ความท้าทายที่พนักงานต้องเผชิญในสถานที่ทำงานในอนาคต

บทความโดย นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์

การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 เปิดศักราชใหม่ให้กับสถานที่ทำงาน และการปฏิบัติงานในรูปแบบใหม่และทันสมัยขึ้น บุคลากรในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน และเลือกสถานที่ทำงานมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ในโลกวิถีใหม่นี้ ทั้งบุคลากรและองค์กรต้องรับมือกับความท้าทายและความจำเป็นในการรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่มนุษย์เราต้องการในที่ทำงาน นั่นคือ การติดต่อสื่อสารและการประสานงานร่วมกันในทางกายภาพ ซึ่งตรงจุดนี้เองที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารที่เห็นความสำคัญ ของบุคลากร

นูทานิคซ์ได้มอบหมายให้ IDC InfoBriefs ทำการสำรวจเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน และการทำงานผ่านเครื่องมือดิจิทัล (digital workspaces) ผลสำรวจพบว่า ความท้าทายหลัก ๆ ที่องค์กรเผชิญนั้นเกิดจากการระบาดของโควิด-19 และรูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ผลสำรวจยังพบว่าการระบาดนี้ทำให้บริษัททั่วโลก 42 เปอร์เซ็นต์ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และผู้บริหารระดับสูงมุ่งเน้นการสร้าง digital workplace ที่พร้อมรองรับอนาคต และมีความยั่งยืนในระยะยาวในช่วงหลายปีนับจากนี้

IDC เสนอแนะว่า ในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการดึงดูดพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ผู้บริหารจำเป็นต้องนำแนวทางในการบริหารจัดการบุคลากรแบบใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสุขภาพ และความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบผสมผสานทั้งหมด ส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาพจิตใจที่ดี ส่งเสริมให้เกิดการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใหับุคลากรทำกิจกรรมข้ามทีมกัน และเพิ่มแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในรูปแบบอื่น ๆ การดำเนินการในลักษณะนี้ได้นั้น องค์กรต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น ที่จะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานจากระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทำงานในสำนักงาน

คำถามสำคัญที่พนักงานควรถามนายจ้าง

สิ่งสำคัญที่พนักงานควรรู้คือ นายจ้างมีจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับการทำงานในรูปแบบไฮบริด และมีแบบแผนในการสนับสนุนการพัฒนา และการเติบโตในอาชีพการงานอย่างไรบ้าง หากองค์กรนำรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (ไฮบริด) มาใช้หรือต้องการให้พนักงานทำงานจากระยะไกลเท่านั้น พนักงานก็ควรสอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานตามรูปแบบนั้น ๆ และถามถึงวิธีการที่บริษัทจะให้การอบรมการทำงานและโอกาสในการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมถึงการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานไอทีประเภทใดให้ ปัจจุบันการใช้แล็ปท็อป, โครงสร้างพื้นฐานเวอร์ชวลเดสก์ท็อป (VDI), เวอร์ชวลไพรเวทเน็ตเวิร์ก (VPN) และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะช่วยให้พนักงานทำงานได้เกือบทุกที่

สำหรับการฝึกอบรมระหว่างทำงาน ให้สอบถามว่านายจ้างว่ามีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร และใช้เครื่องมืออะไรเชื่อมต่อให้พนักงานสามารถสอบถามข้อมูลจากทีมงานและผู้บริหารได้ บริษัทให้การอบรมการใช้ระบบต่าง ๆ ของบริษัทฯ ที่สามารถช่วยให้พนักงานหาคำตอบต่อคำถามต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองหรือไม่ พนักงานสามารถติดต่อกับสมาชิกในทีมที่มีประสบการณ์เพื่อถามคำถามต่าง ๆ ได้โดยตรงหรือไม่ หรือจะต้องผ่านผู้ดูแลตามสายงานของพนักงานนั้น ๆ

เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารแบบครบวงจร และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เช่น Zoom และ Microsoft Teams ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ เครื่องมือเหล่านี้รันอยู่บนระบบคลาวด์ ดังนั้นจึงสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ องค์กรที่ประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากอาจเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลแบบ Database as a Service (DBaaS) ดังนั้นพนักงานจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลชุดเดียวกัน ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ใดก็ตาม องค์กรที่รองรับการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานจากระยะไกลจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงาน อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าพนักงานจะอยู่ที่ใดก็ตาม

สุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ

ภายในปี 2568 IDC คาดการณ์ว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับ Global 2000 จะดำเนินการปรับรูปแบบการทำงาน ย้ายสถานที่หรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในสำนักงาน เพื่อให้สามารถคุ้มครองสุขภาพและรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้นi ซึ่งที่จริงแล้วควรใช้หลักปรัชญาเดียวกันนี้เพื่อปรับปรุงการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานด้วยเช่นกัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นในขณะนี้องค์กรต่าง ๆ จึงต้องรับมือกับภารกิจในการช่วยให้พนักงานเอาชนะความเหนื่อยล้าและภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งหากทำงานอยู่ในสำนักงานก็จะสามารถระบุปัญหาและให้ความช่วยเหลือได้ง่ายกว่าแต่อย่างไรก็ตามก็สามารถทำเช่นนั้นกับพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านได้เช่นกัน

องค์กรสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรผ่านการเชื่อมต่อระยะไกล เพื่อจำลองการมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์ของพนักงานในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในสำนักงานได้ เช่น การพบปะสังสรรค์ในช่วงบ่ายทุก ๆ ไตรมาส พร้อมกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของทีมงาน หรือการพูดคุยและดื่มกาแฟร่วมกันผ่านวิดีโอเป็นประจำทุกเดือน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับการสนับสนุนจากที่ทำงาน

ให้คำแนะนำในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

อีกหนึ่งความท้าทายและโอกาสที่มาพร้อมกับสถานที่ทำงานแห่งอนาคตก็คือ การแนะนำให้พนักงานสูงวัยได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งอาจเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นสำหรับคนรุ่นเก่าที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นองค์กรจึงต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบและเอาใจเขามาใส่ใจเรา การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและการจัดพื้นที่พิเศษเพื่อให้พนักงานได้ซักถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเทคโนโลยีนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมขวัญกำลังใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานอาวุโสเหล่านี้

องค์กรต้องรู้ว่าบุคลากรมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่และปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับพฤติกรรมและความต้องการของบุคลากร

นูทานิคซ์จัดโครงการฝึกอบรมหลายโครงการ เพื่อให้พนักงานและลูกค้ามีความคุ้นเคยและมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีของบริษัท นอกจากนี้ ใบรับรองจาก Nutanix University จะช่วยให้ผู้ใช้เทคโนโลยีของนูทานิคซ์มีทักษะและความรู้ความเข้าใจที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการจัดการและติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีของนูทานิคซ์ โครงการออกใบรับรองแบบหลายระดับของบริษัทฯ มอบเส้นทางการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับการเพิ่มพูนประสบการณ์ในระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของความหลากหลาย โดยการว่าจ้างพนักงานหลากหลายกลุ่มในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

สถานที่ทำงานแห่งอนาคตเป็นสิ่งที่จับต้องได้แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ผู้บริหารองค์กรและพนักงานล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการติดต่อสื่อสารและการเชื่อมต่อถึงกัน การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น