อะไรคือ Obi WorldPhone ? ชื่อนี้ไม่คุ้นหูคุ้นตาคนไทยแน่ แต่นี่ คือแบรนด์สมาร์ทโฟนจากอเมริกา ที่กำลังเข้ามาวางขายในประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดย John Sculley อดีตซีอีโอของ Apple เปิดตัวครั้งแรกเมื่อประมาณเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในชื่อรุ่น “Obi SF1” ที่ถูกวางให้เป็นเรือธงของบริษัท และมีรุ่นที่รองลงมาในชื่อ “Obi SJ1.5” โดยทีมงาน aripfan มีรีวิว Obi SF1 มาเล่าสู่กันฟัง จะเป็นอย่างไรไปติดตามชมกันครับ
สเปคของ Obi SF1 มีดังนี้
– หน้าจอ IPS ขนาด 5 นิ้ว กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 4 ให้ความละเอียดระดับ Full HD
– รัน Android 5.0.2 Lollipop
– ใช้ชิประมวลผล Qualcomm MSM8939 Snapdragon 615 ประเภท 64-bit Octa-Core ความเร็ว 1.5GHz, ประมวลผลกราฟิกด้วย Adreno 405 GPU
– แรม 3GB พื้นที่เก็บข้อมูล 32GB (เป็นรุ่นที่นำมาทดสอบ ส่วนรุ่นขายจริงจะเป็นแรม 2GB พื้นที่เก็บข้อมูล 16GB) รองรับ microSD card ความจุสูงสุด 64GB
– ใช้ได้ 2 ซิมการ์ด แบบ Micro SIM และ Nano SIM แต่ในส่วนของช่องใส่ Nano SIM จะต้องเลือกใส่ระหว่างซิมหรือ microSD card
– กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล มากับเซนเซอร์ Sony Exymor IMX214, f/2.0 พร้อมแฟลช LED
– กล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล และแฟลช LED
– แบตเตอรี่ความจุ 3000 mAh ถอดฝาหลังไม่ได้ รองรับเทคโนโลยี Quick Charge 1.0
-ส่วนการเชื่อมต่อ รองรับ USB 2.0, และเครือข่าย GSM : 850/900/1800/1900 MHz , WCDMA: 850/900/1900/2100 MHz , 4G LTE: FDD B3 1800 MHz & TDD B40 2300 MHz
เริ่มตั้งแต่การแกะกล่อง โดยตัวกล่องบรรจุเป็นพลาสติกใส ทรงแนวตั้ง แตกต่างจากกล่องบรรจุสมาร์ทโฟนทั่วไปที่เรามักคุ้นเคยกับกล่องพลาสติกหรือกล่องกระดาษที่ปิดมาอย่างมิดชิด การเปิดกล่องนั้นต้องลอกสติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่ส่วนท้ายออกเสียก่อน ซึ่งภายในกล่องจะประกอบไปด้วยตัวเครื่อง อุปกรณ์ชาร์จ (โดยอะแดปเตอร์ที่เห็นในภาพเป็นรุ่นสำหรับทดสอบเท่านั้น สำหรับรุ่นขายจริงจะเป็นอีกแบบ), เหล็กแท่งสำหรับเปิดช่องซิมการ์ด และคู่มือ จะขาดไปเพียงหูฟัง ที่ไม่ได้แถมมาด้วยเท่านั้น
การออกแบบนั้นใช้โลหะเป็นวัสดุหลัก สังเกตได้จากขอบทั้งสี่ด้าน เรื่อยไปจนถึงฝาหลังที่ดูเรียบๆ แต่ก็หรูหรา และให้ความรู้สึกถึงความแข็งแกร่ง ที่ลืมไม่ได้เลยคือ ฝาหลังที่ไม่สามารถถอดได้ ความแปลกของ Obi SF1 คือหน้าจอที่นูนขึ้นมาจอตัวเครื่อง ซึ่งในมุมมองส่วนตัวคิดว่าการออกแบบในลักษณะนี้อาจเป็นแนวคิดที่เข้ามาช่วยในการหยิบจับด้วยมือเดียว เพราะหากทำเรียบๆ ไปทั้งหมด ก็อาจทำให้ผู้ใช้กังวลว่าจะร่วงหลุดมือได้ง่ายๆ
ส่วนประกอบต่างๆ ที่ขอบที่ทั้ง 4 ด้าน แบ่งเป็นปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่มพาวเวอร์ ที่ด้านซ้าย, ช่องสำหรับซิมการ์ดและ microSD card ที่ด้านขวา, ส่วนบนเป็นพอร์ตต่อหูฟัง และรูไมโครโฟนขนาดจิ๋วสำหรับตัดเสียงรบกวนรอบข้าง, ด้านล่างสุดจะเป็นช่องลำโพงคู่ซ้ายขวา คั่นกลางด้วยพอร์ต USB 2.0 แลปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มโฮม และปุ่ม Recent App ถูกวางอยู่บนหน้าจอแสดงผล
การใช้งานในส่วนของซอฟต์แวร์ อย่างที่บอกไปในสเปคตอนต้นว่า Obi SF1 ใช้ Android 5.0.2 Lollipop ลักษณะของส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface) จึงมีความเรียบ แบน ในแบบดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่หน้าจออยู่ในโหมดล็อคสกรีน การจะปลดล็อค, เข้าโหมดการโทรออก หรือใช้กล้องถ่ายรูป จะต้องแตะที่จุดทัชสกรีนภายในวงกลม พร้อมเลื่อนไปยังโหมดที่ต้องการใช้งาน ซึ่งหากใครที่เคยชินกับการปลดล็อคแบบปัดตรงใดก็ได้ของจอสมาร์ทโฟน Android ไม่ว่าจะรุ่นใดก็ตาม เมื่อหันมาใช้ Obi SF1 อันต้องปรับตัวกันเล็กน้อยครับ
เมื่อปลดล็อคหน้าจอเข้ามาที่หน้าโฮมหรือหน้าหลักสำหรับใช้งานทั่วไปแล้ว จะพบว่าการเรียงแอพพลิเคชั่นจะถูกวางเป็นแนวตั้ง 2 แถว ที่กึ่งกลางหน้าจอ อาจดูแปลกตาไปเล็กน้อย แต่ผู้ใช้สามารถจัดเรียงแอพฯ ได้ตามความเหมาะสม หากจะทำการรวมแอพฯ ประเภทเดียวกันเข้าไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกันก็สามารถแตะและลากแอพฯ ที่ต้องการทับเข้าไปที่แอพฯ ใดแอพฯ หนึ่ง พร้อมกับตั้งชื่อหมวดหมู่ในภายหลังได้
นอกจากนี้หากแตะหน้าจอค้างไว้จะเป็นการเรียกใช้โหมดการตั้งค่า ในส่วนนี้ผู้ใช้สามารถปรับเลือกวอลเปเปอร์, เพิ่มวิตเจ็ต, เข้าถึงแอพพลิเคชั่นทั้งหมด และการปรับแต่งลูกเล่น ทั้งในหน้าโฮมหรือ App Drawer (หน้ารวมแอพพลิเคชั่น) รวมไปถึงการปรับขนาดไอคอนและตัวอักษรได้เช่นกัน
ทางด้านแอพพลิเคชั่นที่มาพร้อม Obi SF1 ไม่แตกต่างจากสมาร์ทโฟน Android รุ่นทั่วไปเท่าใดนัก จะมีความต่างคงอยู่ที่สีสีสันหรือหน้าตาของแต่ละแอพฯ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาบางแอพฯ เช่น Dolby Audio แอพฯ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับคุณภาพของเสียงให้เหมาะสมตามที่ต้องการ หรือจะเป็นแอพฯ Microsoft Word, Excel, PowerPoint เป็นต้น
ในมุมของแอพฯ การตั้งค่า จะแบ่งออกเป็น 2 ช่อง ได้แก่ Common เมนูการตั้งค่าที่ใช้งานบ่อย ๆ และ All Settings ที่รวมเมนูการตั้งค่าทั้งหมดของตัวเครื่อง โดยจะขอพูดถึงใน All Settings เล็กน้อย ซึ่งหลักๆ ของในส่วนนี้จะสามารถตั้งค่าได้ตั้งแต่ระบบไร้สายและเครือข่าย, ตั้งค่าอุปกรณ์ ที่ในเมนูนี้จะมีโหมดพิเศษเพิ่มเข้ามา เรียกว่า Smart Function ประกอบไปด้วยตัวเลือกย่อยๆ ดังนี้
– Pick-up Call : เมื่อเลือกเบอร์โทรที่ต้องการ แค่ยกโทรศัพท์มาแนบหูก็สามารถโทรออกได้อัตโนมัติ
– Flip mute : ปิดเสียงสายเรียกเข้า เพียงคว่ำหน้าจอ
– Flip speaker : เมื่อรับสาย สามารถคว่ำหน้าจอเพื่อให้ลำโพงดังขึ้นอัตโนมัติ
– Snap page : จับภาพหน้า แค่ปัดมือเหนือ P-Sensor
– Snap photo : จับรูปภาพ แค่ปัดมือเหนือ P-sensor
– Enable bottom notifications : เพิ่มการแจ้งเตือน โดยใช้การลากจากหน้าจอด้านล่างขึ้นมา
ในการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของ Obi SF1 สามารถกำหนดรหัสผ่านการปลดล็อคหน้าจอได้ 2 แบบ ได้แก่ การลากจุดต่อจุด กับการใส่รหัสผ่าน, สามารถล็อคซิมการ์ดได้, เพิ่มบัญชี Google ได้มากกว่า 1 บัญชี, มีระบบควบคุมการติดตั้งแอพพลิเคชั่นจากแหล่งที่ไม่รู้จักได้ เป็นต้น
นอกจากนี้โหมดประหยัดพลังงานยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในมือถือ Android ยุคใหม่ จุดสังเกตเมื่อเปิดโหมดประหยัดพลังงาน แท็บด้านบนและด้านล่างจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม
มาถึงโหมดสำคัญอย่าง “กล้องถ่ายภาพ” กันครับ ในส่วนกล้องหลังพกพาความละเอียดมา 13 ล้านพิกเซล เสริมด้วยเซนเซอร์ Sony Exymor IMX214, f/2.0 พร้อมแฟลช LED ขณะที่กล้องหน้าใช้เซลฟี่ผ่านความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และมีแฟลช LED ด้วย
เมื่อเปิดกล้องหลังขึ้นมา จะพบโหมดที่พร้อมใช้งาน เช่น โหมดเมนูสำหรับถ่ายภาพในสถานการณ์หรือสภาพแสงที่แตกต่างกัน, มีโหมดสำหรับปรับสีของภาพในลักษณะต่างๆ, มีโหมดสำหรับเปิด-ปิดแฟลช หรือเปิดค้างไว้, มีตัวเลือกสำหรับถ่ายภาพนิ่ง วีดีโอ หรือพาโนรามา และตัวเลือกสำหรับกำหนดค่าต่างๆ ก่อนถ่ายภาพ ที่มีให้เลือกมากมาย
โหมดเมนูสำหรับถ่ายภาพในสถานการณ์หรือสภาพแสงที่แตกต่างกัน มีให้เลือกทั้งหมด 12 โหมด ยกตัวอย่างเช่น IQ camera โหมดถ่ายภาพที่เหมือนกันในสมาร์ทโฟน i-mobile แบ่งย่อยออกเป็น 3 ตัวเลือก ได้แก่
– ReFocus : เมื่อเปิดใช้กล้องในโหมดนี้ ถ่ายเสร็จปุ๊บ รอสักครู่ ก็จะสามารุเลือกจุดโฟกัสหลังจากถ่ายภาพเสร็จได้
– Chroma Flash : ช่วยในการจับภาพถ่ายสองครั้งในเวลาเดียวกัน โดยภาพแรกจะมาพร้อมแฟลช อีกภาพจะไม่มีแฟลช ซึ่งระบบจะนำเอาแสงจากภาพที่มีแฟลชมาผสมผสานกับสีภาพจริงจากภาพที่ไม่มีแฟลช เพื่อให้เกิดภาพถ่ายที่ให้ความสมจริงที่สุด
– Opti Zoom : เป็นฟีเจอร์สำหรับการซูมและถ่ายภาพ เพื่อให้ภาพที่ออกมาภาพไม่แตก ซูมสูงสุด 6.0X
ในส่วนตัวเลือกสำหรับกำหนดค่าต่างๆ ก่อนถ่ายภาพ มีให้เลือกตั้งแต่การเลือกขนาดภาพในขณะพรีวิว, ขนาดของภาพ, คุณภาพของภาพ, การนับถอยหลัง, ตำแหน่งการเก็บข้อมูล, การถ่ายต่อเนื่อง, การตรวจจับใบหน้า, การเลือกค่า ISO, การรับแสง, สมดุลแสงสีขาว, โหมด HDR, ระดับความชัด, ความคมชัด, การลดตาแดง เป็นต้น
ขณะที่กล้องหน้าจะไม่มีโหมด IQ camera แต่โหมดอื่นๆ สำหรับถ่ายภาพในสถานการณ์หรือสภาพแสงที่แตกต่างกัน จะเหมือนกับกล้องหลัง ส่วนตัวเลือกสำหรับกำหนดค่าต่างๆ ก่อนถ่ายภาพก็มีให้เช่นเดียวกับกล้องหลัง
ตัวอย่างภาพถ่าย เป็นโหมด Auto ทั้งหมดครับ
สรุปหลังการใช้งาน
ต้องบอกเลยว่าแค่แพ็คเกจก็ดูแตกต่างไปจากมือถือรุ่นอื่นๆ แล้ว เมื่อได้ลองจับ พลิกหน้า พลิกหลังดูถือว่าการออกแบบแสดงออกชัดเจนถึงความแตกต่าง มีความหรูหรา การเริ่มต้นใช้งานตั้งแต่หน้าล็อคสกรีน แม้จะออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้ให้ดูแปลกออกไป แต่อาจเป็นการยากสักเล็กน้อยสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่คุ้นเคยกับการปลดล็อคแบบปัดตรงใดก็ได้ของจอสมาร์ทโฟน Android ในรุ่นอื่นๆ
การใช้งานด้านความบันเทิง ได้ทดสอบกับเกมง่ายๆ เช่น NFS กับ Jetpack การแสดงผลของภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ความลื่นในการเล่นอยู่ในระดับพอใช้ได้ ยังไม่แสดงอาการหน่วงหรือสะดุดให้เห็น ขณะเดียวกันเสียงที่เปล่งออกมา หากเปิดระดับเสียงจนสุด แม้จะให้ความดัง แต่รู้สึกได้ถึงอาการเสียงแตก ดังนั้นการปรับระดับเสียงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็ช่วยให้เสียงมีคุณภาพขึ้นมาได้
การทดสอบด้วยแอพฯ CPU-Z ประเด็นสำคัญในเรื่องของความร้อน จะพบว่าแบตเตอรี่มีอุณหภมูิอยู่ที่ 41 องศา ส่วนค่าเฉลี่ยอื่นๆ โดยรวมไม่เกิน 60 องศา
มาถึงส่วนสำคัญอย่างกล้องถ่ายภาพ การใช้กล้องหลังที่มากับความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ถือว่าให้ภาพชัดเจน มีสีสันที่ค่อนข้างสด แต่ระบบ Auto-Focus ยังช้าอยู่เล็กน้อย ในส่วนตัวเลือกสำหรับกำหนดค่าต่างๆ ก่อนถ่ายภาพ มีให้เลือกเยอะก็จริง แต่หากเป็นผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่นิยมการกำหนดค่าต่างๆ ด้วยตัวเอง ยังนับว่าเกินความจำเป็น
ในโหมด Opti Zoom แม้จะช่วยให้ซูมได้ไกลในระดับ 6.0X แต่จะถ่ายภาพด้วยการซูมจะต้องมือนิ่งมากๆ หรือต้องมีอุปกรณ์ช่วยถ่ายภาพ ถึงจะให้ภาพที่ถูกใจ
การใช้กล้องหน้าที่พกความละเอียดมา 5 ล้านพิกเซล สามารถเซลฟี่และให้ภาพที่ชัดเจน แต่อาจขัดใจใครหลายๆ คนที่ไม่มีโหมด Beauty หรือโหมดปรับหน้าเรียว หน้าเนียน มากับแอพฯ กล้องด้วยเลย ซึ่งทางแก้ก็ง่ายๆ ครับ ใช้แอพฯ camera360 หรือแอพฯ ถ่ายภาพสวยอื่นๆ ถือว่าช่วยได้ครับ
ส่วนของการชาร์จแบตเตอรี่นับว่าเร็วใช้ได้ครับ หลังจากแกะกล่องและใช้งานจนแบตหมด และทำการชาร์จ ก็พบว่าแบตเต็มภายในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับเทคโนโลยี Quick Charge 1.0 ครับ
ฉะนั้นแล้วใครที่กำลังมองหามือถือ Android รุ่นใหม่สักเครื่อง และพิจารณาจากดีไซน์เป็นลำดับแรกๆ เน้นการใช้งานพื้นๆ ไม่เน้นลูกเล่นอะไรมากมาย Obi SF1 นับเป็นตัวเลือกที่ควรเก็บไว้พิจารณา ด้วยราคา 7,290 บาท ดูจะเป็นราคาที่ไม่แพงมากนักนะครับ ส่วนช่องทางจำหน่ายตอนนี้มีเฉพาะ Lazada เท่านั้น !!!
ปิดท้ายด้วยรูปหน้าตรง เท่ๆ ของ “Obi SF1”