ชวนดู ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เผยร่องรอยดาวหางฮัลเลย์

ไม่ได้มีแค่เพลง…เรากำลังได้เห็นร่องรอยของดาวหางฮัลเลย์

ตั้งนาฬิกาปลุกให้พร้อม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ร่องรอยของดาวหางฮัลเลย์ที่กว่า 76 ปี จะวนมาอีกครั้ง

คืนวันที่ 21 ตุลาคม เวลาประมาณ 22:30 น. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ตุลาคม ให้สังเกตบริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง หากฟ้าใสไม่มีฝน อาจมองเห็นได้ทั่วประเทศ

“ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี พ.ศ. 2529

แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

ดวงจันทร์ลับขอบฟ้าเป็นโอกาสดีที่จะชมฝนดาวตก วิธีการสังเกตที่ดีที่สุดคือมองด้วยตาเปล่า เลือกสถานที่ที่ปราศจากแสงรบกวนหรือห่างจากแสงเมืองให้มากที่สุด จะทำให้เห็นดาวตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้ว่าฝนดาวตกโอไรออนิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียงประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง แต่ก็เป็นฝนดาวตกที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่าย และมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวงให้ได้รับชมกัน

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เพราะฉะนั้นเราสามารถรอชมความสวยงามได้ทุกปี

แต่หากเป็นดาวหางฮัลเลย์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกนี้ จากการคำนวณคาดว่าดาวหางจะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 ดังนั้น เราน่าจะได้เห็นดาวหางกันอีกครั้งในอีก 38 ปีข้างหน้า

ถือว่าเป็นวันหยุดยาวที่ดี โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อย ๆ ใครไปต่างจังหวัดหรือสามารถหาที่โล่ง มารอดูฝนดาวตกกันได้นะครับ

>> ปักหมุด 18 พื้นที่ดูดาวทั่วไทย ขึ้นแท่นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

#ดาวหางฮัลเลย์ #ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ #TechhubUpdate