลับมาให้คนไทยได้ใช้ในราคาที่เข้าถึงได้ ในจุดที่มันเหมาะสมกับขนาดตลาดของประเทศไทยจริง” เตชวิทย์ หิริสัจจะ Business Development Lead กล่าว
ธนวัฒน์ เพชรรัตนรังสี Research & Development Manager เสริมว่า เมติคูลี่ มีโปรเจค Point of Care ในต่างประเทศเพื่อลดระยะเวลาในการจัดส่ง โดยที่คุณหมอสามารถสั่งผลิตหรือปรับเปลี่ยนชิ้นงานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ทันที ซึ่งการที่จะทำได้นั้น สิทธิบัตรเป็นสิ่งสำคัญมากในการปกป้องนวัตกรรม
ที่ผ่านมาบริษัทได้จดเครื่องหมายการค้า (Trademark) ความลับทางการค้า (Trade Secret) และจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา ไปแล้วมากกว่า 36 สิทธิบัตร อีกทั้งยังคำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ซึ่งล่าสุดเมติคูลี่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะในโครงการ WIPO Global Awards ปี 2024 จากเมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
เตชวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่น่าจะต้องรอนาน ภายใน 2-3 ปีนี้ น่าจะมีหน่วยผลิตกระดูกเทียมตามประเทศใหญ่ๆ อย่างน้อย 2-3 ที่ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทของไทย สามารถขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น และผลิตได้จำนวนมากพอกับความต้องการ เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้คนไทยได้ใช้ ผ่านระบบเบิกจ่ายของประเทศต่อไปในอนาคต
ดูเพิ่มเติม : meticuly