ออมสิน ร่วมพัฒนาระบบ O2O E-Commerce Platform “O2O-Village Grocery sponsored by GSB” ยกสินค้าโชห่วย กองทุนหมู่บ้าน โอท็อปขึ้นขายสินค้าบนตลาดออนไลน์
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสินมีภารกิจในการเป็นแหล่งทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ การทำธุรกิจสำหรับประชาชนในทุกระดับซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการประกอบอาชีพ การซื้อขายสินค้าได้มีรูปแบบที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีได้มีส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ตลาดการซื้อขายสินค้าได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาสู่ระบบ E-Commerce หรือ online มากขึ้น โดยหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อนุญาตให้สถาบันการเงิน และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน สามารถพัฒนาและปรับปรุงธุรกรรมเพื่อรองรับการให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketplace Platform) หรือการซื้อขายสินค้าบนออนไลน์ นั้น ธนาคารออมสินจึงได้มีพัฒนาระบบ E-Commerce แบบครบวงจร เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนและส่งเสริม E-Commerce โดยใช้ชื่อว่า “O2O-Village Grocery sponsored by GSB” ขึ้น
สำหรับ “O2O-Village Grocery sponsored by GSB” คือ O2O E-Commerce Platformซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ครบวงจรในการช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะร้านค้าชุมชนหรือโชห่วย และผู้ประกอบการสินค้าโอท็อป สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินค้า ในลักษณะ Online to Offline (จากสินค้าออนไลน์ถึงร้านค้าชุมชน)และ Offline to Online (จากร้านค้าชุมชนสู่สินค้าออนไลน์) ซึ่งจะเป็นการซื้อขายทั้งในลักษณะ B2B(Business to Business) และ B2C (Business to Consumer) ผ่าน O2O E-Commerce Platform ในลักษณะApplication บนสมาร์ทโฟน Tablet และ/หรือ POS ให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสั่งซื้อสินค้าได้สะดวก ทั้งนี้ในระบบ O2O E-Commerce Platform ดังกล่าวจะรวมถึงระบบการบริหารจัดการสินค้าภายในร้าน ระบบบริหารจัดการสินค้ารอการขาย ระบบการจัดส่งและรับสินค้าหรือบริการ โดยธนาคารออมสินจะเป็นผู้ให้บริการด้านการเงิน (Payments and Settlements) เพื่อรองรับการจ่ายชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ผ่านบัตรเดบิต/เครดิตQR Code Mobile Banking และ E-Wallet เป็นต้น รวมถึงการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการร้านค้าชุมชนผ่านบัตรโชห่วยและสินเชื่อผู้ประกอบการจากธนาคารออมสิน
ทั้งนี้ ในส่วนของ “O2O-Village Grocery sponsored by GSB”จะประกอบไปด้วย 1) e-Order ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับ On-line Marketplace ต่างๆรวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆเช่น โมเดิร์นเทรด ซุปเปอร์มาเก็ต โรงงานผลิต ผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหาร ร้านค้าปลีกต่างๆ ผ่าน e-Catalog 2) e-Payment ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับระบบงานของธนาคาร เพื่อเป็นช่องทางให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆของธนาคาร และ 3) e-Logistic ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยง
ข้อมูลสินค้าที่ต้องจัดส่งในระบบกับผู้ให้บริการขนส่งต่างๆ ทำให้การจัดส่งมีความสะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจสอบและติดตามได้ง่าย
สำหรับในระยะแรก ธนาคารออมสินจะติดตั้งระบบบริหาร ณ จุดขาย (POS : Point of Sales) ให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ เช่น ร้านค้าปลีก สหกรณ์กองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ฯลฯ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนในการรวบรวมสมาชิก (ผู้ซื้อ) และผู้ผลิตในชุมชน (ผู้ขาย) นำสินค้าของตนเองหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจำหน่าย โดยมีธนาคารออมสินร่วมกับบริษัทพันธมิตรร่วมกันช่วยดูแลบริหารระบบในการจัดการคำสั่งซื้อ การจัดส่งข้อมูลการสั่งซื้อเข้าสู่กระบวนการขนส่ง และการชำระค่าสินค้า นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนแล้ว ธนาคารจะเป็นผู้รวบรวมและเจรจากับผู้ค้าส่งที่ต้องการขายสินค้า(Consumer Products) ในรูปแบบของการขายสินค้าที่ไม่มีสินค้าคงคลังในร้านให้แก่ร้านค้ากลุ่มเป้าหมายในโครงการฯ สามารถขายสินค้าต่างๆผ่าน e-Catalogในระบบ POS รวมถึงผู้ค้าส่งสามารถสั่งซื้อสินค้าชุมชนผ่าน O2O E-Commerce Platform นี้ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชน สินค้า OTOP ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาสินค้าชุมชนต่างๆ ผ่านโครงการที่ธนาคารมีอยู่แล้ว เช่น โครงการยุวพัฒน์รักถิ่น โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน รวมถึงโครงการ GSB SMEs Start Up เป็นต้น เพื่อให้สินค้าชุมชนมีการพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตราฐานและสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ สำหรับระยะถัดไป ธนาคารออมสินจะพัฒนาระบบการชำระสินค้าในลักษณะ Escrow Account และระบบ e-Logistics เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่อไป
นายชาติชายกล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะเข้าช่วยติดตั้ง “O2O-Village Grocery sponsored by GSB” ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่ธนาคารดูแลอยู่กว่า 60,000 กองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถเข้าถึงสมาชิกในชุมชนได้อย่างทั่วถึง และเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้ในวงกว้างและอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันธนาคารก็จะสนันสนุนสินเชื่อให้แก่กองทุนหมู่บ้าน ร้านค้าชุมชน สหกรณ์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการการลงทุนหรือซื้อสินค้า รวมถึงธนาคารออมสินพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) หรือผู้ประกอบการระดับเริ่มต้น Startup ให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมถึงร้านโชห่วย หรือ OTOP ในชุมชนให้เป็นช่องทางในการรับซื้อสินค้า ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ได้ในอนาคต