Home Blog Page 13

กูเกิลอัปเกรด Gemini Live คุยภาษาไทยได้แล้ว

Google ขยายบริการ Gemini Live และส่วนขยายรองรับภาษาไทย Gemini ถูกออกแบบมาให้เป็นผู้ช่วย AI ส่วนตัวที่สามารถสนทนาโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ คอยช่วยเหลือ และหาคำตอบในสิ่งที่สงสัย

ใครที่เคยใช้ Gemini Live น่าจะเข้าใจความรู้สึกที่เหมือนกำลังสนทนาอยู่กับคนจริงๆ ซึ่งล่าสุดกูเกิลได้ขยายบริการช่วยให้พูดคุยกับ Gemini ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มส่วนขยาย Gemini ให้ครอบคลุมการใช้งานผ่านแอป และเครื่องมือของ Google ที่ใช้เป็นประจำได้ง่ายขึ้น ทั้ง Gmail, Google Maps และ YouTube รวมถึง Google Calendar, Google Tasks, Google Keep และ Utilities ด้วย


Gemini Live
เปิดใช้งานแล้วบนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต Androind ส่วน iOS กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

วิธีตั้งค่าใช้ภาษาไทยบนแอป Google

  1. เปิดแอป Google ในโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต Android
  2. แตะที่รูปโปรไฟล์ที่มุมขวา ด้านบน
  3. แตะที่การตั้งค่า > Google Assistant > ภาษา
  4. เลือกภาษาไทย

ไปลองตั้งค่าใช้งานกันดูครับ

ได้จังหวะ IG เปิดตัวแอปใหม่ Edits ตัดต่อวีดีโอสั้น ท้าชน TikTok

Edits

ท่ามกลางสมรภูมิเดือดของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่กำลังขับเคี่ยวกัน Instagram ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโซเชียลมีเดีย ได้ประกาศเปิดตัวแอปพลิเคชันตัดต่อวิดีโอตัวใหม่ล่าสุดนามว่า “Edits”

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง TikTok กำลังเผชิญกับมรสุมทางกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลให้ถูกแบนจากประเทศในที่สุด Edits จึงเปรียบเสมือนอาวุธใหม่ที่ Instagram หวังจะใช้ดึงดูดเหล่าครีเอเตอร์ และช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก TikTok มาอยู่ในมือ

Edits ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือตัดต่อวิดีโอธรรมดาทั่วไป แต่จะเป็นชุดเครื่องมือแบบครบวงจร สำหรับคนที่หลงใหลในการสร้างวิดีโอ บนโทรศัพท์มือถือครับ

จุดมุ่งหมายหลักของ IG คือการให้เครื่องมือที่ทรงพลังและใช้งานง่าย ให้เหล่าครีเอเตอร์สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ สิ่งสำคัญคือไม่จำกัดอยู่แค่บนแพลตฟอร์ม Instagram เท่านั้น แต่ยังรองรับการใช้งานกับแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกด้วย

แต่เอาจริง ๆ ไม่ได้ชนกับ TikTok เพียงตัวเดียวนะ แอปอื่นๆ ของ ByteDance อย่าง Lemon8, Marvel Snap และ CapCut ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ สื่อต่างประเทศบางแห่งชี้ว่า ไอเจ้า Edits มันดันไปมีความละม้ายคล้ายคลึง (ได้รับแรงบันดาลใจ) กับแอป CapCut ซึ่งเป็นแอปตัดต่อวิดีโอสั้นที่พัฒนาโดย ByteDance จากจีนเช่นกัน

ถือว่าเป็นจังหวะเหมาะมากนะ ที่เปิดตัวในเวลานี้ Adam Mosseri ผู้บริหารของ Instagram ก็กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีเรื่องวุ่นวายอะไรเกิดขึ้น “หน้าที่ของเราคือจัดหาเครื่องมือที่ดีที่สุดให้กับเหล่า Creator (แหม หล่อสุด ๆ)”

สำหรับ Edits จะให้ผู้ใช้ถ่ายวิดีโอได้ยาวสูงสุดถึง 10 นาที และยังสามารถปรับการตั้งค่าต่างๆ เช่น อัตราเฟรมเรตและความละเอียดของวิดีโอได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เครื่องมือแก้ไขภายในแอปยังประกอบไปด้วย การสร้างคำบรรยายอัตโนมัติ, ฟิลเตอร์วิดีโอ, เอฟเฟกต์เสียง และการปรับปรุงเสียง แถมยังมีฟีเจอร์ AI อย่างการทำให้รูปภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้อีกด้วย (คุ้น ๆ ไหม)

ที่มา
https://thehill

จีนทุบสถิติ สร้างพลาสมาร้อนที่สุด หนุน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดต้นทุนต่ำแบบไม่จำกัด โดยพวกเขาสามารถรักษาอุณหภูมิพลาสมาให้ร้อนกว่า 100 ล้านองศาเซลเซียส (ร้อนกว่าแกนกลางดวงอาทิตย์ถึง 6 เท่า) ได้นานเป็นประวัติการณ์ถึง 1,066 วินาที หรือมากกว่า 17 นาที

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นที่ศูนย์ทดลอง Experimental Advanced Superconducting Tokamak (EAST) หรือที่รู้จักกันในชื่อดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ ของจีน โดยทำลายสถิติเดิมที่ 403 วินาที ซึ่ง EAST เองก็เป็นผู้ทำไว้เมื่อเดือนเมษายนปี 2023

สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นส่วยหนึ่งของโครงการ ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ และถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันกลายเป็นจริง ซึ่งการจะทำให้พลาสมาคงอยู่ได้ด้วยตัวเองและทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชันผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์ฟิวชันต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงในสภาวะเสถียรเป็นเวลาหลายพันวินาที

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การจะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันบนโลกได้นั้น ต้องใช้อุณหภูมิพลาสมาที่ร้อนกว่าดวงอาทิตย์ เพื่อชดเชยกับมวลของโลกที่น้อยกว่า โดยอุณหภูมิที่แกนกลางของดวงอาทิตย์นั้นอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านองศาเซลเซียส แต่พวกเขาทำได้มากถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส

หากการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จในอนาคต พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายทั้งการผลิตไฟฟ้า เป็นพลังงานขับเคลื่อนยานองกาศ ผลิตไฮโดรเจน และใช้เพื่อกำจัดของเสียที่เป็นอันตรายก็ยังได้ครับ …

ที่มา
scmp

เพิ่งแก้ไข Microsoft แก้ไข ช่องโหว่ร้ายแรง หลังจากผ่านไป 7 เดือน

ช่องโหว่ร้ายแรง

ทุกคน เรื่องนี้สำคัญนะ เพราะไมโครซอฟท์เพิ่งจะอุดช่องโหว่ร้ายแรงใน Windows 11 หลังจากปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ มาตั้ง 7 เดือนกว่า

ช่องโหว่นี้อันตราย เพราะแฮกเกอร์สามารถใช้มันเพื่อแอบฝังมัลแวร์ลงในคอมฯ เราได้ตั้งแต่ตอนเปิดเครื่อง เรียกว่าหลบการตรวจจับของระบบความปลอดภัยได้สบายๆ

ช่องโหว่นี้คือ CVE-2024-7344 เป็นช่องโหว่ในระบบ UEFI Secure Boot ของ Windows 11 ครับ อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ

ลองนึกภาพว่า UEFI Secure Boot เป็นเหมือนยามเฝ้าประตู คอมพิวเตอร์ของเรา มันจะคอยตรวจสอบว่าซอฟต์แวร์ทุกตัวที่ทำงานตอนเปิดเครื่อง (Boot Process) เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องและปลอดภัยหรือไม่ โดยเช็คจากลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) ที่ได้รับการรับรองจากไมโครซอฟท์

ถ้าซอฟต์แวร์ไหนไม่มีลายเซ็นหรือลายเซ็นไม่ถูกต้อง Secure Boot ก็จะไม่ยอมให้ทำงาน ป้องกันไม่ให้มัลแวร์แอบแฝงเข้ามาทำงานตอนเปิดเครื่อง

และช่องโหว่ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ยามเฝ้าประตูของเราทำงานพลาด ซึ่งมันเกิดจากความผิดพลาดของโปรแกรมยูทิลิตี้บางตัว (จาก 7 บริษัทคือ (Howyar, Greenware, Radix, Sanfong, WASAY, CES, และ SignalComputer) ที่ดันไปใช้ส่วนประกอบเฟิร์มแวร์ที่มีชื่อว่า “reloader.efi” ในแบบที่ไม่ปลอดภัย

พูดง่ายๆ คือโปรแกรมพวกนี้ดันไปเปิดช่องให้แฮกเกอร์สามารถหลอกระบบ Secure Boot ได้ ทำให้แฮกเกอร์สามารถแอบรันโค้ดอันตราย (มัลแวร์) ตอนเปิดเครื่องได้ โดยที่ระบบ Secure Boot ตรวจจับไม่ได้ เพราะคิดว่าเป็นโปรแกรมที่ถูกต้อง

ทาง Microsoft ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงเหตุผลอย่างเป็นทางการนะว่า ทำไมถึงล่าช้ามา 7 เดือน แต่คาดว่า น่าจะต้องมีการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ และอาจจะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวด ถึงจะปล่อยอัปเดต …

ที่มา
techspot

AI ในจอทีวี LG พัฒนา OLED แบบใหม่ ให้สีสด สว่างขึ้น 30%

OLED แบบใหม่

LG เตรียมปล่อยเทคโนโลยีจอ OLED รุ่นใหม่ (เจน 4) ที่สว่างกว่าเดิมมากขึ้น โดย สว่างสูงสุดถึง 4,000 nits สว่างกว่ารุ่นก่อนมากถึง 30% และให้สีสันก็สดใสขึ้นด้วยนะ ที่ทำได้แบบนี้เพราะปรับโครงสร้างภายในใหม่ เรียงชั้นสี RGB แบบใหม่ ใส่ชั้นสีฟ้าเพิ่มเข้าไปอีก

นอกจากจะสว่างจ้าแล้ว จอ OLED รุ่นใหม่นี้ยังแก้ปัญหาเรื่องจอไหม้ (burn-in) ที่เป็นจุดอ่อนของจอ OLED ได้ดีขึ้นด้วย เพราะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ผสมผสานวัสดุพิเศษเข้าไป ทำให้ประสิทธิภาพการเปล่งแสงสีฟ้าดีขึ้น

โดยแสงสีฟ้าคือตัวการหลักที่ทำให้จอไหม้ โดย LG ยังเคลือบฟิล์มพิเศษที่ช่วยลดแสงสะท้อนได้ถึง 99% ทำให้ดูทีวีในห้องสว่างๆ ได้สบายตาขึ้น

นอกจากนี้ LG จะนำ AI มาใส่ในแผงทีวี ซึ่งจะทำให้ทีวีฉลาดขึ้น สามารถปรับภาพปรับเสียงให้เหมาะกับสภาพห้องเองได้ มีระบบอัพสเกลภาพให้คมชัดขึ้น มีแชทบอทคอยช่วยเหลือ

techspot

หัวเว่ย จับมือ จุฬาฯ พัฒนาบุคลากร ICT

หัวเว่ย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง ร่วมพัฒนาบุคลากร ICT ในงาน Asia Pacific Cloud AI Forum & Huawei Developer Competition

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) และมหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (BUPT) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT โดยเน้นเฉพาะนักพัฒนาระบบคลาวด์ ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอาเซียน

ความร่วมมือดังกล่าวถูกนำเสนอในงาน Asia Pacific Cloud AI Forum & Huawei Developer Competition จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2568 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยงานนี้ได้รวบรวมผู้นำในอุตสาหกรรม นักพัฒนา และนักวิชาการกว่า 300 คนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม

ภายใต้ธีม “Spark Infinity: Innovate Today, Transform Tomorrow” งานดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงความก้าวหน้าล่าสุดในเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมทั้งมีการนำเสนอแนวคิดจากวิทยากร การแสดงโซลูชัน และการเสวนาเชิงลึก ไฮไลท์สำคัญของงานคือ การแข่งขัน Huawei Developer Competition โดยมีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมดเกือบ 200 ทีม รวมผู้เข้าร่วมกว่า 600 คน ที่ร่วมกันแก้ปัญหาในโลกจริงด้วยระบบนิเวศที่ครอบคลุมของหัวเว่ย อาทิเช่น API Explorer, CodeArts, ModelArts และ DataArts Studio การแข่งขันนี้เน้นความคิดสร้างสรรค์ ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI และเทคโนโลยีที่ยั่งยืน รวมถึงการเร่งการนำ AI มาใช้บนระบบคลาวด์และการพัฒนาเครือข่ายนักพัฒนาระบบที่แข็งแกร่ง

ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานว่า “Asia Pacific Cloud AI Forum เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้าน AI และนวัตกรรมดิจิทัล โดยเราสนับสนุนนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก” (Cloud-First Policy) และปัญญาประดิษฐ์” (AI) ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

หัวเว่ยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย Cloud-First และ AI โดยการนำเสนอเทคโนโลยีคลาวด์ที่ล้ำสมัย แพลตฟอร์ม AI และโครงการฝึกอบรมต่าง ๆ นโยบาย Cloud-First ของประเทศไทยถือเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้บริการคลาวด์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ AI Thailand (2565-2570) มุ่งสร้างระบบนิเวศที่บูรณาการ AI ในทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดร. ชวพล กล่าวเพิ่มเติมว่าที่หัวเว่ย เราเชื่อว่านักพัฒนา คือ สถาปนิกของยุคอัจฉริยะ ความคิด โค้ด และแรงผลักดันของพวกเขา คือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยเกือบ 100,000 คน รวมถึงนักพัฒนา AI บนระบบคลาวด์ขั้นสูงเกือบ 12,000 คน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่งผ่านโครงการ ICT Academy เช่น การแข่งขัน โครงการฝึกอบรม การฝึกงาน และการให้คำปรึกษาทางเทคนิค ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรและสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับการเติบโตและนวัตกรรมในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในการสำรวจศักยภาพของ Cloud AI และช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาในอนาคต

ในขณะเดียวกัน หัวเว่ยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล โดยศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวเว่ยในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่ประเทศไทยต้องการเพื่อก้าวไปข้างหน้าในยุคอัจฉริยะ การทำงานร่วมกับผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกอย่างหัวเว่ย ช่วยให้เราสามารถเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศได้ดียิ่งขึ้น

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสถาบันร่วมก่อตั้ง “Huawei Academy” มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (BUPT) ได้แบ่งปันประสบการณ์ปฏิบัติงานจริงจาก 3 มิติสำคัญ ได้แก่ การบูรณาการอุตสาหกรรมและการศึกษา การศึกษาอัจฉริยะ และการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในฐานะศูนย์ฝึกอบรมสำคัญสำหรับบุคลากรด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและแหล่งนวัตกรรมเทคโนโลยีไอซีที BUPT มุ่งมั่นในการสำรวจโมเดลความร่วมมือใหม่ๆ กับภาคเอกชน และได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น UNTES Future Learning Center ซึ่งมุ่งเน้นการเตรียมพร้อมบุคลากรสำหรับยุคอัจฉริยะหวัง เหยา ผู้อำนวยการสำนักงานระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง กล่าว

ในงานดังกล่าว ทีมผู้ชนะหลายทีมได้แบ่งปันกรณีศึกษาที่นำการนวัตกรรมบนแพลตฟอร์ม HUAWEI CLOUD ไปประยุกต์ใช้ เช่น ทีมหนึ่งได้พัฒนาระบบเสริมการบำบัดการพูดทางไกลโดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อให้การสนับสนุนการรักษาที่มีประสิทธิภาพและสะดวกยิ่งขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางภาษา อีกทีมได้ออกแบบระบบการจัดการอาคารอัจฉริยะแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการบริหารจัดการอาคารผ่านการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ โครงการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของนักพัฒนาในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ หัวเว่ยและพันธมิตรทางธุรกิจจากประเทศไทยกว่า 10 ราย ได้จัดงาน Job Fair ภายใต้กิจกรรมเสริมในครั้งนี้ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มให้กับองค์กรชั้นนำได้เชื่อมโยงกับนักพัฒนาและนักศึกษาที่มีความสามารถ โอกาสนี้ช่วยในการคัดเลือกและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งเปิดโอกาสในการสำรวจความร่วมมือในอนาคต เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่มีความคล่องตัวและยั่งยืน

สำหรับทีมที่ชนะการแข่งขัน Huawei Developer Competition จะได้รับรางวัลรวมมูลค่า 34,000 ดอลลาร์สหรัฐ การฝึกอบรมทางเทคนิคที่มุ่งเน้นด้าน HUAWEI CLOUD พร้อมโอกาสในการร่วมมือกับหัวเว่ยในโครงการต่างๆ ในอนาคต ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้

IBM และ L’Oréal ร่วมสร้างโมเดล AI แรก เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์เครื่องสำอางอย่างยั่งยืน

IBM (NYSE: IBM) และ L’Oréal บริษัทความงามชั้นนำของโลก ประกาศความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยี Generative Artificial Intelligence (GenAI) และความเชี่ยวชาญของ IBM เพื่อเปิดมุมมองเชิงลึกใหม่ๆ สู่ข้อมูลการพัฒนาสูตรเครื่องสำอาง ช่วยให้ L’Oréal ใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนเพื่อลดการใช้พลังงานและลดของเสียจากกระบวนการผลิต ความร่วมมือครั้งนี้จะนำสู่การพัฒนา AI foundation model ที่ออกแบบเฉพาะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ทีมวิจัยและนวัตกรรมของ L’Oréal สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในทุกประเภทและทุกภูมิภาคทั่วโลกได้ด้วยศักยภาพเหนือระดับ โดย foundation model ด้านการพัฒนาสูตรนี้เชื่อว่าจะเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรม ถือเป็นการกำหนดนิยามใหม่ให้กับนวัตกรรม AI ที่ผสานความงาม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

ความร่วมมือนี้ถือเป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านศาสตร์เครื่องสำอางของ L’Oréal เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก้าวล้ำของ IBM เพื่อการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ปลดล็อกอนาคตที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสามารถช่วยกำหนดหรือจัดลำดับความสำคัญให้กับโซลูชันที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมขณะเดียวกันก็มีนวัตกรรมด้วยเช่นกัน โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองถึงการใช้วัตถุดิบที่สามารถหมุนเวียนได้และมาจากแหล่งที่ยั่งยืนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติของโลกให้คงอยู่ ความพยายามนี้จะช่วยให้ L’Oréal บรรลุเป้าหมาย L’Oréal for the Future ในการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่โดยใช้วัตถุดิบจากแหล่งชีวภาพหรือเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2573

“ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของเรา ที่จะช่วยเร่งสปีดและขยายไปป์ไลน์ด้านกระบวนการนวัตกรรมและการพัฒนาสูตร พร้อมยกระดับมาตรฐานด้านการยอมรับความแตกต่าง-หลากหลาย ความยั่งยืน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์เฉพาะของแต่ละบุคคล” นายสเตฟาน ออร์ติซ Head of Innovation Métiers & Product Development – L’Oréal Research & Innovation กล่าว

“ความร่วมมือสำคัญกับ IBM ในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านวิทยาศาสตร์ความงามและการจัดการโครงสร้างข้อมูล ที่จะเปิดประตูสู่ยุคใหม่ของกระบวนการด้านการพัฒนาและนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นของเรา” นายมัตติเยอ คาสซิเยร์ Chief Transformation & Digital Officer – L’Oréal Research & Innovation กล่าว

“ความร่วมมือนี้เป็นตัวอย่างที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างแท้จริงของการใช้ Generative AI โดยใช้พลังของเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างประโยชน์แก่โลก” นายอเลสซานโดร คูริโอนี IBM Fellow, Vice President Europe and Africa and Director IBM Research Zurich กล่าว “ที่ IBM เราเชื่อมั่นในพลังของ AI ที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โดยการใช้เทคโนโลยี AI ล่าสุดของ IBM นี้ จะช่วยให้ L’Oréal สามารถถอดรหัสข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าจากข้อมูลสูตรและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มากมาย เพื่อสร้างโมเดล AI เฉพาะที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ยั่งยืนต่อไป”

“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการผนวกรวมความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านปัญญาประดิษฐ์และเครื่องสำอาง ที่นำสู่การสร้างการพลิกโฉมการพัฒนาสูตรเครื่องสำอาง ถือเป็นการนำพลังของการวิจัยที่เน้น AI-augmented เข้าสนับสนุนความยั่งยืนและความหลากหลาย” นายกิลโยม เลอรัว-เมลีน IBM Distinguished Engineer, Business Transformation Services CTO ของ IBM Consulting ฝรั่งเศส กล่าว

การสร้างโมเดล AI นี้จะใช้สูตรและข้อมูลส่วนประกอบจำนวนมากเพื่อเร่งสปีดภาระงานในหลายๆ ด้านที่จะดำเนินการโดย L’Oréal รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาสูตรใหม่ของเครื่องสำอางที่มีอยู่ และการปรับระบบให้รองรับการผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้น โดยเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยเสริมศักยภาพนักวิจัย 4,000 คนทั่วโลกของ L’Oréal ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากนี้ IBM Consulting จะสนับสนุน L’Oréal ในการคิดค้นและออกแบบกระบวนการการค้นพบสูตรใหม่ โดยการเข้าใจคุณลักษณะของส่วนประกอบที่สามารถหมุนเวียนได้ในสูตรเครื่องสำอางจะช่วยให้ L’Oréal สร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้นพร้อมทั้งตอบสนองความหลากหลายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับแต่ละบุคคลให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

Foundation model เป็นประเภทของโมเดล AI ที่ถูกฝึกด้วยชุดข้อมูล unlabeled ซึ่งสามารถจัดการกับภาระงานได้หลายอย่างและประยุกต์ใช้ข้อมูลจากสถานการณ์หนึ่งไปยังอีกสถานการณ์หนึ่งได้ โมเดลเหล่านี้สร้างความก้าวหน้าให้กับเทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) อย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และ IBM กำลังเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ foundation model ในด้านอื่นๆ เช่น เคมี ชุดข้อมูลลำดับเวลา และข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยเทคโนโลยี AI ของ IBM มีศักยภาพในการเสริมความคิดสร้างสรรค์ของ L’Oréal ในการค้นหาสูตรเครื่องสำอางใหม่ๆ เพื่อทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมความงาม L’Oréal รวมถึงความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีของ IBM จะร่วมกันก่อร่างกำหนดอนาคตที่นวัตกรรมบรรจบกับความยั่งยืน ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะตัวหนึ่งเดียวเฉกเช่นเดียวกับผู้คนที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นในทุกๆ วัน

ฟอร์ติเน็ต ต่อยอดผู้นำความปลอดภัยด้วย AI ขยาย GenAI ทั่วสายผลิตภัณฑ์ พร้อมเปิดตัวสองโซลูชันใหม่ รักษาความปลอดภัยง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ฟอร์ติเน็ต ผู้นำระดับโลกด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่ขับเคลื่อนการผสานรวมของระบบเครือข่ายและระบบรักษาความปลอดภัยเข้าด้วยกัน ประกาศขยายขีดความสามารถด้าน GenAI ครอบคลุมทั่วกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยด้วย AI อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวการผสานรวม FortiAI ไว้ในสองโซลูชันใหม่ ซึ่ง FortiAI คือผู้ช่วยด้านความปลอดภัยตัวจริงที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลัง AI ของฟอร์ติเน็ต โดยนำ GenAI มาช่วยสนับสนุนการทำงานของนักวิเคราะห์ความปลอดภัย ทั้งแนะนำ ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น อีกทั้งดำเนินการได้แบบอัตโนมัติ

ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า “ฟอร์ติเน็ต มุ่งมั่นด้านนวัตกรรม AI มาตลอดเป็นเวลานานเกิน 10 ปี และเราถือเป็นผู้ให้บริการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ รายแรกๆ ที่มีการสร้างเครือข่ายประสาทเทียม หรือ Artificial Neural Network เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ตัวอย่างภัยคุกคาม จนกลายเป็นต้นแบบของ FortiAI ในปัจจุบัน และในตอนนี้ เราได้ขยายการใช้ GenAI เพื่อเสริมประสิทธิภาพสายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในแต่ละประเภทรวม 7 ผลิตภัณฑ์ด้วยกัน เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการมอบนวัตกรรมโซลูชันรักษาความปลอดภัยขั้นสุดให้กับลูกค้า”

“การผสานรวม FortiAI เข้ากับโซลูชันได้หลากหลายดังที่กล่าวมา คือเครื่องมือปรับเปลี่ยนการทำงานที่ทรงพลัง ที่เรากำลังมอบให้ลูกค้าเพื่อช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการพร้อมตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเสี่ยงทางไซเบอร์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็จะยังคงเสริมสร้างศักยภาพให้กับลูกค้าเรามากขึ้น ด้วยโซลูชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการรักษาความปลอดภัย ช่วยให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเสริมความยืดหยุ่นในการรับมือกับภัยคุกคามที่พัฒนาตลอดเวลา”

การผสานรวมใหม่ของ FortiAI

FortiAI for FortiNDR Cloud ออกแบบมาเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจจับภัยคุกคามสามารถจับสังเกตและดูผลการตรวจจับที่เชื่อมโยงกับการค้นหาได้อย่างง่ายดาย นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยสามารถค้นหาข้อมูลจาก FortiAI และตระหนักถึงความสามารถที่ครอบคลุมของ FortiNDR Cloud ในการรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น อีกทั้งยังเข้าใจกลยุทธ์และเทคนิคของผู้โจมตี รวมถึงช่องโหว่ที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างง่ายดาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการค้นหาและเสริมศักยภาพให้กับนักวิเคราะห์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจจับภัยคุกคามเข้าใจถึงความสามารถในการรับมือกับผู้โจมตีได้ดียิ่งขึ้น

FortiAI for Lacework FortiCNAPP มุ่งเน้นช่วยให้ทีม SOC เข้าใจการแจ้งเตือนได้เร็วขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการที่ถูกต้อง ซึ่งการค้นหาโดยใช้ภาษาธรรมชาติ (natural language queries) จะช่วยให้ทีมสามารถเข้าใจสาเหตุของการแจ้งเตือนได้ง่ายขึ้น เข้าใจความเสี่ยง เช่น วิธีที่ผู้โจมตีอาจใช้ในการเจาะระบบ พร้อมให้คำแนะนำในอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการตรวจสอบและตอบสนองการโจมตี จึงช่วยแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยโค้ดที่ถูกต้อง

FortiAI ในสายผลิตภัณฑ์ของฟอร์ติเน็ต

การขยายความสามารถด้าน AI นับเป็นการยืนยันความเป็นผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยด้วย AI ซึ่งยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของฟอร์ติเน็ต ในสร้างนวัตกรรม AI ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการผสานรวม GenAI ในด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่

  • FortiAI for FortiAnalyzer ช่วยวิเคราะห์ภัยคุกคามได้แบบเรียลไทม์ ช่วยจัดลำดับความสำคัญในการตอบสนองพร้อมดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ
  • FortiAI สำหรับ FortiManager   ช่วยให้สร้างสคริปต์การตั้งค่าเครือข่ายได้ง่ายขึ้น สามารถแก้ไขปัญหา และดำเนินการแก้ไขช่องโหว่และปัญหาเครือข่ายได้โดยอัตโนมัติ
  • FortiAI for FortiSIEM ให้ข้อมูลข้อมูลเชิงลึกตามบริบท พร้อมให้คำแนะนำในการตรวจสอบและตอบสนองการแจ้งเตือนความปลอดภัย
  • FortiAI for FortiSOAR ให้คำแนะนำและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบภัยคุกคาม ดำเนินการแก้ไข และสร้าง playbook ได้โดยอัตโนมัติ
  • FortiAI for FortiDLP ช่วยสรุปและจัดบริบทข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่ตรวจพบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ FortiAI
  • เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ FortiGuard Labs  ความรู้เท่าทันภัยคุกคามและการวิจัย รวมถึงการแจ้งเตือนการแพร่กระจาย ที่ให้ขั้นตอนเพื่อช่วยลดความรุนแรงในการโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที
  • อ่านเกี่ยวกับวิธีการที่ลูกค้าฟอร์ติเน็ตใช้ในการรักษาความปลอดภัยในองค์กร
  • ติดตามฟอร์ติเน็ตบน XLinkedInFacebook และ Instagram สมัครสมาชิกกับ Fortinet ผ่าน blog หรือ YouTube ของเรา

 

เปิดเหตุผลสำคัญ สหรัฐฯ แบน TikTok โยงข้อมูลกระทบความมั่นคง

สหรัฐฯ แบน TikTok

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมาย โดย สหรัฐฯ แบน TikTok และแพลตฟอร์มดิจิทัลที่คล้ายกันที่ควบคุมโดย ศัตรูต่างชาติ (ในกรณีนี้คือจีน) เว้นแต่เจ้าของ หรือในกรณีนี้คือ ByteDance ที่อยู่ในจีน จะขายกิจการให้กับสหรัฐ ทีนี้ เรื่องมันเป็นมายังไง เดี๊ยว Techhub จะเล่าให้ฟัง

ประเด็นของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กับ TikTok คือความกังวลด้านความมั่นคงของชาติและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่เชื่อมโยงกับ ByteDance ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างว่าจีนสามารถใช้แอปนี้เพื่อสอดแนมชาวอเมริกันได้

รายงานก่อนหน้าของ Forbes เปิดเผยว่า ByteDance ได้ใช้ TikTok เพื่อสอดแนมนักข่าว โดย TikTok มีการจัดการข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลนี้ รวมถึงข้อมูลทางการเงิน หมายเลขประกันสังคม และข้อมูลผู้ติดต่อส่วนบุคคลของ เหล่า Creator , คนลงโฆษณา คนดัง และนักการเมือง

แน่นอนว่า TikTok ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน โดยยืนยันว่าไม่เคยส่งมอบข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน ซีอีโอของ TikTok บอกกับสภาคองเกรสว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐชี้ว่า TikTok กำลังสอดแนมชาวอเมริกัน และกล่าวว่า ทางแพลทฟอร์มมุ่งมั่นที่จะปกป้องข้อมูลของชาวอเมริกัน

ก่อนหน้านี้ ทาง ByteDance ได้พยายามลดข้อพิพาทนี้ โดยบอกว่า TikTok มีการรับและส่งข้อมูลไปยัง Oracle และ US Digital Service ในสหรัฐอเมริกา ณ ปี 2022 ซึ่งพยายามจะบอกว่า ข้อมูลของผู้ใช้ TikTok ในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ถูกส่งไปยังประเทศจีนแต่อย่างใด แต่ถูกจัดเก็บและประมวลผลภายในสหรัฐอเมริกา ผ่านบริษัทและหน่วยงานของอเมริกาเองนั่นแหละ…

แต่สุดท้าย สหรัฐฯ เค้าก็ยังไม่เชื่ออ่ะนะ หรือนี่หนึ่งในสงครามการค้าที่ อเมริกาเองพยายามกลับมาเป็นผู้ทางด้านเทคโนโลยีให้ได้…

ที่มา
forbes

คนไทยเปิดรับ AI ขับเคลื่อนชีวิตดิจิทัล  แม้กังวลเรื่องความปลอดภัย

รายงาน “Digital Lives Decoded 2024” ของ เทเลนอร์ เอเชีย เผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและทัศนคติต่อ AI ของคนไทย สะท้อนภาพประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยคนไทยใช้เวลาออนไลน์เฉลี่ยเกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความเชื่อมั่นในการใช้ AI มากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค อย่างเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย

AI กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในชีวิตคนไทย

โดยเฉพาะกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers ที่ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้มากกว่าคนรุ่นใหม่เสียอีก รายงานระบุว่าคนไทยกว่า 77% ใช้เครื่องมือ AI อยู่แล้ว โดยเฉพาะในด้านความบันเทิง เช่น โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง นอกจากนี้ 85% เชื่อว่า AI จะส่งผลดีต่อการศึกษา อย่างไรก็ตาม การใช้งาน AI ในที่ทำงานยังตามหลังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอยู่ โดยมีเพียง 1 ใน 5 ของคนไทยที่ใช้ AI เพื่อการทำงาน ซึ่งต่างจากมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ใช้ AI ในการทำงานเป็นหลัก แต่ผู้ที่ใช้ AI เพื่อการทำงานกลับมองว่า AI จะช่วยเพิ่มความมั่นคงในอาชีพและเชื่อถือข้อมูลที่สร้างโดย AI มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้

ความสะดวกสบายแลกกับความเป็นส่วนตัว

แม้คนไทย 3 ใน 4 จะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ได้ และกังวลเรื่องการหลอกลวงทางการเงินและการขโมยข้อมูลส่วนตัว แต่พวกเขากลับมั่นใจในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่าและกังวลน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้

คนไทยกว่า 38% เชื่อใจเว็บไซต์ที่ตนใช้งานว่าจะปกป้องความเป็นส่วนตัวได้ ซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์ที่มีเพียง 21% และ 6 ใน 10 ยินยอมให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อแลกกับข้อเสนอและบริการเฉพาะบุคคล สะท้อนถึงความย้อนแย้งในด้านของความเป็นส่วนตัว ที่ผู้คนยอมเสียความเป็นส่วนตัวบางส่วนเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย

อนาคตของ AI ในไทยสดใส

คนไทย 6 ใน 10 ตื่นเต้นกับความสามารถของ AI และเชื่อว่าอุปกรณ์มือถือจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อใช้งานร่วมกับ AI โดย 51% คาดหวังว่าอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนโดย AI จะมอบความปลอดภัยและเพิ่มเกราะป้องกันด้านข้อมูลส่วนตัวที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปกรณ์ AI ในไทยนั้นลดลงกว่าในมาเลเซียและสิงคโปร์ และความเชื่อมั่นในข้อมูลที่สร้างโดย AI ก็สูงขึ้นในทุกด้าน

Manisha Dogra, Senior Vice President, External Relations and Sustainability at Telenor Asia_0

ทั้งนี้ ผู้บริหารของ เทเลนอร์ เอเชีย เปิดเผยข้อมูลในผลสำรวจเพิ่มเติมว่า คนไทยส่วนใหญ่ ใช้ AI ไปกับมัลติมีเดีย และ โซเชี่ยลมีเดีย แต่ยังมีไม่มากที่นำมาใช้งานการทำงาน เพราะหนึ่งในสาเหตุคือ กลัวว่า AI จะมาแย่งงานของพวกเขา รวมทั้งองค์กรไทยหลาย ๆ ยังไม่สามารถสื่อสารได้ชัดเจนว่า AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานได้มากขึ้น ไม่ใช่เข้ามาแทนที่พวก ซึ่งทาง เทเลนอร์ เอเชียเอง ก็มีแผนจะนำ AI มาใช้ Reskill และ Upskill ให้กับพนักงานภายใน โดยถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของบริษัทในปีนี้เช่นกัน

Kulnapa Chanachompoo, Director, Leadership and Talent at Telenor Asia_0

สำหรับ เทเลนอร์ เอเชีย ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมใน ทรู คอร์ปอเรชั่น มองว่าการสร้างความเชื่อมั่น ให้ความสำคัญกับการศึกษา และความรับผิดชอบในการใช้งานดิจิทัล เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนไทยสามารถเติบโตและเข้าถึงยุค AI ได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง ท่ามกลางการเติบโตของ AI ในประเทศไทย การสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จาก AI และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย

ต้องยอมรับว่า คนไทยเปิดรับ AI อย่างมากและมองเห็นประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว การสร้างความเข้าใจและพัฒนามาตรการเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลที่ยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับทุกคน

ที่มา งานแถลงข่าว Telenore ASIA
ขอบคุณรูปภาพจาก Telenore ASIA

Hot Issue