ออราเคิล เผยผลวิจัย ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 66% เชื่อว่าโปรแกรมบอททำงานได้สำเร็จลุล่วง ในขณะที่มนุษย์ล้มเหลวด้านความยั่งยืนขององค์กร

  • งานศึกษาระดับโลกชี้ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 94% เชื่อว่าสังคมยังไม่มีความก้าวหน้ามากพอในการทำงานด้านความยั่งยืนและสังคม
  • 75% ของผู้คนในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ยังผิดหวังและเบื่อหน่ายกับภาคธุรกิจไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องเหล่านี้
  • ผู้บริหารธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กว่า 97% เชื่อว่าอคติและอารมณ์ของมนุษย์ส่งผลเสียต่อการทำงานด้านความยั่งยืนขององค์กร

งานศึกษาครั้งใหม่ของ ออราเคิล ร่วมกับ พาเมลา รัคเกอร์ ที่ปรึกษาผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงและผู้ควบคุมงานแห่ง Harvard Professional Development แสดงให้เห็นว่า ผู้คนทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้เกิดความก้าวหน้ามากกว่านี้ในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสังคม และต้องการให้ภาคธุรกิจมีการดำเนินงานที่ชัดเจน จากงานศึกษา “ไม่มีโลกสำรอง” (No Planet B) ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคและผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจมากกว่า 11,000 รายใน 15 ประเทศครั้งนี้ เผยว่าผู้คนรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้เห็นถึงความก้าวหน้าในการสร้างความยั่งยืนและโครงการริเริ่มในสังคม ทั้งยังต้องการให้ภาคธุรกิจเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และผู้คนยังเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในเรื่องที่มนุษย์ทำไม่ได้

ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นต้องการให้ภาคธุรกิจทำโครงการด้านความยั่งยืนและสังคมที่ชัดเจน

เหตุการณ์ตลอดสองปีที่ผ่านมาชี้ให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสังคม ซึ่งคนทั่วโลกเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายที่ไม่เห็นถึงความก้าวหน้าและเรียกร้องให้ภาคธุรกิจก้าวออกมาเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และต่อไปนี้คือผลการสำรวจบางส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น

  • ผู้คน 95% เชื่อว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสังคมมีความสำคัญมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และ 81% กล่าวว่าเหตุการณ์ตลอดสองปีนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง
  • ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% เชื่อว่าสังคมยังไม่มีความก้าวหน้ามากพอในเรื่องนี้ 40% กล่าวว่าสาเหตุที่ยังขาดความก้าวหน้าเป็นเพราะผู้คนกำลังยุ่งวุ่นวายกับเรื่องอื่น ๆ มากเกินไป 43% เชื่อว่านี่เป็นผลจากการให้ความสำคัญกับผลกำไรระยะสั้นมากกว่าประโยชน์ระยะยาว และ 37% เชื่อว่าผู้คนเกียจคร้านหรือเห็นแก่ตัวเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมาช่วยเยียวยาโลกใบนี้
  • 50% เชื่อว่าภาคธุรกิจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนและปัจจัยทางสังคมที่เปี่ยมคุณค่าได้มากกว่าบุคคลทั่วไปหรือภาครัฐบาล
  • ผู้คน 75% ผิดหวังและเบื่อหน่ายที่ไม่ได้เห็นความก้าวหน้าจากภาคธุรกิจจนถึงวันนี้ และ 91% เชื่อว่าการที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องงแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) นั้นยังไม่เพียงพอ พวกเขายังต้องการเห็นการปฏิบัติและหลักฐานที่ชัดเจนด้วย
  • 89% เชื่อว่าภาคธุรกิจจะสร้างความก้าวหน้าได้มากกว่าในเรื่องความยั่งยืนและเป้าหมายทางสังคมผ่านความช่วยเหลือของปัญญาประดิษฐ์ และ 66% ยังเชื่อว่าโปรแกรมบอท จะทำสำเร็จในขณะที่มนุษย์ล้มเหลวในงานนี้

อคติของมนุษย์และปัญหาในการดำเนินงานคืออุปสรรคสำหรับภาคธุรกิจ

Technology human touch background, modern remake of The Creation of Adam

ผู้บริหารธุรกิจทราบดีว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นในโปรแกรมบอท มากกว่าการสั่งงานมนุษย์ในการผลักดันการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสังคม

  • ผู้บริหาร 93% เชื่อว่าความยั่งยืนและแผนงานด้าน ESG มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร บรรดาผู้บริหารต่างระบุถึงประโยชน์หลัก 3 ข้อหลัก ได้แก่ การเพิ่มกำลังการผลิต (42%) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของแบรนด์ (40%) และ การดึงดูดลูกค้าใหม่ (37%)
  • ผู้บริหารธุรกิจเกือบทั้งหมด (93%) ต่างเผชิญกับอุปสรรคใหญ่เมื่อดำเนินงานโครงการด้านความยั่งยืนและ ESG ซึ่งในบรรดาความท้าทายที่ยากที่สุดยังรวมถึงการรวบรวมเกณฑ์ด้าน ESG จากบริษัทคู่ค้าและบุคคลภายนอก (39%) การขาดแคลนข้อมูล (37%) และการรายงานผลด้วยมนุษย์ซึ่งใช้เวลามาก (35%)
  • 97% ของผู้บริหารระดับสูงยอมรับว่าอคติและอารมณ์ของมนุษย์มักทำให้การปฏิบัติงานไขว้เขวออกจากเป้าหมายสุดท้าย และ 91% เชื่อว่าองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะประสบความสำเร็จในระยะยาว
  • ผู้บริหารระดับสูง 94% เชื่อมั่นโปรแกรมบอตมากกว่ามนุษย์ในการตัดสินใจด้านความยั่งยืนและสังคม พวกเขาเชื่อว่าโปรแกรมบอตทำงานได้ดีกว่าทั้งในการรวบรวมข้อมูลที่มีรูปแบบแตกต่างกันโดยไม่เกิดข้อผิดพลาด (48%) การตัดสินใจตามหลักตรรกะโดยปราศจากอคติ (46%) และการทำนายผลลัพธ์ในอนาคตบนพื้นฐานของหลักเกณฑ์/ประสิทธิภาพการทำงานในอดีต (45%)
  • ผู้บริหารระดับสูงเชื่อว่าผู้คนยังเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการด้านความยั่งยืนและสังคม และเชื่อว่ามนุษย์ยังคงทำงานได้ดีกว่าในการสร้างความเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานผลตอบรับของผู้ถือประโยชน์ (51%) การให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นแก่กันเพื่อการตัดสินใจ (48%) และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่อาศัยข้อมูลบริบทแวดล้อม (45%)

ผู้คนพร้อมตัดขาดธุรกิจที่ไม่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสังคม

ภาคธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นด้านความยั่งยืนและสังคม  ตลอดจนทบทวนแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิผลในเรื่องเหล่านี้ หรือยอมเสี่ยงที่จะเผชิญกับผลลัพธ์ครั้งใหญ่ที่จะตามมา

  • ผู้คน 95% ต้องการให้เกิดความก้าวหน้าของปัจจัยด้านความยั่งยืนและสังคม เพื่อสร้างแนวทางการดำรงชีวิตที่ดียิ่งขึ้น (53%) เพื่อปกป้องโลกแก่คนรุ่นต่อไป (49%) และเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทั่วโลก (49%)
  • 74% ยินดีตัดความสัมพันธ์กับแบรนด์ที่ไม่ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนและสังคมอย่างจริงจัง และ 72% ยังพร้อมลาออกจากบริษัทที่ทำอยู่ในปัจจุบันเพื่อไปหาแบรนด์อื่นที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในเรื่องเหล่านี้มากกว่า
  • ถ้าองค์กรสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ผู้คนจะยินดีจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ค่าสินค้าและบริการของแบรนด์นั้น (89%) ทำงานให้กับบริษัทนั้น (87%) และลงทุนในบริษัทนั้น (86%)
  • ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจถึงความสำคัญและความเร่งด่วน โดย 95% เชื่อว่าเกณฑ์วัดความยั่งยืนและสังคมควรถูกนำมาใช้เพื่อรายงานผลเกณฑ์ทางธุรกิจแบบดั้งเดิม และ 92% ต้องการเพิ่มการลงทุนในด้านความยั่งยืน

ด้าน นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าองค์กรต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และสังคมมากขึ้น ความเชื่อมั่นต่อธุรกิจจึงขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้นมีส่วนส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะในประเทศไทย หน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศได้พยายามส่งเสริมการยกระดับแผนงานด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) มาอย่างต่อเนื่อง บรรดาผู้บริหารธุรกิจต่างทราบดีถึงความสำคัญในเรื่องนี้ แต่ก็มักมีสมมติฐานผิด ๆ ว่าพวกเขาต้องให้ความสำคัญกับผลกำไรหรือความยั่งยืนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ความจริงก็คือเรื่องนี้ไม่ใช่เกมที่ต้องการผู้แพ้หรือผู้ชนะ เพราะเทคโนโลยีที่ช่วยขจัดอุปสรรคทั้งหมดในการดำเนินงานด้าน ESG นั้นมีให้นำไปใช้แล้วในปัจจุบัน และองค์กรที่เข้าใจในเรื่องนี้จะไม่เพียงสามารถสนับสนุนชุมชนและรักษาสิ่งแวดล้อมได้เท่านั้น แต่ยังจะได้เห็นถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น การลดต้นทุน และประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลถึงส่วนต่างของผลกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญ”

พาเมลา รัคเกอร์ ที่ปรึกษาผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงและผู้ควบคุมงานแห่ง Harvard Professional Development กล่าวว่า “เหตุการณ์ตลอดสองปีที่ผ่านมาทำให้โครงการด้านความยั่งยืนและสังคมกลายเป็นจุดสนใจ และผู้คนต่างต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม แม้ยังมีความท้าทายต่อประเด็นเหล่านี้ แต่ภาคธุรกิจยังมีโอกาสอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้คนต้องการร่วมงานและทำงานให้กับองค์กรที่ดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาสทอง เพราะในขณะที่แนวคิดมีการพัฒนา เทคโนโลยีก็เช่นเดียวกัน และเทคโนโลยียังมีบทบาทสำคัญในการเอาชนะอุปสรรคมากมายที่เหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าเอาไว้”

“เมื่อพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมอย่างมากของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งในเรื่องจำนวนประชากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ และจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและการเงิน กล่าวได้ว่า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก็จะได้รู้ผลแพ้ชนะในเอเชียแปซิฟิกนี่เอง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องรีบดำเนินการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาคธุรกิจก็มีเวลาเหลือน้อยลงทุกทีในการก้าวมาเป็นผู้นำในเรื่องนี้” วิลล์ ไซมอนส์ หัวหน้าฝ่ายงานความยั่งยืนและสภาพอากาศ ดีลอยต์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “นับเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากที่เราได้เห็นองค์กรอย่างออราเคิล ให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในการดำเนินการและให้ความสำคัญกับโครงการด้านความยั่งยืน ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนต้องการให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าด้านความยั่งยืน และพวกเขายังยินดีตอบแทนแก่องค์กรที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้ ซึ่งในการดำเนินงานเรื่องนี้ องค์กรต่าง ๆ ต้องทบทวนแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนจากความมุ่งมั่นให้กลายเป็นการกระทำจริง ๆ ตามพันธะสัญญาด้านความยั่งยืน พร้อมรับประกันถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือแก่เหล่าผู้ถือประโยชน์ทุกฝ่าย”

ดูรายงานศึกษาระดับโลกฉบับเต็มได้ที่ www.oracle.com/noplanetb

กระบวนการศึกษา

ผลการวิจัยเกิดจากการสำรวจโดยบริษัท Savanta, Inc. ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 กับผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 11,005 รายจาก 15 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย บราซิล และเม็กซิโก) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นจำนวน 4,000 คน โดยเป็นการสอบถามเกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้บริหารธุรกิจในเรื่องการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสังคม ตลอดจนบทบาทและความคาดหวังที่มีต่อปัญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG)