พบกับ เจาะเทรนด์ 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” ตอนที่ 3 หรือตอนสุดท้ายกันแล้ว ว่าด้วยอาชีพ รับจ้างเล่นเกม Games Caster และ แชะภาพขายส่งออก Stock Photography
ย้อนดู : เจาะเทรน 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” ตอนที่ 2
อาชีพ 4 : รับจ้างเล่นเกม Games Caster
ขึ้นหัวข้อ “รับจ้างเล่นเกม” อาจดูเรียลไปนิด แต่โดยหลักแล้วอาชีพนี้คือ “การเล่นเกมให้คนดูสนุกร่วมไปกับเรา” สำหรับอาชีพนี้ อาจยังเป็นข้อกังขาในบางกลุ่มที่ต้องการทราบว่าแท้จริงแล้ว Games Caster คืออาชีพอะไร รายได้มาจากไหนกันแน่ ในส่วนของความหมายก็ตามข้างต้นเลยครับ ส่วนรายได้จะเป็นในเรื่องสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุนนั่นเอง แต่ต้องบอกก่อนว่ารายได้สำหรับอาชีพนี้ “ถือเป็นเรื่องรอง” เพราะแทบทุกคนไม่ได้ทำเพื่อหวังรายได้ แต่เกือบทุกคนทำเพราะความชอบล้วน ๆ ต่างหาก ส่วนรายได้จริง ๆ นั้นคือผลพลอยได้มากกว่า
Games Caster คืออะไร
“เล่นเกมให้คนดู” ถ้าขยายความหน่อยก็หมายถึง การอัดคลิปวิดีโอการเล่นเกมของตัวเองพร้อมกับบรรยายความรู้สึกไปด้วยขณะเล่น โดยผู้บรรยาย (Caster) จะแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ตลอดการเล่น ทั้งแปลเนื้อเรื่อง วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ในเกม รวมถึงการยิงมุกเพื่อสร้างสีสันให้คนดู ส่วนจะดูได้ที่ไหน ก็ที่เว็บไซต์ Youtube เลยครับ ถือเป็นแหล่งให้กำเนิดเหล่า Games Caster ตลอดมา
เคยสงสัยไหมว่าทำไม Games Caster สามารถดึงให้คนอื่นมาดูตัวเองเล่นได้ ทั้ง ๆ ที่เล่นเองไม่สนุกกว่าหรือสาเหตุก็เพราะ “เนื้อเรื่องของเกม” นั่นเองครับ คือเกมในยุคหลัง ๆ มีการใส่เนื้อเรื่องที่ดูน่าสนใจมากขึ้น จนสนุกเทียบเท่าภาพยนตร์จริง ๆ หรืออาจจะมากกว่าด้วย บางเกมเรายังสามารถกำหนดเนื้อเรื่องเองได้ ทำให้เนื้อเรื่องมีมิติมากกขึ้น ทว่า กลับมีผู้เล่นหลายคนติดตรงที่ 1. ไม่มีเวลาเล่น 2. ความยาก และ 3. กำแพงภาษา เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้มีเกมเมอร์กลุ่มหนึ่งที่มีทั้งเวลา (แบ่งเวลาของตัวเองดี) เล่นเกมเก่ง และเก่งภาษาด้วยมาอาสาอัดวิดีโอเล่นให้ดูผ่านอินเทอร์เน็ตแทน จนเป็นที่มาของคำว่า “Walkthrough” (การดำเนินเกมให้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ) แต่หลัง ๆ เกมมีความน่าสนใจมากขึ้น ผู้เล่นจึงอดไม่ได้ที่จะขอบรรยายเสียงของตัวเองลงไปในเกมด้วย ท้ายที่สุดก็กลายเป็น Games Caster จนทุกวันนี้
อยากเป็นต้องทำไง และมีแนวทางอย่างไร
MR.HEART ROCKER (HRK) นักแคสเกมอันดับหนึ่งของบ้านเรา
- มองกำไรให้เป็นเรื่องรอง อย่างแรกเลย อาชีพนี้ควรมองเรื่องเงินให้เป็นเรื่องรองเลยครับ เนื่องจากในช่วงแรก ๆ เราจะไม่สามารถหารายได้จากอาชีพนี้ได้เลย เพราะต้องไปสร้างชื่อให้ตัวเองก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร สำหรับ Games Caster ที่ดัง ๆ จนทำรายได้เป็นแสน ๆ ล้าน ๆ ในทุกวันนี้ ทุกคนไม่ได้มาทำเพราะเงินตั้งแต่แรก แต่ทำเพราะอยากทำจริง ๆ จุดประสงค์มีเพียงขอให้มีคนดูก็พอแล้ว ดังนั้นจึงต่างกับอาชีพ Tutor Online ที่เพราะมีกำไร งานถึงดี แต่อาชีพนี้กลับเป็นเพราะมีคนดู งานถึงดีมากกว่า
- มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้คนส่วนมากจะเข้ามาเพื่อดูเนื้อเรื่องของเกมโดยเฉพาะก็จริง แต่มีอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน คือ “เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Games Caster” ซึ่งจะกำเนิดขึ้นในระหว่างที่สร้างชื่ออยู่นั้นเอง ในการสร้างเอกลักษณ์นั้น อาจจะแบ่งได้ 2 ประเภทคือ เล่นเกมเก่ง จนไม่เคยตายในเกมเลย กับเล่นไม่เก่งมาก แต่เน้นฮา (หรือมีแต่น้อยมาก) อย่างกรณีของ PewDiePie เอง ที่เป็นนักแคสเกมระดับโลกก็ไม่ได้เล่นเกมเก่งอะไร แต่คนชอบดูโอเวอร์แอคติ้งแบบฮา ๆ ของเฮียแกมากกว่า (แม้โดนคดีก็ยังฮาออก…..)
- สร้างจุดเด่น ตรงนี้คงแนะนำอะไรไม่ได้มาก เพราะขึ้นอยู่กับพวกเราเองแล้วครับ แต่บอกได้ว่าสิ่งที่ต้องมีเหมือน ๆ กันคือ 1.สามารถพูดคนเดียวได้เป็นเวลานาน ๆ 2. สามารถเอนเตอร์เทนคนดูได้เป็นอย่างดี 3. มีความสามารถในการตัดต่อวิดีโอระดับหนึ่ง 4. มีความเป็นกันเองกับคนดู และ 5. เป็นแบบอย่างที่ดี เนื่องจากคนดูส่วนมากเป็นเด็ก
- ควรเก่งภาษา อย่างที่เคยบอกไป คนส่วนใหญ่มาดูเพราะเนื้อเรื่องของเกม แต่เกือบทุกเกมเป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ ดังนั้น Games Caster ต้องสามารถถ่ายทอดเนื้อหาของเกมให้คนดูเข้าใจให้ได้ แน่นอนว่าต้องใช้ทักษะภาษาพอสมควร แต่บางคนอาจไม่เก่งภาษามากนัก ก็ใช้วิธีทำ Walkthrough แทน แต่แน่นอนว่าจะไม่ดังเท่า Games Caster ที่เก่งภาษา ดังนั้นควรฝึกทักษะภาษาไว้ดีกว่า โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ต้องเก่งพอควร ในบางครั้งตัวเกมมักจะมีศัพท์เฉพาะยาก ๆ หรือเวลาแปลก็ต้องแปลแบบ Real Time เลยด้วย (แปลสด) เพราะในเกมจะมีบทสนทนาที่จะดำเนินอยู่ตลอด คงไม่มีใครกด Pause หยุดเกม แล้วสลับหน้าเข้า Google Translate แบบนั้นแน่…
- เคารพกติกา ส่วนสุดท้ายเลย ที่ไม่ว่าใครก็ตาม ทั้งนัก Games Caster ก็ดี หรือนักเล่นเกมทั่วไปก็ด้วย เนื่องจากเราอยู่ในยุคออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเชื่อมถึงกันได้ง่าย ๆ อย่างในเกมเองก็มีชุมชนออนไลน์ที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปพูดคุยได้อย่างอิสระ ดังนั้นการเคารพกติกาก็คือการเคารพซึ่งกันและกันนั่นเองครับ Games Caster ก็ต้องมีความเกรงใจคนดู ส่วนคนดูเองก็ต้องมีความเกรงใจด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนย่อมรู้แก่ใจกันดี สุดท้ายสำหรับคนที่คิดจะเป็น Games Caster จริง ๆ อย่าลืมว่าเกมที่จะ Cast โชว์นั้น “ต้องเป็นเกมถูกลิขสิทธิ์” เท่านั้นนะครับ
รายได้มาจากไหน
PewDiePie นักแคสเกมอันดับหนึ่งของโลก ที่สามารถทำรายได้จากการเล่นเกมได้ปีละ 130 ล้านบาท !!
จากที่เริ่มต้นมาจากความชอบ แต่หลัง ๆ กลับเริ่มจริงจังมากขึ้น เมื่อมีกลุ่มผู้สนับสนุน (สปอนเซอร์) ที่เกี่ยวข้องกับวงการเกม ไม่ว่าจะเป็น ร้านเติมเงินออนไลน์ ร้านขายอุปกรณ์เล่นเกม ตัวแทนจำหน่ายเกม หรือตัวผู้ผลิตเกมเอง ก็จะเข้ามาติดต่อกับเหล่า Games Caster เพื่อขอลงโฆษณานั่นเอง แน่นอนว่า Games Caster ดังกล่าวต้องเป็นคนที่มีกลุ่มคนดูเยอะ ๆ ถึงจะเป็นที่หมายตา ในบางครั้ง หากตัว Games Caster มีชื่อเสียงพอสมควรก็อาจจะได้รับเชิญให้ไปออกงานอีเวนต์หรือรายการต่าง ๆ เพื่อให้มาเป็นพิธิกร แขกรับเชิญ หรือ Presenter เป็นต้น แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่ง่าย ๆ ต้องใช้เวลาและความอดทนสูง บางคนก็เจ็บมาเยอะ
อาชีพ 5 : แชะภาพขายส่งออก Stock Photography
อีกทางเลือกหนึ่งของช่างภาพยุคใหม่ ที่ไม่ต้องไปหาลูกค้า ทำสัญญา เสนอราคา หรือโปรโมตตัวเองให้วุ่นวาย เพียงแค่เรามีภาพสวย ๆ ที่สื่อความหมายได้ (Stock) ไปโยนใส่ในเว็บตัวแทนขายภาพออนไลน์ (Microstock) จากนั้นก็นั่งรอเงินโอนเข้าบัญชีหลังมีคนมาซื้อ เป็นอันเสร็จ แต่ !! ถึงจะดูเหมือนง่าย ทว่าอาชีพ Stock Photography หรือช่างภาพออนไลน์ ก็นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่ต้องใช้ทั้งฝืมือและความอดทนไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ ในที่นี้เลยเหมือนกัน
Stock Photography คืออะไร
หากแปลแบบทั่ว ๆ ไปก็หมายถึง ช่างภาพออนไลน์ แต่ถ้าแปลตามตัวจะหมายถึง “ช่างภาพสต็อก” แล้วภาพสต็อกคืออะไร? มันคือคลังภาพที่เกิดจากการถ่ายภาพแบบตั้งใจถ่าย คือมีการคิดก่อนว่าจะให้ภาพที่ถ่ายสื่อความหมายออกมายังไง และสามารถนำไปดัดแปลงต่อยอดอย่างอื่นได้ไหม อาทิ ใช้เป็นภาพเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ (ภาพโปสเตอร์, ภาพโฆษณา, ภาพตกแต่งเว็บ ฯลฯ) หรือใช้เป็นภาพข่าว (Editorial) เป็นต้น สรุป Stock Photography หมายถึงช่างภาพอิสระที่รับถ่ายภาพสื่อความหมาย แล้วนำมาขายบนอินเทอร์เน็ต โดยผ่านเว็บ Microstock อีกที
ส่วน Microstock คือเว็บไซต์ที่รวบรวมรูปภาพจากช่างภาพ Stock Photography ทั่วโลก แล้วนำมาขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการโดยตรง ทางเว็บจะนำภาพนั้นเหล่านั้นมาแสดง แล้วแยกตามหมวดหมู่ที่ช่างภาพกำหนดไว้ เมื่อมีคนซื้อ ทางเว็บก็จะจ่ายค่าตอบแทน (คอมมิชชั่น) กับช่างภาพ แต่แม้จะขึ้นชื่อว่า “ขาย” จริง ๆ ควรเรียกว่า “การให้เช่าใช้สิทธิ์” เพราะลูกค้าที่ซื้อไปไม่ได้เป็นเจ้าของภาพซะทีเดียว ลูกค้าได้เพียงสิทธิ์ในการนำภาพไปใช้ในงานเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำภาพไปดัดแปลงเพื่อขายต่อได้
อยากเป็นต้องทำยังไง และมีแนวทางอย่างไร
- เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม หากใครอยากเข้าสู่วงการ Stock Photo สิ่งที่ต้องมีก่อนเลยคือกล้องถ่ายรูป ควรเป็นกล้อง Mirrorless หรือ DSLR ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพที่มีความคมชัดจนขายได้ ถัดมาคือบัญชีออนไลน์ PayPal เครื่องคอมพิวเตอร์ (พร้อม HDD สัก 2-4 TB) และหนังสือเดินทาง เพื่อเอาไว้ยืนยันตนกับทางเว็บ Microstock ทั้งหลาย
- รีบสอบให้ผ่าน ในเว็บ Microstock ดัง ๆ ที่มีคนเข้ามาซื้อภาพนับไม่ถ้วน เช่น Shutterstock, iStockphoto และ 123RF ทุกเว็บจะให้เราสอบเพื่อขอดูผลงานก่อน สอบในที่นี้คือ เราจะต้องส่งรูปภาพชุดแรกที่เราคิดว่าเป็นภาพ Stock ที่ดีที่สุดที่เรามีแล้ว หลังสมัครเพื่อขอเป็นผู้ขายเสร็จแล้ว ระหว่างนี้ให้รีบจัดแจงเตรียมรูปภาพสำหรับสอบทันทีเลยครับ เนื่องจากหากเราสอบตก เราจะต้องรอคิวสอบใหม่เป็นเดือน ๆ เลยทีเดียว แม้เดี๋ยวนี้ เว็บ Microstock ที่ดัง ๆ จะไม่ค่อยเข้มงวดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่อย่าประมาทจะดีกว่าครับ
- ส่งภาพครั้งแรกควรจัดเต็ม หากเป็นช่างภาพ Stock มือเก๋าที่ในโปรไฟล์มีรูปภาพเป็นร้อย ๆ ถึงพันเข้าไปแล้ว ส่วนมากจะมีแฟนผลงาน (หรือลูกค้าประจำ) เข้ามาโหลดผลงานอยู่เสมอ แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่ยังไม่มีผลงานเลย สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือ “กระหน่ำส่งรูปภาพให้หนัก” เพื่อให้แจ้งเกิดไว ๆ แต่ต่อให้เป็นมือเก๋าเองก็ยังต้องส่งงานเยอะ ๆ อยู่เหมือนกัน เนื่องจากในแต่ละวันทางเว็บจะมีรูปภาพที่ถูกส่งเข้ามานับพันถึงหมื่นกันเลย ดังนั้นหากไม่อยากโดนแย่งลูกค้า ก็ควรจัดหนักบ่อย ๆ เลยครับ
- เริ่มต้นด้วย Microstock เว็บแรก ก่อนจะไปกระจายส่งภาพไปหลาย ๆ เว็บ เรามาจริงจังกับเว็บแรกที่เลือกไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะหากเราต้องส่งภาพไปขายหลาย ๆ เว็บ เราอาจจะต้องใช้ภาพที่ไม่ซ้ำกันนับพันภาพเลยทีเดียว ดังนั้นในเว็บแรกที่เราเริ่มต้น ต้องส่งภาพ 10 – 100 รูป เข้าไปแล้ว ก็มาจริงจังกับเว็บนี้ให้ถึงที่สุดก่อน เราจะได้มีทั้งประสบการณ์และรู้จักพฤติกรรมของผู้ซื้อมากขึ้น จนเมื่อเราแกร่งพอ เราก็จะสามารถ่ายภาพได้ทีเป็นพัน ๆ ภาพ จนสามารถส่งขายไปยังเว็บ Microstock ได้สบาย ๆ โดยไม่เจอ Rejected ให้เหนื่อยฟรี
- ศึกษากฎของภาพ Stock ให้ขึ้นใจ อยากให้ภาพขายได้และผ่านการพิจารณาของเว็บ ควรท่องกฎของภาพ Stock ทั้ง 8 ข้อนี้ก่อนให้ขึ้นใจเลยครับ ได้แก่ 1. ภาพต้องสื่อความหมายได้ 2. ภาพต้องคมชัด 3. แสงต้องไม่เพี้ยน 4. องค์ประกอบรูปต้องพอดี 5. ไม่ควรมี Noise 6. ห้ามถ่ายติดเครื่องหมายการค้าใด ๆ 7. อย่าส่งภาพสิ่งก่อสร้างส่วนบุคคลหรือภาพบุคคลไปโดยไม่ได้รับอนุญาต 8. ไม่แต่งภาพจนเกินงาม
- ไปศึกษาเทคนิคเพิ่มเติม ต้องบอกเลยว่า ในวงการ Stock Photography ของบ้านเรา มีเหล่าเซียนของอาชีพนี้อยู่มากมาย และแต่ละคนก็พร้อมที่จะเผยแพร่วิชาหรือเคล็ดลับโดยไม่มีกั๊ก เราสามารถไปหาเทคนิคได้จากคนเหล่านี้ได้สบาย ๆ
Stockphotothailand เว็บชุมชน Stock Photography ชื่อดังของบ้านเรา
รายได้มาจากไหน
รายได้จะมาจากลูกค้าที่เข้ามาซื้อภาพ โดยเว็บ Microstock เป็นเว็บระดับโลก เราก็จะต้องใช้บัญชี PayPal เพื่อรับเงินจากคนเหล่านี้ แต่ในการขายครั้งแรก ได้มา 8 บาทก็หรูแล้วครับ ยกตัวอย่าง ในเว็บ Shutterstock หลังจากที่เราอัพโหลดรูปลงขายแล้ว ทางเว็บก็จะจัดแจงแบ่งราคาแบ่งขนาดภาพของเราโดยอัตโมมัติ สิ่งที่มือใหม่หัดขายทุกคนต้องเจอคือ “$0.25” หรือประมาณ 8 – 9 บาทไทยนี้คือตัวเลขราคาขายภาพขั้นต่ำของเว็บต่อ 1 ภาพ หรือต่อ 1 ดาวน์โหลด และจะเป็นตัวเลขที่เห็นบ่อยที่สุดในช่วงแรก ๆ แต่อย่าเพิ่งมองว่าน้อย หากเราส่งผลงานลงเว็บเรื่อย ๆ ก็จะมียอดดาวน์โหลดมากขึ้น รายได้ก็จะมากขึ้น
จากคอลัมน์ Cover Story ในนิตยสาร Comtoday ประจำฉบับที่ 521